ปชช. ฟ้องประยุทธ์ขอเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ศาลนัดฟังคำสั่ง 10 ก.ค.

9 ก.ค. 2563 พีเพิลโกเน็ตเวิร์กเดินขบวนจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวไปยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ต่อศาลแพ่ง ขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และคุ้มครองการชุมนุมทวงถามความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ในวันที่ 13 ก.ค. ศาลรับคำฟ้องและไต่สวนฉุกเฉิน นัดฟังคำสั่ง 10 ก.ค.

ประชาชนรวมตัวกันที่ MRT ลาดพร้าว ก่อนเดินเท้าไปยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง

09.30 น. พีเพิลโกเน็ตเวิร์กและประชาชนราว 50 คน เดินขบวนรณรงค์ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  (คราวที่ 3)  และเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ท่ีใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ท้ังนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เก่ียวกับความมั่นคงประกาศกำหนด

ระหว่างการเดินเท้ามีตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 40 นาย คอยดูแลความปลอดภัย และจัดการจราจรไม่ให้ผู้ร่วมกิจกรรมเดินบนผิวถนน

เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ดูแลการจราจรระหว่างเดินขบวน

เมื่อนิมิตร์ เทียนอุดม, แสงสิริ ตรีมรรคา, ณัฐวุฒิ อุปปะ, วศิน พงษ์เก่า, และอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ โจทก์ที่ 1-5 เดินทางเข้าไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ประชาชนด้านนอกอ่านแถลงการณ์คัดค้านการอ้างโรคระบาดยึดอํานาจ ขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดี๋ยวนี้

ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก มีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉิน เวลา 13.30 น. ห้องพิจารณาที่ 713 โดยฝ่ายจำเลยไม่ส่งทนายความมาร่วมกระบวนการไต่สวน

14.15 น. องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี นิมิตร์ อ้างตนเองเป็นพยาน สาบานตนและให้การต่อศาลว่า ตนเป็นผู้นำเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายมีวัตถุประสงเพื่อผลักดันให้ประเทศมีระบบบำนาญถ้วนหน้า ผู้สูงอายุที่ อายุ 60 ปีขึ้นไป มีหลักประกัน คือ เงินบำนาญที่มากกว่าเส้นความยากจน ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน

ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้รวบรวมรายชื่อประชาชนมากกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทางรัฐสภาได้ตรวจสอบรายชื่อและรับรองว่าประชาชนมีสิทธิเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภา อย่างไรก็ตาม สภาพิจารณาเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินที่จะต้องให้นายกรัฐมนตรี

ลงนามรับรองก่อน หากนายกรัฐมนตรีให้การรับรอง ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ จะถูกนำเข้าไปพิจารณาในสภาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

นิมิตร์ เทียนอุดม เป็นตัวแทนยื่นฟ้องเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อศาลแพ่ง

ผู้นำเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเบิกความอีกว่า ตนแจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง เพื่อให้ประชาชนประมาณ 300 คน ได้ร่วมทวงถาม ติดตามว่านายกรัฐมนตรีจะลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่ โดยวางแผนจะจัดกิจกรรมวันที่ 13 ก.ค. 2563 ที่เกาะกลางถนนหน้าอาคารสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่รบกวนการสัญจรของบุคคลอื่นใด และมีพื้นที่มากพอที่จะให้ประชาชนสามารถนั่งเว้นระยะห่างได้ จากนั้นจะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกในการเดินเท้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เป็นครั้งที่ 3 จนถึง 31 ก.ค. 2563 และแถลงข่าวที่นิมิตร์ฟังแล้วได้ใจความว่า ไม่ห้ามการชุมนุม หากต้องการชุมนุมสามารถแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

เมื่อนิมิตร์ยื่นแจ้งการชุมนุมไปยัง สน.นางเลิ้ง มีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ตอบกลับมาว่า ห้ามการชุมนุมเนื่องจากฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นิมิตร์เห็นว่า ตามการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จนถึงวันที่ 7 ก.ค. 2563 ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 43 จึงไม่มีเหตุฉุกเฉินที่จะต้องควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น รัฐมีมาตรการดูแลและกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กระทบสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเคยโทรศัพท์ติดตามทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ร่วมถึงส่งหนังสือทวงถามที่ศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ได้รับคำตอบมานานกว่า 5 เดือน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจึงต้องการมาชุมนุมเพื่อติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมาย

นิมิตร์ให้การต่อศาลว่า ตนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายได้ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3 และคุ้มครองการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. 2563 หากศาลไม่คุ้มครองการชุมนุมครั้งนี้ โจทก์ทั้งห้าและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการต้องอยู่ในความหวาดกลัวที่จะถูกดำเนินคดี ทั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ

หลังพยานเบิกความแล้ว ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งวันที่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 713

แถลงการณ์คัดค้านการอ้างโรคระบาดยึดอํานาจ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดี๋ยวนี้!

หลังจากการหายตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยในประเทศกัมพูชา สมาชิกจาก คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 4 คน ไปยื่นหนังสือที่หน้าสถานทูตกัมพูชา เรียกร้องให้เร่งติตามการหายตัวของวันเฉลิม โดยไม่มีแม้แต่คนออกมารับหนังสือ แต่หลังจากนั้น ตำรวจ สน.วังทองหลางออกหมายเรียกทั้ง 4 คน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานชุมนุมในลักษณะเสี่ยง ต่อการแพร่เชื้อ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

9 กรกฎาคม 2563 เป็นกำหนดนัดที่ผู้ต้องหา 4 คนจะต้องไปรายงานตัวที่ สน.วังทองหลาง แต่ไม่เพียงแค่นั้น ผู้ต้องหาทั้งสี่ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และควบคุมโรคระบาดด้วยกฎหมายปกติ ที่การใช้อํานาจถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขียนตัดอำนาจศาลปกครองไว้ ทำให้การออกคำสั่งและการกระทำทั้งหลายของรัฐบาลนี้ไม่อาจถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยศาลปกครองตามระบบที่ควรจะเป็น การฟ้องคดีจึงต้องฟ้องยังศาลแพ่งแทน

รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 โดยอ้างเหตุว่ามีการระบาดของโรคโควิด-19 จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้เรื่อยๆ ไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

ตามมาด้วยการออกข้อกำหนดและมาตรการต่างๆ ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน การประกอบอาชีพ และกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง โดยกำหนดโทษการไม่ปฏิบัติตามไว้อย่างสูง คือ จําคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท เป็นโทษสถานเดียวเท่ากันหมดสำหรับทุกเรื่อง จึงเป็นมาตรการที่ต้องใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสถานการณ์ที่ "เร่งด่วนจริงๆ" เท่านั้น เมื่อความจำเป็นหมดลงก็ต้องยกเลิกมาตรการที่กระทบต่อ "การดำรงชีวิตโดยปกติสุข" โดยเร็วที่สุด 

เป็นเวลากว่า 40 วันแล้ว ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศ จริงอยู่ที่เชื้อโควิด 19 ยังระบาดรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก และยังมีโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับมาระบาดระลอกใหม่ได้ 

ดังนั้น มาตรการที่ยังจำเป็นต้องเข้มงวดในช่วงเวลานี้ คือ การกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและ ตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ด่านพรมแดน ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 39- 42 กำหนดไว้ละเอียดเพียงพอแล้ว 

ที่ผ่านมาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจแก่รัฐบาลเพิ่มจากกฎหมายปกติ 4 กรณี ได้แก่

1. อำนาจสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ซึ่งหมดความจำเป็นและยกเลิกไปแล้ว
2. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งโอนอำนาจการสั่งการจากรัฐมนตรี และหน่วยงานต่างๆ มาเพื่อเป็นผู้สั่งการเองแทนทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นปัจจัยหลักในขณะนี้
3. ใช้ข้อห้ามการุมนุมสั่งห้ามประชาชนแสดงออกในประเด็นที่กระทบต่อรัฐบาลปัจจุบัน โดยมีคนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วอย่างน้อย 23 คน
4. การยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและการยกเว้นการตรวจสอบโดยศาลปกครอง 

การคงไว้ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีประโยชน์เพียงแต่กับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น เพื่อจะบริหารประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล หรือเรียกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้เพื่อการ “ยึดอํานาจ” การบริหารประเทศ ส่วนการป้องกันและควบคุมโรคระบาด เป็นมาตรการที่เดินหน้าตามกฎหมายในระบบปกติอยู่แล้ว 

เครือข่าย People Go Network เห็นว่า ความจำเป็นที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหมดไปนานแล้ว และขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดี๋ยวนี้! และในการประชุมคณะ รัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ขอให้สาธารณชนเข้าสังเกตการณ์ หรือจัดถ่าย ทอดสดการประชุมเพื่อให้ประชาชนติดตามและร่วมรับรู้เหตุผลในการตัดสินใจด้วย

จํานงค์ หนูพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาคและพีเพิลโกเน็ตเวิร์ก กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะใช้ เพราะที่ผ่านมาสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ประชาชนก็ให้ความร่วมมือหมดแล้ว ตอนนี้มันจึงกลายเป็นว่าเป็นการควบคุมประชาชนที่เห็นต่าง

สำหรับความคาดหวังจากการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ต้องมาฟังข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ของสน.วังทองหลางว่าเขาตั้งข้อกล่าวหาอะไร ภายใต้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพราะนายกบอกว่าภายใต้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ ชุมนุมได้ตามปกติ อันนี้เขาไม่ได้ชุมนุม เขาแค่ไปยื่นเรียกร้องถามสถานทูตกัมพูชาว่า คุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดนอุ้มหาย ช่วยตามหา ให้รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาประสานงานกันว่า คนนี้หายไปไหน หายได้อย่างไร แค่นี้เอง เขาก็โดนข้อหา

ต่อผลกระทบโดนตรงจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น จำนงค์ กล่าวว่า ประชาชนในสลัมก็ทำมาหากินไม่ได้ สถานบันเทิงปิด ส่วนมากก็เป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นหาบเร่ แผงลอย คือทำมาหากินไม่ได้เลย แล้วตอนนี้พอเริ่มเปิดมาก้ไม่ได้เปิด 100% ยังเว้นระยะห่าง ยังจำกัดอะไรเยอะแยะมากมาย ถึงแม้จะเปิดเฟส 5 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังจำกัดอะไรเยอะมาก แต่ถ้ายกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เมื่อไหร่ มันจะทำให้ใช้ชีวิตตามปกติ ประกอบอาชีพตามปกติได้ หาเช้ากินค่ำ หรือหาของเก่าอะไรได้หมด พี่น้องคนไร้บ้าน ก็ยังโดนจับ เพราะว่าเขาเป็นคนไร้บ้าน เร่ร่อนไปมา ก็โดนจับ

ณัฐดนัย สุดจรรยา นักศึกษา กล่าวถึงสาเหตุที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ส่า เป็นเรื่องที่เราต้องสู้กัน เป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของคนเรา ที่คนหนึ่งควรจะได้รับ อย่างเช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มันก็ไม่ต่างอะไรกับมาตรา 44 ที่ใช้บังคับประชาชน ที่กดขี่ประชาชน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตัวเองได้

โดย ณัฐดนัย หวังว่าการทำแบบนี้จะเรียกคนทุกเพศทุกวัยให้รู้สิ่งต่างๆ ได้ว่าเราก็ยังมีสิทธิเสรีภาพที่เรามาแสดงออกในทางนี้ได้ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายเลย มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วยซ้ำเพราะว่าเราสามารถเรียกสิทธิ์ของเราได้

สหภพ เหรียญภูมิกิจ นักศึกษาอีกคนที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า ตนคิดเหมือนณัฐดนัย คือมันกดประชาชนเกินไป แค่พ.ร.ก. ควบคุมโรคก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องถึงขั้นฉุกเฉิน เพราะไม่ว่าจะคุมคนหรือคุมโรคก็แล้วแต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มันเยอะเกินไป และยังตรวจสอบอำนาจรัฐบาลไม่ได้ เราไม่รู้เลยว่ารัฐบาลจะทำอะไร

สหภพ กล่าวถึงความคิดหวังว่า อย่างน้อยการที่เรามาทำแบบนี้ สังคมก็รู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันอาจเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อย แต่ถ้าทุกคนรับรู้และส่งต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็อาจจะเกิดผลอะไรขึ้นมาก็ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท