Lost in the void งานศิลปะเพื่อรำลึกถึงโฉมหน้าผู้ถูกอุ้มหาย

หนึ่งเดือนผ่านไป ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่หายตัวไปในกรุงพนมเปญ ทั้งจากทางการไทยและกัมพูชา

วันเฉลิมเป็นเพียงหนึ่งในกรณีอุ้มหายจากอีกหลายกรณี ที่อัจฉรียา จัตตุพร นักเรียนไทยในนิวยอร์ก รวบรวมไว้เพื่อแสดงโฉมหน้าของคนไทยที่ถูกอุ้มหายเพื่อระลึกถึงพวกเขา

ผลงานของอัจฉรียาเป็นส่วนหนึ่งของวิชา Recreating the Past ที่สถาบัน School for Poetic Computation นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างศิลปะจากเทคโนโลยี หรือ generative art โดยใช้แรงบันดาลใจจากวิธีสร้างผลงานของศิลปินรุ่นก่อนหน้า แล้วนำมาทำซ้ำด้วยการเขียนโค้ด และใช้อัลกอริทึมต่างๆ

งานชิ้นนี้เธอตั้งชื่อว่า Lost in the void หรือสาบสูญไปในความว่างเปล่า เป็นภาพที่เกิดจากการรวมกันของใบหน้าของบุคคล 16 คน ที่ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่ปี 2490 เผยแพร่เมื่อ 4 ก.ค. 2563 เนื่องในวันครบรอบ 1 เดือน การหายตัวไปของวันเฉลิม และคนอื่นๆ อีก 15 คน ได้แก่

  • ครบรอบ 1 ปี 2 เดือน การหายตัวไปของ สยาม ธีรวุฒิ
  • ครบรอบ 1 ปี 2 เดือน การหายตัวไปของ กฤษณะ ทัพไทย
  • ครบรอบ 1 ปี 2 เดือน การหายตัวไปของ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์
  • ครบรอบ 1 ปี 7 เดือน การหายตัวไปของ ไกรเดช ลือเลิศ
  • ครบรอบ 1 ปี 7 เดือน การหายตัวไปของ ชัชชาญ บุปผาวัลย์
  • ครบรอบ 1 ปี 7 เดือน การหายตัวไปของ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
  • ครบรอบ 2 ปี 11 เดือน 6 วัน การหายตัวไปของ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ
  • ครบรอบ 4 ปี การหายตัวไปของ อิทธิพล สุขแป้น
  • ครบรอบ 4 ปี 2 เดือน 18 วัน การหายตัวไปของ เด่น คำแหล้
  • ครบรอบ 6 ปี 2 เดือน 17 วัน การหายตัวไปของ พอละจี รักจงเจริญ
  • ครบรอบ 12 ปี 4 เดือน 26 วัน การหายตัวไปของ กมล เหล่าโสภาพันธ์
  • ครบรอบ 16 ปี 3 เดือน 23 วัน การหายตัวไปของ สมชาย นีละไพจิตร
  • ครบรอบ 29 ปี 25 วัน การหายตัวไปของ ทนง โพธิ์อ่าน
  • ครบรอบ 65 ปี 10 เดือน 22 วัน การหายตัวไปของ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา
  • ครบรอบ 67 ปี 6 เดือน 23 วัน การหายตัวไปของ เตียง ศิริขันธ์

อัจฉรียาเล่าที่มาว่า เธอไม่ได้สนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก อาจจะพอสนใจประเด็นสังคมบ้าง แต่ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมากขนาดนั้น เพิ่งเริ่มมาสนใจการเมืองมากๆ ช่วงเลือกตั้ง และเริ่มหาข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วพบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองต่างๆ มีคนได้รับผลกระทบ เช่น พยาบาลอาสาที่ถูกยิงตอนชุมนุมเสื้อแดง เธอจึงรู้สึกว่าทุกๆ ความขัดแย้งทางการเมืองมีคนอยู่ข้างหลัง และอยากจะมองผู้คนในความขัดแย้งเหล่านี้ในแบบที่เขาเป็นคน ไม่มองในมุมที่เขาเป็นคนเห็นต่าง แต่ทุกคนคือคนเท่าๆ กัน

“พอมีเรื่องวันเฉลิม เราก็รู้สึกว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงต้องถูกทำให้หายไป หายไปไหนก็ไม่รู้ แค่เพราะว่าเขามีความคิดที่แตกต่าง ยิ่งเราอ่านเพิ่มเราก็เห็นว่ามีอีกหลายคนที่เหมือนเรื่องมันแค่นี้เอง ทำไมเขาต้องถูกทำให้หายไปด้วย ซึ่งบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่เขาควรจะได้” อัจฉรียากล่าว

ผลงานชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเจสัน สลาวอน (Jason Slavon) ศิลปินชาวอเมริกัน ที่มักนำรูปจำนวนมากมาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละพิกเซลแล้วเรียงออกมาเป็นรูปใหม่ อัจฉรียาเล่าว่า งานรูปแบบนี้ทำให้เธอนึกถึงเรื่องของวันเฉลิมขึ้นมาว่า คนที่หายไปไม่ได้มีแค่คนเดียว จึงนำรูปคนหายทั้งหมดเท่าที่พอจะหาได้ลองมาทำดู เพื่อจะดูว่าหน้าตาของคนที่ถูกอุ้มหายเป็นประมาณไหน

“ตอนที่เราหาข้อมูล เรารู้สึกว่ามีหลายคนมากที่เขาหายไป โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร หน้าตาเป็นแบบไหน เรื่องราวของเขาเป็นอย่างไร เขาไปทำอะไรมา เราเลยรู้สึกว่ามันเหมือนรูปนี้ที่เราทำขึ้นมา เหมือนเป็นหน้าตาของใครก็ไม่รู้ ที่เราเองก็ระบุตัวตนไม่ได้ว่าเขาเป็นใคร แต่รวมๆ แล้วเขาคือคนที่หายไป ซึ่งบางคนเราก็จำเขาไม่ได้ด้วยซ้ำ”

เธอเล่าว่า หนึ่งในขั้นตอนที่ยากคือการหารูป แม้จะมีข้อมูลว่ามีผู้ถูกบังคับสูญหายมากกว่า 80 คน แต่ก็ไม่สามารถหาข้อมูลได้ครบทุกคน จึงพยายามใช้ข้อมูลเท่าที่พอหาได้ หารูปที่เป็นรูปหน้าตรง เพื่อให้งานที่ออกมาเป็นรูปหน้าคนที่องศาใกล้เคียงกัน จากนั้นนำภาพมาคร็อปให้ขนาดใบหน้าเท่ากัน แล้วเขียนโค้ดให้อ่านทุกพิกเซลของแต่ละรูป แล้วเรียงพิกเซลใหม่ พิกเซลที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันจะถูกคำนวณหาค่าประมาณสีโดยเฉลี่ยของตำแหน่งนั้น

“บางคนแทบจะไม่มีรูปในอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ เราก็เลยยิ่งรู้สึกว่าทำไมคนคนนี้ต้องหายไปด้วย แค่รูปเขาในอินเทอร์เน็ตยังแทบไม่มีเลย ถ้าเราจะสามารถทำอะไรได้สักอย่างเราก็ควรจะต้องทำ เพื่อให้เขาไม่ได้หายไปจากความทรงจำของคนหรืออะไรก็ตาม

“ถ้าเขาหายไปจากความทรงจำของคน มันคือเขาหายไปแล้วจริงๆ”

อัจฉรียาตั้งชื่อผลงานว่า Lost in the void เพราะรู้สึกว่าเรื่องของคนถูกอุ้มหาย เหมือนเขาเหล่านั้นหายไปในความว่างเปล่า หายไปในความคลุมเครือ ซึ่งเธอคิดว่ามันทรมานมาก “นึกถึงว่าถ้าเขาเป็นญาติเรา แล้วญาติเราก็หายไปในอะไรก็ไม่รู้ เป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่รู้ มันคงทรมานกว่ารู้ว่าเขาตายแล้วอีก ไม่รู้ว่าเราจะต้องรอไปอีกนานเท่าไหร่ถึงจะรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร”

เธอคิดว่า สิ่งที่เธอทำอาจไม่ได้พิเศษมาก เธอแค่มีเครื่องมือนี้อยู่ในมือ ได้มาเรียน และรู้วิธีทำสิ่งนี้ เธอก็แค่ทำมันออกมาเพื่อพูดเรื่องนี้ ซึ่งทุกคนอาจมีวิธีพูดเรื่องที่คิดว่าควรพูดในแบบของตนเองอยู่แล้ว

“ถ้าพูดอะไรได้ หรือความสามารถที่เรามี มันจะสามารถช่วยทำอะไรได้เราก็อยากจะทำ” อัจฉรียากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท