เรื่องเล่ามากมายที่ต้นน้ำมาย : อยู่ตรงนี้มานาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลายทศวรรษที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาต่อชุมชนบนพื้นที่สูงว่าเป็นผู้มาอยู่ใหม่แม้จะผ่านมานาน ข้อกล่าวหานี้ก็ยังคงดำรงค์อยู่ทำให้เป็นสิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่าแท้จริงแล้วจริงเท็จอย่างไร ผู้เขียนจึงได้สืบค้นเอกสารต่างๆ โดยยกตัวอย่างเอางานเขียนของชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางที่มีการยืนยันถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2423 หรือ ค.ศ. 1880 และทำการสืบค้นเอกสาร และเอกสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่าบ้านกลางประวัติการก่อตั้งชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง หมู่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มีอายุมากกว่า 300  ปีหรือ 5-6  ช่วงอายุคน (ก่อนปี พ.ศ. 2254[1]) เดิมทีหมู่บ้านนี้ตั้งหมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบันประมาณ 3 กิโลเมตร ชื่อบ้านเนาะหรือบ้านนอก (บางเอกสารใช้เนาะบางอันใช้นอก) ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์จากกาญจนบุรีได้เดินทางมาค้าขายที่บ้านสลก ตำบลแม่เกิ้ง อำเภออำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และเดินทางต่อเพื่อไปเชียงแสนโดยใช้เส้นทางสันดอยหลวง ระหว่างทางได้มาหยุดพักที่บริเวณใกล้ห้วยแม่มายพบว่าพื้นที่นี้เหมาะกับการทำมาหากิน จึงได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานและสร้างหมู่บ้านขึ้น[2] (เอกสารของหมู่บ้านกลาง)

หลักฐานที่พอจะยืนยันถึงการอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มากว่า 300 ปี คือ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 10:28 น. เรื่องจากเพจ กะเหรี่ยงบ้านกลางขุนน้ำแม่มาย ได้ระบุว่า

“ใครพอรู้จักบ้าง เงินก้อน ไม่รู้ว่าเรียกชื่ออะไร แต่เรียกตามคนเมืองมาแต่อดีตว่า "เงินหีหมา" ตามชื่อแล้วเรียก "ฝักขาม หรือ เงินเจียง" จากประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลางอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2424 หรือมากกว่า 139 ปี ก้อนเงินและไหที่บรรจุถูกพบในระหว่างสร้างห้องน้ำบริเวณพื้นที่บริเวณบ้านของ นายบุญมาก หลักแหลม อายุ 67 ปี โดยขณะที่พบได้ขุดหลุมลึกลงลงไปประมาณ 2 เมตรซึ่งพบไหที่บรรจุก้อนเงินดังกล่าว จำนวน 1 ไห และก้อนเงิน 4 ชิ้น โดยปรากฏมีอักษรและสัญลักษณ์บนก้อนเงิน หลังจากการสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนไม่พบว่ามีใครรู้จักหรือพบประวัติกับสิ่งของดังกล่าว ซึ่งสมมุติฐานเบื้องต้น พื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง (ประวัติเดิมชื่อบ้านยางกลาง) มีคนที่เคยอยู่อาศัยมาก่อนมากกว่าประวัติศาสตร์ของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลางที่มี นอกจากนั้นยังมีการขุดพบวัตถุโบราณอื่นโดยทั่วบริเวณพื้นที่บ้านกลาง แม้กระทั่งในพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชุมชน”


รูปประกอบเงินเจียงที่ขุดพบในบ้านกลาง

ข้อมูลจากเพจ พดด้วง เงินตราและ เหรียญโบราณ ได้กล่าวถึงเงินเจียง หรือเรียกกันว่าเงินขาคีม ว่าเป็นเงินตราเก่าที่มีใช้ในล้านนามีรูปคล้ายเกือกม้าสองวงปลายต่อกันคอดกลาง ทำให้หักออกและทอนค่าลงได้ มีการตีตราประทับด้านละ 3 ดวง ลักษณะของเงินเจียงมีขา 2 ขา เเต่ละขาตีตรา 3 ตราคือ ด้านปลายขาตีตราจักรหรือธรรมจักรสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ตรงกลาง ตีตราเมืองที่ผลิต ตรงส่วนหัวตีตราอักษรบอกราคาของเงินคือเลข ๕ ของล้านนาหรืออักษรฝักขาม โดยชื่อเมืองก็เป็นอักษรฝักขาม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอักษรสมัยสุโขทัย บอกน้ำหนักของเงินชื่อเมืองที่ทำขึ้น และตราจักรตามลำดับ มีมากกว่า 60 เมือง เช่น แสน (เชียงแสน) หม (เชียงใหม่) กก หาง สบฝางหรือฝาง นาน (น่าน) คอน (ลำปาง) แพร (แพร่) บางอันมีตราเล็กๆ อีก 1 ดวงประทับอยู่ตรงปลายขา เงินเจียงมีอายุตั้งแต่ 300-700 ปี ขึ้นอยู่กับตราสัญลักษณ์ (นวรัตน์ เลขะกุล, 2555.)[3]

บทความ “เงินรูปีอินเดียในประวัติศาสตร์ล้านนา” เขียนโดยอภิรัฐ คำวัง ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2556) มหาวิทยาลัยเนรศวร 

จากการพบวัตถุโบราณในพื้นที่นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พ่อหลวงชาติผู้ใหญ่บ้านกลางได้พบบาตรตั๋น ซึ่งเป็นเครื่องรางของชาวล้านนี่มีมาตั้งแต่สมัยเชียงแสน ซึ่งบาตรตันถือว่าเป็นที่สุดแห่งเครื่องรางของขลังด้าน แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เพราะเชื่อว่าเวลารบทัพจับศึกหรือมีเรื่องมีราวทะเลาะวิวาทกัน ถ้ามีบาตรตันอยู่ในตัวแล้ว ก็จะทำให้แคล้วคลาดปลอดภัย จากอันตรายทั้งปวง

 

 ภาพบาตรตัน จากเฟสบุ๊ค สมชาติ รักษ์สองพูล  การพูดคุยกับ ผศ. ดร. ชาญคณิต อาวรณ์
  อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยพะเยา

ในปี พ.ศ. 2423 หรือ ค.ศ. 1880 ได้มีมิชชันนารีเข้ามาประกาศพระกิตติคุณ (คำสอนของพระเยซู) ในหมู่บ้านเนาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยผู้ประกาศชาวกะเหรี่ยงจากประเทศพม่า ชาวบ้านเกิดความนับถือศรัทธาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน ชุมชนบ้านกลางจึงเป็นชุมชนแห่งแรกที่มีการเผยแผ่คริสต์ศาสนากะเหรี่ยงแบ๊บติสต์แห่งประเทศไทย (KBC) ซึ่งในปี ค.ศ. 1882 มีจำนวนสมาชิกจำนวน 60 คน นับได้ว่าเป็นคริสตจักรกะเหรี่ยงแห่งแรก (ปัจจุบันคือคริสตจักรมากมาย สังกัดภาค 10 สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยและได้มีสร้างอนุสาวรีย์แห่งการเผยแผ่เป็นหลักฐาน ขึ้นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเดิม (บ้านเนาะ หรือบ้านนอก) หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยืนยันการก่อตั้งหมู่บ้านมายาวนานกว่าร้อยปีเป็นบันทึกเป็นของคริสตจักรมากมาย (ไม่รู้เขาเรียกว่าอะไร)ซึ่งเขียนเป็นภาษากะเหรี่ยงสะกอ (คริสตจักรมากมาย บ้านกลาง)

จากบันทึกของชุมชนดังกล่าวสอดคล้องกับงานเขียนของคาร์ล บ็อค ชาวนอร์เวย์ ซึ่งได้เดินทางมาในพื้นที่จังหวัดลำปางในช่วงเวลาเดียวกัน โดยกล่าวถึงคนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยูในเมืองละครไว้ว่า “…ตามภูเขาทางตะวันออกของละคร (ลำปาง) มีกะเหรี่ยงหมู่หนึ่ง บางครั้งพวกนี้บางคนเข้ามาในเมือง ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสวาดรูปเอาไว้บ้าง เพื่อเอามาเปรียบเทียบกับรูปเชื้อสายของพวกนี้เองที่กระจัดพลัดพลายไปในเขตจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งบางอย่างต่างกันไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่นพวกผู้ชายกะเหรี่ยงทางแถบลำปางมุ่นขมวดไว้ตรงหน้าผากแทนที่จะเอาไปไว้ข้างๆ และไม่ไว้ผมจนยาวเหมือนพวกพ้องที่อยู่แถบทะเลทางตะวันตกของสยาม ...” (เสถียร พันธรังสี และอัมพร ทีขะระ (2550: 160)

 

งานเขียนชิ้นสำคัญอีกที่ชี้ให้เห็นถึงการตั้งรกรากของกลุ่มคนปกาเกอะญอในบริเวณนี้คืองานของโฮลต์ เอส. ฮอลเล็ตต์ วิศวกรรถไฟชาวอังกฤษได้เดินทางเข้ามาในล้านนาช่วงปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) เพื่อสำรวจพื้นที่สร้างเส้นทางรถไฟจากพม่าผ่านล้านนาไปยังยูนนานหรือจีนตอนใต้ ฮอลเล็ตต์เดินทางผ่านเมืองสำคัญต่างๆ ในภาคเหนือและได้เขียนหนังสือเรื่อง A Thousand Miles On An Elephant In The Shan States  (1890) โดยมีความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงกลุ่มคนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยูในเมืองละครไว้ว่า “..Mr. David Webster จาก American Baptist Mission ซึ่งได้พบที่ชายแดนสยามที่แม่น้ำ Thoungyeen ต่อมาได้พักร่วมกันที่เชียงใหม่ (Zimme) เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก (ในการเผยแพร่ศาสนา) ในหมู่ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามเนินเขาใกล้เมืองละกอน (Lakon) โดยเฉพาะในปี 1881 และในปี 1885 มีชาวกะเหรี่ยง 161 คน...” (ดูในเอกสารอ้างอิง 2) ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของชุมชนที่มีการฉลองครบรอบ 100 ปี การประกาศ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ลูกสาวป้า...เกิดปีที่ฉลองครบรอบ 100 ปี จึงต้องชื่อว่าสาวรี ชื่อกะเหรี่ยง ยุปะหลี


อนุสรณ์พระกิตติคุณเข้ามาในกะเหรี่ยงแบติสต์ ปี ค.ศ. 1881

จากหลักฐานดังกล่าวจึงพอให้เชื่อได้ว่า พื้นที่นี้เป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีมามากกว่า 300 ปี ดังที่คนในชุมชนกล่าวอ้างนั่นเอง

Holt Samuel Hallett  (1890) A Thousand Miles On An Elephant In The Shan States

บัตรประจำตัวเอกสารและหลักฐานวัตถุแสดงตัวตนของคนบ้านกลาง

การย้ายที่ตั้งถิ่นฐานได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ย้ายไปแม่ต๋ำอยู่ได้ไม่นานก็ย้ายไปอยู่ที่ห้วยแม่มาย และย้ายอีกครั้งไปอยู่ที่ห้วยปิงซึ่งปัจจุบันคือบ้านแม่ส้าน ส่วนหมู่บ้านเดิมชื่อหมู่บ้านเนาะที่เข้ามาอยู่ในครั้งแรกปัจจุบันไม่มีผู้อาศัยอยู่แล้ว ส่วนหมู่บ้านกลางเกิดจากการย้ายตามที่ทำกินขึ้นไปทางทิศเหนือของหมู่บ้านเนาะซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านกลางในปัจจุบัน เดิมทีกลุ่มบ้านกลางอยู่ภายใต้การปกครองของหมู่ 2 ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ภายหลังขึ้นกับบ้านปู่จ้อย ตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง แต่เนื่องจากการคมนาคม และการสื่อสารยากลำบากเพราะพื้นที่บ้านกลางเป็นภูเขาสูงจึงย้ายมาอยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะจังหวัดลำปางจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2495 ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายวอ หลักแหลมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งในช่วงเวลานี้บ้านกลางยังเป็นเขตการปกครองของตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่มจังหวัดลำปางอยู่ นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่ยืนยันถึงการเป็นประชากรที่เกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่ของคนในหมู่บ้านกลางยังพบเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของนายหล้า มะโน ซึ่งออกให้โดยสำนักทะเบียน กระทรวงมหาดไทยที่ระบุว่าเขาเกิดในปี พ.ศ. 2450 ปัจจุบันลูกหลานของนายหล้ายังคงอาศัยในพื้นที่นี้ในปัจจุบันอีกด้วย จากเอกสารทั้งสองรายการดังกล่าว บ้านกลางจึงอยู่ในเขตการปกครองของตำบลเมืองมายอย่างน้อยถึงปี พ.ศ. 2507 แล้วจึงเปลี่ยนไปขึ้นกับการปกครองของตำบลบ้านแลงในระยะหนึ่งก่อนเปลี่ยนการปกครองไปขึ้นกับตำบลบ้านดงมาจนถึงปัจจุบัน


“เหรียญที่ระลึกชาวเขา” 

ในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลไทยได้ประกาศ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎรพร้อมกับจัดทำทะเบียนบ้านให้กับคนไทย และดำเนินการสำรวจจำนวนประชากร ผลที่ตามมาคือสร้างสถานะทางกฎหมายที่แยกระหว่าง “คนไทย” และ “ไม่ใช่ไทย” ผ่านการใช้บัตรแสดงตัว และเมื่อเกิดความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รัฐบาลดำเนินโครงการสำรวจจำนวนประชากรชาวเขาในปี พ.ศ. 2512-2513 โดยกอ.รมน.และกระทรวงมหาดไทยเร่งการจดทะเบียนชาวไทยภูเขา (ทร.ชข.) และแจก “เหรียญที่ระลึกชาวเขา” (http://www.geocities.ws/lampchiangmai/tcitizenship.html) จึงมีชาวบ้านในบ้านกลางส่วนหนึ่งที่มีเหรียญนี้อยู่ในการครอบครองด้วย


บัตรประจำตัวประชาชนของนายมอย ต๊ะนัย

ข้อมูลข้างต้นหากพิจารณาตามเอกสารดังกล่าว บ้านกลางจึงน่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของตำบลบ้านดงก่อนหน้าปี พ.ศ. 2527 กล่าวคือ จากเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของนายมอย ต๊ะนัย ซึ่งเกิดใน ปี พ.ศ. 2455 ได้ทำบัตรประชาชนรุ่นที่ 2 บัตรรุ่นนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2506 เป็นบัตรรูปขาว-ดำ สี่เหลี่ยมผืนผ้า เคลือบพลาสติกใส กว้าง 6 ซม. ยาว 9 ซม. มีการยกเลิกการใช้ บัตรประชาชนรุ่นที่ 2 ตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ซึ่งยังพบว่ามีบัตรประชาชนของนายคำมาพุดสวยได้ทำบัตรรุ่นนี้ด้วย

เอกสารบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้านทั้งสามท่านเป็นข้อยืนยันได้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น “คนไทย” ที่อาศัยในประเทศนี้มาอย่างยาวนานมากแล้ว

 

 

 

 

เอกสารที่ทำกินของคนบ้านกลาง

map ข้อมูลของทางราชการได้ระบุว่าเดิมอำเภอแม่เมาะขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2515 อำเภอเมืองลำปาง กรมการจังหวัดลำปาง และสภาจังหวัดลำปางได้พิจารณาเห็นว่า พื้นที่ของตำบลบ้านดง ตำบลนาสัก และตำบลจางเหนือเป็นท้องที่ทุรกันดาร เห็นสมควรจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ จึงนำเรื่องเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอแม่เมาะ ขึ้นกับอำเภอเมืองลำปางเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2519 ที่ว่าการกิ่งอำเภอแม่เมาะก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2521 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2523 ได้แบ่งตำบลบ้านดงออกตั้งเป็นตำบลแม่เมาะเพิ่มขึ้นอีก 1 ตำบลตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 19 มีนาคม 2524 เมื่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และจำนวนราษฎรของกิ่งอำเภอแม่เมาะเพิ่มมากขึ้นจนสามารถยกฐานะเป็นอำเภอได้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ยกฐานะกิ่งอำเภอแม่เมาะเป็นอำเภอ โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งและประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่มที่ 96 ตอนที่ 101 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 กิ่งอำเภอแม่เมาะจึงเป็น อำเภอแม่เมาะ ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา (อำเภอแม่เมาะ)  (ดูในเอกสาร 856, และ 10)

เอกสารประกาศการเปลี่ยนแปลงการกำหนดเขตพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทยได้ระบุขอบเขตของการกำหนดอาณาเขตของตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้ระบุไว้เมื่อปี พ.ศ. 2524 ดังนี้ (ตามเอกสาร 1011) ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยถือเอากึ่งกลางสันเขาเจ้าพ่อประตูผาเป็นแนวแบ่งเขต ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่เมาะ กิ่ง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยถือเอากึ่งกลางแนวถนนบ้านหัวฝายเป็นแนวแบ่งเขต ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลจางเหนือ กิ่ง อำเภอแม่เมาะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยถือกึ่งกลางดอยหนอกเป็นแนวแบ่งเขต ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบ้างแลง อำเภอเมือง จังหวัดลำปางโดยถือเอากึ่งกลางสันเขากี่วไร่เป็นแนวแบ่งเขต

เอกสารที่เกี่ยวกับการจัดเขตพื้นที่ป่าที่ใกล้เคียงกับบ้านกลางพบว่ามี 2 พื้นที่ที่น่าสนใจคือ พื้นที่ป่าสงวนแม่เมาะโดยมีการประกาศตามราชกษฎีกาเล่มที่ 84 ตอนที่ 126 วันที่ 28 ธันวาคม 2510 และพื้นที่ป่าสงวนแม่ต๋าและป่าแม่มายโดยมีการประกาศตามราชกษฎีกา เล่มที่ 92 ตอนที่ 251 วันที่ 9 ธันวาคม 2518

ความน่าสนใจของประกาศทั้ง 2 ฉบับคือในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงเพื่อกำหนดเขตป่าในตำบลบ้านดงให้เป็นเขตป่าสงวนพื้นที่ป่าสงวนแม่เมาะจะพบว่ามีการระบุถึงหมู่บ้านยางห้วยตาดไว้ว่าอาศัยทางต้นน้ำเมาะ ในแผนที่ดังกล่าวไม่ได้มีกันพื้นที่ดังกล่าวออก ซึ่งปัจจุบันยังมีคนอาศัยตั้งหมู่บ้านนี้มาถึงปัจจุบัน แต่อีกประกาศหนึ่งพื้นที่ป่าสงวนแม่ต๋าและป่าแม่มายในเขตต้นน้ำมายไม่ได้มีการกล่าวอ้างถึงหมู่บ้านใดๆ เลยในแผนที่แนบท้าย ทั้งที่หลายชุมชนได้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนการประกาศใช้

ข้อมูลของหมู่บ้านกลางได้ระบุว่าชุมชนตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 500-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีดอยที่สำคัญๆ ซึ่งมีชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้าน 6 ดอยด้วยกัน คือ ดอยโล่งใจ ดอยยุง ดอยตั้งหงาย ดอยตาดอุบ  ดอยผักหวาน และดอยขมิ้นซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วย 17 สายด้วยกันคือ ห้วยช้างงาอ้า ห้วยปูเล็ก ห้วยปูลาน ห้วยปูดำ ห้วยช้างงาเล็ก ห้วยผายาก ห้วยมะหลอด ห้วยป่าเหี้ยว ห้วยเปียง ห้วยต๋อง ห้วยกวางตู ห้วยน้ำขุ่น ห้วยหก ห้วยหลุด ห้วยส้ม ห้วยปูแวน และห้วยวอกซึ่งไหลมารวมกันกลายเป็นลำห้วยใหญ่ 2 สายหลักคือ ลำห้วยแม่มาย และลำห้วยแม่ต๋ำ

ข้อมูลจากชุมชนได้ได้ระบุถึงการเสียภาษีบำรุงที่ดินให้กับทางราชการไว้อย่าน้อยตามที่ระบุไว้ในเอกสารใบเสร็จ ภทบ 11 คือปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 9 ตำบลบ้านดง อำภอเมือง ก่อนที่จะขึ้นอยู่กับเขตการปกครองของ กิ่ง อำเภอแม่เหมาะในเอกสารที่ 4

นอกจากนี้ยังพบเอกสารเอกสารใบรับแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน ซึ่งได้ยื่นไว้ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2519 ก่อนการประกาศพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนแม่ต๋าและป่าแม่มาย

การสืบสาวเอกสารนี้ทำให้เห็นว่า พื้นที่ป่าสงวนแม่ต๋าและป่าแม่มายผิดตั้งแต่เริ่มต้น และส่งผลต่อชุมชนมาถึงปัจจุบัน

จากหลักฐานดังกล่าวจึงพอกล่าวได้ว่าชุมชนบ้านกลางอยู่อาศัยอยู่ในบริเวณลำห้วยมาย และบริเวณใกล้เคียง และเคลื่อนย้ายตั้งที่อยู่อาศัยไปตามแหล่งทำการเกษตร รวมไปถึงการติดต่อกับคนภายนอกมานานมากแล้ว

 

อ้างอิงหนังสือ และแหล่งข้อมูลจากอินเทอร์เนต ที่เกี่ยวข้อง

เอกสารการตั้งถิ่นฐาน

เสถียร พันธรังสี และอัมพร ทีขะระ. (2550). มหาอำนาจยุโรปต้องการ “เขมือบ” ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพ

Holt Samuel Hallett  (1890) A Thousand Miles On An Elephant In The Shan States.

นวรัตน์ เลขะกุล. เงินตราล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ : บริษัท นพบุรีการพิมพ์ จากัด, 2555.

อนุสรณ์เกียรติคุณ

คริสตจักรมากมาย บ้านกลาง https://www.facebook.com/305045942911048/posts/305066919575617/ 14 พฤษภาคม 2012

http://www.bandonglp.com/bandonglp/?name=page&file=page&op=%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B

วิวัฒนาการบัตรประจำตัวประชาชน http://rdsmartcard.blogspot.com/2011/10/blog-post.html

เงินเจียง

https://www.facebook.com/605641566142973/posts/1514783865228734/

วิวัฒนาการ http://treasurypavilion1.treasury.go.th/download/article/article_20190621091949.pdf

บทวิจารณ์หนังสือเงินล้านนา https://rtt.kku.ac.th/ejournal/pa_upload_pdf/545072.pdf

 

[1] พ.ศ. 2254 ตรงกับสมัยพระเจ้าภูมินทราชาพระเจ้าท้ายสระของไทยตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงมีประกาศเมื่อปี พ.ศ.2273 ห้ามมิให้นักบวชฝรั่งเศสแต่งหนังสือสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาบาลี และภาษาไทย และห้ามเทศนาสั่งสอนเป็นภาษาไทย มอญ ลาว ญวน และจีน ห้ามมิให้ชักชวน และหลอกลวงประชาชน ให้หันไปนับถือคริสต์ศาสนา และห้ามมิให้ติเตียนพุทธศาสนา

[2] การเดินทางไกลเข้าใจว่าน่าจะเป็นร่วมเดินทางร่วมกับคณะสำรวจทรัพยากรของชาวยุโรป หรือคณะเผยแพร่ศาสนาซึ่งเข้ามาในช่วงนั่น

[3]อ่านเพิ่มเติมใน ธนาคารแห่งประเทศไทยhttps://www.bot.or.th/Thai/MuseumAndLearningCenter/BOTMuseum/Northern/Pages/coin05.aspx

พดด้วง เงินตราและ เหรียญโบราณ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท