Skip to main content
sharethis

กมธ.กฎหมายฯ ยื่นร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ฉบับภาคประชาชนเข้าสภา 'พรเพ็ญ' ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมชี้เป็นฉบับที่ดีที่สุด มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รื้อคดีเก่ามาสืบสวนได้ ไม่ยกเว้นแม้อยู่ในสถานการณ์พิเศษ แต่ขณะนี้มีอีก 2 ร่างฯ ที่จะเข้าสู่สภาเช่นกัน


ที่มา: สำนักข่าวไทย

8 ก.ค. 2563 วันนี้ สำนักข่าวไทยรายงานว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเป็นประธานพร้อมด้วยกรรมาธิการยื่นร่างกฎหมายถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรผ่านนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งร่างกฏหมายฉบับนี้เริ่มจากภาคประชาชนยื่นต่อกรรมาธิการในช่วงที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน และพิจารณาดำเนินการมาตลอด โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีส.ส.จากทุกพรรคการเมืองร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 100 คน ชี้ให้เห็นว่าสภาฯให้ความสำคัญ ต่อต้านการการซ้อมทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย 

ประชาไทสัมภาษณ์พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ อนุกรรมาธิการชุดกระบวนการยุติธรรม ภายใต้ กมธ. และผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ต่อความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯฉบับนี้ โดยเธอให้ความเห็นว่า ร่างฯ ที่ กมธ. รับรองนี้เป็นฉบับที่ "ดีที่สุด" เพราะมีการปรับปรุง เพิ่มเติมจากร่างฯ ฉบับที่ประชาชนยื่นให้กับ กมธ. ในชุดที่ปิยบุตร แสงกนกกุลเป็นประธาน เมื่อเดือน ก.พ. 63

ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมจากตำรวจ อัยการ การตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รัฐบาล ภาคประชาชนและผู้เสียหายในการกำหนดกฎเกณฑ์ ปรับปรุงนโยบายและดำเนินการในภาคปฏิบัติ และยังสามารถทำให้คดีการหายตัวไปในอดีตถูกรื้อขึ้นมาทำการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายอาญาได้เพื่อหาหลักฐานว่าถูกบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ในทางทฤษฎี เธอระบุว่าการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร ไปจนถึงหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ก็ถูกนำมาสืบสวนสอบสวนใหม่ได้ ร่างฯ ฉบับ กมธ. ยังเพิ่มฐานความผิดฐานะการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีมาอีกฐานหนึ่ง จากที่เดิมทีมีฐานความผิดด้านการทรมานและบังคับสูญหายเท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีบทที่ระบุว่า กฎหมายนี้จะไม่ถูกยกเว้นในสถานการณ์พิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎหมายพิเศษ สงคราม และยังระบุถึงการไม่ส่งบุคคลกลับนอกประเทศหากพบว่าจะถูกทรมานและถูกทำให้หายไปเมื่อถูกส่งกลับไป

พรเพ็ญระบุว่า ประเด็นที่ กมธ. มีการพูดคุยเยอะในวันนี้คือจะทำอย่างไรให้ร่างฯ ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่มีชวน หลีกภัย เป็นประธานให้เร็วที่สุด เนื่องจากขณะนี้มีร่างฯ อีก 2 ฉบับที่จะถูกยื่นเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาเช่นกัน ได้แก่ร่างฯ ที่ยกร่างโดยกระทรวงยุติธรรม พรรคประชาชาติ นอกจากนั้นยังมีร่างฯ ที่พรรคประชาธิปัตย์จะนำเสนออีก 1 ฉบับ จึงเป็นเรื่องเทคนิคของสภาฯ ที่จะรับและนำเสนอร่างฯ ฉบับต่างๆ อย่างไร

ในฐานะ ผอ. องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จ. ชายแดนใต้ เธอมองว่าหากร่างฯ ฉบับ กมธ. ผ่านการพิจารณาเป็นกฎหมาย จะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ภายใต้การประกาศใช้สภาวะฉุกเฉินและกฎอัยการศึกเปลี่ยนไปตั้งแต่แรกเริ่ม

"ร่างฯ ฉบับ กมธ. ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจับกุมจะต้องแจ้งหน่วยงานอื่น ไม่ใช่จับเอง ควบคุมเอง สอบสวนเอง ไม่ได้แล้ว มีการกำหนดฐานความผิด 3 ฐานสำคัญ (ทรมาน บังคับสูญหาย และการลงโทษอย่างโหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรี) คือมีโทษ และพูดถึงบทสันนิษฐานว่า การทำให้บุคคลหายตัวไปเกิดขึ้นได้และเป็นความผิด แม้ว่าจะไม่พบศพ ณ เวลาที่เรายังไม่ทราบชะตากรรมของคนที่ถูกทำให้สูญหาย เราสามารถทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปได้จนกระทั่งพบว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวไปที่ใดที่หนึ่ง และเขาปฏิเสธการควบคุม เช่นปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอยู่ไหน หรือปล่อยไปแล้ว ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าเขาถูกบังคับสูญหาย และตั้งข้อกล่าวหาได้" พรเพ็ญกล่าว

 

แถลงการณ์ชื่นชมการทำงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในการผลักดันพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านการพิจารณาและรับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … (ร่างฯ ฉบับกมธ.) เพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไปในสภาฯ ร่างฯ ฉบับกมธ. เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึงนิติกรสิทธิมนุษยชนผู้ชำนาญการ ที่มีความเห็นร่วมกันว่าควรมีกฎหมายอนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ที่ได้ให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ที่ลงนามไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555

ร่างฯ ฉบับกมธ. มุ่งกำหนดกฎหมายที่ครอบคลุมบริบทของการเข้าถึงความยุติธรรม การชดเชย เยียวยา จากการถูกทรมานและถูกกระทำให้สูญหายในทุกมิติ โดยมีจุดประสงค์คือการกำหนดให้การทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม กำหนดให้มีกลไกป้องกัน ปราบปรามการกระทำดังกล่าว เพื่อลบล้างวัฒนธรรมที่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล (impunity) กำหนดให้มีกลไกตรวจสอบความโปร่งใสและความรับผิดชอบ รวมทั้งการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย เช่น การกำหนดให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิได้รับการเยี่ยมจากญาติหรือกรรมการที่เป็นอิสระ ให้พบและปรึกษาทนายความ ให้มีการบันทึกสถานที่และสภาพร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว มีกลไกการร้องเรียนหากถูกทรมาน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่หน่วยใดหรือภายใต้กฎหมายฉบับใดก็ตาม

อีกทั้งยังชดเชย เยียวยาผู้เสียหาย โดยได้ขยายนิยามของ “ผู้เสียหาย” ให้รวมไปถึง คู่สมรส ผู้สืบสันดาน บุพการี คู่ชีวิต และญาติผู้เสียหาย ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวสามารถฟ้องคดีแทนเหยื่อได้

ในส่วนของอายุความ ไม่ให้นับอายุความจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ที่ถูกกระทำให้สูญหาย นอกจากนี้พลเมืองดีที่แจ้งหรือร้องเรียนกรณีอุ้มทรมานหรืออุ้มหาย หากกระทำโดยสุจริตก็จะได้รับการคุ้มครองพยานด้วย ทั้งนี้ร่างฯ ฉบับกมธ. ฉบับนี้ใช้ร่างฯ ฉบับประชาชนเป็นฐาน โดยตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนยื่นร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับประชาชนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

ต่อมามีการพิจารณาและปรับปรุงร่างฯ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในวันที่ 17 -18 และ 24-25 มิถุนายน 2563 และในขณะนี้ กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน มีมติเห็นชอบร่างฯ ฉบับกมธ.

โดยกระบวนการต่อจากนี้จะเป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ประกอบกับร่างพรบ.ฉบับของกระทรวงยุติธรรมและพรรคการเมืองต่าง ๆ และนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอชื่นชมวิสัยทัศน์ร่วมของคณะกรรมาธิการฯ ที่เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิประชาชนเช่นนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่สะท้อนว่าผู้แทนราษฎรตระหนักถึงปัญหาอันเกิดจากการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความคืบหน้าในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความสัมฤทธิ์ผลของระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ดังนั้นภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคมร่วมมือกับสื่อมวลชนยืนยันถึงความสำคัญของหลักการด้านสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และรักษาสิทธิอันพึงมีในฐานะพลเมือง โดยร่วมกันสอดส่อง ติดตามและร่วมผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้สำเร็จเพื่อเป็นหลักประกันแก่ความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต และให้พวกเราทุกคนปลอดจากการทรมานและการกระทำให้สูญหายไม่เกิดเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

แถลงการณ์ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net