เรื่องลิงสะท้อนความเป็นคน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มีข่าวเกรียวกราวว่าองค์กรพิทักษ์สัตว์ Peta (People for Ethical Treatment of Animal) แคมเปญเรื่องเมืองไทยทรมานลิงให้เก็บมะพร้าว ลิงถูกขังในกรงแคบ ถูกล่าม ถูกบังคับให้เก็บมะพร้าว มีข่าวออกทางช่องเนชั่นทีวี คุณกนก รัตน์วงศ์สกุล วิจารณ์พีต้าว่ากินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ

อันที่จริงสื่อหลักช่องนี้ออกข่าวเกี่ยวกับสัตว์แบบไม่สะท้อนความมีปัญญามาเนืองๆ ไม่ว่าเรื่องไก่ชน หรือเรื่องนี้ ดิฉันเหนื่อยหน่ายมาก ไม่รู้จะเหนื่อยเพราะสงสารสัตว์หรือสงสารคนก่อน เพราะความไร้สติของคนมันเดือนร้อนสัตว์ ปัญหาเป็นวังวนไม่มีทางออก และดิฉันยังพาลโมโหรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการศึกษาที่มุ่งวิชาชีพและวิทยาศาสตร์ ละเลยปรัชญาและมนุษยศาสตร์ ทำให้มีการใช้เหตุผลที่ต่ำกว่ามาตรฐานถูกแสดงออกมาในพื้นที่สาธารณะโดยไม่มีใครสังเกต ทำไมสังคมไม่เห็นว่า จนกว่าคนจะพูดจารู้เรื่อง รู้จักตรรกะ สังคมจะหลุดพ้นจากความเลวร้ายหายนะไปไม่ได้เลย

ข้อโต้แย้ง (ถ้าจะเรียกเช่นนั้นได้ ว่ามันคือข้อโต้แย้ง) ของคุณกนกคือ เมืองไทยไม่ทรมานลิงเพราะ

1. มันเป็นวิถีชีวิต 

2. ถ้าการมีลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทรมานลิง งั้นการใช้ช้างมาทำโชว์ต่างๆ และมาเป็นพาหนะนักท่องเที่ยว และการใช้หมาลากเลื่อน ก็ต้องนับเป็นการทรมานสัตว์ด้วย (ประพจน์ ที่สื่อนัยไว้คือ "แต่การใช้ช้างและหมามาทำงานไม่นับเป็นการทรมานสัตว์ ดังนั้นการใช้ลิงเก็บมะพร้าวจึงไม่ทรมานสัตว์")

3. โรงเรียนฝึกลิงบอกว่าลิงเก็บมะพร้าวได้น้อย ยังไงก็ใช้ลิงไม่พอ ต้องมีคนหรือเครื่องจักรเพิ่มด้วย

ข้อโต้แย้งนี้ใช้ไม่ได้เพราะ

1. ทำไมทุกสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตต้องแปลว่ามันถูก หรือดี (ให้ตายเถอะ ตั้งสติด่วน ค่อยๆ คิดใหม่ เอาดีๆ) เขาบอกว่ามีการทรมานลิง คุณบอกไม่ทรมานเพราะเป็นวิถีชีวิต อย่างนี้การค้าทาส ค้าประเวณี การที่ผู้ชายมีเมียหลายคน ผู้หญิงไม่ได้เรียนหนังสือ ระบอบไพร่และมูลนาย ก็เป็นวิถีชีวิต เป็นมาตั้งนานมาก งั้นทุกอย่างที่ว่านี้ก็ถูกต้องหมดเลยใช่ไหม ทำไมเราจึงควรคิดว่าอะไรที่เป็นวิถีชีวิต แปลว่าดี (อันนี้คิดเอาเบลอๆ ไม่ได้ คุณต้องให้เหตุผล)

2. การบอกว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวไม่เป็นการทรมาน เพราะถ้าเป็นการใช้สัตว์แบบอื่นก็ต้องเป็นการทรมานด้วย อันนี้แสดงการเบลอในตรรกะอย่างแรง เหมือนถ้าดิฉันบอกว่า คนรวยหนีภาษีไม่ผิด ถ้าผิดแปลว่าคนรวยที่หนีคดีผิดด้วย (อ้าว ก็ใช่ไง ทำไมผิดทั้งคู่ไม่ได้ล่ะโปรดตั้งสติด่วน ค่อยๆ คิด เอาดีๆ ) คนพูดนี่มีทัศนะคับแคบถึงกับไม่รู้เห็นเลยว่าสังคมโลกในส่วนที่พัฒนาแล้ว เขาใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ (เพราะสัตว์เป็นทุกข์ได้เหมือนคน ซึ่งอันนี้ชาวพุทธไม่ควรต้องให้ฝรั่งมาสอน) มีการปิดสวนน้ำ SeaWorld ที่จับโลมามาทำปาฏิหาริย์ต่างๆ เพราะมันผิดธรรมชาติโลมา การเอาช้างมาเตะฟุตบอลก็เป็นการผิดธรรมชาติช้าง ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ เคลื่อนไหวช้าโดยธรรมชาติ การจับลูกช้างมาฝึกเต้นรำ ต้องมีการลงโทษ มีการดึงมันมาจากแม่ การบังคับช้างมีการใช้ปฏัก (ไม้ที่ฝังเหล็กแหลมไว้ที่ปลายด้านล่าง ใช้แทงบังคับสัตว์พาหนะเช่นวัว) แน่ๆ (เห็นมากับตา)

ทีนี้การบันเทิงแบบนี้มันจำเป็นไหม มันไม่จำเป็น การดูช้างเต้นรำ ดูละครลิง เป็นความบันเทิงที่อยู่บนความทุกข์ของสัตว์ และคนที่ควบคุมสัตว์ก็เป็นคนรับจ้างที่ความเป็นอยู่ของเขาขึ้นกับการบังคับสัตว์ให้ได้ การที่คนอยู่ในสภาพลำบากและสัตว์อยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ มันสร้างบริบทสำหรับการ abuse หรือทำร้ายรังแกสัตว์ อยู่แล้ว 

และนอกจากนั้น มันคือการรังแกคน คนเป็นได้มากกว่านี้ มีรสนิยมดีกว่านี้ได้ รสนิยมดีที่แปลว่าสะท้อนความเมตตาปราณี ความประณีต ความอ่อนโยน ความเป็นโลกที่สามไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินรายได้ประชาชาติอย่างเดียว แต่อยู่ที่จิตสำนึกและเจตน์จำนงค์ของคนในชาติด้วย ชนชาติที่คิดว่าการหาความสำราญของตนโดยไม่อ่อนโยนต่อความทุกข์ของคนอื่นเป็นเรื่องปกติ คือชาติที่ด้อยพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย 

การที่มีโรงเรียนฝึกลิงให้เก็บมะพร้าว ที่มีการประกอบการเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้ ยิ่งสื่อว่าการใช้ลิงทำงานเป็นเรื่องกว้างขวาง ทำกันซีเรียส จึงจะทำให้โรงเรียนแบบนี้อยู่ได้ การฝึกสัตว์ก็ต้องทำแต่เด็ก เอามาจากแม่ มีการเฆี่ยนตีลงโทษแน่ๆ มีการคุมขังแน่ๆ แล้วทำไมเราต้องทำแบบนั้น จะ primitive เป็นสังคมบุพกาลไปถึงไหน ลิงเป็นสัตว์ที่มีพัฒนาการทางวิวัฒนาการใกล้เคียงกับมนุษย์ มันเป็นทุกข์ได้มากเหมือนคน แล้วจะสร้างทุกข์ไปทำไม

การตีไก่ ชนวัว ก็เหมือนกัน มันป่าเถื่อนมาก สังคมอนุญาตให้มีสิ่งเหล่านี้โดยการให้เหตุผลเพียงว่ามันเป็นประเพณี หรือวิถีชีวิต ซึ่งมันเลวมากกว่าการไม่ใช้เหตุผลเลย (คือ ถ้าไม่พูดเลยคนยังแค่นึกว่าใจร้าย พอพูดแล้วจึงรู้ว่าบกพร่องทางปัญญา) 

ที่น่าสะท้อนใจคือ การที่คนอ้างว่า คนจน คนพื้นถิ่น คนพื้นบ้าน ใช้สัตว์ ทำร้ายสัตว์ เป็นวิถีของเขา การไปห้ามหรือประนาม เหมือนกับไปรังแกคนท้องถิ่น อันที่จริงเราต้องตระหนักว่า การใจร้ายต่อสัตว์ บ่มเพาะการใจร้ายต่อคน การฝึกสังคมให้เมินเฉยต่อความทุกข์ของลูกช้าง ที่ถูกบังคับให้เต้นไปตามเพลง การที่สังคมถูกบ่มเพาะให้เห็นว่านั่นเป็นเรื่องสนุก หรือเห็นลิงกอริลล่าตัวใหญ่ถูกขังอยู่ในกรงตลอดชีวิตบนตึกสูงที่ห้างพาต้า เป็นเรื่องบันเทิง การบ่มเพาะเหล่านี้ทำให้สังคมเมินเฉยต่อความทุกข์ของคนด้วยกันเอง คนจน คนอ่อนแอ คนไม่มีอำนาจ (อีกนัยหนึ่งก็คือคนพื้นถิ่นที่ถูกวาดภาพว่ามีขีวิตงดงามตาม "วิถีชีวิต" นั่นแหละ) ถ้าเราฝึกลูก เมื่อเห็นช้างเต้นรำให้ดูที่สวนนงนุช แทนที่จะเห็นว่าควรถ่ายเซลฟี่ แต่ควรถามว่า ช้างเหนื่อยไหม แม่มันอยู่ไหน ช้างอยู่อย่างไร รู้จักเป็นห่วงช้าง ถ้าเด็กของเราเป็นห่วงช้าง เด็กก็จะเป็นห่วงควาญช้าง ถ้าผู้บริโภคมะพร้าวเป็นห่วงลิง ผู้บริโภคก็จะเป็นห่วงคนสวน และคนเก็บมะพร้าว 

สังคมที่ไม่ฝึกคนให้อ่อนโยนต่อสัตว์ คือสังคมที่คนจะเมินเฉยต่อความทุกข์และความอยุติธรรมต่อคนด้วยกันเอง ถ้าเขาเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ 

และที่สำคัญที่สุดคือ เราควรดีต่อสัตว์ เพราะว่าเราควรจะเป็นมนุษย์

 

เพิ่มเติมจาก: Facebook เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=678741222719267&id=100017501853888
 

เรื่องลิงสะท้อนความเป็นคน (ต่อ)

ตอบข้อโต้แย้งนะคะ

มีข่าวว่า อาจารย์เสรี วงศ์มณฑา และคนอื่นๆ ให้เหตุผลว่า ในประเทศตะวันตกมีการทารุณสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงและฆ่าสัตว์เป็นอาหารเหมือนกัน และได้แสดงตัวอย่างต่างๆ ที่สัตว์ถูกทรมานในกระบวนการนี้

นี่เป็นการใช้เหตุผลผิดพลาด 2 แบบในเวลาเดียวกัน เวลาเราสอนตรรกวิทยาเบื้องต้น เราชี้ให้ นศ เห็นแบบของการใช้เหตุผลผิดพลาดหลายแบบ (หรือที่เรียกกันว่า logical fallacy) แบบหนึ่งเรียกว่า "two wrongs don't make a right" หมายความว่า เราจะบอกว่า นักการเมืองโกงเงินงบประมาณเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะทหารก็โกงเหมือนกัน (นี่ยกตัวอย่างเฉยๆ ) เป็นการใช้เหตุผลผิดพลาด เพราะการที่การกระทำหนึ่งผิด ไม่ได้ทำให้การกระทำหนึ่งถูก (ซึ่งอันนี้ก็น่าจะเป็น common sense อยู่แล้ว) การใช้เหตุผลผิดพลาดแบบที่ 2 ในข้อโต้แย้งนี้คือข้อที่เรียกกันว่า ad hominem (ภาษาละติน แปลว่า attack to the person) หมายถึงการที่เราไม่โต้แย้งที่ข้ออ้างและข้อสรุปของฝ่ายตรงข้าม คือไม่เถียงเรื่องประเด็นโต้แย้ง แต่หันมาด่าคนพูดแทน (สังคมไทยเป็นบ่อย เถียงแบบนี้จนชิน ซึ่งมันเป็นการเถียงที่ดูถูกครูสอนตรรกวิทยาของคุณตอนปีสองมาก กรุณาอย่าทำ) ข้อโต้แย้งนี่สื่อนัยว่า เนื่องจาก peta เป็นองค์กรที่มีฐานในประเทศตะวันตก (คนเถียงบอกว่าอังกฤษ แต่ความจริงคืออเมริกาค่ะ ดิฉันรู้จักองค์กรนี้มานาน) และในประเทศตะวันตกเองยังมีการทารุณสัตว์อยู่ Peta จึงไม่มีสิทธิ์มาวิจารณ์ประเทศอื่น คือ Peta ควรปัดกวาดบ้านตัวเองก่อน ถ้าไม่ทำแปลว่ามือถือสากปากถือศีล คืออันนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ Peta เป็นคนยังไงค่ะ เขาเองไม่ได้เถียงว่าเขาดีค่ะ เขาเถียงว่าคุณรังแกลิง การที่เขาจะดี เลว หรือปานกลาง ไม่เกี่ยวกับการรังแกหรือไม่รังแกลิงเลยค่ะ นี่ถ้าใช้ภาษาปากต้องบอกว่า นอกเรื่องค่ะ ทีนี้พอคนเรานอกเรื่อง มันก็แปลว่าเราแถแล้วค่ะ ซึ่งหมายถึงเราไม่มีข้อโต้แย้งจะเถียงได้แล้วค่ะ อย่าเถียงแบบนี้เลยนะคะ

นักข่าวให้เหตุผลอีกว่า คลิปวีดีโอของลิงถูกทรมานนั้นเป็นเพียงส่วนเดียว (Peta ทำงานโดยเก็บหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอเสมอ เพื่อแสดงว่าการทารุณมีจริง) อยากให้โลกตะวันตกมองภาพรวมว่ามันเป็น "วิถีชีวิต" (เรื่องการเถียงโดยใช้คอนเซป "วิถีชีวิต" กรุณาดูโพสต์ที่แล้วนะคะ) ทีนี้ดิฉันว่ามันแปลกมาก สมมติว่ามีข่าวครอบครัวทารุณกรรมเด็ก แล้วเราบอกว่า อย่าไปโฟกัสตรงนั้นเลย ดูภาพรวมเถอะ โดยรวมแล้วพ่อแม่รักลูก มันใช่ไหมคะ เถียงแบบนี้ได้ไหม เราต้องดูใช่ไหมว่าทารุณกรรมเกิดที่ไหน ใครทำ มันผิดกฏหมาย (ตอนนี้เรามีกฏหมายคุ้มครองสัตว์แล้ว ไม่เห็นมีใครสักคนเลยที่บอกว่าคลิปของ Peta ควรนำไปสู่การลงโทษคนทำผิดกฏหมาย) ทำไมเราบอกว่า ภาพรวมมันดี (ซึ่งความจริงก็ไม่น่านะใช่หรอก) ดังนั้นการทรมานสัตว์เล็กๆ น้อยอย่าใส่ใจเลย (เราพูดแบบนั้นกับการทรมานเด็กไหม) บอกเลยว่าถ้าเถียงในมุมนี้ Peta ไม่เข้าใจหรอก เพราะตรรกะมันไม่ได้ เขาต้องอยากฟังว่าเรามีกฏหมายป้องกันสัตว์อย่างไร เราจะแก้ปัญหาอย่างไร แบบนี้มากกว่าจะบอกว่าสื่งที่เกิดในคลิปมันเป็นส่วนน้อย (ซึ่งไม่น่าจะใช่ แต่ถึงจะใช่ก็ยังฟังไม่ขึ้นอยู่ดี)

และที่ประหลาดที่สุด คือมีอีกข้อโต้แย้งหนึ่งซึ่งดิฉันได้ยินมาสองครั้งแล้ว แปลกใจทุกครั้ง คือครั้งหนึ่งไปเสนอบทความที่ญี่ปุ่น แล้วก็ไม่มีอะไรกินตอนพักเที่ยงเพราะดิฉันทานมังสวิรัติ อาจารย์เจ้าของงานบอกว่า กินปลาเถอะ กินได้ เพราะปลานี้ถูกเพาะเลี้ยงมาไว้กิน ไม่ใช่เป็นปลาที่จับมาจากธรรมชาติ ดิฉันงงไปสองนาที ว่ามันเกี่ยวตรงไหน ทำไมถ้าเป็นสัตว์ที่เราเพาะเลี้ยงเองแล้วเราทรมานหรือฆ่าได้มากกว่าสัตว์ที่จับมา ก็ถ้ามันเป็นสัตว์มันก็เจ็บเป็นเท่าๆ กันไม่ใช่หรือ ดังนั้นพอฟัง คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ออกมาบอกว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าวนี้ไม่ใช่ลิงป่า เป็นลิงที่ผสมพันธุ์ขึ้นมา ดิฉันก็งงมาก (คือลิงกังมันไม่ได้เป็นสัตว์หายากอยู่แล้วนะคะ การเพาะพันธุ์หรือการไปเอามาจากป่ามันไม่เกี่ยวกับข้อโต้แย้งเลยค่ะ คุณจุรินทร์ Peta อาจจะอึ้งเพราะงงว่าคุณพูดอะไรค่ะ ไม่ใช่อึ้งเพราะยอมรับในการให้เหตุผลค่ะ) ดังนั้นคุณจุรินทร์ต้องเตรียมตอบคำถาม (ซึ่งมาแน่ๆ ) ว่าทำไมการทารุณลิงที่ผสมพันธุ์ขึ้นมา จึงเป็นสิ่งที่รับได้ แต่การทารุณลิงป่ารับไม่ได้ค่ะ

สุดท้ายนี้ อยากให้บริบทนิดหนึ่งแก่คนที่ตามข่าวนี้และคนในสังคมนะคะ Peta เป็นองค์กรที่ใช้ได้ค่ะ ดิฉันทำปรัชญาจริยศาสตร์ และติดตามเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มานาน Peta พยายามขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในประเทศตะวันตกด้วยค่ะ และประสบความสำเร็จหลายอย่าง ขบวนการวีแกนที่เติบโตขึ้นก็เพราะองค์กรอย่าง Peta ที่รับเอาความคิดทางจริยศาสตร์ไปใช้ (ปรัชญา Utilitarian หรือประโยชน์นิยม ที่เรียกร้องให้เรานับเอาความสุขและทุกข์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกัน มีนักปรัชญาชื่อ Peter Singer เป็นคนนำที่สำคัญ) เพราะงั้นการบอกว่านี่เป็นข้ออ้างของรัฐบาลต่างชาติในการกีดกันทางการค้า มันไม่จริงเลยค่ะ Peta มีโปรไฟล์ดี มีจุดยืนที่ชัดเจนมานานมากแล้วค่ะ และวิจารณ์ทุกประเทศเลยค่ะ ในประเทศตะวันตกมีคนไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากขึ้น และในอุตสาหกรรมที่เลี้ยงสัตว์ไว้ฆ่า Peta ก็ผลักดัน ก็มีกฏหมายเพื่อกำกับวิธีที่สัตว์ถูกเลี้ยง (เช่นขนาดของกรงหมู เป็นต้น) และวิธีที่สัตว์ถูกฆ่าค่ะ มันไม่มีสัตว์ไหนจะเป็นทุกข์เท่าในประเทศโลกที่สามแล้วค่ะ ดังนั้นอย่าพูดเป็นทำนองว่า ในโลกตะวันตกยังทรมานสัตว์อยู่เลย คือถามคนไทยที่ตามเรื่องสวัสดิภาพสัตว์นิดหนึ่งก็ดีค่ะ เพราะว่าองค์กรพิทักษ์สัตว์ในตะวันตก พยายามผลักดันเรื่องนี้มานานและประสบผลสำเร็จมาเรื่อยๆ ค่ะ เช่นเดี๋ยวนี้ในยุโรปมีกฏหมายห้ามการทดลองสัตว์เพื่อทำเครื่องสำอางค์ค่ะ (ข้างกล่องจะเห็นรูปกระต่ายกระโดด หรือ leaping bunny เป็นสัญลักษณ์ว่าไม่มีการทดลองในสัตว์ ผู้อ่านถ้าจะยอมทำอะไรให้ดิฉันสักเรื่อง กรุณาคอยดูรูปกระต่ายกระโดด ข้างกล่องผลิตภัณฑ์นะคะ เลือกซื้อแบบที่มีกระต่ายกระโดดค่ะ ช่วยกัน) ขอบคุณมากค่ะ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท