ยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดของผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนไทยในประเทศฝรั่งเศส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อปี 2557 ประเทศไทยได้เกิดรัฐประหารยึดอำนาจโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมากถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกให้ไปรายงานตัว และหลายๆ คนก็ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่ม หลังจากไปรายงานตัว ทำให้เกิดความกังวลต่อสิทธิเสรีภาพและความทำให้หลายๆ คนจึงตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นการตัดสินใจทิ้งชีวิตในประเทศไทย เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในการเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง 

“ถ้าเราไปรายงานตัว เราโดนยัด 112 แน่ๆ และบอกว่า ตอนนี้ทุกคนในวงยังไม่มีหมายจับมาตรา 112 แต่ถ้าไปรายงานตัวกับ คสช. น่าจะมีแนวโน้ม เพราะนักกิจกรรมเสื้อแดงที่ไปรายงานตัวแล้ว โดนแจ้งข้อหา 112 พวกเราจึงตัดสินใจหลบออกจากประเทศไทย เพราะรู้สึกว่า ไม่ปลอดภัยจากการคุกคามของ คสช.” (ผู้เขียนขอปกปิดข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง)

ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยในต่างแดนไม่ใช่เรื่องพึงปรารถนามากนัก และบทเรียนของพวกเขาสามารถนำมาเป็นตัวอย่างให้กับคนที่อาจจะต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ในอนาคตได้ โดยผู้เขียนได้ใช้วิธีวิจัย
เชิงคุณภาพมาวิเคราะห์ข้อมูลยุทธศาสตร์การเอาตัวรอด ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนไทย
ที่อาศัยในประเทศฝรั่งเศส โดยได้นัดหมายสัมภาษณ์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงการสัมภาษณ์บทบาทและความช่วยเหลือขององค์กรเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วย เพราะการช่วยเหลือในระยะเริ่มต้นนั้น กลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้มีสถานะบุคคลตามกฎหมาย มีหมายจับ หรือไม่มีเอกสารสำคัญ
ในการเดินทางไปยังประเทศปลายทาง ทำไมองค์กรเอกชนเหล่านี้ถึงเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งคงหนีไม่พ้นในเรื่องของการช่วยเหลือโดยคำนึงถึงด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก 

จากการวิจัย ผู้เขียนพบว่า ยุทธศาสตร์ในการเอาตัวรอดของผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลุ่มนี้ จะใช้กระบวนการลี้ภัยหรือช่องทางหลบหนีในลักษณะแบบไม่เป็นทางการ เพื่อเป็นการเอาตัวรอดจากประเทศต้นทาง 

“หลังจากผมตัดสินใจลี้ภัยออกมาทางช่องทางธรรมชาติ ซึ่งมีมาตั้งแย่ยุคโบราณ ชีวิตผู้ลี้ภัยนั้นไม่สบายเลย ในประเทศเพื่อนบ้านที่พวกไปลี้ภัยอยู่ครั้งแรกนั้น ทางการห้ามมิให้ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำมาหากินอย่างออกหน้าออกตา เราต้องหลบๆ ซ่อนๆ”

บางกลุ่มตัวอย่างผู้ลี้ภัยมีการวางแผนการลี้ภัยไว้ล่วงหน้า 

“ผมคิดไว้แล้วว่าสักวันหนึ่ง ขบวนการประชาธิปไตยจะต้องถูก “เล่นงาน” อีกไม่ช้าก็เร็ว ผมจึงทำวีซ่าหลายๆ ประเทศเอาไว้ และต่ออายุเรื่อยมา เพื่อที่จะหนีออกนอกประเทศได้ ซึ่งผมยึดหลักว่า จะต้องไม่ถูกจับติดคุก หมดยุคแล้ว สำหรับความคิดที่ว่า ผู้นำถูกจับ แล้วประชาชนจะลุกฮือ ในทางตรงกันข้าม เขาต้องรักษาอิสรภาพเอาไว้ เพื่อที่จะต่อสู้ไปเรื่อยๆ”

ส่วนการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิตของผู้ลี้ภัย นั้น กลุ่มตัวอย่างมีการใช้ชีวิตลำบากตามสภาพของประเทศที่ได้เดินทางไป แต่ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายกลุ่มบุคคลที่รู้จัก และมีการดำรงชีวิตด้วยวิชาชีพที่ติดตัวไป เช่น การรับจ้างสอนหนังสือ การรับจ้างเล่นดนตรี การดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตรกรรม การหาเงินผ่านช่องทาง Social media เป็นต้น ที่น่าสังเกต คือ ไม่มีความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการหรือประจำจากหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้นซึ่งสะท้อนความเป็นคนชายขอบ (Marginalized Persons) ของกลุ่มผู้ลี้ภัยในกระบวนการนโยบาย

“ตอนที่พวกเราลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พวกเราต้องอยู่รวมกันในบ้านแบบรวมกัน ทุกคนต้องจ่ายเงินเข้ากองกลางวันละ 40 บาท เพื่อมาเป็นรายจ่ายในบ้านและค่าอาหาร นอกเหนือจากทุนที่ผู้มี    อุปการะช่วยจุนเจือสนับสนุนมาบ้าง”

การดำรงชีวิตมีลักษณะที่ไม่แน่นอนและต้องย้ายที่อยู่ต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัย 

“แรกๆ ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก เราต้องยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง เพราะเราไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวเลย เพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของพวกเขา เมื่อมาถึงฝรั่งเศสแรกๆ ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงที่เมตตาให้ที่พักอยู่ฟรีๆ และบางครั้งต้องย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเรื่อยๆ โดยอยู่ที่ละเดือนสองเดือนบ้าง อีกทั้งยังต้องทำงานเพื่อหาเงินในการเลี้ยงชีพให้ตัวเอง” 

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหล่านี้ ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยดึงดูดหรือปัจจัยผลัก เนื่องจาก ไม่มีทางเลือกในการเดินทางมากนัก แต่หากมีทางเลือกย่อมคำนึงถึงข้อดีข้อเสียของการลี้ภัยในประเทศที่ตนเองคุ้นเคย เช่น การเดินทางไปลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะใกล้กับประเทศไทย มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งสามารถใช้ชีวิตและปรับตัวในการใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก

กลุ่มตัวอย่างได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรเอกชน ไม่ใช่เพียงแค่การดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น แต่การดำเนินการอาจจะต้องพิจารณาถึงความเร่งด่วน เพื่อให้สามารถเดินทางไปลี้ภัยได้อย่างปลอดภัยและมีการรับรองตามกฎหมายของประเทศปลายทาง เพราะกลุ่มตัวอย่างมีหมายจับ ไม่มีเอกสารการเดินทาง และมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต

“พวกเรา ทั้ง 4 คนไม่มีหนังสือเดินทางไทยติดตัว แต่มาด้วยเอกสารอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษ (laissez-passer ในภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งออกโดยสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศต้นทาง ผ่านการประสานงานโดยโครงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนานาชาติ (International Refugee Assistance Project หรือ IRAP)”

“องค์กร IRAP จะช่วยเหลือใคร เรามีกระบวนการทั้งหมด 3 อย่างหลักๆ อย่างแรกคุณจะเป็นผู้ลี้ภัยได้ ต้องมีเหตุผลในการถูกกีดกันจากประเทศต้นกำเนิดในการเข้าถึงสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปกติ อย่างที่สองคือรัฐบาลเจ้าของที่ลี้ภัยอนุญาตให้หนีมาได้ และอย่างที่สาม มีการกระทำที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งที่กระทบต่อชีวิต”

การช่วยเหลือขององค์กรเอกชนจะรวมถึงการช่วยเหลือในการดำเนินการเรื่องอื่นๆ ด้วย 

“องค์กรนี้ (ACCEPTESS-T) ช่วยทำเอกสาร จนมีสิทธิเข้าถึงฮอร์โมนและสิ่งต่างๆ ลำบากมากจนกระทั่งได้เริ่มเรียนภาษา การไม่รู้ภาษาเป็นอุปสรรคหลักของการเข้าถึงสิทธิและข้อมูล และโชคดีที่มีชุมชนคนไทยที่น่ารักคอยช่วยเหลือ และให้กำลังใจ”

“บางทีเขาอาจจะมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นเหมือนตัวปัญหาที่ประเทศอื่นไม่รับ แล้วเราจะไปช่วยเหลือทำไม ซึ่งความคิดแบบนี้ในระดับผู้กำหนดนโยบายของประเทศหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ยังมีอยู่ ซึ่งเราก็อธิบายและบอกเหตุผลความจำเป็นในการช่วยเหลือ”

ผู้ลี้ภัยทั้งหมดมีความกังวลในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมที่ต้องมีการปรับตัว 

“เราต้องมีการเตรียมความคิดว่า ถ้าเราไปอยู่ประเทศอื่นจะอยู่ได้หรือไม่ จะไปยุโรปได้ไหม ไปอเมริกาจะอยู่ได้ไหม หรือเอาง่ายๆ อยู่ใกล้ๆ อย่างประเทศเพื่อนบ้านจะอยู่ได้ไหมเพราะคนไทยปรับตัวเข้ากับอาหารประเทศอื่นยาก ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมประเทศอื่นยาก คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่หนีไปไกลจากประเทศไทยมากนัก” 

“อุปสรรคใหญ่ๆ ของการลี้ภัยในฝรั่งเศส คือภาษาฝรั่งเศส ถ้าคุณพูดฝรั่งเศสไม่ได้ คุณจะอยู่ที่นั่นอย่างลำบากมาก เพราะคนฝรั่งเศสไม่สนใจที่จะพูดภาษาอังกฤษ ป้ายตามถนนหนทาง รถไฟฟ้า ก็ล้วนเป็นภาษาฝรั่งเศส การติดต่อราชการฝรั่งเศสเพื่อดำเนินเรื่องการลี้ภัย ก็ต้องใช้ภาษาฝรั่งเศส”

ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองการลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส กลุ่มตัวอย่างผู้ลี้ภัยทั้งหมดสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย

“โดยหลักการแล้วการเป็นผู้ลี้ภัยมีข้อห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งขัดกับธรรมชาติของผู้ลี้ภัย  ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่หนีมาเพื่อการต่อสู้ แต่ประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้เข้มงวดอะไรมาก เคลื่อนไหวทางการเมืองหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้ แต่อย่าผิดกฎหมายประเทศเขา”

“เรื่องความปลอดภัยในการติดตามจากรัฐไทย ไม่ค่อยมีความกังวลเท่าการอยู่ในประเทศที่ 2 ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนเราไร้ตัวตน อยู่ที่นี่ ก็ระมัดระวังตัวตามปกติ ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศฝรั่งเศส ความผิดเกี่ยวกับการทำร้ายชีวิตร่างกาย เป็นเรื่องใหญ่มาก จึงไม่ค่อยเป็นห่วงเท่าไหร่”

ยุทธศาสตร์การขอลี้ภัยทางการเมืองที่ผู้เขียนได้กล่าวไปนั้น อาจจะไม่ได้ง่ายเสมอไปสำหรับการ  ลี้ภัยในอนาคตของผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพราะประเทศที่ให้ที่อยู่แก่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองด้วยความเห็นใจ หากมีเหตุการณ์ไล่ล่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศเหล่านั้นก็ยากที่จะปฏิเสธว่าไม่เคยมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยในประเทศตัวเอง และการจะเปิดรับอีกแม้จะเป็นทางลับก็เป็นเรื่องลำบากใจ ซึ่งท้ายที่สุดผลเสียก็จะตกอยู่กับนักกิจกรรมและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งจะไม่เหลือประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นที่หลบภัยไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว การจะไปลี้ภัยต่างประเทศต้องมุ่งไปประเทศที่เจริญแล้วด้วยทางเครื่องบินและพร้อมด้วยพาสปอร์ตหรือมีวีซ่าเท่านั้น ซึ่งหากมีการต่อสู้อาจจะต้องเป็นฝ่ายชนะจึงจะไม่ต้องมีการลี้ภัยเกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นได้ยากในสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: พร้อมพงษ์ วงศ์ราษฎร์ นักกฎหมาย และปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนสารนิพนธ์ เรื่อง ผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดกรณีศึกษา คนไทยผู้ลี้ภัยการเมืองในประเทศฝรั่งเศส (Political refugees and survival strategies: Case study of Thai political refugees in France)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท