Skip to main content
sharethis

สื่อหนังสือพิมพ์ Stuff ที่นิวซีแลนด์ทดลองถอนตัวออกจากเฟสบุ๊คชั่วคราวเพื่อ "ทดลอง" ร่วมการคว่ำบาตรโซเชียลมีเดียแห่งนี้ หลังจากที่เคยมีบรรษัทแบรนด์ดังๆ หลายแห่งที่คว่ำบาตรเฟสบุคเพื่อประท้วงที่เฟสบุคล้มเหลวในการยับยั้งวาจาปลุกปั่นความเกลียดชังทางอัตลักษณ์หรือ "เฮทสปีช"

สื่อ Stuff ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายสิบหัวในนิวซีแลนด์และมีนักข่าวประจำอยู่มากกว่า 400 ราย ประกาศว่าพวกเขาจะ "หยุดความสัมพันธ์" กับโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊คและอินสตาแกรมไว้ชั่วคราวในฐานะส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อต้าน "เฮทสปีช" ทั่วโลก ซึ่งหมายความว่าพวกเขาขอให้พนักงานยกเลิกการโพสต์ข่าวด่วนและเนื้อหาต่างๆ บนพื้นที่เหล่านี้

เมื่อไม่นานนี้เพิ่งจะมีการซื้อสื่อ Stuff ด้วยเงิน 1 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 20 บาท) โดยอดีตบรรณาธิการดิจิทัล ซิเนด บูเชย์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

จากข้อมูลอีเมลในองค์กรที่ส่งจากรองบรรณาธิการ จานีน เฟนวิค ถึงคณะทำงานระบุว่าบริษัทกำลังทดลองระงับกิจกรรมทั้งหมดกับพื้นที่โซเชียลมีเดียที่อยู่ในเครือข่ายของเฟสบุ๊ค ในฐานะส่วนหนึ่งของการร่วมคว่ำบาตรระดับโลกเพื่อสร้างแรงกดดันให้เฟสบุ๊คมีมาตรการต่อต้านเฮทสปีชในพื้นที่ของพวกเขาเองมากขึ้น การระงับกิจกรรมดังกล่าวรวมถึงการระงับระบบสตรีมมิงและระงับการโพสต์ผ่านอินตาแกรม

อย่างไรก็ตาม มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเฟสบุ๊คก็บอกปัดไม่ใส่ใจการคว่ำบาตรจากบริษัทใหญ่ที่เคยซื้อโฆษณาจากพวกเขาหลายบริษัท เช่น สตาร์บัค และโคคาโคลา โดยบอกว่าเดี๋ยวไม่นานพวกเขาก็กลับมา

พนักงานของ Stuff กล่าวว่าภายในองค์กรเองก็มองการทดลองไม่ใช้เฟสบุคในครั้งนี้ในแง่บวก เฟนวิคบอกอีกว่าจะมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิดต่อการทดลองคว่ำบาตรนี้ เฟนวิคยกตัวอย่างกรณีที่พวกเขาเคยยกเลิกการลงโฆษณาในเฟสบุ๊คทันทีหลังจากเกิดเหตุอาชญากรรมเฮทสปีชกรณีกราดยิงที่มัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช เฟนวิคระบุว่า "เพราะพวกเราไม่ต้องการให้การสนับสนุนทางการเงินต่อพื้นที่ที่ทำกำไรจากการส่งเสริมเฮทสปีชและความรุนแรง"

แพทริค คริวด์สัน หัวหน้ากองบรรณาธิการของ Stuff กล่าวว่าการรายงานข่าวที่เที่ยงตรงและเป็นธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญต่อสังคม และในฐานะที่สื่อของพวกเขาเป็นสื่อที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์พวกเขาก็ต้องทำให้แน่ใจว่าจะดำเนินการได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นจากสาธารณะแทนที่จะทำให้ความเชื่อมั่นเสื่อมลง โดยที่คริวด์สันบอกว่า "ความป่วยไข้ในเฟสบุ๊ค" ไปกันไม่ได้กับการสร้างความเชื่อมั่นจากสาธารณะ ยกตัวอย่างเรื่องการที่เฟสบุ๊คถูกใช้แพร่กระจายข่าวปลอมและเฮทสปีช

ในเรื่องนี้ได้รับการชื่นชมจากอาจารย์สอนวิชาวารสารศาสตร์มหาวิทยาลัยแมสซีย์ แคเธอรีน สตรอง กล่าวว่า การตัดสินใจนี้ "น่าชื่นชม" และเธอก็ดีใจมากที่ได้ยินช่าวนี้ เธอบอกอีกว่ามันเป็นการตัดสินใจที่อาจหาญและมีจรรยาบรรณ สตรองวิจารณ์เฟสบุ๊คและอินสตาแกรมว่าเป็นแหล่งที่ "เน้นแต่แสวงหาผลกำไรมาแต่อย่างเดียวและเป็นแหล่งป้อนข่าวปลอมที่อันตราย" ในช่วงที่มีวิกฤต COVID-19 เฟสบุคก็ยังคงเป็นแหล่งแพร่กระจายข่าวปลอมเกี่ยวกับการระบาดที่เป็นอันตรายต่อผู้รับสื่อ

สำหรับนายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์เธอบอกว่านักการเมืองอย่างเธอคงไม่อาจเลิกใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียนี้ได้เพราะมันเป็นช่องทางหลักๆ ในการที่เธอจะใช้สื่อสารกับประชาชน แต่กระนั้นเธอก็เรียกร้องให้โซเชียลมีเดียจัดการกับปัญหาเรื่องเฮทสปีชมากขึ้น

การทดลองคว่ำบาตรเฟสบุ๊คของสื่อนิวซีแลนด์ในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่บริษัทอื่นๆ อย่างน้อย 500 บริษัท เช่น ฟอร์ด, ฮอนดา, ลีวาย ต่างก็คว่ำบาตรการซื้อโฆษณาเฟสบุ๊ครวมแล้วมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ มีการประเมินว่าการคว่ำบาตรนี้อาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เป็นสิ่งที่เฟสบุ๊คไม่เคยเผชิญมาก่อน

อย่างไรก็ตามดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากที่เฟสบุ๊คจะเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในเร็ววันนี้ จากการที่ซัคเคอร์เบิร์กมองว่าการคว่ำบาตรในครั้งนี้ดูจะเป็นประเด็นเรื่องการพีอาร์มากกว่าจะเป็นภัยต่อเฟสบุ๊คอย่างจริงจัง มีคนวงในของเฟสบุ๊คเปิดเผยต่อสื่อว่าถึงแม้บริษัทใหญ่เหล่านี้จะคว่ำบาตรพวกเขาแต่เฟสบุ๊คที่มีรายได้จากโฆษณา 70,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ก็มองว่าบริษัทขนาดเล็กกับขนาดกลางก็ยังคงเป็นแหล่งผู้ซื้อโฆษณาที่สร้างรายได้ให้พวกเขามาก และมีไม่กี่รายเท่านั้นที่มีทีท่าว่าจะเข้าร่วมการคว่ำบาตรในครั้งนี้

เรียบเรียงจาก

New Zealand's Stuff newspaper group joins Facebook boycott as 'experiment', The Guardian, 06-07-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net