ทรงผมนักเรียน สัญลักษณ์ของความเชื่อฟัง และไม่แข็งขืนต่ออำนาจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเด็นขัดแย้งทางความคิดของนักเรียนกับครู ในเรื่องของทรงผม ระเบียบล้าหลังที่ออกมากว่าครึ่งศตวรรษ พอมีการเปลี่ยนแปลงกับก่อให้เกิดปัญหา การไม่ลงรอยทางด้านความคิด นักเรียนคิดอะไร ครูคิดอะไร กับทรงผมเกรียนๆ ของนักเรียนทุกคน หรือคิดว่า ผมเกรียน เป็น สัญลักษณ์ของความเชื่อฟัง และไม่แข็งขืนต่ออำนาจ ระหว่างนักเรียนกับครู

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นการเผยแพร่ภาพนักเรียนโดนกล้อนผม รับเปิดภาคเรียนใหม่บนโลกโซเชียล และเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 8 ก.ค.นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ยอมรับว่า โรงเรียนทำไม่ถูกต้อง เพราะการจะลงโทษนักเรียน ไม่ว่าจะกระทำความผิดใดๆก็ตาม จะต้องยึดระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ที่ไม่ได้ระบุให้ครูสามารถกล้อนผมนักเรียนได้ พร้อมให้แจ้งสถานศึกษาในสังกัดที่กำกับดูแล ยกเลิกการใช้บังคับระเบียบสถานศึกษาเดิมเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน และจะต้องวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมนักเรียนขึ้นใหม่ โดยจะต้องยึดหลักความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดี การมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น พร้อมต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนแล้วแต่กรณีก่อนประกาศใช้

เมื่อพูดถึง ผมทรงนักเรียน จากการค้นคว้า ประวัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนมีบันทึกไว้ไม่มากนัก พบในบทความว่าด้วยเรื่อง กฎทรงผม ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับ 2 พฤศจิกายน 2550 พอสรุปความได้ว่า ประเทศไทยรับทรงผมทรงนักเรียนทั้งเครื่องแบบต่าง ๆ จากประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงสงครามนั้นเกิดเหาระบาดมาก ประชาชนจึงนิยมตัดผมสั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2515 ในเรื่องเกี่ยวกับทรงผมที่ ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน

ผ่านไปเกือบ 50 ปี ล่าสุดได้มีการประกาศ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ระบุ นักเรียนชาย จะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม นักเรียนหญิง จะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ ไว้ยาวตามความเหมาะสมและ รวบให้เรียบร้อย ห้าม ดัดผม ย้อมสีผม ไว้หนวดเครา ห้ามตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงหรือสัญลักษณ์

นักเรียนทั่วไปต่างขานรับและแสดงออกถึงความยินดี ซึ่งเป็นที่มาของการไม่ลงรอยทางด้านความคิด ระหว่าง ครู กับนักเรียน เมื่อนักเรียนเห็นว่ามีการออกประกาศชัดเจน โรงเรียนก็ควรปฏิบัติตามนั้น ในส่วนของครูก็ยังติดอยู่กับความคิดเดิมๆ แม้ว่าระเบียบจะออกมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2515 นับแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ เหตุผลที่อ้างเพื่อหนีเหา ซึ่งก็ไม่มีแล้วในปัจจุบัน หรือว่าเบื้องลึกของความคิด แท้ที่จริงแล้ว ผมเกรียนๆ เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อฟัง และไม่แข็งขืนต่ออำนาจ โดยเฉพาะ อำนาจของเผด็จการ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท