Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. Self, the start of being I.

“ เมื่อยามค่ำคืนไหนที่เราฝัน และความฝันของเราช่างเหมือนจริงจนเราเกิดความรู้สึกทึ้ง เราโลดแล่นไปในความฝันอย่างไร้การควบคุม สติสัมปชัญญะไม่อาจเข้ามากล้ำกลายเขตพื้นที่นี้ได้ เรามีความสุขและความทุกข์ในความฝันที่ดำเนินอย่างไร้จุดจบ จนกระทั่งเราตื่นขึ้น ความฝันยังคงแนบชิดอยู่ที่ไหนสักแห่ง เรารู้และสัมผัสมันได้จากก้นบึ้งแห่งความทรงจำ แต่เมื่อฟันเฟืองแห่งชีวิตเริ่มหมุนทำงานอีกครั้ง เราพยายามนึกถึงความฝันของเราอีกระลอก ทว่ามันกลับสูญหายไปตามกาลเวลา ยิ่งพยายามขุดคุ้ยถึงมันกลับหาไม่เจอ ไม่มีสิทธิอันชอบธรรมไหนของเราจะอวดอ้างเพื่อจะครอบครองมัน ความรู้สึกสับสนทำให้พลันบังเกิดขึ้น สายตาที่เรามองโลกใบเดิมเปลี่ยนไป กระแสธารแห่งความคิดหมุนเวียนตามอารมณ์ ต้นไม้ที่เคยเขียวบัดนี้ ดูซีดจางและไม่สวยงาม เราอยู่ในความฝัน หรือเรากำลังดำรงอยู่ท่ามกลางความฝันของใครสักคน”

ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจเขียนเรื่องข้างบนจากความรู้สึกหลังเรียนคาบวิชาปรัชญาคาบหนึ่ง บรรยากาศในคาบนั้นช่างตราตรึงเป็นตราประทับ มันคับเขี้ยวกับความรู้สึกบางอย่างในจิตใจ แต่มันหาได้ต่อสู้เพื่อแย่งชิง กลับกัน -- มันประนีประนอมเพื่อขอพื้นที่ส่วนเล็กๆ ในความทรงจำเท่านั้น เรื่องที่ผู้เขียนกล่าวก็คือ อภิปรัชญาของแต่ละยุคสมัย มันช่างเร่งเร้าจิตใจให้ลองตั้งคำถามกับภาพ หรือสิ่งใดๆ ที่เราสัมผัสมันด้วยมือ ดมมันด้วยกลิ่น หรือได้ยินมันด้วยหู เมื่อเรามองดอกไม้ครั้นเรามีความรัก ครั้นเราได้ยินเสียงพ่อ แม่ยามเราหงุดหงิด เมื่อความรู้สึกแปรผันไป ความรักจืดจางลงดอกไม้ยังจะคงสวยงามอยู่เช่นเดิมหรือไม่ ยามพ่อ และแม่ของเราจากไป เสียงของพวกท่านจะยังคงน่ารำคาญดั่งทุกๆ วันหรือไม่ คำตอบคงจะมีอยู่ในห้วงจิตของพวกท่านแล้ว คำถามจึงเกิดขึ้นมากับตัวผู้เขียนว่า สิ่งเหล่านี้ที่เราต้องตื่นขึ้นมาเผชิญทุกวันนั้นน่าเชื่อถือมาก น้อย เท่าไหร่ และมันแตกต่างจากความฝันอย่างไร เมื่อมันสามารถแปรเปลี่ยนไปตามเวลาและโอกาส สิ่งไหนจึงเป็นจริง และเป็นจริงชั่วชั่วนิรันดร์กันแน่

เรเน่ เดกการ์ส (Rene Descartes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสพยายามไขข้อเท้จจริงเพื่อพิสูจน์ถึงที่มาของสิ่งต่างๆ บนโลก สิ่งไหนจริง สิ่งไหนเป็นเพียงมายาภาพที่เราปรุงแต่งมันขึ้นมาดั่งดอกไม้ที่คงกลิ่นหอมยามเช้า แต่ร่วงหล่นและเหม็นเน่ายามเย็น

เดกการ์ส เห็นว่าสิ่งใดๆ ในโลกที่เราสัมผัสมันผ่านสัมผัสทั้งห้า ล้วนสามารถแปลี่ยนแปลงได้ ไม่น่าเชื่อถือ นายท่านผู้นี้สงสัยกระทั่งความเชื่อของตนเอง บางทีเขาอาจกำลังโดนปีศาจตัวน้อย (Evil Genius) คอยบั่นหัวให้เชื่อตามที่มันต้องการ ดังสื่อข่าวในโทรทัศน์ที่เบนเบี่ยงความเชื่อเราได้ เขาสงสัยว่าเราจะสามารถเชื่อสิ่งใดได้บ้างจริงๆ   

จนกระทั่งในงาน Discourse on the method ของเดกการ์ส ได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม ภายใต้ความมืดมิดอันไร้คำตอบ หนังสือเล่มนี้อุดมไปด้วยคำบอกเล่าอันศักดิ์สิทธ์ดั่งแสงจากสรวงสวรรค์ ในส่วนที่สี่ของหนังสือ ที่กล่าวถึงการพิสูจน์ความจริงนิรันดร์ กับพระเจ้า วลีอันโด่งดังก็ถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ “เมื่อฉันสงสัยฉันจึงคิด เมื่อฉันคิดฉันจึงมีอยู่” (I doubt, therefore, I think. I think, therefore, I am) กล่าวคือ เมื่อสรรพสิ่งล้วนเชื่อไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เชื่อได้นั้นก็คือตัวเรานั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เพราะเป็นสิ่งที่คิดได้

การคิดแบบเชิงวิมติ (Skeptical) ของเดกการ์ส ดำเนินไปอย่างใจเย็นโดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เชื่อถือได้ที่สุดนั้นคือตัวเอง และตัดตัวเลือกที่เชื่อได้น้อย หรือเป็นไปไม่ได้ไป และสิ่งใดที่เข้ากฎที่เป็นจริง สงสัยไม่ได้ และไม่ขัดแย้งในตัวเอง หรือเหตุผล นั้นคือสิ่งที่เราพอจะเชื่อถือได้

เรารับรู้การมีอยู่ของตัวเราได้แล้ว แต่ผู้เขียนเห็นว่าเราก็ยังไม่อาจเป็นตัวตนเราที่สมบูรณ์แบบได้ หรือเป็นจิตที่สมบูรณ์แบบได้ แล้วถ้าแม้กระทั่งจิตของเรายังไม่สมบูรณ์แบบเราจะสามารถเชื่อถือสิ่งใดได้ ดังที่เดกการ์ส ได้กล่าวไว้ใน Meditation ว่า มนุษย์เป็นสิ่งไม่สมบูรณ์ เราใช้พระเจ้าที่สมบูรณ์เป็นเครื่องมือในการตัดสินสิ่งต่างๆ ดังนั้นลองจินตนาการมนุษย์บนโลกที่อุดมไปด้วยพระเจ้าองค์เดียวในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ผู้เดียว มันคงเป็นโลกที่มีผู้อยู่อาศัยเป็นมนุษย์ขนมปังขิงที่มาจากแม่พิมพ์เดียวกัน และน่าเบื่อมากๆ เลย


2. Otherness, which, how I respond to.

“โลกมันคงน่าเบื่อมากเลยสินะเมื่อไม่มีเธออยู่”

(Me Me She --  Radwimps)

แม้พวกเราจะดำรงอยู่ในร้านขนมปังเดียวกัน (โดยยังไม่นับร้านขนมปังร้านอื่นๆ ในระแวก) ที่มาจากแม่พิมพ์เดียวกัน แต่เราก็ยังมีรสชาติที่ต่างกันไปตามโอกาส จากความผิดพลาดของนักปรุงรสขนมปัง (Baker) เช่นกัน อาจจะดูเป็นโชคร้ายของพวกเราทุกคนที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดจากพระเจ้าที่สร้างเราขึ้นมา (Baker) แต่นั้นก็นับว่าเป็นโชคที่ดีของพวกเราเหมือนกันที่ความผิดพลาดนั้นเองที่สร้างความแตกต่างขึ้นมาระหว่างเราแต่ละคน หรือขนมปังขิงแต่ละชิ้น ดังคำกล่าวของบทเพลง Me Me She ของ Radwimps เพราะว่าเราผิดพลาดในบางประการเราจึงโหยหาชิ้นส่วน (fragment) ของชีวิตที่ขาดไปของเรา และของเธอเพื่อมาเติมเต็มเรา แต่เมื่อใดที่บนโลกมีความสมบูรณ์แบบเกิดขึ้นจริง นั้นคงจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาเลยจริงๆ 

ดังนั้นเมื่อคนเราไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงต้องถูกรับรู้ถึงความไม่สมบูรณ์แบบของเราโดยคนอื่นไม่ทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้เราสมบูรณ์แบบมากขึ้น เป็นจิตที่เข้าใกล้ หรือลอกเลียนบิดา หรือพระเจ้าของเรา

ทฤษฏีนี้จะเป็นเนื้อหาที่กล่าวต่อจาก วิธีการสงสัยของเดกการ์ส เพราะวิธีที่เขาตั้งต้นมานั้นดีแล้ว แต่มันยังขาดการนำไปปฏิบัติต่อผู้อื่นเพราะ แม้กระทั่งวิธีการคิดของเดกการ์สเองก็เริ่มตนจากเอาตัวเองไปนั่งอยู่คนเดียวหน้ากองไฟเลย (He has seated himself alone, by the fire, free of all worries so that he can demolish his former opinions with care.) กระนั้นเราจะเข้าใจการมีอยู่คนของคนอื่นได้อย่างไร เราต้องรับรู้ถึงการมีอยู่ของจิตวิญญาณอื่นด้วย กล่าวได้ว่า เราจำต้องรับรู้ถึงคนอื่นเพื่อให้คนอื่นรับรู้ถึงเราเป็นการสะท้อนกันไปมาระหว่างสองสิ่ง และสิ่งที่สะท้อนกันจะมองเห็นตัวมันเองได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้หากเราไม่ได้ถูกตระหนักรู้จากจิตตนอื่น การมีอยู่ของเราก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะเราไม่ได้มีอยู่จริงๆ ในมุมมองคนอื่นแต่แรก เราไม่ถูกตัดสิน เราไม่ได้ถูกขานนาม ต่อให้เรารับรู้ถึงตนเองแล้ว มันก็ยังจำเป็นที่ต้องนำตัวเองไปผูกไว้กับคนอื่นด้วยเพื่อให้ตนเองมีอยู่ขึ้นมาจริงๆ และได้รับเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทำให้การรับรู้ถึงตัวตนของตัวเองผ่านเพียงแค่การสงสัยนั้นเป็นไปไม่ได้ มันไม่ได้ถูกระบุอย่างจำเพาะ  

ผู้เขียนขอหยิบเรื่อง Spirited Away ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่กล่าวถึงเรื่องสังคมทุนนิยมได้อย่างน่าสนใจ และมีแรงกระทบ(Impact) สูงมากต่อผู้รับสาร แต่สิ่งที่เกี่ยวเนื่องระหว่าง ข้อสนสัยของเรา กับSpirited Away คือ วิธีที่เราจะทำให้สังคมรับรู้ถึงการเป็นตัวเรา 

ในตอนแรกที่จิฮิโระ (ตัวละครนำ) หลุดเข้าไปในโลกของวิญญาณ จิฮิโระถูกไล่ล่าโดยเหล่าปีศาจในโลก (ผู้เขียนเห็นว่า โลกวิญญาณนั้นไม่สามารถรองรับร่างกายภาพของมนุษย์ได้ เราจำต้องกล้าที่จะยอมรับ และปล่อยจิตเพื่อให้เข้าไปอยู่ในโลกของวิญญาณ และผู้เขียนเห็นว่านี่สามารถตอบคำถามของทฤษฏี mind&body ของ เดกการ์ส ได้ที่ว่าจิตมีตัวตนหรือไม่ แต่นั้นจะออกจากสาระที่เราพยายามทำความเข้าใจกันอยู่ ดังนั้นหากมีความเป็นไปได้ ผู้เขียนก็อยากจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมในอนาคต) เมื่อจิฮิโระ พยายามหลบหนีไปก็พบว่าร่างกายของตนค่อยๆ โปร่งแสง จนได้ ฮาคุ (ตัวละครนำชาย) เข้ามาช่วยเหลือไว้ ประเด็นที่น่าสนใจที่ ฮาคุได้พูดกับ จิฮิโระในระหว่างที่ฮาคุพยายามพา จิฮิโระไปฝากตัวไว้ที่โรงอาบน้ำ ที่ ยูบาบ้า(Antagonist) ถือครองไว้ และกลายเป็นคำพูดที่น่าสนใจกับเรามากก็คือ

ในโลกนี้หากเราไม่ทำงานเราก็จะถูกเปลี่ยนให้เป็นสัตว์ไป

ทำไม่เราจึงถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสัตว์ละ? จากบทวิเคราะห์ของหนังสือ ‘เข้าใจจิบลิ’ (2561: 129)กล่าวไว้ว่า เพราะถ้าอยากมีตัวตนในโลกวิญญาณต้องทำงาน มีเป้าประสงค์ของการดำรงอยู่ หากลอยไปลอยมาอย่างไร้จุดหมายก็จะหายสาบสูญไป ไร้ตัวตนหรือไม่ก็จะถูกสาปเป็นสัตว์แล้วถูกกลืนกิน หรือ (2561: 130)  ถ้าตัวฝุ่นไม่มีงาน มนต์จะเสื่อมแล้วพวกมันก็จะหายไป และจิฮิโระก็กลายเป็นอีกหนึ่งชีวิตในนับล้านชีวิตที่ตกอยู่ในกลไกของโลกทุนนิยม ซึ่งเดี๋ยวเราจะว่ากันต่อไปบนถัดไป แต่ในเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เรารับรู้ถึงคำตอบของคำถามที่ได้เกริ่นไปตั้งแต่เริ่มของบทนี้ ของการดำรงอยู่อย่างไรให้ถูกรับรู้ นั้นก็คือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมืองก็ได้ กล่าวคือ เราต้องมีงานการที่บ่งบอกถึงความสามารถของเราที่จำเป็นต่อสังคม หรือมีการกระทำของเราที่สามารถนับเราว่าเป็นหนึ่งในพวกอื่นก็ได้  (Action in community in order to be recognized) กล่าวคือ เราต้องมีการตอบสนองกับสิ่งที่เราผูกไว้กับสังคม เพราะถ้าหากเราอยากจะอยู่บนโลกแห่งนี้เราต้องทำงานเพื่อดึงเอาศักยภาพสูงสุดของตัวเราออกมา ถูกขัดเกลาจนสามารถบอกได้ว่านี่คือตัวตนของเราอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นหากเราไม่ทำอะไร เจี๋ยมเจี๊ยม เราก็จะถูกกลืนกินและหายไปในที่สุด (อริสา พิสิฐโสธรานนท์,  2561: 133) 

เพื่อกล่าวสนับสนุนต่อไป ผู้เขียนขอเน้นย้ำให้ชัดอีกเรื่องหนึ่งก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังก้าวข้ามการตระหนักรู้ผ่านตนเองของ เดกการ์สไป หมายความว่า เราไม่ได้ตั้งตนเรารับรู้ถึงตนเองผ่านตัวเองอีกแล้ว แต่ในทางกลับกัน เรากำลังรู้จักตัวเองผ่านคนอื่น กล่าวคือในบริบทสังคมเอง ตัวเราก็ไม่อาจเป็นตัวเราได้ เราเป็นได้แค่คนอื่นของอีกหลายๆ คนเช่นเดียวกัน แต่โปรดอย่าสับสนว่าที่มาของความรู้ (Epistemology) ซึ่งตัวผู้เขียนยังไม่มีความรู้มากพอในเรื่องนี้ เพียงแต่ผู้เขียนอยากจะบอกให้ตระหนักว่า กระนั้นเราเองก็ต้องทำงานในสังคมด้วยเพื่อให้การตระหนักรู้ของตัวเองเป็นที่รับรู้ เราไม่อาจตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางของการรับรู้ทุกอย่างได้  เพราะความจริงของเราอาจไม่ใช่ความจริงของคนอื่น และเราไม่มีสิทธิที่จะไปจำกัดความคิดของใคร เพียงเพราะเรามองต่างจากคนอื่น เพราะนี่เป็นความชอบธรรม อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความชอบธรรมของพระเจ้าเองที่สร้างมนุษย์ให้แตกต่าง เพื่อให้เกิดความกลมกลืน และร่วมมือกันได้ ดังนั้นตรงนี้ที่ผู้เขียนเห็นว่ายังคงเป็นจุดของ เดกการ์สที่ผู้เขียนได้รับรู้มา ว่ายังคงไม่ได้แก้ปมในจุดนี้ ผู้เขียนจึงอยากเสนอถึงความเป็นไปได้ทางอื่นบนโลกที่แสนหลากหลายเช่นนี้ เมื่อผู้อื่นทุกท่านทราบถึงจุดประสงค์อย่างตรงกันแล้ว ผู้เขียนก็ขอเปิดม่านโรงละครนี้ต่อไปเลยนะครับ

เมื่อเรารับรู้ถึงการแสดงตัวออกไปแล้ว สังคมตระหนักถึงการมีตัวตนของเรา เราจึงมีอยู่อย่างสมบูรณ์ และเริ่มหาจุดที่แสดงความแตกต่างของเราขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น หล่อ เตี้ย ดำ หรือขาว ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถรับรู้ถึงขีดความสามรถของเรา และตัวตนของเราอย่างแท้จริงบนสังคม ดังที่ได้กล่าวไป และที่สำคัญคือ จุดด่างพร้อยในตัวเราเพื่อสร้างอีกล้านความเป็นไปได้ให้กับสังคม แต่เมื่อเรานำตัวเองเข้ามาอยู่ในสังคมแล้ว ภาพมายาต่างๆ จึงสามารถเข้ามาหาเราได้ง่ายขึ้น อารมณ์จะเริ่มมีอิทธิพลกับเรามากยิ่งกว่าตอนไหน เส้นขั้นระหว่างเรากับสังคมเริ่มเจือจาง ความสมบูรณ์นี้มีโอกาสที่จะถูกกลืนหายไปตามกลไกของสังคม


3. Capitalism and I, among the otherness.

เมื่อตัวตนของเราไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงองค์ประกอบเดียว แต่มันถูกเชื่อมโยงกันอย่างแนบเนียน ด้วยสายใยอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขึงสรรพสิ่งดข้าด้วยกัน และเพื่อให้สายใยนี้ยังคงทำงานอยู่ต่อไปได้ เพื่อให้ตัวเราไม่ถูกบันทอนไปเป็นแค่อย่างอื่น เราจึงต้องมุ่งบากบั่นทำงานตามวัฏจักรที่หมุนเกลียว ไร้ที่สิ้นสุด เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราถูกตระหนักรู้ เราสามารถเป็นตัวเราเพื่อเติมแต่งให้โลกนี้สมบูรณ์ขึ้นได้ โดยปราศจากคำถาม เนื้อเยื้อร่างกายเราถูกกลืนดูดให้กลายเป็นสังคม เรามิอาจใช่ตัวเราอีกต่อไปในที่นี้ เพราะเรากลายเป็นสังคมไปเองเสีย
อาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งนี้กลายเป็นจุดอ่อนของรูปแบบสังคมในปัจจุบัน (ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราประสบเจอสิ่งร้ายกาจที่บันทอนสังคมมาไม่เหมือนกัน) เมื่อปัจเจกไม่ได้ทำงานเพื่อสร้างพื้นที่ หรือสร้างตัวตนให้กับอีกล้านความเป็นไปได้อีกต่อไป แต่เรากลายเป็นเพียงหมากในกระดานดำ ขาว ที่ไม่อาจเปลี่ยนหรือทำสิ่งที่ต่างได้ เพราะเราต่างถูกควบคุมโดยวัฏจักรของโลกสมัยใหม่ 

ในโลกที่ทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัวอย่างโซเชียลมีเดีย ที่เดกการ์สเองก็ยังไม่อาจจินตนาการถึงความน่าสะพรึงของฤทธิ์อำนาจของมัน แทนที่โซเชียลมีเดียจะสร้างความเป็นอื่น หรือตัวตนที่แบ่งอักขระชัดเจนในยีนของแต่ละคน กลับกลายเป็นลู่วิ่งที่ทุกคนมีสิ่งที่ต้องการเหมือนกัน ภายใต้หน้าที่ต่างกันก็เท่านั้นเอง ทุกคนทำงานเพื่อให้ได้มีหน้ามีตา มีความเป็นอื่นที่โดดเด่นขึ้นมา แต่กลายเป็นเขาเองที่หล่นไปยังหลุมกับดักของระบบทุนนิยม ที่ใม่ใช่การเคลื่อนอย่างมีอิสระ แต่เป็นการเคลื่อนภายใต้ความต้องการของคนๆ เดียว หรือระบบ กลไก เพียงหนึ่งเดียว

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นพระ เป็นเพศทางเลือก เป็นอะไรก็ตามที่ตนต้องการ แต่ไม่มีใครสนใจในเรื่องของอะไรคือสิ่งที่สร้างให้เราเป็นเราอีกต่อไป ทุกคนมุ่งไปในทางเดียวกันนั้นก็คือทำงานเพื่อให้สนองกิเลสตนเอง ให้จิตวิญญาณที่หิวกระหายได้เขมือบความพอใจจากการได้มีชีวิตอยู่ และมีความแต่ต่างทางด้านการเงินหรือคุณภาพชีวิต ผู้อ่านอาจจะกล่าวได้ว่าผมเป็นสเตริโอไทป์ (Stereotype) อย่างหนึ่งที่ตัดสินคนส่วนน้อยเพียงเพราะเห็นคนส่วนใหญ่ แต่ยังมีคนส่วนใหญ่ที่ยังรับจุดนี้ไม่ได้ การไม่เดินตามเกมสังคมคือคนชายขอบ ดังนั้นผมจึงจำต้องพูดในองค์รวมที่เห็นมากกว่า 

ถึงตอนนี้ ผมขอย้อนกลับไปสู่ความตั้งแต่แรกที่ผมท้าวความมายาวยืดขนาดนี้ นั้นก็คือ “เราคิดเราจึงมีอยู่... แต่เมื่อเราไม่ได้สนใจกระทั่งเรากำลังคิด หรือเรากำลังโดนหลอกให้คิด เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งไหนจริงสิ่งไหนเท็จ กระทั่งตัวเราเองอาจจะไม่อาจเชื่อได้ว่าเราเป็นตัวเองอยู่” (I think, therefore, I am. The fact of nowadays blur our vision of reality until the lens that conceive from minds and reasons broke and everything seem fantasy. I can never be self again.) 

เพื่อสนับสนุนความเลือนหาย และตัวตนของระบบทุนนิยม ผู้เขียนขอยกตัวอย่างต่อจากอนิเมชั่นเรื่อง Spirited Away ในตอนที่จิฮิโระ ต้องแลกเปลี่ยนชื่อตัวเองเพื่อให้ได้ทำงานในโรงอาบน้ำ

จิฮิโระได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในโรงอาบน้ำของยูบาบ้า เพียงแต่นั้นแลกมาด้วยชื่อซึ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของตนไป เหมือนหลังจากที่เราตระหนักถึงความสำคัญของสังคม และคนอื่นแล้ว และยังตระหนักถึงความจำเป็นที่เราต้องอยู่กับคนอื่นเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ในตัว เราเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมด้วยสติสัมปชัญญะที่เฉียบคมดังมีด แต่เมื่อเข้ามาแล้วกลับหลงในกลิ่นอันเย้ายวนของสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สิ่งที่มาเต็มเติมชิ้นส่วนที่ขาดหายไป เราหลงละเมอไปกับมัน มีตัวละครหลายตัวถูกวิเคราะห์ว่าเขาลืมความต้องการจริงๆ ของตน ลืมอดีตของตน ลืมสิ่งที่ทำให้ตัวเขา/เธอ แตกต่าง และตกอยู่ใต้ภวังค์อำนาจของทุนนิยม เพียงแต่จิฮิโระไม่ เธอยังคงจำความต้องการหลักของตัวเองได้ เธอรู้ว่าเธอมาทำไม -- และที่สำคัญ เธอคืออะไร นั้นทำให้เธอสร้างความแตกต่างจากตรงนั้นได้ 

จิฮิโระ ถูกขโมยชื่อจริงไป คงไว้เพียงเสี้ยวเดียวของชื่อนั้นก็คือ เซง ในการทำงานเธอเองก็ต้องเปลี่ยนเครื่องแบบให้เป็น ‘หนึ่งเดียว’ กับสถานที่ๆ เธอทำงาน ตัวเธอเองกำลังถูกดูดกลืนไปช้าๆ แต่เธอยังคงตามหาวิธีที่จะช่วยแม่ กับพ่อของเธอที่ถูกสาปให้กลายเป็นหมู ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า อะไรที่ทำให้เธอมีความรู้สึกนึกคิด หรือจิตวิญาณที่ไม่เลินเล่อไปกับระบบพวกนี้ได้ คำตอบก็คือ – อย่างน้อยที่ผมเข้าใจ จิตใจ(mind) ที่คอยทำงานกับตัวเอง (Self) ซึ่งเป็นกำแพงกั้นเธอกับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา กล่าวก็คือว่า เธอได้ทำงานกับสิ่งที่เรียกว่าความคิดของตัวเองในขณะที่เธอก็เล่นบทบาทที่สังคมมอบให้เธอไปอย่างไหลลื่น ในขณะเดียวกันเธอไม่เคยลืมจิตใจที่โอบอ้อมอารี มีความเห็นอกเห็นใจคนในสังคมทุกคน ดังที่เธอได้ช่วยเหลือ ฮาคุ คาโอะนาชิ(No-face) และโบ ที่สำคัญคือเธอยังนึกถึงเพื่อน หรือพ่อ แม่ของเธออยู่ซึ่งเปรียบเป็นสิ่งที่แสดงถึงการไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง ในขณะที่ต้องทำงานไกลกัน

ท้ายที่สุด หากเรามองข้ามเสียงเพลง และภาพที่สวยแต่ยังคงความคลาสซิกของการ์ตูนเรื่อง Spirited Away ไปได้ เราก็จะพบถึงสาระสำคัญที่จิกกัดระบบทุนนิยมเอาไว้อย่างเจ็บแสบของผู้กำกับ มิยาซากิ ที่กล่าวถึงความบ้าอำนาจในตัวของระบบทุนนิยมเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วเราไม่ได้พูด หรือมองเห็นความเป็นคนอื่นเลยในโรงอาบน้ำของยูบาบ้า เธอยึดเอาชื่อของพนักงานทุกคน ให้ทุกคนทำงานให้เธออย่างเพรียบพ้อง ไร้ข้อกังขา และสุดท้ายแล้วสิ่งที่บทความนี้กำลังตามหาอยู่ก็เสื่อมหายไป นั้นคือความเป็นตัวเอง(I am) แม้เราจะทำงานอยู่ในสังคม เรากำลังสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา แต่กลับถูกพลังอำนาจของระบบกลืนกินไปเสีย และตัวตนของเราก็ไม่เคยถูกแสดงหรือถูกมองอย่างจริงจังเลยสักครั้ง...


4. Self and Other, therefore, I am.

ภายใต้ความสิ้นหวัง ไม่มีปรัชญา หรือศาสนาใดที่สามารถนำทางเรากลับไปสู่ตัวตนได้ ทั้งโลกเต็มไปด้วยละอองแห่งความหลอกลวง มายา สิ่งเดียวที่สามารถยึดเหนี่ยวได้นั้นก็คือ เหตุผล -- ประดุจดั่งไม้ค้ำยันที่อย่างน้อยเราก็สามารถบอกได้ว่า เรามีตัวตนจริงๆ นะ แต่นั้นก็ไม่อาจเป็นตัวตนที่สมบูรณ์ดั่งที่กล่าวไว้ในส่วนแรกได้ แต่ครั้นจะก้าวออกไปเพื่อเข้าสู้กระบวนอันแท้จริงที่สามารถระบุความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราได้ ก็เสี่ยงเหลือเกินที่จะโดนระบบบางระบบกลืนกินเราเข้าไป ซึ่งสุดท้ายมันเหลือช่องทางอะไรบ้างที่บอกถึงสถานะของเราได้จริงแท้ที่สุด 

“จิฮิโระ เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร!”

คำตอบนั้นซ่อนอยู่ เป็นจุดเล็กๆ คล้ายหน้าต่างบานเล็ก เป็นจุดอ่อนที่ซ่อนอยู่ในความแข็งแกร่งของระบบทุนนิยม นั้นก็คือ การที่เราเข้าไปสู่สังคมอย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นแค่ความเสี่ยงที่จะถูกทำให้กลายเป็นตัวมันเสียเอง กล่าวก็คือ เรายังพอมีโอกาสรอดในโลกของระบบทุนนิยมแบบนี้ ซึ่งวิธีนั้นก็คือการกลับเข้าไปสู่ตัวเอง หรือการคิด (Think) เพื่อตั้งคำถามและทบทวนสิ่งต่าง มายาภาพ หรือกระทั่งตัวตนของเราอีกครั้ง คำว่า “ฉันคิดฉันจึงมีอยู่” จึงไม่ได้หายไป กลับกันชุดความคิดนี้คือรากฐานอันแท้จริงที่ทำให้มนุษย์แข็งแกร่งได้ “เพราะฉันสงสัย ฉันจึงคิด” แค่สงสัย กระบวนการสงสัย หรือเคลือบแคลงใจกับข้อเท็จจริงตรงหน้าก็หมายความถึงความสามารถในการวิเคราะห์ และไม่มองภาพมายาของเราแล้วว่า เราเองก็กำลังสงสัยอยู่นะ และเมื่อเราสงสัยเราจึงคิด และเข้าสู่สมการเดินนั้นก็คือ การมีอยู่ (I exist) 

เมื่อเรากลับไปยังส่วนแรกของบทความ ในหนังสือเรื่อง Meditation ซึ่งแม้แต่ชื่อของหนังสือก็แปลได้ว่าสมาธิ สมาธิหมายความถึงการกลับไปอยู่กับตนเอง นั่งวิเคราะห์ตนเอง กลับเข้าไปนั่งหน้าเตาผิงและพูดคุยกับตัวเอง

เมื่อเราคงชุดความคิดนี้ไว้ เมื่อใดที่เราเข้าสังคม และมีโอกาสที่จะถูกเบนไปสู่ภาพลวงตา เราก็กลับเข้ามาใช้ความคิด กับชุดประสบการณ์นั้น กล่าวก็คือ ในชีวิตเราต้องมีทั้ง กัมมันต์(Action) เพื่อเข้าสู้สังคม และ อกัมมันต์ (Passive) เพื่อคิด และอยู่กับตัวเอง เมื่อมีทั้งสองอย่าง การมีตัวตนอยู่จึงสมบูรณ์ขึ้นได้ เราทำงานร่วมกับสังคมเพื่อให้เกิดการตระหนักแบบหมู่คณะ และสร้างจุดมุ่งหมายร่วมในการพัฒนาบางอย่างให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันเพื่อกันความพลาดพลังเราก็หยุด และคิดตรึกตรองให้ดีดู การมีอยู่ของทั้งสองอย่างจึงกลมกลืน และเป็นเอกลักษณ์ มนุษย์จึงเกิดขึ้นมา

ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทที่สอง มนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์ การมีอยู่ร่วมกันจึงจำเป็น เพื่อให้พวกเราเข้าใกล้พระเจ้า หรือพระบิดาของเรามากที่สุด ข้าพเจ้าจึงขอจบบทความนี้ไว้เพียงเท่านี้เถิด.

 

บรรณานุกรม (เท่าที่ระลึกได้)
อริสา พิสิฐโสธรานนท์. (2560). “เข้าใจจิบลิ”. สำนักพิมพ์: สวนเงินมีมา.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net