เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างแนะ กมธ.บริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาเขื่อนเดิมให้เสร็จก่อนสร้างใหม่

6 ก.ค. 2563 เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ออกแถลงการณ์ให้ กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มน้ำทั้งระบบ ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำโขง เลย ชี มูล พร้อมกลับไปแก้ปัญหาเขื่อนเดิมที่สร้างเสร็จแล้วก่อน และให้มีการศึกษาผลกระทบทางนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2563 สยามรัฐรายงานว่า ศักดา คงเพชร ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ในการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม โดยมีสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร สุวัฒน์ เข็มเพชร ปลัดจังหวัดยโสธร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ทุกอำเภอ เข้าร่วมประชุม

ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ แจ้งที่ประชุมทราบถึงการดำเนินโครงการฯ ที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขง โดยแรงโน้มถ่วง ผ่านแม่น้ำเลย จากจุดเริ่มต้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย โดยการก่อสร้างอุโมงค์ผ้นน้ำมายัง อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำน้ำต่างๆ ให้คลอบคลุม 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การดำเนินการมี 5 ระยะ ประกอบด้วย

  • ระยะที่ 1 โขง-เลย-เขื่อนอุบลรัตน์-ฝายชนบท ชัยภูมิ
  • ระยะที่ 2 ฝายชนบท-นครราชสีมา-บุรีรัมย์
  • ระยะที่ 3 ลุมน้ำชีตอนกลาง-ลุ่มน้ำชีตอนล่าง
  • ระยะที่ 4 ลุ่มน้ำมูลฝั่งขวา
  • ระยะที่ 5 ลุ่มน้ำโขงอีสาน-ลำปาวตอนบน-ชีตอนล่าง-มูลตอนล่าง

ศักดา เปิดเผยว่า การดำเนินการทั้ง 5 ระยะดังกล่าว จะใช้เวลา 17 ปี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ค่าลงทุน จำนวน 1,930,674 ล้านบาท พื้นที่การเกษตรจะได้รับประโยชน์ จำนวน 33.57 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำจะสามารถทำนาได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยไม่รอน้ำฝน ซึ่งจะช่วยลดการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่ แต่จะเพิ่มแรงงานจากภูมิภาคอื่น ช่วยบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาแล้งซ้ำซากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกด้วย

ขณะที่แถลงการณ์ของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ระบุว่าการเดินทางลงพื้นที่ของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบ ไม่ได้ศึกษาหรือหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างจริงจัง แต่เป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่า

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างอ่านแถลงการณ์หยุดโขง เลย ชี มูล ปัญหาเก่าแก้ไขให้เสร็จก่อน
(ภาพจาก ศูนย์สื่อชุมชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม)

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ชี้ว่า ปัญหาโขง ชี มูล เดิมก็ยังแก้ไขไม่เสร็จ แต่กลับจะมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งจากบทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นแล้วว่า การบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่และการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ นอกจากไม่ช่วยแก้ไขปัญหาแล้วยังสร้างปัญหาเพิ่ม ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่แสดงความกังวลต่อแนวทางบริหารจัดการน้ำของคณะอนุกรรมาธิการฯ เนื่องจากชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสงครามเคยออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำสงคราม โดยปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดความเข้าใจระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำมาแล้วเช่นกัน

แถลงการณ์
หยุดโขง เลย ชี มูล ปัญหาเก่าแก้ไขให้เสร็จก่อน

จากกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจะดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อย่างเช่นการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และการขุดลอกแหล่งน้ำ

ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง มองว่าการเดินทางลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบนั้น ไม่ได้ศึกษาหรือหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านอย่างจริงจัง แต่เป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่า ในขณะที่ปัญหาโขง ชี มูล เดิมก็ยังแก้ไขไม่เสร็จ แต่กลับจะมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยการจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีก ด้วยการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ฉะนั้นบทเรียนที่ผ่านมาการต่อสู้ของคนในลุ่มชีสะท้อนให้เห็นแล้วว่าการจัดการน้ำขนาดใหญ่โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำนั้นไม่ใช่คำตอบการแก้ไขปัญหาแต่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม และโครงการโขง ชี มูล คือ การสร้างเขื่อนนั้นไม่ใช่คำตอบสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ในทางกลับกันโครงการเหล่านี้กลับสร้างผลกระทบตามมา ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่กลับพบว่าการจัดการน้ำในรูปแบบแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชนท้องถิ่น เป็นทางแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า

ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จึงมีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบดังนี้ คือ

1. หยุดสร้างวาทกรรมผ่านโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง และให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และโครงการอื่นๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่า นอกจากจะสร้างผลประโยชน์และสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน แล้วผลักภาระผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่น

2. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในโครงการ โขง ชี มูล เดิมให้แล้วเสร็จ

3. จัดให้มีการศึกษาผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม

ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร
วันที่ 6 กรกฎาคม 2563
ณ ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท