บลูมเบิร์กประเมินหลัง COVID-19 ไทยเศรษฐกิจทรุดหนักสุดในเอเชีย

แม้ไทยทำได้ดีในเรื่องการควบคุมการระบาดของ COVID-19 แต่บลูมเบิร์กประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จากมาตรการควบคุม COVID-19 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการบังคับเคอร์ฟิวที่ฉุดธุรกิจกลางคืนและภาคการท่องเที่ยวให้ทรุดลง รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งกระทบต่อการส่งออก

ที่มา: Pixabay/geralt

สื่อบลูมเบิร์กรายงานเรื่องที่ประเทศไทยในภาวะหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ถึงแม้ประเทศไทยทำได้ดีในเรื่องการควบคุมการระบาดของ COVID-19 จากการที่ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศผ่านไปเป็นเวลามากกว่า 40 วันแล้ว แต่ทว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยดูจะมืดมนที่สุดในเอเชีย

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจีดีพีจะลดลงลดลงร้อยละ 8.1 ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่แย่ที่สุดเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และถือเป็นจำนวนที่ดิ่งลงแย่กว่าวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสในไทยที่ธนาคารโลกกล่าวว่า ไทยเป็นที่รู้จักมากในฐานะแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวคิดเป็นจีดีพีร้อยละ 15 ของประเทศ และอีกภาคส่วนเศรษฐกิจใหญ่ของไทยอีกส่วนหนึ่งคือภาคการส่งออก เมื่อเกิดผลกระทบเช่นนี้ จึงทำให้เกิดแรงสะเทือนต่อจีดีพีอย่างมาก

จากการประเมินของบลูมเบิร์กเองระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืออยู่ที่ร้อยละ 6 และจะฟื้นตัวกลับได้น้อยกว่าประเทศอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 4 

บลูมเบิร์กชี้ว่าสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงหนักมากเป็นเพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและจำกัดเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืนส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจหลายส่วนปิดตัวลง นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้การบริโภคส่วนบุคคลลดลง รวมถึงการลงทุนก็ลดลงด้วย ทั้งๆ ที่ภาคการลงทุนนี้ก็แย่พออยู่แล้วจากในปีที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าจะมีการประเมินว่าการจับจ่ายซื้อของจะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงหลังปลดล็อกดาวน์ และจากที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทว่าการลงทุนจะกลับมาช้าเพราะความคาดหวังของนักลงทุนดูจะมืดมน

ทั้งนี้จากมาตรการที่ผ่านมาของไทยก็ทำให้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณนักท่องเที่ยวในปีนี้จะลดลงเหลือ 1 ใน 5 จากปีที่แล้วอยู่ที่ 8 ล้านคน ทางการไทยมีการเปิดประเทศอย่างช้าๆ และระมัดระวัง กระนั้นความพยายามจะจุดไฟให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศก็ไม่มีแรงมากพอจะช่วยอุ้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อไทยมากจากความเสียหายในช่วงที่ผ่านมา

ในแง่ของการส่งออกนั้นบลูมเบิร์กระบุว่า มองเผินๆ แล้วการส่งออกของไทยดูจะเป็นได้ค่อนข้างดีในปีนี้ มีการปรับตัวลดลงเพียงแค่ 2 เดือน เท่านั้นในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 แต่สิ่งที่ช่วยอุ้มจริงๆ คือการบิดกลไกตลาด เช่น ราคาทองที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงโรคระบาดส่งผลให้นักลงทุนในประเทศพากันแห่ขายทองกลายเป็นการเพิ่มยอดการส่งออก ถ้าตัดเรื่องทองออกไปแล้ว การส่งออกโดยรวมของไทยก็อ่วมหนักเช่นกันจากการที่อุปสงค์ของโลกน้อยและเกิดการติดขัดของห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับค่าเงินบาทนั้น ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 6 ถือว่าเป็นค่าเงินที่แข็งค่าต่อดอลลาร์เป็นอันดับที่สองในเอเชีย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนั้นในไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้งในปีนี้จนกระทั่งเหลือร้อยละ 0.5 ถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่การที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ก็จะยังทำให้ค่าเงินแข็งอยู่

ซึ่งธนาคารกลางของไทยแสดงความเป็นห่วงเรื่องค่าเงินแข็งเช่นนี้เพราะเป็นอุปสรรคต่อภาคส่วนการส่งออกและจะส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ทางการไทยประกาศว่าพวกเขากำลังพิจารณาดำเนินมาตรการเพื่อทำให้ค่าเงินไทยอ่อนตัวลงถ้าหากจำเป็น

เรียบเรียงจาก

Here’s Why Thailand’s Dire Economic Outlook Is the Worst in Asia, Bloomberg, 07-07-2020
https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-07-06/here-s-why-thailand-s-dire-economic-outlook-is-the-worst-in-asia

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท