ชำนาญ จันทร์เรือง: การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา(2020)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วคู่ชิงชัยคนสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีทรัมป์ในปลายปีนี้คือโจ ไบเด็น จากพรรคเดโมแคร็ต ซึ่งจริงๆแล้วผู้มีสิทธิสมัครแข่งขันมีมากกว่านี้ แต่ด้วยระบบพรรค โอกาสที่ผู้สมัครที่เหลือจะชนะนั้นเป็นไปไม่ได้ ผมจึงขอนำข้อมูลเบื้องต้นของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามานำเสนอต่อท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร แม้แต่ชาวอเมริกันบางคนก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกันเมื่อถูกขอให้อธิบายระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขา แต่ที่แน่ๆ ก็คือ คนทุกอาชีพ (ที่สุจริต) มีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดี เช่น นายแบบ-เจอร์รัลด์ ฟอร์ด, คนเก็บขยะ-ลินดอน จอห์นสัน, นักธรณีวิทยา-เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์, คนงานบนเรือเฟอร์รี-เจมส์ การ์ฟิลด์, นักสำรวจ-จอร์จ วอชิงตัน, นักแสดง-โรนัลด์ เรแกน และแม้กระทั่งชาวไร่ชาวนา เช่น มิลเลิร์ด ฟิลมอร์, อับราฮัม ลินคอล์น, ยูลิซิส เอส แกรนท์, เบนจามิน แฮริสัน, วอร์เรน ฮาร์ดิง, แคลวิน คูลลิดจ์, แฮร์รี ทรูแมน และจิมมี คาร์เตอร์ ก็มีโอกาสเป็นประธานาธิบดี

คุณสมบัติของผู้สมัครประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับสัญชาติอเมริกันโดยกำเนิด อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามาไม่น้อยกว่า 14 ปี ไม่เคยเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย โดยผ่านการหยั่งเสียงหรือเลือกตั้งขั้นต้นมาก่อนจากภายในพรรคของตนเอง

ขั้นตอนการหยั่งเสียง มี 3 วิธี คือ

1. primary ซึ่งหมายถึง การจัดการเลือกตั้งขั้นต้นขึ้นในมลรัฐ

2. caucus คือ การประชุมกลุ่มย่อยของสมาชิกพรรคในแต่ละระดับ ตั้งแต่หน่วยเล็กสุดขึ้นมา เพื่อเสนอความคิดเห็น

3. state-covention คือ การประชุมใหญ่ของพรรคในระดับมลรัฐ เพื่อคัดเลือกผู้ที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดเป็นตัวแทนพรรค

จาก 1 ใน 3 วิธีข้างต้น จะทำให้ได้ผู้แทน หรือที่เรียกว่า delegates จำนวนหนึ่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค (National Convention) ให้เหลือตัวแทนพรรคเพียงคนเดียว ถ้าสามารถเลือกผู้แข่งขันได้ในครั้งแรกของการประชุมพรรค จะเรียกว่า first ballot victory

การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “วันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนของปีที่มีการเลือกตั้ง” (ไม่ใช่อังคารแรกหรืออังคารที่ 1 พ.ย.) เป็นวันลงคะแนนเสียงสำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วในเขตเลือกตั้งของตน ซึ่งครั้งนี้ตรงกับวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็คือ มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสัญชาติอเมริกัน มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งนั้นๆ

อเมริกาไม่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “ก.ก.ต.” เหมือนเมืองไทยที่จะดำเนินการเลือกตั้งในทุกระดับ มีเพียง ก.ก.ต.(FEC) ที่ดูแลเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้สมัครเท่านั้น การจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น และไม่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้โดยอัตโนมัติแบบบ้านเรา ดังนั้น ประชาชนจะต้องลงทะเบียนก่อนจึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง โดยจะลงทะเบียนในพื้นที่ที่ตนพำนักอยู่ หากย้ายที่อยู่ใหม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากพอสมควร

ส่วนวิธีการลงคะแนนเสียงนั้น ปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ก็ยังใช้บัตรกระดาษที่มีการระบายทึบ เพื่อนำไปสแกนบันทึกการลงคะแนนเสียงอีกครั้ง หรือบางพื้นที่อาจใช้เครื่อง ดีอาร์อี (Direct Recording Electronic : DRE) หรือเครื่องมือที่มีจอระบบสัมผัสคล้ายกับเครื่องกดเงินของธนาคาร

สำหรับกลยุทธ์หาเสียงเลือกตั้งของอเมริกานั้น แตกต่างกับไทยมาก มีการวางแผนและการเตรียมงานในลักษณะคล้ายการทำการตลาดทางการเมือง (Political Marketing) มาช่วย อีกทั้งกฎหมายเลือกตั้งก็ต่างกัน สามารถมีมหรสพหรือคอนเสิร์ตได้ และทำโพลล์หรือปราศรัยหาเสียงได้จนถึงในวันเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนตื่นตัวค่อนข้างมาก

ผลการเลือกตั้ง จะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้นมิใช่การเลือกตั้งโดยตรง แต่ประชาชนจะไปเลือกผู้แทนของเขา (popular vote) เพื่อไปเลือกตั้งประธานาธิบดี (electoral vote) อีกทีหนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จึงเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องชนะในส่วนของ electoral vote โดยคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ที่จะมีจำนวนเท่ากับจำนวนผู้แทนราษฎรรวมกับจำนวนวุฒิสมาชิกในมลรัฐของตน ที่มีอยู่ในสภาคองเกรสของสหรัฐ

ประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ใช้คณะผู้เลือกตั้งนี้ คือ กติกาที่ว่าผู้ชนะได้ไปทั้งหมด (winner-take-all) ซึ่งหมายความว่า ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนมากจากประชาชนในมลรัฐ ก็จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด ดังนั้น มลรัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากๆ ก็จะเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้สมัคร เช่น แคลิฟอร์เนีย (55) เท็กซัส (34) นิวยอร์ก (31) ฟลอริดา (27) เพนซิลวาเนีย (21)

ซึ่งก็มีหลายครั้งที่คนชนะ popular vote แต่ไปแพ้ electoral vote ก็อดเป็นประธานาธิบดี เช่น แอนดรู แจ็กสัน แพ้ต่อ จอห์น อดัมส์, แซมมวล ทิลเดน แพ้ต่อ รูเธอฟอร์ด เฮย์, กริฟเวอร์ คลีฟแลนด์ แพ้ต่อ เบนจามิน แฮริสัน ,อัล กอร์ แพ้ต่อ จอร์จ ดับเบิลยู บุช จนมีเรื่องมีราวไปถึงศาลสูง (Supreme Court) และล่าสุดฮิลลารี คลินตัน ก็แพ้ต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016 นั่นเอง

การรับตำแหน่ง การรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ จะรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไป โดยประธานาธิบดีคนเก่าจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคม

การสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี ในกรณีที่ประธานาธิบดีได้ขึ้นดำรงตำแหน่งไปแล้ว แต่ต่อมาถูกกล่าวโทษ (impeachment) หรือตาย ผู้ที่จะสืบตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีจนหมดสมัย โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ คือ รองประธานาธิบดี, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามลำดับ

ที่กล่าวมาพอสังเขปนี้คงพอทำความเข้าใจในเบื้องต้นของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐได้บ้าง อย่างน้อยก็สามารถติดตามข่าวสารการเลือกตั้งได้อย่างมีรสชาติไปจนถึงปลายปีนี้นะครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท