Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 ที่สโมสรทหารบก วิษณุ เครืองาม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น: จากแผนปฏิรูปสู่ภาคปฏิบัติแบบบูรณาการ” และให้สัมภาษณ์ว่า ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวน 6 ฉบับจะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 คงจะใช้เวลาในการพิจารณาของ สนช. ประมาณ 3 เดือน แล้วจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งใช้เวลาอีก 3 เดือน ดังนั้น น่าจะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2562 การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าควรเว้นเวลาสัก 3 เดือนระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส. กับการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้น ถ้าการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 การเลือกตั้งท้องถิ่นคงจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด คือในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยจะทยอยจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่ละส่วน ไม่ทำพร้อมกันทั้งหมด

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องหารือกับ กกต. คือถ้าไม่ใช่ช่วงปลายปี 2562 ก็เป็นต้นปี 2563 และจะต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาความเหมาะสมว่าควรดำเนินการช่วงใด (นสพ.มติชน หน้า 10 วันที่ 4 กันยายน 2562)

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว (หมายความว่าผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกคนควรหมดวาระไปหลายปีแล้วอีกทั้งกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นบัญญัติว่า กรณีดำรงตำแหน่งครบวาระ ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน และภายใน 60 วันในกรณีพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น) กมธ. ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองหลายพรรคเป็นกรรมาธิการ จึงมีมติสนับสนุนให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็วที่สุด อนึ่ง กรณีมีข่าวว่างบประมาณถูกโยกไปเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยยืนยันกับ กมธ.ว่า มีงบประมาณเพียงพอในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างแน่นอน ส่วนบทเฉพาะกาลของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นบัญญัติว่า เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งในท้องถิ่นใด ให้แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบ และให้ กกต.ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นต่อไป

ผมจึงขอเสนอว่า ควรจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับหรือทุกรูปแบบภายในปี 2563 และเพื่อให้ กกต.มีเวลาเตรียมความพร้อมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พอสมควร จึงขอให้ ครม.มีมติในเรื่องนี้โดยเร็ว ถ้าเป็นไปได้ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เป็นสิทธิทางการเมืองที่สำคัญเสียที

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) (ดู www.dla.go.th) ดังนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล (เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 187 แห่ง เทศบาลตำบล 2,237 แห่ง) รวม 2,454 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,320 แห่ง องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา) 2 แห่ง ประเด็นที่ ครม.ควรพิจารณาก็คือว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง อปท. รูปแบบใดก่อนหรือรูปแบบใดทีหลัง

ผมมีข้อสังเกตว่า อบจ. รวมทั้งกรุงเทพฯ และเมืองพัทยา รวมเป็น อปท. กลุ่มหนึ่งซึ่งพื้นที่การปฏิบัติงานรวมกันแล้วครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ เทศบาลและ อบต. ก็ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ จึงขอเสนอว่าควรจัดให้มีการเลือกตั้ง อปท. ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันดังกล่าวในวันเดียวกันส่วนอีกกลุ่มก็จัดในวันเดียวกันในลำดับถัดไป

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันหัวหน้าคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ในหัวข้อ “สู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น” สรุปสาระได้ว่า รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ ไม่ไว้วางใจประชาชน กลัวประชาธิปไตย กลัวประชาชน จึงไม่ยอมปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่ออำนาจถูกรวมศูนย์ที่ระบบราชการที่กรุงเทพฯ อปท. ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ หากชาวบ้านมีปัญหา จึงต้องไปบอก ส.ส. ให้อภิปรายในสภาระดับชาติ ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาท้องถิ่น ที่ควรแก้โดย อปท. และชุมชนท้องถิ่น ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นเป็นฐานราก ถ้าเข้มแข็งประชาธิปไตยระดับชาติจึงจะเข้มแข็ง

นายธนาธรให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า ในการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ผู้มีอำนาจได้เปรียบเพราะมีเครือข่ายข้าราชการ เครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่น เครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน พรรคอนาคตใหม่ลงสนามโดยรู้ว่าเป็นรอง แต่ยืนยันว่าไม่ซื้อเสียง ไม่ใช้อิทธิพล ในการเลือกตั้งท้องถิ่น คณะก้าวหน้าก็จะทำเช่นนั้น จะใช้ความคิดนำ ใช้นโยบายนำ ใช้อุดมการณ์นำ อยากให้นักการเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนมาทำเช่นนี้ด้วย มาสร้างนโยบายแข่งกัน เช่น หากคณะก้าวหน้าบอกว่าจะสร้างสวนสาธารณะ การเปล่งวาจาถือเป็นสัญญา ประชาชนสามารถทวงถามได้หลังเลือกตั้ง แต่คณะจะไม่ทิ้งการเมืองภาพใหญ่โดยจะทำให้เห็นว่าการเมืองท้องถิ่นใกล้กับตัวเรา หากทำสำเร็จก็สามารถเปลี่ยนในระดับชาติได้ หวังว่าเพื่อนๆ ที่อยู่ในพรรคก้าวไกลจะผลักดันกฎหมายที่โอนอำนาจ โอนงบ โอนคน จากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมายังส่วนท้องถิ่นมากขึ้น จึงเป็นกระบวนการล่างขึ้นบน-บนลงล่างที่มาประสานกัน

ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าจะเป็นคนรุ่นใหม่ (ไม่ใช่เรื่องอายุแต่เป็นเรื่องความคิดสมัยใหม่-ทันโลก) เป็นคนที่อยากพัฒนาบ้านเกิด ถ้าให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหาร เขาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทลง ช่วยลดความเทอะทะของระบบราชการที่ไปรวมที่กรุงเทพฯลง และข้าราชการจะสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 ที่ฝรั่งเศสมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบที่สองเพื่อหาผู้ชนะที่มีเสียงเกินกึ่งหนี่ง (รอบแรกเสียงจะแตก) นักวิจารณ์การเมืองถือว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเหมือนตัววัดความสำเร็จหรือความถดถอยของพรรคการเมืองระดับชาติ เพราะในฝรั่งเศส แทบจะไม่มีผู้สมัครอิสระ จะสังกัดพรรคหรือมีพรรคการเมืองสนับสนุนอยู่แทบทุกคน ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงสะท้อนความนิยมของพรรคการเมือง (ระดับชาติ) ได้อย่างดี ผลปรากฏว่านักการเมืองที่มีนโยบายเชิงนิเวศวิทยา (พรรคกรีน) ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ในความหมายว่ามีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ในวันรุ่งขึ้น ประธานาธิบดีเอ็มนูเอล มาครง ไปแสดงสุนทรพจน์ในการประชุมด้านนิเวศวิทยา และกล่าวว่า จะเพิ่มงบประมาณด้านนี้กว่าห้าแสนล้านบาทภายในสองปี ตอบสนองทันทีเลย 2545

มาครงชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โดยชูนโยบายไม่ซ้าย-ไม่ขวา ซึ่งถูกจริตผู้เลือกตั้งในขณะนั้น ที่กำลังเบื่อนักการเมืองหน้าเก่า ทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ในการเลือกตั้งรอบสอง เขาลงแข่งกับนักการเมืองขวาจัดชื่อมารีน เลอเปน ซึ่งทำให้ชนะได้อย่างสบาย ฌอง-มารี เลอเปน บิดาของมารีนเคยสมัครเป็นประธานาธิบดีมาหลายครั้ง และสามารถเข้ารอบสอง เมื่อปี 2545 แต่ก็แพ้อย่างราบคาบเช่นกัน นักวิจารณ์กล่าวในเชิงขู่ว่า ถ้ามาครงทำพลาด ทำคะแนนนิยมตกต่ำเหมือนออลลังด์ ที่เป็นประธานาธิบดีคนก่อนจากพรรคสังคมนิยม อีกสองปีข้างหน้าเลอเปนจะมีโอกาสก็เป็นได้ แต่ปรากฏจากผลการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ว่าพรรคการเมืองของเลอเปนได้รับคะแนนน้อยลงทั้งประเทศ ชนะที่เมืองขนาดกลางชื่อเมืองแปร์ปียัง เพียงเมืองเดียว แถมผู้ชนะยังพูดว่า ที่นี่ ท้องถิ่นมาก่อนพรรค ส่วนพรรคเรปูบลิแก็งฝ่ายขวาสามารถฟื้นคะแนนนิยมมาที่ระดับเดิมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้วได้ พรรคสังคมนิยมที่เกือบสลายตัวไปก็กลับมาได้เล็กน้อย โดยเฉพาะที่ปารีส และโดยการร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคกรีนในหลายแห่ง พรรคการเมืองที่มาครงตั้งขึ้นสดๆ เพื่อสนับสนุนตนเมื่อ 3 ปีก่อน และสามารถชนะการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างถล่มทลายมาแล้ว ทำคะแนนไม่สู้ดี มีแต่นายกรัฐมนตรีซึ่งลงสมัครนายกเทศมนตรีเมืองเลอ อาเวรอ ที่ชนะขาด ทำให้วิจารณ์กันไปว่า ถ้ามาครงทำท่าไม่ดี เขาจะสวมแทนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหน้าก็เป็นได้

การเมืองฝรั่งเศสมีผู้แพ้ผู้ชนะสลับไปมา มีชีวิตชีวา ไม่วนเวียนกับการรัฐประหารซ้ำซาก ไม่ใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน เพื่อการเป็นผู้ชนะได้อย่างไม่ละอาย ในการเลือกตั้งท้องถิ่นของไทยที่ควรจะมาถึงได้แล้วนี้ จะเกิดกระแสลมใหม่ที่สดชื่นได้บ้างไหม พรรคการเมืองพรรคใดจะมาลงสนามนี้อย่างเต็มภาคภูมิได้บ้างเล่า โดยถือว่าชัยชนะคือโอกาสที่จะรับใช้ประชาชน

 

ที่มา: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_2255426

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net