อีก 4 กป.อพช. ผู้ต้องหาฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการตามหา 'วันเฉลิม ผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหาย' เข้ารับทราบข้อหา พร้อมปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะขอให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน
9 ก.ค. 2563 ช่วงบ่ายวันนี้ ที่ สน.วังทองหลาง กรุงเทพ ณัฐวุฒิ อุปปะ ,แสงศิริ ตรีมรรคา, วศิน พงษ์เก่า และอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 4 ผู้ต้องหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อที่ 5 “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะขอให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน
นอกจากทั้ง 4 คนนี้แล้ว ยังมี เครือข่าย People Go เดินทางมาให้กำลังใจด้วย
ตำรวจเลิกแถวตรวจระเบียบเครื่องแต่งกาย ก่อนจะซักซ้อมยุทธวิธีต่อ โดยแจ้งว่าหลังซ้อมเสร็จจะเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม
ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ เครือข่าย People Go จะเดินทางมาที่ สน.วังทองหลาง กลุ่มดังกล่าวเดินขบวนรณรงค์ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) และเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ท้ังนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้ง 4 คน เป็นตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ยื่นข้อเรียกร้องกรณีการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ด้านหน้าสถานทูตกัมพูชา ที่นอกจากไม่มีผู้ออกมารับข้อร้องเรียนแล้ว ยังถูกดำเนินคดีดังกล่าว
นอกจาก 4 คนนี้แล้ว ยังมีอีก กลุ่มซึ่งมีผู้ต้องหา 6 ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 2 และ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการเรียกร้องกรณีการหายตัวไปของ วันเฉลิม ที่ด้านหน้าสถานทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมาเช่นกัน