Skip to main content
sharethis
  • 'พาณิชย์' ตั้งวงถกรับมือห้างอังกฤษงดขายกะทิไทยปมทารุณลิงเก็บมะพร้าว เพิ่ม 'ตรวจสอบย้อนกลับ'
  • รมว.พาณิชย์ ชี้ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า เป็นปัญหาระดับของภาคเอกชน ถกรับมือ เพิ่มกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ
  • 'กะทิชาวเกาะ' แจงใช้แรงงานคนเท่านั้น
  • สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย จ่อดัน 'ลิง' เข้า กม.จัดสวัสดิภาพสัตว์
  • PETA หวังจะได้รับการแก้ปัญหา
  • อดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ เสนอพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนมะพร้าวและลิงอย่างเป็นระบบ

8 ก.ค.2563 หลังข่าวซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษนำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรวมถึงผลิตภัณฑ์จากไทยออกจากแผง โดยอ้างรายงานขององค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรมหรือพีตา (PETA) ว่ามีการล่ามโซ่ใช้งานลิงในทำนองที่เป็นการกระทำทารุณต่อลิงเหล่านั้น ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในไทย

รมว.พาณิชย์ ชี้ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า เป็นปัญหาระดับของภาคเอกชน

สำนักข่าวไทย รายงานว่า วันนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เช่นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว เช่น ผู้แปรรูปกะทิแบรนด์ชาวเกาะ แบรนด์สุรีย์ และแบรนด์อร่อยดี รวมถึงองค์กรพิทักษ์สัตว์ ในการประเมินผลกระทบ และหาแนวทางการรับมือถึงการชี้แจงกับประเทศคู่ค้า กรณีนี้ โดย การประชุมครั้งนี้ ได้ข้อสรุปให้โรงงานผลิต เพิ่มกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่เพิ่มมากขึ้นแม้ปัจจุบันจะมีระบบควบคุมคุณภาพที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องระบุผลผลิตที่ได้มาจากสวนไหน มีการใช้แรงงานอะไร ที่จะต้องใส่รหัสบนแพ็กเกจจิ้งของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน รวมทั้งในกระบวนการผลิตจะต้องตรวจสอบได้เช่นกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเร่งมอบทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ นัดพบผู้นำเข้าเพื่อชี้แจง ขณะเดียวกัน เตรียมเชิญเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำไทย สื่อมวลชน และองค์กรพิทักษ์สัตว์ เข้าร่วมตรวจสอบถึงแหล่งเพาะปลูกและโรงงานผลิต

รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เป็นการกีดกันทางการค้าเพราะเป็นปัญหาระดับของภาคเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน แต่ทางภาครัฐจะพยายามเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจทุกด้านเพื่อไม่ให้กระทบต่อสินค้าของไทย โดยผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยผลผลิตในปี 62 ตกประมาณ 788,000 ตันและมีโรงงานแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว 15 โรงงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นกะทิ 113,000 ตันร้อยละ 70 บริโภคภายในประเทศ ที่เหลือก็ส่งออกมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มเติมด้วยเพราะว่าไม่เช่นนั้นก็จะไม่พอการส่งออก เช่น นำเข้าจากอินโดนีเซีย เป็นต้น

สำหรับ การส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวนั้น จุรินทร์ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญก็มี 2 ชนิด 1. กะทิ 2. มะพร้าวอ่อน แต่ประเด็นปัญหาที่อยู่ขณะนี้คือเรื่องของกะทิ ซึ่งกะทินั้นยอดการส่งออกเมื่อปีที่แล้วประมาณ 12,300 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 2,250 ล้านบาทและในสหภาพยุโรปเป็นประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรร้อยละ 8 มูลค่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น

'กะทิชาวเกาะ' แจงใช้แรงงานคนเท่านั้น

เกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารและผู้จัดการโรงงานกะทิชาวเกาะ บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ยอมรับว่า ตั้งแต่กระแสข่าวไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว ส่งผลให้เกิดการแบนสินค้ากะทิชาวเกาะที่ประเทศอังกฤษ และถูกถอดออกจากชั้นวางสินค้าในห้างขนาดใหญ่ 2-3 ห้าง กระทบยอดขายหายไปร้อยละ 30 ซึ่งถือว่ากระทบมาก เนื่องจากในรายงานของพีต้าได้ระบุชื่อแบรนด์กะทิชาวเกาะชัดเจน และ ลูกค้าที่สหรัฐอเมริกา ก็มีการสอบถามแต่ยังไม่กระทบยอดขาย ซึ่งทางบริษัทมีการชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วว่ามีการใช้แรงงานคน ไม่มีการใช้แรงงานลิงอย่างแน่นอน และที่สำคัญบริษัทมีการทำ MOU กับชาวสวน ซัพพลายเออร์การเก็บมะพร้าวป้อนโรงงานจะต้องใช้แรงงานคนเท่านั้น

เกียรติศักดิ์ ระบุด้วยว่า เท่าที่ได้มีการสอบถามโรงงานผลิตกระทิต่างๆ ของไทยที่มีอยู่ 15 ราย โดยใน 9 รายใหญ่ที่มีสัดส่วนผลิตมากกว่าร้อยละ 80-90 ยืนยันการผลิตกะทิในทางอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนทั้งสิ้น ส่วนโรงงานผลิตที่เหลือแม้จะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนแต่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนมากกว่าที่จะใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวอย่างแน่นอน

สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย จ่อดัน 'ลิง' เข้า กม.จัดสวัสดิภาพสัตว์

ด้าน โรเจอร์ โลหะนันท์ ประธานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยกล่าวว่า เตรียมจะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งออกกฎหมายการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในส่วนของลิง เข้าไปภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่มีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว ช้าง แต่ยังไม่รวมสวัสดิภาพของลิง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าไทย มีการใช้แรงงานลิงอยู่จริง ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมมะพร้าว การท่องเที่ยว การแสดงละครสัตว์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีขององค์กรด้านพิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์ เพราะเชื่อว่าจะมีการนำประเด็นการทารุณสัตว์ออกมาเรื่อยๆ ดังนั้น จึงต้องเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่คนนำมาใช้แรงงาน และประกาศให้ทั่วโลกได้เข้าใจว่าไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่นำมาใช้แรงงานตามมาตรฐานที่สากลยอมรับกันต่อไป

PETA หวังจะได้รับการแก้ปัญหา

ก่อนการประชุมดังกล่าว ประชาไทได้รับ คำแถลงจาก เจสัน เบเกอร์ รองประธานโครงการรณรงค์ระหว่างประเทศของ PETA ซึ่งระบุว่า องค์กร PETA หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในวันนี้ จะเป็นการหยุดให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณชนและยอมรับถึงการเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนลิงในอุตสาหกรรมมะพร้าว เนื่องจากหลักฐานของ PETA  แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าลิงถูกล่ามโซ่ ถูกขังอยู่ในกรง และต้องอยู่โดดเดี่ยวตลอดชีวิต เพียงเพราะทางอุตสาหกรรมไม่ยอมใช้จ่ายเงินซื้อเครื่องมือกลไกการเก็บมะพร้าวเหมือนประเทศอื่น ๆ 

คำแถลงของ องค์กร PETA ยังระบุด้วยว่า สัตว์เหล่านี้ บางตัวก็ถูกพรากจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และ องค์กร PETA ได้รับคําขอบคุณจากประชาชนไทยและไม่เห็นด้วยกับการทำร้ายและทารุณสัตว์ป่า รวมทั้งได้ส่งวิดีโอลิงที่ใช้ในอุตสาหกรรมมะพร้าวให้ องค์กร PETA และทางองค์กรของเราก็ได้รับการร่วมมือนกับบริษัทบางแห่งแล้ว และเราหวังว่าจะได้รับการร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย

อดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ เสนอพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนมะพร้าวและลิงอย่างเป็นระบบ

วานนี้ (7 ก.ค.63) อนุชา รุ่งมรกต อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โพสต์ถึงประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'แชมป์ อนุชา รุ่งมรกต ' ว่า การถกเถียงนั่นโดยจะมีมุมมองจากทั้งสองมุม ทั้งในมุมของคนรักสัตว์และกลุ่มที่ทำอาชีพชาวสวนมะพร้าวโดยใช้ลิงกังในการประกอบอาชีพตามวิถีดังเดิมของคนในชุมชนชาวสวนมะพร้าวมาอย่างยาวนาน โดยในสวนของกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพเก็บมะพร้าว ก็จะมีคนที่รักดูแลลิงกังเสมือนครอบครัวและประกอบอาชีพอย่างสอดคล้องต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์กับคนเก็บมะพร้าวไม่กี่คนที่ ดุ ด่า หรือตีลิงกังเพื่อให้เชื่อฟังและใช้งานเยี่ยงทาส ซึ่งตนแทบไม่เห็นเลยนะตั้งแต่เคยเห็นลิงกังเก็บมะพร้าวมาตั้งแต่วัยเด็ก

ปัจจุบันนั่นคนเก็บที่ใช้ลิงกังมีน้อยมาก เพราะส่วนมากจะใช้คนสอยมะพร้าวโดยใช้ไม้สอย “ไม้สอย” ก็คือเครื่องมือที่ใช้สอยมะพร้าวที่ทำมาจากไม่ไผ่ที่มีความยาวแล้วนำมาดัดให้ตรงจากนั่นเวลาจะสอยคนสอยจะนำมาต่อกันให้มีความยาวเพื่อที่จะสอยมะพร้าวให้กับเจ้าของสวนได้ โดยจะมีกรณีที่ต้นมาพร้าวที่มีอายุมากๆและลำต้นสูงที่ไม้สอยไม่สามารถสอยถึง ซึ่งจะมีมากในพื้นที่ อ.ทับสะแกและ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็ใช้ใช้ลิงกังที่ผ่านการเลี้ยงดูและฝึกฝนให้ขึ้นไปเก็บให้ ราคาลูกละ 1.50-2 บาท ถ้าใช้ลิงเก็บ โดยจะมีโรงเรียนฝึกหัดลิงกัง ตัวละประมาณ 40,000 บาท ซึ่งการใช้ลิงกังจะมีการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นระบบ

หลังจากมีการแบนมะพร้าวจึงทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมอย่างมากนั้น อนุชา เสนอทางออกจากข้อถกเถียง
ซึ่งในฐานะที่ ตน และครอบครัวมีสวนมะพร้าว ประกอบอาชีพสวนมะพร้าว และเติบโตมากับมะพร้าวจึงขอเสนอดังนี้

1. ทำข้อมูลผลผลิตมะพร้าวในประเทศไทย แยกประเภทมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวกะทิ เพื่อแยกประเภทให้ชัดเจนจะมีข้อดีทั้งการประเมินผลผลิตที่ตรงตามจริงและแสดงต่อนานาชาติได้ว่า ในการจัดการข้อมูลและที่มาการผลิตที่แตกต่างกันในการผลิตมะพร้าวประเภทต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาการนำเข้ามะพร้าวจนทำให้ราคาตกต่ำ
2. ยกระดับการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี การเก็บเกี่ยวผลผลิตมะพร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นที่สูงเกินกว่าที่คนจะสอยได้ เพื่อลดการใช้แรงงานและลดต้นทุนการผลิต
3. ยกระดับภูมิปัญญาการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวเป็น “สินค้าทางวัฒนธรรม” เป็น Agri-Tourism สร้างความเข้าใจการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
4. ยกระดับการดูแลสวัสดิภาพการใช้แรงงานสัตว์ ระบบใบอนุญาตและกำกับดูแลสิทธิของสัตว์

"ไม่ใช้แค่การแก้ไขของชาวสวนมะพร้าวทั้งหมด ยกมีเรื่องการนำเข้าและลักลอบมะพร้าวทำให้ราคาผลิตมะพร้าวตกต่ำ ปัญหาหนอนหัวดำที่เป็นศัตรูสำคัญกับมะพร้าวมาอย่างยาวนานหลายรัฐบาลโดย ผมคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีมะพร้าว ใน อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน ที่เป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวในประเทศไทยจะลดลงอย่างมาก ปัญหาเรื่องการพัฒนาการแปรรูปและอุตสาหกรรมมะพร้าวในพื้นที่เพื่อยกระดับคุณชีวิต การจ้างงาน เศรษฐกิจที่ดีขึ้นเพื่อให้คนรุ่มใหม่กลับไปทำสวนมะพร้าวที่บ้าน มากกว่ามาทำงานในเมืองโดยที่ชาวสวนมะพร้าวอายุเฉลี่ย 55 ขึ้นไป เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาที่ดินทำกิน โฉนดของชาวบ้านที่ไปอยู่กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จำนวนมากจากภาระหนี้สิน โดยการแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องมาจากการถกเถียง จากหลายภาคส่วนร่วมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วม และการจัดการอย่างเป็นระบบ" อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.ประจวบ โพสต์เสนอทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net