นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมเมสติโซ่ในเอเชียอาคเนย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อันที่จริงผมจะตั้งชื่อเรื่องว่า “วัฒนธรรมลูกครึ่ง” ก็ได้ แต่ผมเห็นว่าคำ “ลูกครึ่ง” ในภาษาไทยออกจะใช้ในความหมายถึงครึ่งทางชาติพันธุ์เป็นหลัก ในขณะที่คำ Mestizo ในภาษาสเปนซึ่งถูกนำไปใช้ในภาษาอื่นอย่างกว้างขวาง ยังมีความหมายอื่นนอกจากเป็นการผสมระหว่างพ่อ-แม่ต่างชาติพันธุ์แล้ว ยังหมายถึงส่วนผสมระหว่างชาติพันธุ์ที่มีอำนาจ (ทางการเมือง, เศรษฐกิจ หรืออะไรอื่นๆ) กับชาติพันธุ์ที่ด้อยอำนาจด้วย

ลัทธิล่าอาณานิคมซึ่งเริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา เปิดโอกาสให้คนผิวขาวซึ่งมีอำนาจ (ทางทหารในระยะแรก และทางเศรษฐกิจกับการเมืองในเวลาต่อมา) ได้ผลิต “เมสติโซ่” ไปทั่วโลก โดยเฉพาะในละตินอเมริกาและในเอเชีย เมสติโซ่คือคนที่มีบทบาทเด่นในการเมืองและสังคมของละตินอเมริกา ปัจจุบันคือประชากรส่วนใหญ่ของเกือบทุกประเทศ ในขณะที่เมสติโซ่ของเอเชียมีชะตาชีวิตที่ผันแปรไปตามยุคสมัย แต่ไม่มีบทบาททางสังคมและการเมืองสูงเท่ากับในละตินอเมริกา

ได้กล่าวแล้วว่า ความหมายหนึ่งของเมสติโซ่คือส่วนผสมระหว่างชาติพันธุ์ที่มีอำนาจกับชาติพันธุ์ที่ด้อยอำนาจ ส่วนผสมนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเสมอไป เทคโนโลยี, วิถีชีวิต, ระบบคุณค่า, การบริหารจัดการ ฯลฯ ซึ่งผมขอรวมเรียกว่าวัฒนธรรมก็อาจเป็นเมสติโซ่ได้ คือเป็นส่วนผสมระหว่างวัฒนธรรมของฝ่ายที่มีอำนาจกับฝ่ายที่ไม่มีอำนาจ วัฒนธรรมเมสติโซ่นี่แหละที่เป็นกระแสหลักของวัฒนธรรม (ทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมือง) ไปทั่วโลก ส่วนที่อยู่นอกยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปรากฏการณ์ที่เรามักเรียกกันว่า Westerinzation หรือการทำให้เป็นตะวันตก ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในศตวรรษที่ 19 อันที่จริงแล้วปรากฏการณ์นี้เป็น Mestizoization หรือการเปลี่ยนให้เป็น mestizo มากกว่า และนี่คือประเด็นที่ผมอยากชวนคุย

จากคริสต์ศตวรรษที่ 16-19 แม้ว่าชาวยุโรปได้เข้ามายึดครองบางส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอาณานิคม (บางเกาะของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) ตลอดจนเข้ามามีบทบาททางการค้าและการเมืองในราชอาณาจักรที่มีเมืองท่าติดทะเล แต่คนผิวขาวแทบไม่ได้สัมผัสกับคนพื้นเมืองใกล้ชิดนักตลอดมา เหตุดังนั้นจึงมีอิทธิพลต่อชาวพื้นเมืองไม่มากนัก มีแต่เทคโนโลยีบางอย่างซึ่งถ่ายทอดให้แก่รัฐบาลของภูมิภาคนี้ แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมมากนัก (ขอให้สังเกตว่า “รัฐบาล” ไม่ใช่ประชาชน เพราะไม่ได้สัมผัสกับคนผิวขาว)

เช่น เราใช้ปืนไฟกันมากขึ้นเมื่อได้ติดต่อกับตะวันตกแล้ว แต่แม้กองทัพจะมีปืนไฟจำนวนมากในครอบครอง แต่ไม่เป็นผลให้การจัดองค์กรด้านการทหารของรัฐต่างๆ แถบนี้เปลี่ยนไปจากเดิม ปืนไฟเป็นเพียงอาวุธอีกอย่างหนึ่งที่กองทัพชาวนามีใช้มากขึ้นตามลำดับเท่านั้น

คนผิวขาวเองเมื่อต้องมาใช้ชีวิตในภูมิภาคนี้ ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่เคยใช้ในบ้านเกิดคือยุโรป จำเป็นต้องปรับแปลงให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและสถานภาพทางสังคมของตนเอง เช่น คนผิวขาวต้องการจะรักษาสถานภาพสูงในสังคมพื้นเมืองไว้ จึงลอกเลียนวิถีชีวิตของชนชั้น “ผู้ดี” ชาวพื้นเมือง เพราะจะทำให้สถานภาพของตนเป็นที่ยอมรับได้ (ไม่อย่างนั้นก็เป็น “คนนอก” ตลอด ไม่ว่าจะมีอำนาจมากแค่ไหนก็ตาม) นอกจากจะมีคนรับใช้ (หรือทาส) คอยรองมือรองเท้าจำนวนมากเหมือนเจ้านายแล้ว ยังใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยและอวดมั่งอวดมีแบบชนชั้นสูงของเอเชีย ส่วนใหญ่มี “เมีย” และนางบำเรอเป็นหญิงพื้นเมืองจำนวนมาก (ทำให้เกิดเมสติโซ่จำนวนมากตามมา)

พนักงานบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษในอินเดีย ถึงกับแต่งกายตามแบบเปอร์เซียเหมือนชนชั้นปกครองในราชวงศ์โมกุล นั่งเสลี่ยงคานหาม พร้อมทั้งอวดความมั่งคั่งของตนด้วยเครื่องประดับแพรวพราวให้เห็นกันทั่วไป

ดังนั้น วัฒนธรรมเมสติโซ่ในระยะแรกจึงเป็นวัฒนธรรมผสมที่คนผิวขาวเองสร้างขึ้น เพื่อประกาศและดำรงสถานภาพอันสูงของตนในสังคมคนพื้นเมือง

ตราบจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นแหละ คนผิวขาวและคนพื้นเมืองจึงได้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดขึ้น เพราะนโยบายขูดรีดหากำไรจากอาณานิคมเปลี่ยนไปจากเดิม อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป (ตะวันตก) และสหรัฐ แต่ฝรั่งเจ้าอาณานิคมทั้งหลายฉลาดพอที่จะรู้ว่า หากตนเข้าไปขูดรีดหากำไรโดยตรงกับชาวพื้นเมืองระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ก็จะก่อให้เกิดการต่อต้านด้วยกบฏมวลชนซึ่งปราบยาก ถึงปราบได้ก็สิ้นเปลืองไม่คุ้มทุน ดังนั้น เจ้าอาณานิคมทั้งหลายจึงใช้ “คนกลาง” เป็นตัวแทนของการขูดรีดหากำไร

“คนกลาง” ที่ว่านี้ประกอบด้วยคนหลายประเภท หนึ่งคือจีนและเจ๊ก สองคือชนชั้นสูงพื้นเมือง ซึ่งได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนอยู่แล้ว และสามคือคนชั้นกลางซึ่งเติบโตมาด้วยการศึกษาแบบใหม่ที่ระบอบอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมนำมาให้ เพื่อสร้างระบบปกครองแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

สังเกตนะครับว่า คนเหล่านี้เกือบทั้งหมดคือคนที่อยู่ในเมืองทั้งนั้น คนในเมืองและชนบทภายใต้ระบบอาณานิคมนั้นค่อนข้างแยกขาดจากกัน ชาวนาที่ขายข้าวให้เจ๊กซึ่งขนข้าวด้วยเรือโยงมายังโรงสีในกรุงเทพฯ ไม่เคยเข้าไปถึงกรุงเทพฯ เลย เช่นเดียวกับชาวนาชวาซึ่งอาจขายอ้อยหรือแรงงานให้แก่โรงน้ำตาลของฝรั่ง ก็ไม่เคยไปถึงเมืองท่าปัตตาเวีย, สุราบายา หรือมาลังเลยเช่นกัน ฉะนั้น คนกลางเหล่านี้จึงแทบไม่รู้จักคนในชนบท ถึงเคยสัมผัสมาบ้างในหน้าที่ราชการและการค้าก็เป็นความสัมพันธ์ที่ผิวเผินเต็มที

เมืองนี่แหละครับที่เป็นแหล่งเชื่อมต่อระหว่าง “ฝรั่ง” ซึ่งมีอำนาจกับชาวพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ด้อยอำนาจกว่า ก่อให้เกิดวัฒนธรรมเมสติโซ่ คือผสมกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตก (ซึ่งก็ไม่แท้เท่าไรนัก เพราะตะวันตกที่คนในเมืองรู้จักดีที่สุดคือฝรั่งซึ่งก็ใช้ชีวิตแบบครึ่งๆ กลางๆ เหมือนกัน) และวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ก็เลือกเอาวัฒนธรรมของคนชั้นสูงพื้นเมือง เพราะไม่รู้จักวัฒนธรรมชาวบ้านอยู่แล้ว ทั้งเป็นการผสมกันเชิงอำนาจที่สลับซับซ้อนทีเดียวด้วย เพราะมี “ช่วงชั้น” ของวัฒนธรรมเมสติโซ่ อันเป็นลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมชนชั้นสูงมาแต่เดิมอยู่แล้ว

ผมขอยกตัวอย่างจากภาพถ่ายของเจ้านายฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านมักทรงเสื้อแบบฝรั่ง (blouse) แต่ทรงผ้านุ่งแบบไทย นี่ก็เป็นการแต่งกายแบบเมสติโซ่อย่างหนึ่ง ซึ่งภายหลังก็แพร่หลายออกไปสู่หญิงผู้ดีภายนอกด้วย แต่ที่ออกจะแปลกตาคือถุงเท้ายาวถึงพระชงฆ์ ซึ่งอาจมีลวดลายสีสันด้วย

ทำไมจึงต้องสวมถุงเท้า ผมเข้าใจว่าเพราะในธรรมเนียมสมัยวิกตอเรียนของอังกฤษ หญิงผู้ดีไม่พึงเผยให้เห็นข้อเท้าในที่สาธารณะ (แต่เผยเนินนมได้ลึกมาก) กระโปรงยาวมีความจำเป็นแก่หญิงผู้ดี หรือหากจำเป็นต้องนุ่งสั้นกว่านั้น เช่น เพื่อขี่ม้า ก็ต้องสวมถุงเท้า ดังนั้น จึงมีถุงเท้ายาวในภาพถ่ายของเจ้านายฝ่ายใน แต่เมื่อแฟชั่นเมสติโซ่นี้แพร่หลายออกไปนอกวัง ผมได้เห็นภาพถ่ายของหญิงผู้ดีอีกมาก (เช่น คุณหญิงเมียพระยาพานทอง, หรือคุณนายเมียเจ้าสัว) ไม่เห็นใครสวมถุงเท้าเช่นนั้นเลย

ถุงเท้าจึงเป็นสัญลักษณ์ของความใกล้ชิดกับฝรั่ง (และฝรั่งคือ “อำนาจ” และ “เกียรติยศ” ในทางใดทางหนึ่ง)

ปัญญาชนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ “สถาปนาภาษาประจำชาติ” ขึ้นเอง กลับสื่อสารกันเองด้วยภาษาดัตช์ เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษของปัญญาชนพม่าและเจ้านายไทยซึ่งถูกส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และภาษาฝรั่งเศสในหมู่ปัญญาชนเวียดนาม

วัฒนธรรมเมสติโซ่จึงไม่ใช่เพียงแค่ส่วนผสมระหว่างฝรั่งกับพื้นเมือง แต่ในความเป็นพื้นเมืองนั้นได้เก็บรักษาอะไรที่สืบทอดมาแต่โบราณหลายอย่างไว้ด้วย เพียงแต่แสดงออกความเป็นฝรั่งมากบ้างน้อยบ้าง เพราะความเป็นฝรั่งคือเครื่องหมายของอำนาจและสถานภาพสูง

ในขณะเดียวกันความเป็นพื้นเมืองมีความสำคัญ เพราะฐานของการแบ่งช่วงชั้นและอำนาจในสังคมยังตั้งอยู่ในโครงสร้างเก่า ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า หากไม่นับพม่าส่วนที่เป็นพม่าแท้ และส่วนที่เรียกว่าโคแชงชีน (โคชินไชน่า) ในเวียดนามแล้ว จักรวรรดินิยมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พยายามรักษาอำนาจและเกียรติยศของกลุ่มชนชั้นนำเดิมไว้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้าน “การปกครอง” ของตนลง โดยการให้ประชาชนอยู่ใต้การควบคุมของอำนาจตามประเพณี

ดังนั้น วัฒนธรรมเมสติโซ่ที่แสดงออกผ่านชนชั้นสูง จึงแยกส่วนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและเกียรติยศตามประเพณีออกไปไม่ได้ เช่น อย่างไรเสีย หลังคาของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะได้ชื่อว่าปราสาทแล้วจะปราศจากเรือนยอดเลยได้อย่างไร เมื่อเจ้านายไทยเสด็จไปชวา และสุลต่านแห่งเมืองยกยาร์ถวายการต้อนรับใน “กระตน” หรือพระราชวัง ต่างทรงบรรยายพระราชวังของสุลต่านในลักษณะเดียวกับวัฒนธรรมเมสติโซ่ที่เห็นได้ใน “วัง” อื่นๆ เช่น ในวังของสุลต่านแห่งยะโฮร์ เป็นต้น

วัฒนธรรมเมสติโซ่ขยายออกไปยังคนระดับล่าง โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางการปกครองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น (จำนวนไม่น้อยของคนเหล่านี้เป็นเมสติโซ่หรือลูกครึ่งจริงๆ ด้วย คือลูกครึ่งจีน ทั้งในชวา, ฟิลิปปินส์และไทย) ทั้งเป็นวัฒนธรรมที่คึกคักด้วยการสร้างสรรค์และมีชีวิตชีวา ผมนึกถึงนวนิยายซึ่งกลายเป็นรูปแบบการสื่อสารใหม่ที่ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกประเทศ

ผมนึกถึงศิลปะการแสดงหลากหลายชนิด (รวมทั้งเพลง) ที่ผสมปนเประหว่างการแสดงของชาวบ้าน, ของชนชั้นสูง และของฝรั่ง (เช่น เวทียกพื้น ซึ่งมักไม่มีในการแสดงแบบเดิม) ก็ปรากฏมีขึ้นในทุกประเทศเช่นกัน

วัฒนธรรมเมสติโซ่ดังกล่าวนี้ กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักทั่วไปในภูมิภาคนี้ (และในปัจจุบันได้รับความสนใจทางวิชาการมากขึ้นอย่างมาก หลังจากถูกละเลยมานาน เช่น เฉพาะเพลง “ลูกทุ่ง” ของประเทศแถบนี้เพียงอย่างเดียว ก็มีผู้ทำวิจัยศึกษาจำนวนมาก) ผมนึกถึงเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของผู้คนในประเทศต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแตกต่างและมีสีสันกว่าที่เคยใช้กันมา และมีลักษณะเฉพาะในการผสมให้เกิดแฟชั่นลูกครึ่ง จนกลายเป็นวัฒนธรรมแต่งกายเฉพาะของตนเอง ฯลฯ

แต่วัฒนธรรมเมสติโซ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เรื่องของวิถีชีวิตเท่านั้น ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เคยเหมือนฝรั่งแท้ และไม่เคยเหมือนพื้นเมืองแท้ เช่น เรามีประชาธิปไตยแบบเมสติโซ่ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของความเคารพต่อปัจเจกบุคคล แต่เป็นประชาธิปไตยที่เปิดการต่อรองระหว่าง “กลุ่ม” ทั้งที่เป็นกลุ่มอันสืบทอดมาตามประเพณีและกลุ่มที่สร้างสำนึกร่วมขึ้นใหม่ เรามีระบบทุนนิยมซึ่งรัฐเข้ามากำกับควบคุมอย่างมาก และไม่เปิดหรือพยายามเปิดให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี

เรามีระบบการศึกษาที่ลอกเลียนระบบการศึกษามวลชนแบบตะวันตกทุกอย่าง แต่เนื้อหาข้างในด้านการเรียนการสอนกลับย้อนกลับไปเหมือนการศึกษาในสมัยโบราณ และ ฯลฯ

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_215382

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท