Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 สำนักข่าวหลายแห่งต่างรายงานถึงการสาปสูญไป (และเป็นไปได้ที่จะเป็นการลอบสังหาร) ของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คนไทยคนหนึ่งที่เผชิญหน้าและท้าทายอำนาจนิยมอย่างไม่ลดละ วันเฉลิม จัดได้ว่าเป็นผู้วิจารณ์รัฐบาลทหารในระดับแนวหน้าและเขายังเป็นบุคคลล่าสุดที่เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ได้หายตัวไป ซึ่งบ่อยครั้งพวกเขาตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงในดินแดนต่างบ้านต่างเมือง วันเฉลิม ต้องหลบหนีคดีเพราะได้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) จากการโพสต์ข้อตวามที่ "บิดเบือน" เกี่ยวกับรัฐบาลทหารบนโลกออน์ไลน์ บางสำนักงานข่าวอ้างว่า วันเฉลิม เป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ หรือ มาตรา 112 ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้ปฏิเสธข้ออ้างนี้

รัฐบาลทหารมักจะถูกมองว่าเป็นผู้บงการเบื้องหลังการสอดส่องและการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศ แต่บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISPs (Internet Service Providers) ทั้งหลายเองก็มีบทบาทเป็นตัวกลางในการยับยั้งเสรีภาพในการแสดงออก ในอดีตบางบริษัท ISPs ได้เปิดเผยข้อมูลที่ระบุอัตลักษณ์ (identifying data) ของเจ้าของข้อมูลนั้นๆ ให้แก่เจ้าพนักงานที่บังคับใช้ตามกฎหมาย (เช่น ตำรวจ) เพื่อการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์รัฐบาล การกระทำเช่นนี้นับว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว และนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่คิดต่างจากรัฐบาล

ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ วันเฉลิม และผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งระหว่างปี 2557 - 2559 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต ในกลุ่มผู้ที่ท้าทายต่ออำนาจเผด็จการ ทั้งในเอเชียและยุโรป ทั้งนี้  วันเฉลิม เชื่อว่า บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (True Corporation) ซึ่งเป็นบริษัท ISP รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลบัญชีของผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลหลายคนให้กับรัฐบาลทหารภายหลังจากการทำรัฐประหารในปี 2557

เนื่องมาจากความไม่โปร่งใสของรัฐไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงยากที่จะยืนยันความเชื่อของวันเฉลิม ที่ว่ากลุ่มทรูได้ส่งมอบข้อมูลของผู้ฝ่าฝืนรัฐบาลทหารให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย แม้จะไม่อาจยืนยันในเรื่องนี้ได้ แต่สิ่งที่เรารู้ดีนั่นก็คือตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา รัฐบาลต่างพากันหาทางที่จะควบคุมความท้าทายของมวลชนส่วนหนึ่งในโลกไซเบอร์ โดยการออกกรอบกฎหมายเพื่อลงโทษและบีบบังคับให้บริษัท ISP ทั้งหลายใช้เทคโนโลยีเพื่อการสอดส่องและเซ็นเซอร์บนโลกไซเบอร์ มิหนำซ้ำ บริษัท ISP เองยังมีการตั้งเงื่อนไขการใช้บริการ (Terms of Service) อย่างเช่น "นโยบายความเป็นส่วนตัว" ของทรูคอปอเรชั่น ซึ่งเงื่อนไขการใช้บริการโดยทั่วไปแล้วอนุญาตให้บริษัท ISP เหล่านี้ส่งมอบข้อมูลบัญชีของผู้ใช้บริการให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอีกด้วย การใช้เงื่อนไขทั้งทางกฎหมายและทางเทคโนโลยีแบบนี้ ลดระดับการปกป้องความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัลลงไป การละเมิดสิทธิแบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการในการพึงระวังป้องกันข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง

การสอดส่องและการเซ็นเซอร์บนอินเทอร์เน็ต: ภูมิทัศน์ทางกฎหมาย

ในประเทศไทย มีกฎหมายบางข้อที่บังคับให้ ISPs ส่งข้อมูลมาให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อการสืบสวนคดีอาชญากรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เช่น มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หรือเรียกว่า เลส มาเจ้สเต้ lèse-majesté) กฎหมายที่เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดในบรรดากฎหมายเซ็นเซอร์ในประเทศไทย จากเวลาที่ผ่านมามากกว่าสองทศวรรษ มีผู้ถูกดำเนินคดีนี้ที่ถูกจำคุกบางครั้งยาวนานจนถึง 60 ปีอันเนื่องมาจากได้ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่พิธีบรมราชาภิเษกของรัชการที่ 10 เจ้าหน้าที่ทางราชการได้หลีกเลี่ยงการบังคับใช้ มาตรา 112 เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่วิจารณ์กษัตริย์โดยหันมาบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์แทน

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ออกมาเมื่อปี 2560  นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลนำมาใช้สำหรับจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้กำหนดบทลงโทษถึงห้าปีแก่ผู้ใช้เครื่องมือดิจิทัลที่นำเข้าข้อมูล "อันเป็นเท็จ" หรือ "ที่ก่อความไม่สงบและเรียบร้อย" และตามที่ปรากฏในหลายๆ มาตราของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯยังให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานแบบไม่มีขอบเขตในการเข้าถึง เมตะดาต้า (metadata) ซึ่งเก็บโดยบริษัท ISP และผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตประเภทอื่นๆ (metadata คือ ข้อมูลที่ให้รายละเอียดว่าใครคือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเช่น หัวเรื่องของอีเมล์ ระยะเวลาการโทรเข้า-ออก หรือระบุตำแหน่งของผู้ใช้เครื่องมือดิจิทัลและผู้ที่คุยสนทนาด้วย นอกจากนั้นมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังบังคับให้บริษัท ISP เก็บและ/หรือหน่วงเหนี่ยว metadata ไว้ ตั้งแต่ 90 วันถึง 1 ปี เงื่อนไขนี้เพื่อจะทำให้บริษัทเหล่านี้มีคุณสมบัติตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ถึงจะได้สิทธิ์ในการทำสัญญากับรัฐบาล นอกจากนี้มาตรา 18 ของกฎหมายเดียวกันนี้ยังให้อนุญาตเจ้าพนักงานเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้จากการยึดระบบคอมพิวเตอร์ และรวมไปถึงการทำลายรหัสลับที่ปกป้องข้อมูลนั้นๆ

ในอดีตเจ้าพนักงานมักจะตั้งข้อหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปพร้อมกับ คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้แก่ผู้ที่วิจารณ์กษัตริย์ เช่นเมื่อเดือน มีนาคม 2554  ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล (หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า หนุ่ม เรดนนท์) ผู้ออกแบบเว็บไซต์ให้กับเว็บของคนเสื้อแดงที่มีข้อความโพสต์ลงบนเว็ปไซต์ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 13 ปี (10 ปีสำหรับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ 3 ปีสำหรับคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ)   ประชาไทได้รายงานว่า ทริปเปิ้ลทีบรอดแบรนด์ (Triple T Broadband) ซึ่งเป็นบริษัท ISP ได้เปิดเผย IP Address ของธันย์ฐวุฒิที่เชื่อมต่อกับเว็บไซต์ที่เขาดูแลอยู่ในขณะนั้น (IP Address หรือ Internet Protocol ซึ่งเป็นหมายเลขประจำเครื่องของเครื่องคอมพิวเตอร์ เปรียบเสมือนเลขที่บ้านของคนๆ หนึ่ง)

ในปีเดียวกัน แอนโทนี่ ชัย คนไทยสัญชาติอเมริกันที่เปิดร้านคอมพิวเตอร์และให้บริการในรัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับทนายความ ได้ยื่นฟ้องศาลดำเนินคดีกับ Netfirms ซึ่งเป็นบริษัท ISP ที่ตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา โดยกล่าวหาว่าบริษัทได้ฝ่าฝืนกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาเพราะบริษัทได้ส่งมอบอีเมล์สองบัญชีที่เชื่อมต่อกับ IP Address ของแอนโทนี่ ให้กับเจ้าพนักงานไทยโดยที่เขาไม่มีส่วนรับรู้ ตามเนื้อหาของคดีที่ฟ้องร้องกับบริษัท Netfirms นี้ ผู้ใช้บริการในร้านของแอนโทนี่ได้โพสต์ข้อความวิจารณ์มาตรา 112 แบบนิรนามในปี 2548 เมื่อแอนโทนี่เดินทางมาที่สนามบินในกรุงเทพฯในเดือนพฤษภาคม 2549 ตำรวจจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดึงตัวเขาออกมาจากแถวผู้โดยสารที่รอเข้าประเทศ พร้อมยึดคอมพิวเตอร์และควบคุมตัวเขาไว้ก่อนที่จะปล่อยตัวเขา พร้อมกับขู่ว่าจะจับกุมอีกหากเขาเดินทางกลับมาที่เมืองไทย กรณีของแอนโทนี่นี้ ทำให้เห็นว่าแม้แต่บริษัท ISP ต่างชาติก็ยังเปิดเผยข้อมูลของคนที่คิดต่างให้กับเจ้าพนักงานไทย

ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์อื่นๆ ที่มีปัญหาอีก เช่น พ.ร.บ.ไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) ยังได้เพิ่มอำนาจล้นพ้นให้กับรัฐเพื่อการสอดส่องผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของบุคคใดก็ตามที่ทางการเพียงแค่มีความ"สงสัย" นั่นหมายความว่า กฎหมายยังให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะยึดคอมพิวเตอร์มาจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลายาวนานถึง 30 วันพร้อมกับให้อำนาจในการทำสำเนาของระบบคอมพิวเตอร์โดยที่ไม่มีหมายศาล ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ยังให้อนุญาตรัฐเก็บข้อมูลจากนักข่าว (รวมถึงแหล่งข่าวนิรนาม) และข้อมูลของผู้ที่คิดต่างโดยไม่ต้องรอหมายศาล ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพ กระทรวง และหน่วยงานราชการต่างๆ ยังสามารถออกคำสั่งต่างๆ (เช่น คำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เพื่อมาบังคับให้บริษัท ISP ทั้งหลายส่งมอบข้อมูลแก่เจ้าพนักงาน อย่างที่เห็นได้จากหลังรัฐประหาร เมื่อกองทัพมีคำสั่งให้บริษัท ISP ทั้งหมดให้จับตามองและยับยั้งข้อมูลที่วิจารณ์ทหาร

นอกจากการสร้างกรอบทางกฎหมายเพื่อการบังคับใช้ลงโทษคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ทางการไทยยังซื้อเครื่องมือทางเทคโนโลยีในการสอดส่อง (เข่น ระบบ “lawful interception”) เพื่อที่จะขยายศักยภาพของกองทัพในการสอดส่องการสื่อสารทางดิจิทัลและการจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพื่อการวิจารณ์ต่อการทำงานของรัฐ มีรายงานบางชิ้นจากศูนย์วิจัยและองค์กรเฝ้าดูแลเพื่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัล (digital rights) ได้เปิดเผยว่าทางการไทยได้ใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ และ ซอฟแวร์ต่างๆ เพื่อการสอดส่อง (ซึ่งยังมีมากไปกว่าตัวอย่างที่เอ่ยถึงด้านล่างนี้) ในปี 2553 รัฐไทยได้บังคับให้บริษัท ISP ทุกแห่งติดตั้ง “sniffer tools” เพื่อให้บริษัท ISP สามารถเก็บและวิเคราะห์การจราจรทางคอมพิวเตอร์ บางบริษัท ISP ยังมีการใช้เครื่องมือ PacketShaper ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ประติดประต่อโครงสร้างของการจราจรในเครือข่ายของของการติดต่อสื่อสารเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งที่ใช้การเข้ารหัสลับ ทั้งนี้บางบริษัท ISP ได้นำเครื่องมือชิ้นนี้มาใช้เพื่อการสอดส่องการจราจรที่เข้ารหัสลับ (encryption)  เพื่อที่จะยับยั้งเว็บไซต์และเก็บการจราจรทางอินเทอร์เน็ต ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ามาตราที่ 15 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผลักภาระให้ตัวกลางทางอินเทอร์เน็ต (internet intermediaries) รับผิดชอบที่ต้องดูแลสอดส่องและยับยั้งข้อมูลที่ “ผิดกฎหมาย” เอง ฉนั้น บริษัท ISP ก็ดี  เว็บไซต์ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ สามารถ “ได้รับโทษหนักด้วยจากการกระทำของผู้ก่ออาชญากรรม” (นั่นก็คือ ผู้ที่เข้ามาใช้บริการของตัวกลางทางอินเทอร์เน็ตนั้นๆ ) อันเนื่องมาจากการนำเข้าสารสนเทศ ข้อมูล และเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย

สาเหตุที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่บริษัท ISPให้ความร่วมมือกับรัฐในการยับยั้งการแสดงออกทางความคิดเห็นของผู้ที่เห็นต่าง อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์อย่างเป็นกันเองทั้งทางส่วนตัวและทางธุรกิจระหว่างรัฐไทยและบริษัท ISP ความสัมพันธ์ที่แนบแฟ้นแบบนี้เห็นได้จากที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (True Corporation) ซึ่งมีเจ้าของเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ยกตัวอย่าง ครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มซีพี มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลจากการสมรสระหว่างคนในครอบครัวกับอดีตรัฐมนตรีบางคน กลุ่มทรู ยังได้รับเอกสิทธิ์จากการทำสัญญาผูกขาดกับรัฐ เช่น เมื่อปี 2559 กลุ่มทรูได้ประกาศที่จะสร้างและติดตั้งระบบ WiFi ให้แก่สถานีตำรวจทั่วประเทศ และการชนะการประมูลคลื่นความถี่ในการให้บริการ 4G และ 5G ของกลุ่มทรู ในปี 2558 และ ปี 2563 ตามลำดับ ได้ทำให้ ทรู กลายมาเป็นเครือธุรกิจทางเทคโนโลยีที่มั่งคั่งและมีอำนาจที่สุดในประเทศ

มองไปข้างหน้า: คำแนะนำสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการแสดงออกความคิดที่ต่างจากกระแสหลัก

จากข่าวรายงานการสาปสูญไปของผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายๆ คน ได้ทำให้ประชาชนในพื้นที่สาธารณะมีความสนใจต่อมาตรา 112  อีกครั้ง หลังจากมีการรายงานข่าวการหายตัวไปของ วันเฉลิม แฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม และ #ยกเลิก112 ได้สร้างกระแสเทรนด์ในทวิตเตอร์อีกด้วย และได้มีการแชร์ต่อในทวิตเตอร์มากถึง 530,000 ครั้งสำหรับแฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม และ 605,700 ครั้งสำหรับแฮชแท็ก #ยกเลิก112  ปรากฏการณ์ของคนที่เห็นต่างทางออนไลน์จำนวนมหาศาลแบบนี้ (mass online dissent) เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้เราคงแทบจะคาดเลยทีเดียวว่าจะเกิดขึ้นได้ และนี่แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองบนโลกออนไลน์มีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  แน่นอนว่าอินเทอร์เน็ตมีพลังขับเคลื่อนที่จะช่วยในการเปลี่ยนแปลงแต่อินเทอร์เน็ตยังนำความเสี่ยงต่างๆ เข้ามาด้วย เช่น การถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนทางดิจิทัล


วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

เมื่อผู้เขียนได้สัมภาษณ์วันเฉลิม ตัวเขาเองได้ตระหนักถึงอำนาจอันเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐไทยและบริษัท ISP  ทั้งนี้ วันเฉลิม เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ISP นำไปสู่การเปิดโปงตัวตนของผู้ที่เห็นต่าง วันเฉลิม ได้เล่าว่า “เท่าที่ทราบมา (จากสายภายใน) ที่เค้าไปเจอ IP ของหลายๆ คนในช่วงการจับกุมที่ผ่านมาโดยไม่มีหมายเรียก  1 ถึง 2 วันหลังจากที่ คสช. ประกาศกฎอัยการศึก มีการเรียกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 128 เจ้า เข้าไปประชุมร่วมกับทหาร แล้วก็เริ่มมีการจับกุมคนที่โพสต์ทาง Facebook โดยที่ ปอท. ตามไปถึงที่บ้านโดยไม่มีหมาย[ศาล]เรียก”

วันเฉลิม เองเชื่อว่าการจับกุมผู้ที่เห็นต่างนั้นมาจากการให้ความร่วมมือของบริษัท ISP ซึ่งรวมถึงกลุ่มทรู ในการส่งมอบข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการให้กับตำรวจ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชกรรมทางเทคโนโลยี) วันเฉลิม ยังได้บอกเพิ่มอีกด้วยว่า: “อย่าง ทรู เนี่ยก็เปิดเผยข้อมูลว่า IP [ของผู้ที่ใช้บริการทรู] นี้ที่มันมีการเปลี่ยนไปและมีการใช้ VPN covers [ปกปิด] สุดท้ายแล้วมันมาจากกล่องส่งสัญญาณ [WiFi modem] ของบริษัทอะไร ดังนั้น VPN มันปิด IP ก็จริง แต่ว่าพอสุดท้ายแล้วไอ้เลขกล่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตเนี่ยมันตามเจอต้นตอได้จาก WiFi ที่บ้าน [ของผู้ที่ใช้บริการทรู]”

อนึ่ง Virtual Private Networks หมายถึง เครือข่ายส่วนตัวซึ่งมีการเข้ารหัส และมีระบบรักษาความปลอดภัย จากบทส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์นี้ แม้ว่า วันเฉลิม จะไม่ได้บอกผู้เขียนว่าตัวเขาเองได้ใช้ ISP ของบริษัทไหน และมันยากที่จะยืนยันว่า กลุ่มทรู ได้ส่งมอบข้อมูลของผู้ใช้บริการให้แก่เจ้าพนักงานจริงหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนเองเพียงแค่แนบบทสัมภาษณ์ของ วันเฉลิม มาในบทความนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐมีความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วเกี่ยวกับการสอดส่องและการเซ็นเซอร์ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ และปัจจัยนี้เองที่หล่อหลอมวิธีการแสดงออกทางการเมืองของพวกเขา แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้กันดีนั่นก็คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับแก้ไข บีบบังคับให้ตัวกลางทางอินเทอร์เน็ตเก็บกักข้อมูลของลูกค้าของตัวเองแล้วส่งมอบให้เจ้าพนักงาน ซึ่งรวมถึงข้อมูลของ นักกิจกรรมทางการเมือง นักข่าว นักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เห็นต่างกับรัฐผู้อื่นๆ อีกมากมาย ส่วนในกรณีของวันเฉลิมเองนั้น ความเป็นไปได้ที่ว่าการเปิดโปงข้อมูลของตัวเขาเองโดยบริษัท ISP เป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ ปัจจัยที่จูงใจให้ วันเฉลิม หนีออกมาจากประเทศไทย

นับตั้งแต่วันที่วันเฉลิมหายตัวไป ปัญหาที่เร่งด่วนอย่างเช่น ความปลอดภัยทางดิจิทัลได้เพิ่มทวีคูณอันเนื่องมาจากความระวังระไวความดูแลการตรวจตราของมวลชน (mass surveillance) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ รัฐไทยได้รับมือกับโรคระบาดนี้ด้วยการประกาศใช้ พระราชกำหนดฉุกเฉิน ซึ่งได้ให้อำนาจล้นฟ้ารวมทั้งการนำแอปพลิเคชั่นเพื่อติดตามการแพร่ระบาดไวรัส "ไทยชนะ" (contact-tracing mobile application) ที่ตกเป็นข่าวมาใช้ แต่มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่าง ความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น และการรับมือกับวิกฤตทางสุขภาพของประชาชนนั้น

ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนได้แนะนำข้อคิดบางข้อให้แก่ประชาชนทั่วไป ผู้ที่เห็นต่าง และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาการสอดแนมและการยับยั้งการแสดงออกความคิดเห็น เมื่อเวลาเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองบนอินเทอร์เน็ต คำแนะนำแรกก็คือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรใช้เทคโนโลยีที่มีการเข้ารหัสลับ (encryption) และเทคโลยีอัลเทอร์เนทีฟต่างๆ (เช่น แอพพลิเคชั่น Signal และ Jitsi ที่ใช้ได้ทั้งในมือถือและแล็ปท็อป) หรือเทคโลยีที่พัฒนามาจากโอเพ่นซอร์ซ (open source) และไม่ได้มาจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เพื่อการสนทนาที่ละเอียดอ่อนในการใช้จัดทำกิจกรรม เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่นการประท้วง ยิ่งไปกว่านั้น มันยังไม่เพียงพอที่จะปกปิดข้อมูลความเป็นส่วนตัวของตนเอง โดยการที่ไม่บอกว่าตนเองโพสต์มาจากที่ไดเมื่อเวลาโพสต์สถานะบน Facebook รวมถึงการใช้อวตาร หรือ นามแฝง แต่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังจำเป็นต้องใช้ VPN ที่พัฒนามาจากกลุ่มนักกิจกรรม (activists) ไม่ใช่จากบริษัท VPN ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าอยากจะเพิ่มความปลอดภัยทางการปกป้องบัญชีออนไลน์ต่างๆ ให้มากไปกว่านี้อีกควรใช้ การยืนยันตัวตนผ่านสองขั้นตอน (Two-Factor-Authentication หรือ 2FA) และการแยกบัญชีออนไลน์ต่างๆ จากกันด้วยการลงสมัครบัญชีด้วยที่อยู่อีเมล์ที่แตกต่างกัน นี่เป็นเพียงคำแนะนำส่วนหนึ่งเท่านั้นเพราะยังมีวิธีอื่นอีกมากมาย

คำแนะนำที่สองก็คือ ถ้าจะใช้บริการบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรใช้เพื่อลงประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มตนเท่านั้น หมายความว่าการนำแพลตฟอร์มหรือแอพฯจากบริษัทเหล่านี้มาใช้เพื่อการสื่อสารที่ละเอียดอ่อนกับสมาชิกภายในกลุ่มเพื่อการจัดกิจกรรม จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดส่องรู้เห็นถึงความเคลื่อนไหว และสามารถยับยั้งการประท้วงก่อนที่จะสำเร็จลุล่วงไปได้

คำแนะนำสุดท้ายคือ ประชาชนและภาคประชาสังคมที่มุ่งขยายพื้นที่ประชาธิปไตยให้กว้างขวางออกไป ควรให้การสนับสนุนต่อการรณรงค์ในระยะยาวในเรื่องที่เกี่ยวกับ ความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการเปลี่ยนกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาลงโทษและบังคับให้บริษัท ISP ให้มีส่วนร่วมในการกดขี่ขมเหงผู้ที่เห็นต่างกับรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net