Skip to main content
sharethis

5 ก.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 5 คน พบจากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,190 คน รักษาหายเพิ่ม 5 คน รวมรักษาหายสะสม 3,071 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน - สธ.ยันเปิดให้ต่างชาติรักษาตัวในไทย ต้องปลอด COVID-19 โพลชี้ประชาชนคลายวิตกกังวลลง

5 ก.ค. 2563 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้

- ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในประเทศ 0 ราย
- ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อใน State Quarantine 5 ราย
- รักษาหายเพิ่มขึ้น 5 ราย
- กลับบ้านแล้ว 3,071 ราย
- ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 61 ราย
- ผู้เสียชีวิต 0 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 58 ศพ
- ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,190 ราย 

สำหรับผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสทั้ง 5 ราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานกักกันของรัฐ หรือ State Quarantine ประกอบด้วย อินเดีย 1 ราย คูเวต 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และญี่ปุ่น 1 ราย ขณะที่การติดเชื้อในประเทศ ไม่มีรายงาน หรือเป็น “0” ถึง 41 วันติดต่อกันแล้ว

สธ.ยันเปิดให้ต่างชาติรักษาตัวในไทย ต้องปลอด COVID-19

รายงานว่านพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มีมติเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 ออกมาตรการให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทย เข้ามารักษารักษาพยาบาลในประเทศไทยได้ เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศตามนโยบายเมดิคัลฮับ (Medical Hub)

โดยในระยะแรกต้องเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติรักษาต่อเนื่องกับสถานพยาบาลในไทยอยู่เดิม แต่ไม่ใช่กรณีเข้ามาเพื่อรักษาโรค COVID-19 โดยต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าเท่านั้น รับเฉพาะที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ จำกัดจำนวนผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน

สำหรับหลักเกณฑ์ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องแสดงใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าไม่มีเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา

เมื่อเข้ามาแล้ว ต้องกักกันตัวในห้อง Isolation ward (ห้องเดี่ยว) ในสถานพยาบาลเดียวกัน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน และต้องมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกจำนวน 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางมาถึงสถานพยาบาล ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7 และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 ของระยะเวลาที่กักกัน ที่สำคัญต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลกรณีโรค COVID-19

ต้องมีเอกสารหลักฐานทางการเงิน ที่แสดงถึงหลักประกันว่า สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกิดขึ้นทั้งหมดเอง และมีเอกสารรับรองหรือใบนัดหมายการรักษากับสถานพยาบาลในไทย หากแผนการรักษาเสร็จสิ้นก่อน 14 วัน

สถานพยาบาลต้องกักกันตัวผู้ป่วยและผู้ติดตามต่อจนครบ 14 วัน และตรวจยืนยันว่าไม่มี COVID-19 จึงจะอนุญาตให้ออกจากสถานพยาบาลได้ และอาจอนุญาตให้กลุ่มดังกล่าวไปในพื้นที่ท่องเที่ยวที่กำหนดได้ คาดว่าจะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

“ตลอดเวลาที่อยู่ในไทย ผู้ป่วยและผู้ติดตามต้องดาวน์โหลดระบบติดตามตัวหรือติดตั้งแอปพลิเคชั่นตามที่ราชการกำหนด เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการทุกวัน”

กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ตลอดเวลาระยะการรักษาพยาบาล กลุ่มผู้ป่วยและผู้ติดตามดังกล่าวจะไม่สามารถออกนอกสถานที่กักกันได้ จนกว่าจะมั่นใจกว่าปลอดเชื้อ COVID-19 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันและควบคุมโรค ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงพยาบาลทางเลือก หรือ Alternative Hospital Quarantine (AHQ) ซึ่งเป็นสถานกักกันตัว สามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.hss.moph.go.th และ สอบถามที่สายด่วน 1426 

โพลชี้ประชาชนคลายวิตกกังวล COVID-19 ลง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,109 คน ผ่านทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค. 2563 เรื่อง “การใช้ชีวิตของประชาชน หลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.93 มีความกังวลลดลง รองลงมาร้อยละ 29.94 กังวลเหมือนเดิม และร้อยละ 12.44 ไม่กังวล ขณะที่ร้อยละ 4.69 กังวลมากขึ้น 

สำหรับความคาดหวังอยากให้โควิด-19 ของไทยเข้าสู่สถานการณ์ปกติเมื่อใด ร้อยละ 39.40 ระบุว่าภายในสิ้นปี 2563 นี้ , ร้อยละ 27.95 กลางปี 2564, ร้อยละ 23.90 ปลายปี 2564 และร้อยละ 8.75 ไม่แน่ใจ คาดเดายาก/อาจดีขึ้นเมื่อค้นพบวัคซีน 

ส่วนคำถามว่าประชาชนมีส่วนช่วยในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง ถึงร้อยละ 94.77 ระบุว่าสวมหน้ากากอนามัย ,รองลงมาร้อยละ 88.19 ล้างมือบ่อยๆ ,ร้อยละ 81.24 เว้นระยะห่างทางสังคม , ร้อยละ 79.80 ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และร้อยละ 76.92 ไม่ไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก 

และหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการฟื้นฟูอย่างไรบ้าง อันดับ1 ร้อยละ 77.55 ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเข้มงวด , อันดับ 2 ร้อยละ 71.78 มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง, อันดับ 3 ร้อยละ 69.43 เน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพ,อันดับ 4 ร้อยละ65.64 ช่วยเหลือคนตกงาน และอันดับ 5 ร้อยละ 57.26 ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ที่มาเรียบเรียงจาก: ไทยรัฐออนไลน์ | Thai PBS | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net