Conflicted Visions Again : หลังผ่านรัฐประหาร เลือกตั้ง และโควิด-19

6 ปีผ่านไป WTF gallery & cafe จัดนิทรรศการ Conflicted Visions Again ขึ้นมาโดยเชิญศิลปินเกือบทั้งหมดจากงาน Conflicted Visions ครั้งก่อน ได้แก่ ประกิต กอบกิจวัฒนา, สุธี คุณาวิชยานนท์, มานิต ศรีวานิชภูมิ, พิสิฐฎ์กุล ควรเเถลง, จักรพันธ์ วิลาสินีกุล และมิติ เรืองกฤตยา (ขาดแต่เพียงศิลปินนิรนามเจ้าของผลงาน “มานีมีแชร์” ที่ไม่ได้มาร่วมในครั้งนี้) กลับมาแสดงงานเพื่อสะท้อนภาพการเมืองในปัจจุบันและทัศนคติของพวกเขาต่อสถานการณ์การเมืองที่ขณะนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 6 ปีก่อน

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2563 18.00 น. ที่ WTF gallery & cafe มีงานเปิดงานนิทรรศการ Conflicted Visions Again ที่นำศิลปิน 6 คน ที่เคยร่วมแสดงผลงานใน Conflicted Visions เมื่อ 10 เม.ย. 2557 หรือ 6 ปีที่แล้ว กลับมาร่วมแสดงผลงานอีกครั้งในบริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป หลังจากรัฐประหาร เลือกตั้ง และโควิด-19

สมรัก ศิลา ภัณฑรักษ์ของนิทรรศการและผู้ร่วมก่อตั้งแกลอรี่แห่งนี้ กล่าวถึงนิทรรศการครั้งนี้ว่าถ้าดูเพียงเนื้อหาของนิทรรศการโดยไม่รู้ว่าศิลปินที่มาแสดงงานมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันเมื่อเดินเข้าไปในนิทรรศการก็จะไม่รู้เลย แต่งานที่ศิลปินนำมาจัดแสดงก็ค่อนข้างเปลี่ยนไปบ้างจากเมื่อ 6 ปีก่อน

“พี่คิดว่าแค่พวกเขานำงานมาจัดแสดงด้วยกันในที่เดียวกันก็เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร แล้วเขาก็มาร่วมงานด้วยก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เขาก็ยังมีอุดมการณ์ที่ต่างกัน ศิลปะมันเป็นพื้นที่ที่เป็นอิสระและกว้างมากกว่าการสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์” สมรักตอบคำถามถึงความสำเร็จในการพยายามสร้างพื้นที่ให้กับการสนทนากันระหว่างศิลปินผ่านงานศิลปะ และเธอก็อยากจะรู้ว่าศิลปินจะพูดเรื่องอะไรบ้างถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเธอให้ศิลปินแต่ละคนเลือกชิ้นงานมาแสดงเองโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกชิ้นงานที่ศิลปินนำมาแสดงเลย 

สมรักกล่าวต่อว่าที่จัดงานครั้งนี้ขึ้นเพราะคิดว่าถึงเวลาแล้วและโควิด-19 ได้เปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ความไม่เท่ากันของสังคม ปัญหาต่างๆ เปิดเผยตัวขึ้นมาหมด "พี่ก็รู้สึกถึงความคิดของคนน่าจะเปลี่ยนไป มุมมองต่อรัฐบาลมุมมองต่อโครงสร้างทางสังคม เลยคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีก็รู้สึกว่าทีท่าก็เปลี่ยนไปนิดนึง แต่ก็ไม่ถึงกับว่าเราจะมานั่งจับเข่าคุยกันอันนี้คงต้องใช้เวลาอีกนานมากๆ” 

สมรักแสดงความเห็นว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้วในสังคมมีความตึงเครียดอย่างไรตอนนี้ก็ยังมีเหมือนเดิมไม่ได้ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองฝั่งก็ไม่ได้ดีขึ้นอีกทั้งก็ยังชัดขึ้นด้วย แต่ว่างานบางชิ้นที่นำมาจัดแสดงก็ทำให้เห็นถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปของศิลปินผู้สร้างงาน 

Thailand's New Normal - ประกิต กอบกิจวัฒนา

“เราเนี่ยอยู่ในชีวิตที่มันปกติหรือเปล่า หรือมันถูกทำให้เป็นปกติ” ประกิต กอบกิจวัฒนา เจ้าของเพจล้อเลียนสังคมการเมือง “เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” กล่าวไว้เมื่อต้องตอบคำถามว่า 6 ปีที่แล้วกับตอนนี้ที่สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วทัศนคติของเขาเป็นอย่างไร เขากล่าวต่อว่า ความคิดเขาไม่ค่อยเปลี่ยนไปนักตั้งแต่หลังรัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน งานศิลปะของเขาที่ผ่านมาใน 10 ปีนี้  จึงเป็นการทวนคำถามอยู่เสมอ ตั้งคำถามต่ออำนาจที่มันปกคลุมในประเทศที่เขาต้องอาศัยอยู่  

ประกิตเล่าว่า เขาได้เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศที่เรียกสถานการณ์ท่ามกลางโควิด-19 ของไทยว่าเป็น "การรัฐประหารทางการแพทย์" เขามองว่าการรัฐประหารถูกซ่อนรูปในสารที่สื่อออกมาหรือแม้แต่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแปลงตัวเองมาเป็นนักการเมือง เรื่องเหล่านี้มันถูกทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคม หน้าที่ของศิลปินก็คือการทวนคำถามว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็นความปกติจริงๆ หรือมันเป็นความไม่ปกติกันแน่

"ถามว่ารูปทหารหรือปืนก็เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่ปกคลุมประเทศนี้มาสิบกว่าปีตั้งแต่ทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณมา ผมคิดว่าทหารอยู่ในการเมืองตลอดมาแต่จะอยู่ในรูปแบบของอะไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าวาทกรรมที่ออกมาผ่านหมอทวีศิลป์ หรือประโยคทำนองว่าประเทศไทยต้องชนะ มันมีนัยยะของการใช้อำนาจผ่านข้อความอย่างนี้เสมอ ถ้าไม่ได้เห็นภาพหมอทวีศิลป์มาพูดผมก็นึกว่าเป็นทหารมาพูดกับผมเสมอ คุณอาจจะบอกว่าเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ แต่มันก็อดคิดไม่ได้ว่าคุณจำเป็นต้องใช้อำนาจขนาดนี้เลยเหรอ หรืออย่างที่เห็นข่าวว่าคุณจะจัดการกับเด็กแว๊นซ์หาดใหญ่ คุณก็บอกว่าจะให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผมก็ถามในฐานะประชาชนผมเกี่ยวอะไรวะ (ก็ใช้กฎหมายปกติได้?) เออ คุณก็จัดการไปสิผมเกี่ยวอะไรวะ นี่มันคือความไม่ปกติ” 

ประกิต กอบกิจวัฒนา

เมื่อถามถึงบทสนทนาที่เกิดขึ้นผ่านงานศิลปะที่จัดแสดงร่วมกันทั้งสองครั้งมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ประกิตตอบว่า “ต้องถามว่าบทสนทนา(ไดอะล็อก) ที่เกิดขึ้นเป็นบทสนทนาทางศิลปะหรือการคุยกันในฐานะเพื่อนร่วมสถาบัน ถ้าพูดกันในทางความคิดผมว่าทางฝ่ายประชาธิปไตยไม่น่าจะเปลี่ยน ก็ตั้งคำถามต่อสิ่งที่มันเกิดขึ้น”  

ผลงานของจักรพันธ์ วิลาสินีกุลที่จัดแสดงเมื่อปี 2557(ซ้าย) และ In The Tension ผลงานที่จัดแสดงในงานครั้งนี้(ขวา)

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล เล่าถึงความแตกต่างของงานทั้งสองชิ้นที่เมื่อ 6 ปีก่อนเป็นเพียงเก้าอี้ที่ถูกแขวนไว้บนเสาธง แต่ครั้งนี้กลับเป็นศาลพระภูมิที่มีเพียงเชือกรับน้ำหนักไม่ให้ร่วงหล่นว่า งาน In The Tension  ชิ้นล่าสุดเป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากงาน 6 ปีที่แล้ว โดยในงานชิ้นก่อนได้พูดถึงความไม่แน่นอน หลังจากเกิดการปะทะกันของขั้วทางการเมืองที่แตกต่างกันสองขั้ว และหลังจากนั้นมันอยู่ในภาวะที่เหมือนแขวนไว้ในอากาศ  

“มันคือการรักษาสมดุลบนเส้นเชือกเส้นหนึ่งให้ได้ แล้วปกติเก้าอี้มันต้องมั่นคงต้องนั่งได้นิ่งๆ แล้วปกติตัวเสาธงเนี่ยมันก็มีแค่ธงมันเบาก็ไม่มีอะไร แต่พอต้องมารับน้ำหนักของเก้าอี้ด้วยมันก็เกิดความตึงเครียดขึ้นมาทันที ผมไม่คิดว่างานมันมีเซนส์ของการล้อเล่นแต่มันมีความเอาจริงเอาจังของการที่เก้าอี้ไม้หนึ่งตัวถูกเอามาแขวนไว้ในอากาศ”  

จักรพันธ์กล่าวถึงงานชิ้นใหม่ว่า เขาคิดว่าเมื่อคิดย้อนไปเมื่อ 6 ปีก่อนจนมาถึงสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ตัวงานก็สะท้อนภาพของสถานการณ์ปัจจุบันได้ชัดเจนอย่างมากจักรพันธ์อธิบายงานของตนไว้ว่า

“ผมคิดว่าสถานการณ์ของความรู้สึกไม่ปลอดภัยมันมากขึ้นอีก แล้วแรงอัดก็มีมากขึ้นอีกอย่างที่ชื่องาน In The Tension  มันบอก คือภาวะของความตึงเครียด ซึ่งแม้ว่ามันจะมีภาวะของความสมดุลอยู่ก็ตามซึ่งเรามองเห็นความตึงเครียดที่พร้อมจะเสียสมดุลได้ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ แล้วพัฒนาการของตัวงานยังพูดถึงเรื่องเดิมอยู่ แต่มันถูกเพิ่มเติมแรงปะทะหรือแรงอัดที่เพิ่มมากขึ้นไปอีกด้วยถังแก๊สและด้วยน้ำหนักของมัน"

จักรพันธ์อธิบายต่อว่า “แต่มันก็เป็นแรงต่อต้านที่ยันซึ่งกันและกันไว้ ท่านก็ยังไม่พังเธอก็ยังไม่ปล่อย ผมว่ามันก็เป็นภาวะแบบนั้น เราไม่ได้เห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เราไม่ได้เห็นแก๊สจริงๆ แต่เราเห็นศาลพระภูมิ เราเห็นถังแก๊ส แต่เรารู้สึกถึงพลังและน้ำหนักของมัน รู้สึกถึงแรงกดของมัน มันพร้อมที่จะพังโค่นลงมา เราเห็นแรงปะทุที่อยู่ในถังแก๊ส คือถ้าผมไม่บอกคุณ คุณก็ไม่รู้หรอกว่าในถังมันมีแก๊ส แต่ผมบอกได้เลยว่ามันมีอยู่ในนั้นแล้วผมก็ปล่อยมันออกด้วยน้ำหนักที่ถ่วงไว้มันก็จะคลายออก พูดง่ายๆ ว่าไอ้แรงกดดันแบบนี้มันอยู่ในสังคมของเราแล้วมันก็เพิ่มขึ้น เพียงแต่เราจะพูดถึงมันหรือเราจะดึงมันออกมาหรือเปล่าแค่นั้น ซึ่ง ณ ตอนนี้มันเป็นแบบนั้นหลังสังคมการเมืองมันพาเรามาแบบนี้” 

จักรพันธ์กล่าวอีกว่าเขาไม่คิดว่าตัวเองอยู่ขั้วการเมืองใด และเขาก็เห็นคนที่คิดไม่เหมือนกันทางการเมืองคุยกันได้ แต่ก็มีแรงตึงเครียดอยู่จริง ซึ่งตัวงานทั้งสองฝ่ายก็สะท้อนแบบนั้น เพียงแต่จะนำเสนอเนื้อหาที่โดยไปดึงเรื่องไหนมาใส่ในงาน   

“ผมคิดว่าคนในสังคมกำลังให้ค่ากับสิ่งที่เรียกว่าระบบหรือสิ่งที่เป็นนามธรรม(Abstraction)ทางความคิดมากกว่าความสำคัญของลมหายใจของเพื่อนมนุษย์นะ แล้วก็ผมคิดว่าไม่มีการเมืองขั้วไหนสำคัญไปกว่าลมหายใจของเพื่อนมนุษย์หรือเพื่อนร่วมชาติทุกคน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ทุกคนตระหนัก ซึ่งมันได้สร้างบทสนทนาขึ้นมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่มันยังคงต้องสร้างวาระโอกาสที่จะทำให้สิ่งที่มีค่าทางนามธรรมที่เราให้มันไม่เกิดการเผชิญหน้ากันจนเกินไป คือในท้ายที่สุดชาติก็เป็นสิ่งสมมติสำหรับผม เพื่อนร่วมชาติที่นั่งอยู่ตรงข้ามตัวเป็นๆ นี่แหละที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด” จักรพันธ์กล่าวทิ้งท้าย

Program will resume shortly - มานิต ศรีวานิชภูมิ

 

งานอีกชิ้นที่แสดงในงานเป็นภาพจอทีวีที่กำลังฉายคำว่า “Program will resume shortly” ที่ถูกอธิบายว่าเป็นคำที่ขึ้นมาขณะที่ มานิต ศรีวานิชภูมิกำลังรับชมข่าวจากสถานีอัลจาซีราในประเทศไทย มานิตซึ่งเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้กล่าวว่าถ้าจะย้อนกลับไปถึงว่ารัฐประหาร 6 ปีที่ผ่านมาแล้ว ตัวงานครั้งนี้ของเขาก็สะท้อนได้ระดับหนึ่ง เขาคิดว่าแม้ขณะนี้จะเข้าสู่ช่วงที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่การปิดกั้นข่าวสารก็ยังไม่ได้หมดไป  

มานิต กล่าวถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่ 9 สู่รัชกาลที่ 10 ว่า มันเป็นจังหวะของการรัฐประหารด้วย โดยเฉพาะช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่านการเซนเซอร์ข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จะมีมาตลอดเวลา ซึ่งตนคิดว่าอาจจะเข้าใจได้เพราะอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร แต่เมื่อมาถึงหลังการเลือกตั้งแล้วเป็นประชาธิปไตยแล้ว ตนมองว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเซนเซอร์ข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ยังดำรงอยู่ 

“ถึงฝ่ายของรัฐบาลเองจะประกาศว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่ก็มีคำถามย้อนกลับมาว่าจะยังปล่อยให้สถานการณ์การเซนเซอร์ข่าวยังเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ในช่วงรัชกาลที่ 9 ก็ไม่ได้มีการเซนเซอร์ในลักษณะนี้ การเซนเซอร์ข่าวสถาบันนี่ทำให้ ไม่รู้เลยว่าชาวต่างชาติคิดอย่างไรต่อรัชกาลที่ 10 แต่ขณะที่เรารู้ว่าชาวต่างชาติคิดอย่างไรต่อรัชกาลที่ 9 ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นการเปรียบเทียบนะครับ ทำไมเราไม่ทราบเลยเหรอว่าชาวต่างชาติคิดอย่างไรกับสถาบันของเรา ประชาชนจะเข้าถึงข่าวสารเหล่านี้ก็ต้องไปค้นหาเอาเอง ไม่สามารถหาผ่านทีวีซึ่งเป็นการเข้าถึงอย่างง่ายๆ” มานิตย์ กล่าว

 “อันนี้ก็ต้องฝากไปว่าประชาชนคนไทยก็ต้องมีสิทธิที่จะรับทราบความคิดเห็นของชาวต่างชาติที่มีต่อสถาบันสูงสุดของไทยเหมือนกันจะผิดจะถูกอย่างไรนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐก็มีหน้าที่จะผิดจะถูกอย่างไร คุณก็ไปฟ้องร้องเอาตามกฎหมายที่คุณมีอยู่ แต่พื้นฐานเราไม่สามารถรับทราบข่าวสารได้ อันนี้เป็นประเด็นที่เห็นชัด” มานิตย์ ย้ำถึงความสำคัญของประเด็นนี้อีกครั้ง

สำหรับงานศิลปะของเขากับประเด็นหลักเรื่องประชาธิปไตยนั้น มานิตย์ กล่าวอีกว่า งานทั้งสองครั้งก็พยายามพูดถึงประเด็นนี้อยู่ ครั้งแรกมันอาจจะอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร ดังนั้นมันอาจจะยังมีความเห็นไม่ตรงกันเท่าไหร่ แต่มาครั้งนี้จะค่อนข้างเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าจะแสดงออกกันคนละแบบ แต่ก็ยังเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่ ตนคิดว่าครั้งนี้น่าจะแตะสูงถึงระดับสถาบันสูงสุดด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีประเด็นนี้ เพราะอาจจะมีความเห็นไม่ลงรอยกัน เนื่องจากมีเพียงเอาหรือไม่เอารัฐประหาร อย่างไรก็แล้วแต่ ครั้งนี้พอมันหมดจากประเด็นนั้นไป จะเห็นว่ามันมีประเด็นเรื่องสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

Iconoclastor - พิสิฐฎ์กุล ควรเเถลง

พิสิฐฎ์กุล ควรเเถลง เจ้าของเพจ Iconoclastor เล่าความรู้สึกถึงความแตกต่างในการแสดงงานทั้งสองครั้งว่า ในครั้งก่อนก็รู้สึกถึงความขัดแย้งกันอยู่แต่ท้ายที่สุดก็ได้จัดแสดงงานร่วมกัน ส่วนในครั้งนี้เขารู้สึกว่าอีกฝ่ายก็เข้าใจในสิ่งที่ฝ่ายนี้กำลังทำอยู่มากขึ้นเหมือนกัน  

“เรารู้สึกอยู่แล้วว่าช่วงนั้นมันแย่เป็นช่วงที่เราก็พูดอะไรไม่ออก เราเองก็อึ้งเหมือนกันที่ตอนนั้นมันมีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาด้วย ตอนนั้นมันเหมือนฝากชีวิตไว้กับพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้เหมือนกับเราพร้อมที่จะรวมตัวเพื่อสู้กันเอง ครั้งนี้มันก็เปลี่ยนไปเยอะมาก ช่วงปี 2553 ชัดเจนเลยว่าฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยหรือสิ่งใหม่ๆ หรือต้องการความยุติธรรมเนี่ยมันเหมือนกับถูกกดทับตลอดเวลา ปัจจุบันนี้มันคนละอย่างกันต่อให้เราไม่มีอำนาจในเชิงกฎหมายหรืออะไรก็ตาม แต่เรารู้สึกกล้าพูดว่าเราคิดอะไรได้เต็มปากมากกว่าเดิมทั้งที่ตอนนั้นก็พูดแบบเดียวกันนะ แต่ตอนนี้มีคนที่เข้าใจเรามากกว่าเดิม ประชาชนกับประชาชนมันพูดกันได้ง่ายขึ้น มันสื่อสารกันได้ตรงมากขึ้น (คือรู้สึกว่าตัวเองมีเพื่อนมากขึ้น?) ใช่ครับมันเป็นนิมิตรหมายที่ดี” 

ส่วนโปรเจคต์ล่าสุด Iconoclastor ของพิสิฐฎ์กุลที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ เขาเล่าที่มาของงานว่า เริ่มทำขึ้นหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรคจนทำให้เกิดเกิดแฟลชม๊อบขึ้นหลายแห่ง เขาจึงตัดสินใจทำสติกเกอร์ขึ้นมาโดยเป็นภาพที่เกี่ยวกับแฟลชม๊อบแต่ละครั้ง จากนั้นก็ทำภาพที่เกี่ยวกับประเด็นข่าวรายวันแต่เขาก็เห็นว่ามีคนทำเพจเพื่อเล่าประเด็นข่าวเยอะแล้ว เขาจึงทำให้เป็นชุดสติ๊กเกอร์ที่เล่าเป็นประเด็นอย่างเช่นสติ๊กเกอร์ชุดคณะราษฎร เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากตอนเป็นเด็กที่เคยสะสมสติกเกอร์แบบที่ค่อยๆ เห็นทีละชิ้นส่วนแล้วนำมาประกอบเป็นภาพอะไรบางอย่าง 

พิสิฐฎ์กุลพูดถึงส่วนที่เป็น boxset สติ๊กเกอร์ที่เป็นภาพเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่นำมาขายในงานราคา 5,000 บาทนี้(ภาพบน) จะแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งเข้ากองทุนของ Redfam Fund (กองทุนช่วยเหลือนักโทษการเมือง) ด้วย

“งานของเราก็พูดถึงพวกเขามันก็น่าจะต้องกลับไปหาเขาด้วย งาน Iconoclastor เราก็ทำขึ้นมาในช่วงโควิด-19 ด้วยมันก็ทั้งเลี้ยงชีพและความต้องการพูดของเรา เราก็รู้สึกว่าอยากให้เกิดวัฒนธรรมใหม่คือการพูดหรือทำงานการเมืองก็ควรต้องได้รับการสนับสนุนด้วย โดยไม่ต้องพูดกันแบบเนียมอาย ผมคิดว่ามันก็ต้องช่วยพยุงคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน” 

นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Conflicted Visions AGAIN จัดแสดงที่ WTF gallery & café  ซอยสุขุมวิท 51 กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม - 23 สิงหาคม 2563 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 18.00 - 24.00 น. 

ภาพบรรยากาศงาน

Thai Politics no.8 (Dear Leader) - มิติ เรืองกฤตยา

FREEHATESPEECH - สุธี คุณาวิชยานนท์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

“วิสัยทัศน์ที่ขัดแย้ง” งานศิลปะการเมืองในห้วงขั้วเหลือง-แดง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท