สภาฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง กม.สมรสเท่าเทียม

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 หลักทั่วไป บรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก เพื่อให้บุคคลทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศสามารถหมั้นและสมรสกันได้ตามกฏหมายและเพื่อให้คู่สมรสทั้งต่างเพศและเพศเดียวกันมีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่าเทียมกัน

ร่าง พ.ร.บ.​ ฉบับดังกล่าวเสนอให้มีการปรับถ้อยคำในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้เปลี่ยนจากคำว่า “สามีและภรรยา” เป็นคำว่า “คู่สมรส” ส่วนในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการหมั้น ให้ใช้คำว่า “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น” แทนคำว่า “ชาย” และ “หญิง” และในมาตราเกี่ยวกับการสมรส ให้เปลี่ยนจากคำว่า “ชาย” และ “หญิง” เป็น “บุคคล”

การเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามร่าง พ.ร.บ. ที่มีการเสนอดังกล่าวจะทำให้บุคคลไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศสามารถหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย และมีสิทธิ หน้าที่ และความคุ้มครองตามกฏหมายในฐานะคู่สมรสเสมอกันไม่ว่าจะเป็นเพศใด นอกจากนี้ ยังให้สิทธิคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยระบุเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวว่า ข้อกฎหมายเดิมขัดต่อมาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ โดยเฉพาะบทบัญญัติในบรรพ 5 “ซึ่งขัดต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ” จึงขอเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้บุคคลทุกคนได้รับการรับรองสิทธิต่าง ๆ เช่นสิทธิในการหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส เพื่อให้ เพื่อให้ “สิทธิของบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียมและได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนอายุของผู้ที่จะสามารถทำการสมรสได้จาก 17 ปี เป็น 18 ปี โดยเสนอให้แก้มาตรา 1448 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จากข้อความเดิมว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว” เป็น “การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว”

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล และคณะ โดยเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน”

การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีเพื่อรับฟังความคิดเห็นสี่ประเด็น คือ

  1. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น “เพศเดียวกัน” และ “ต่างเพศ” สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่
  2. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น “เพศเดียวกัน” หรือ “ต่างเพศ” สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่
  3. ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือไม่
  4. ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศมีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธระหว่างกันเหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือไม่

บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=94) ซึ่งเปิดรับฟังความเห็นมาตั้งแต่ 2 ก.ค. 2563 มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นแล้วมากกว่า 13,000 คน

หน้าเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ก่อนหน้านี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ให้สิทธิกับคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศเทียบเท่ากับคู่สมรสต่างเพศ เนื่องจากมุ่งให้ความสำคัญเรื่องการจัดการทรัพย์สินมรดกและการฟ้องแทนในคดีอาญาได้เท่านั้น ไม่ครอบคลุมทั้งหมดของการใช้ชีวิตคู่ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาลและการได้รับสวัสดิการ (กรณีที่อีกฝ่ายมีสิทธิที่ได้รับจากการทำงาน) สิทธิในกรณีคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย และสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขที่คลุมเครืออย่างการระบุให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม ซึ่งอาจสร้างปัญหาในการตีความว่าจะอนุโลมได้หรือไม่ เช่น สิทธิในการใช้นามสกุลร่วมกันกับอีกฝ่าย สิทธิในการเซ็นยินยอมการรักษาของอีกฝ่าย สิทธิในการจัดการศพอีกฝ่ายที่เสียชีวิต สิทธิในกองทุนประกันสังคมในฐานะคู่สมรส

ในเดือน ส.ค. 2562 คณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ร่วมกับองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 80 รายชื่อ จึงออกจดหมายเปิดผนึก ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณา ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... และขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครอบครัวและมรดกในบรรพ 5 บรรพ 6 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท