เอกชนชี้แจงไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมส่งออก

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเผยการผลิตสินค้าจากมะพร้าวเพื่อส่งออกของไทยไม่ได้ใช้ลิงเก็บ มีการพัฒนาพันธุ์ให้มีต้นเตี้ยเก็บง่าย ด้าน ก.พาณิชย์ เตรียมเชิญทูตหลายประเทศเยี่ยมชมการใช้ลิงเก็บมะพร้าวที่เป็นวิถีชุมชน ชี้ไม่ได้เป็นการทรมานสัตว์


ที่มาภาพประกอบ: Bruna Rabello (CC BY 2.0)

5 ก.ค. 2563 สืบเนื่องจากกรณีที่สื่อต่างประเทศรายงานว่าซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษนำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรวมถึงผลิตภัณฑ์จากไทยออกจากแผง โดยอ้างรายงานขององค์กร PETA ว่ามีการล่ามโซ่ใช้งานลิงในทำนองที่เป็นการกระทำทารุณต่อลิงเหล่านั้น

ห้างอังกฤษงดขายกะทิไทย หลังรายงานเปิดโปงทารุณลิงเก็บมะพร้าว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจากมะพร้าวของไทยในปัจจุบัน ปลูกมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อการส่งออก จะมีพื้นที่เฉพาะ มีการพัฒนาพันธุ์ให้มีต้นเตี้ย เก็บง่าย มีกระบวนการผลิตที่ควบคุมทั้งจากเกษตรกร และผู้ประกอบการที่รับซื้อไปใช้ในกระบวนการผลิต

นอกจากนี้ในขั้นการส่งออกจะมีมาตรฐานสินค้า กระบวนการผลิต ซึ่งสินค้าไทยผ่านมาตรฐานจึงส่งไปขายได้ มีกระทรวงพาณิชย์ดูแลมาตรฐานอีกทาง

“คาดว่าภาพการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในไทยน่าจะมาจากภาคการท่องเที่ยว ละครลิง การโชว์เก็บมะพร้าวในชุมชน ทำให้ต่างชาติเกิดภาพจำแบบนั้น และคิดว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นเช่นนั้นด้วย ขอยืนยันไม่มีแน่นอน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาด้วยภาพจำในอดีตว่าไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว ทำให้ไทยถูกตั้งคำถามจากองค์กรที่ดูแลสัตว์ โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการก็มีการชี้แจง ทั้งทางตรง ทั้งผ่านกระทรวงพาณิชย์ มีคลิปวีดิโอกระบวนการผลิตยืนยัน แต่ปัจจุบันมีสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มักแชร์เหตุการณ์ในอดีตจนทำให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ดังนั้นภาคเอกชนคงจะชี้แจงต่อไป และจะประสานกับหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหานี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง และเป็นภาพบวกกับประเทศไทย” นายวิศิษฐ์กล่าว

ก.พาณิชย์ เตรียมเชิญทูตหลายประเทศเยี่ยมชมการใช้ลิงเก็บมะพร้าว ชี้ไม่ได้เป็นการทรมาน ถือเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่ทำกันมานาน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้จะเกี่ยวข้องกับการตลาดจะเร่งติดตามดูแล อยากให้หน่วยงานที่วิเคราะห์วิจัยดูถึงข้อเท็จจริง การที่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะลิงเก็บมะพร้าวก็ไม่ได้หมายความว่าทารุณกรรมสัตว์ เพราะสัตว์ที่ชาวบ้านนำมาเก็บมะพร้าวถือว่าอยู่ในวิถีชีวิต และเป็นการเลี้ยงแบบฝึกเก็บมะพร้าวเฉพาะไม่ใช่การทรมานหรือทารุณสัตว์ตามกลุ่มพีต้าออกมาระบุ

โดยกระทรวงพาณิชย์มีความพร้อมอาจจะเชิญทูตหลายประเทศให้เข้ามาดูวิธีการเก็บมะพร้าว เพื่อให้รู้วิถีชีวิตของคนไทยและสัตว์เลี้ยงว่าไม่ใช่เป็นการทรมาน ลิงถือว่าได้รับการฝึกฝน ดังนั้นหากนำคณะทูตมาดูวิถีชีวิตในพื้นที่ เชื่อว่าจะทำให้หลายประเทศเข้าใจว่าไม่ใช่การทรมานสัตว์

ทั้งนี้ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สำคัญจากข่าวดังกล่าวทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ไทยได้มีการออกแถลงการณ์และนำวิถีชีวิตการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะลิงเผยแพร่ออกไปแล้ว ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์จะให้ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศไปทำความเข้าใจห้างต่าง ๆ ถึงวิธีการของไทย

ยืนยันการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม

ด้านนายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ( อนุ กมธ.) ศึกษาและแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อปี 2562 อนุ กมธ.ได้แจ้งให้ตัวแทนผู้ประกอบการโรงงานกะทิส่งออกชี้แจงข้อเท็จจริงให้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)ในต่างประเทศที่ทำการทักท้วงให้รับทราบ หลังจากเกรงว่าจะมีปัญหาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปไปสหภาพยุโรป (อียู) 

นอกจากนี้ อนุ กมธ.ยังได้แจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทำหนังสือในฐานะหน่วยงานราชการชี้แจงปัญหาจากการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมตั้งแต่อดีตของชาวบ้านในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ไม่มีการทารุณกรรมสัตว์ตามที่มีการทักท้วง

ด้าน พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม หรือสารวัตรเอก รอง ผกก.สส.สภ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมีอาชีพเสริมโดยการปลูกสวนมะพร้าว 16 ไร่ ที่ ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน การเก็บผลมะพร้าวจะจ้างผู้ที่เลี้ยงลิงกังในพื้นที่มาเก็บทุก 45 วัน โดยลิงกังที่ผ่านการฝึกอย่างดีจะขึ้นไปเก็บมะพร้าวในช่วงเช้าและช่วงเย็น และเก็บมะพร้าวเฉพาะผลแก่เท่านั้น โดยเจ้าของลิงกังคิดค่าเก็บร้อยละ 10-12 จากราคาขายผลผลิตปัจจุบัน

ยืนยันว่าเจ้าของสวนมะพร้าวที่ อ.บางสะพาน ซึ่งเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว เนื่องจากการจ้างคนสอยจะคิดค่าตอบแทนคงที่ผลละ 1 บาท ไม่ได้คำนึงถึงราคาผลผลิตในบางฤดูกาล และบางครั้งมีความผิดพลาดจากการสอยมะพร้าวทะลายอ่อน 

“ส่วนตัวเห็นว่าการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวไม่ได้เข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ เนื่องจากเจ้าของจะเลี้ยงกระทั่งลิงกังเชื่อง เชื่อฟังคำสั่ง และไม่ได้ใช้งานทั้งวัน โดยให้กินข้าวตามปกติ”เจ้าของสวนมะพร้าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของทั้งกระทรวงพาณิชย์ และ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ยังไม่มีการชี้แจงรายงานของ PETA ที่ว่าพบการทารุณกรรมลิงในขั้นตอนฝึกเก็บมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นการพรากสัตว์ป่ามาฝึกตั้งแต่ลิงยังอายุน้อย การล่ามโซ่ระหว่างฝึก และถอนฟันหากลิงดื้อ (อ่านเพิ่มเติมใน: ห้างอังกฤษงดขายกะทิไทย หลังรายงานเปิดโปงทารุณลิงเก็บมะพร้าว)

ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาติธุรกิจ | สยามรัฐ | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท