สิทธิประมงไทย: รวมตัวต่อรองไม่ใช่ความวุ่นวาย ผลักแรงงานเข้าสู่ประกันสังคมทั้งหมด

เสวนา 'สิทธิประมงไทย ไม่เคย N̶e̶w̶ Normal' เปิดงานวิจัย 'ชีวิตติดร่างแหปีที่ 2' ดีขึ้นแต่ต้องปรับปรุงกลไกรัฐ เครือข่ายภาคีฯ ระบุ สถานการณ์โควิด-19แรงงานประมงยังเข้าไม่ถึงข้อมูลและการรักษา ชี้รัฐต้องรับอนุสัญญา ILO ให้แรงงานมีสิทธิการรวมตัวต่อรอง แนะกลไกร้องเรียนต้องเป็นเชิงรุก ผลักแรงงานเข้าสู่ประกันสังคมทั้งหมด

แม้สหภาพยุโรปจะปลด 'ใบเหลือง' และถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อ 'ประเทศที่ถูกเตือน' สำหรับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU fishing) ในต้นเดือนมกราคม 2562 และมีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานประมง พ.ศ. 2562 เพื่อบังคับใช้อย่างเร่งด่วน แต่ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างรอบด้านกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเจ้าของเรือประมงและแรงงานข้ามชาติ 

ซึ่งสิ่งนี้อาจนำไปสู่ช่องว่างของกฎหมายและแนวปฏิบัติจริง ทั้งประเด็นเรื่องชั่วโมงทำงานที่ยาวนานและเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ การเข้าไม่ถึงสัญญาจ้าง และ การขาดประสิทธิภาพและขาดความเชื่อมั่นในกลไกการร้องเรียน ประเด็นเหล่านี้ที่มักขาดการตรวจสอบสาธารณะอย่างเพียงพอ

งานเสวนา 'สิทธิประมงไทย ไม่เคย N̶e̶w̶ Normal' เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา จัดโดย Oxfam in Thailand ร่วมกับ way magazine เป็นการร่วมพูดคุยอัพเดทสถานการณ์โดยรวมของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (CSO Coalition) ที่ติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานประมงอย่างใกล้ชิดมาตลอด ซึ่งมีทั้งแนวโน้มที่ดีขึ้น และที่ยังคงน่าเป็นห่วง รวมถึงผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด COVID-19 โดยมีวิทยากรคือ นาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงาน Stella Maris, สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN), ซัลวานี ด่อล๊ะ เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิรักษ์ไทย และ ปภพ เสียมหาญ นักกฎหมาย 

 

เปิดงานวิจัย 'ชีวิตติดร่างแหปีที่ 2' ดีขึ้นแต่ต้องปรับปรุงกลไกรัฐ

 

 

นาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงาน Stella Maris เล่ารายละเอียดของงานวิจัย ‘ชีวิตติดร่างแหปีที่ 2’ ซึ่งได้สำรวจและเก็บข้อมูลช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ปี 2562 ว่า ความคืบหน้าที่สำคัญ คือ ความถี่ในการจ่ายค่าจ้าง และพบสัญญาณที่ดีในการเข้าถึงสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมกันของแรงงานประมง

เห็นการปรับปรุงขึ้นเล็กน้อยของสถานการณ์สิทธิด้านการลาป่วย เมื่อเทียบกับชีวิตติดร่างแหปีที่ 1

ด้านการจ่ายค่าจ้าง แรงงานมากกว่า 93% ที่ได้รับค่าจ้างรายเดือนที่สูงกว่า 9,000 บาท เป็นปรากฎการณ์ที่ดีเมื่อเทียบกับผลสำรวจปีที่แล้ว นอกจากนี้วิธีการจ่ายค่าจ้างมีทั้งเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมาย

ด้านการเจรจาต่อรองกับนายจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 10% เป็นปรากฎการณ์ที่ดีที่เห็นว่าตัวแรงงานตระหนักเรื่องสิทธิและพยายามปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ยังต้องพยายามให้กลุ่มที่ยังไม่เคยเจรจามีความตระหนักเรื่องพวกนี้ด้วย

การสามารถลาหยุด หยุดได้โดยได้รับค่าจ้าง 58% หยุดได้โดยไม่ได้รับค่าจ้าง 30% และลาหยุดไม่ได้ 12% ซึ่งนาตยามองว่า ส่วนนี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานต้องได้รับ ดังนั้นแม้ตัวเลขจะเพิ่มจากปีที่แล้ว 50% เป็น 58% แต่ก็ยังต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ตัวแรงงานได้รับสิทธิลาป่วย

ทั้งนี้นาตยาระบุว่า ช่องว่างที่ยังปรากฎให้เห็นในงานวิจัยและต้องการดำเนินการปรับปรุง ได้แก่

1. การเข้าถึงสัญญาจ้างและเอกสารประจำตัวของแรงงาน

2. การจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์

3. การปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่บนเรือ

4. เรื่องชั่วโมงการทำงานและพักผ่อนของแรงงานประมง

5. ช่องทางในการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าถึงสิทธิแรงงาน

6. อุปสรรคในการเปลี่ยนงานหรือนายจ้าง

7. กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแรงงานที่ออกทำการประมง

8. การเข้าถึงกลไกการร้องเรียนของรัฐ

โดยมีการเก็บสถิติ ดังนี้

การเข้าใจเนื้อหาการทำงานก่อนเริ่มทำ: ปีที่ 1 อยู่ที่ 58% ปีที่ 2 ลดลงเหลือ 46%

โอกาสได้อ่านสัญญาจ้างก่อนลงลายมือชื่อ: ปีที่ 1 อยู่ที่ 31% ปีที่ 2 ลดเหลือ 22%

ผู้ที่เก็บสัญญาจ้าง: เก็บไว้ที่ตัวเอง 15% ที่เหลือเป็นการเก็บไว้กับบุคคลอื่น ลูกเรือที่มีตำแหน่งสูงกว่า 14% ผู้จัดการในบริษัท 6% นายจ้าง 65%

โอกาสในการเข้าถึงสัญญาจ้าง: ไม่รู้ 31% เข้าถึงไม่ได้ 10% ขอดูได้ แต่ขอเอาออกมาใช้ไม่ได้ 8% ขอเอาออกมาใช้ได้ 37% มีสัญญาจ้างอยู่กับตนเอง 14%

การมีสำเนาสัญญาจ้างเก็บไว้: ปีที่ 1 อยู่ที่ 5% ปีที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 10% ซึ่งในส่วนนี้นาตยาเสริมว่า การเดินทางไปไหนมาไหนหากไม่มีเอกสารเหล่านี้ก็อาจจะเกิดอุปสรรคในการเดินทางได้

วิธีการจ่ายสูงสุดคือ: เงินสด 65% โอนเข้าบัญชีธนาคาร 20% อื่นๆ อาจเป็นการมอบหมายให้บุคคลอื่นรับแทน 15%

การเก็บบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร: นายจ้างเก็บให้ 53% เก็บไว้กับตัวเอง 23% อื่นๆ 10% นายหน้าเก็บให้ 2% ลูกเรือในตำแหน่งสูงกว่าเก็บให้ 7% ผู้จัดการในบริษัทและผู้รับเหมา 5%

ส่วนนี้นาตยาให้ความเห็นว่า ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยอยู่ และคล้ายกับสัญญาจ้างคือเป็นสิ่งที่แรงงานต้องมีไว้กับตัวเอง คนอื่นเก็บไว้ให้ได้ แต่เมื่อถึงโอกาสที่จะต้องใช้ก็ต้องสามารถเข้าถึงได้ด้วย ดังนั้นกลไกภาครัฐอาจต้องมีการตรวจดูว่าเอกสารเหล่านี้อยู่ที่ใคร เข้าถึงได้ไหม

เปรียบเทียบชั่วโมงการทำงาน (ใน 24 ชั่วโมง) ในการทำงานตอนออกเรือ ซึ่งตามกฎหมายแรงงานต้องได้พัก 10 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป: เมื่อเทียบระหว่างปีที่ 1 และ 2 พบว่า ทำงาน 6-10 ชั่วโมง จากเดิม 39% เพิ่มเป็น 58% ทำงาน 11-14 ชั่วโมง จากเดิม 36% ลดลงเป็น 23% ทำงาน 15-20 ชั่วโมง จากเดิม 18% ลดลงเป็น 8% และทำงาน 21 ชั่วโมงหรือมากกว่า ทั้งสองปีเท่ากันคือ 1%

ซึ่งนาตยากล่าวว่า ถือว่ายังคงมีคนที่ทำงานเกินอยู่ โจทย์สำคัญคือทำยังไงถึงจะให้ลูกเรือมีโอกาสพักมากกว่า 10 ชั่วโมงขึ้นไป

ความถี่ในการทำงานเกินวันละ 14 ชั่วโมง: ไม่ได้ทำงานเกิน 53% 1 ครั้งต่อเที่ยว 24% 2-3 ครั้งต่อเที่ยว 10% 4-5 ครั้งต่อเที่ยว 2% มากกว่า 6 ครั้งต่อเที่ยว 3% ทุกวันที่อยู่บนเรือ 8%

เจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบบนเรือ เคยสอบถามท่านหรือไม่: ไม่เคยมาถามแต่ตรวจเอกสาร 58% เคยมาถามแต่ไม่เคยมีปัญหา 28% อื่นๆ 9% เคยมาถาม แต่ไม่เข้าใจว่าเรื่องอะไร 3% เคยมาถามแต่ไม่ไว้ใจ/ไม่กล้าตอบ 2%

จุดนี้นาตยามองว่า จริงๆ ในการจะได้ข้อเท็จจริงจากลูกเรื่องควรจะต้องมีการสื่อสารพูดคุยด้วยนอกเหนือจากการตรวจเอกสาร 

การเข้าถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐาน หรือช่วยชีวิตภายในเรือ เช่น เสื้อชูชีพ กล่องยาประจำเรือ: มีบนเรือและสามารถเข้าถึงได้ 87% มีเพราะเตรียมมาเอง 14% ไม่มีเลย 5% มีแต่เข้าถึงไม่ได้ 4% ซึ่งนาตยาเห็นว่าเห็นปรากฎการณ์ของความปลอดภัยที่ดูดีกว่าปีแรก

การฝึกสอนใช้เครื่องมือประมงและอุปกรณ์บนเรือ: ได้รับบนเรือลำนี้ (ตอนอยู่บนเรือ) 46% ได้รับบนเรือลำนี้ (ก่อนเริ่มงาน) 27% ได้รับจากเรือลำอื่นที่เคยทำงาน 27% ไม่เคยได้รับจากเรือลำนี้ 14% ไม่เคยได้รับจากลำใด 8%

นาตยากล่าวสรุปว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นช่องว่างหลายประเด็น หลายกรณีเป็นปัญหาเรื่องกลไกของภาครัฐ ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ แม้จะหลายมาตรการออกมาคุ้มครองแรงงาน แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ไปไม่ถึงการคุ้มครองคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่น สวัสดิการ ความปลอดภัย หรือกระทั่งราคาหน้ากากอนามัย ซึ่งควรต้องเป็นสินค้าควบคุมราคา เข้าถึงได้ง่าย แต่รัฐก็ยังจัดการได้ไม่ดีพอ 

นาตยากล่าวว่า ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ช่องว่างเหล่านี้ไม่ปรากฎให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ผู้ซื้อรายใหญ่ต้องมี code of conduct กำหนดมาตรฐานในการรับซื้อสินค้าจากเรือประมงและควรต้องช่วยดูแลแรงงานที่ผลิตสินค้าด้วยเหมือนกัน

“การมองเรื่องความมั่นคงในประเทศ อย่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เราจะมองคือมูลค่าการส่งออกหรือจีดีพี แต่สิ่งที่เราหลงลืมไปคือต้นทุนการผลิตของเรา ซึ่งก็คือการลงทุนกับชีวิตแรงงาน ชีวิตและความหวังของแรงงานคือการมีงานที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง แต่ตราบใดที่ปากท้องยังไม่อิ่ม โอกาสที่คนจะได้ไปเรียนรู้เรื่องสิทธิก็เป็นเรื่องยาก โควิดทำให้เห็นว่า นโยบายรัฐไม่ได้เท่าทันสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ หลายเรื่องควรเป็นสิทธิที่พวกเขาได้ทันที แต่กลายเป็นพวกเขาต้องออกมาร้องขอทำยังไงให้รัฐไม่ต้องรอให้สถานการณ์ล่วงเลย และจัดมาตรการได้ทันท่วงที” นาตยากล่าว

 

รัฐต้องรับอนุสัญญา ILO ให้แรงงานมีสิทธิการรวมตัวต่อรอง

 

 

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เห็นด้วยกับงานวิจัยดังกล่าว เธอชี้ว่า แม้สถานการณ์ของแรงงานประมงเริ่มดีขึ้น สภาพความเป็นอยู่ สวัสดิการบนเรือ อาหาร เครื่องดื่ม ห้องน้ำ ห้องพัก ก็มี แต่ที่กังวลคือแม้มีอาหาร แต่อาจไม่มีเวลาทานอาหารให้ครบสามมื้อต่อวัน ส่วนเรื่องค่าจ้างค่าแรง เริ่มดีขึ้น เท่าที่ลงพื้นที่ สัมภาษณ์ บางที่ 15,000 ก็มี 12,000 ก็มี บางที่ 9,000 ก็ถือเป็นการปรับปรุงที่ดีขึ้น 

สุธาสินียังกล่าวว่า คนงานเริ่มมีความพยายามเจรจาต่อรอง ทั้งเดี่ยวและกลุ่ม แต่ตนยังเป็นห่วงการเจรจาเชิงเดี่ยว ห่วงเรื่องความปลอดภัยของแรงงาน บางทีก็ยังมีความรุนแรงอยู่บ้าง กลัวว่าคนงานทวงเงินแค่ 500 บาทก็จะโดนทุบ จึงพยายามอบรมแรงงานว่าควรรวมกลุ่มกันไปต่อรองมากกว่า

ปัญหาช่วงโควิด-19 คือ ห้ามรวมตัว ซึ่งอาจทำให้แรงงานยังไม่สามารถบอกสิ่งที่ตัวเองอต้องการกับนายจ้างได้ นอกจากนี้เมื่อโทรไปสอบถามกับแรงงานประมงที่ทำงานด้วย ได้เสียงสะท้อนว่าหน้ากากอนามัยบางนายจ้างแจก บางนายจ้างไม่แจก เจลล้างมือไม่ได้แจก และไม่ได้รับการอบรมเรื่องวิธีป้องกันโควิด-19 แต่คนงานจะได้รับสิ่งเหล่านี้จากองค์กรเอ็นจีโอมากกว่า

ส่วนในเรื่องค่าจ้าง ยังจ่ายตามปกติ แต่แรงงานในสายพานการผลิตอาหารทะเลแปรรูปบางส่วนก็ถูกเลิกจ้าง 

สภาพตอนนี้นายจ้างเองก็บอกว่าขาดแคลนแรงงานประมง  ดังนั้นนายจ้างก็ต้องคิดต่อว่าทำไมถึงขาดแคลน อุปกรณ์เครื่องจักร แรงงานต้องได้รับการอบรมเรื่องการใช้งานอย่างปลอดภัยถูกวิธี การดำน้ำก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน แต่คนงานก็ยังไม่มี

สภาพหลังโควิด คนงานออกจากไทยไปจำนวนไม่น้อย คนงานที่อยู่บนเรือ ด้รับผลกระทบคือคนงานน้อยลง ต้องทำงานแทนคนที่ออกไป ทำให้ทำงานหนักขึ้น แม้กฎหมายจะเขียนว่าต้องพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง แต่เป็นไปไม่ได้ในช่วงนี้

ช่วงสถานการณ์โควิดคนงานที่ติดต่อเข้ามาส่วนใหญ่จะถูกให้หยุดทำงาน และไม่มีอาหารกิน ซึ่งโจทย์แรกคือต้องสื่อสารให้คนงานรู้วิธีป้องกันโควิด-19 อย่าเพิ่งออกนอกประเทศ 

“สิ่งที่เราเห็นคือ ภาคประชาสังคมปฏิบัติมากกว่ารัฐด้วยซ้ำ รัฐออกแต่มาตรการแต่ไม่ได้ลงไปถึงเป้าหมายจริงๆ ไม่ได้ลงพื้นที่ สิ่งที่ยากที่สุดของแรงงานข้ามชาติคือเรื่องภาษา” สุธาสินีกล่าว

นอกจากนี้สุธาสินียังพูดถึงการผลักดันให้มีการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรอง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ในการประชุมรับฟังความคิดเห็น สภาอุตสาหกรรมบอกว่าอย่าเพิ่งรับรองอนุสัญญา ILO แต่ตนอยากให้รัฐบาลฟังเสียงแรงงานบ้าง 

“รัฐหรือนายจ้างเข้าใจผิดว่าถ้ารับรองอนุสัญญาแล้วคนงานเกิดการรวมตัวจะทำให้เกิดความไม่มั่นคง แต่ไม่ใช่ การที่เขาได้พูดคุยกันในสถานประกอบการของตัวเอง จะเป็นการไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย เพราะเขาไม่ต้องออกมาบนท้องถนน เขามีปัญหาอะไรเขาจะได้คุยระหว่างนายจ้างลูกจ้าง เคลียร์กันภายใน ไม่ใช่การสร้างความวุ่นวาย” สุธาสินีกล่าว

 

แรงงานประมงยังเข้าไม่ถึงข้อมูลและการรักษาในสถานการณ์โควิด-19

 

 

ซัลวานี ด่อล๊ะ เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 8 ก.ค. พบผู้ป่วยสะสม 3,197 ราย จากจำนวนดังกล่าวมียอดแรงงานข้ามชาติเพียง 82 ราย แต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่าทางการพม่าตรวจพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 23 ราย ซี่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกส่งกลับจากประเทศไทย ดังนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องพูดถึงประเด็นการเข้าถึงบริการสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 แบ่งเป็น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการรักษา

ซัลวานีระบุว่า การเข้าถึงข้อมูล แม้หลายการสำรวจจะระบุว่าแรงงานข้ามชาติมีสมาร์ทโฟน หรือรัฐไทยเองก็ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ พบว่าแรงงานร้อยละ 71.73 รับทราบข้อมูลข่าวสารผ่านออนไลน์ นอกจากนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมก็มีการผลิตสื่อให้ความรู้มากมาย แต่เมื่อสอบถามกับตัวแรงงานจริงๆ ในหลายพื้นที่ เขาไม่มีความรู้เรื่องโรค รู้แต่เพียงต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ สะท้อนให้เห็นว่าเขายังขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้อาจจะไม่ดูแลตัวเองถูกวิธี ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดระยะสอง 

นอกจากนี้ ซัลวานีชี้ว่า หากเจาะลึกในแรงงานประมงจะเป็นกลุ่มที่รู้ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโรคโควิด-19 น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นการมีระยะห่าง การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ขณะที่กลุ่มที่มีปัญหามากกว่าคือกลุ่มแม่บ้านของแรงงานประมง เพราะแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสาร ไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ เนื่องจากการซื้อซิมต้องมีเอกสารประจำตัว การรับรู้ข่าวสารจึงเป็นการพูดกันปากต่อปาก หรือจากอาสาสมัครองค์กรพัฒนาเอกชน 

สำหรับการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซัลวานีกล่าวว่า จากเดิมที่ลำบากอยู่แล้วแม้ว่าจะมีสิทธิด้านประกันสุขภาพและประกันสังคม เพราะมีอุปสรรคเรื่องการสื่อสาร แต่ช่วงแพร่ระบาด ที่มีการคัดกรอง มีขั้นตอนซับซ้อนขึ้น หากไม่มีล่ามไปด้วยก็ยิ่งยุ่งยาก ประกอบกับได้รับการสื่อสารผิดๆ แรงงานจำนวนมากเลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาล เพราะกลัวติดโควิด-19 กลัวถูกส่งกลับ สุดท้ายต้องเลือกไปใช้บริการคลินิกเอกชน ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง เป็นหนี้ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะไม่ได้คัดกรอง และไม่ได้ตรวจโรคอย่างทันท่วงที ทั้งที่รัฐมีมาตรการให้ทุกคนตรวจ รักษาฟรี ไม่จำกัดสัญชาติ แต่ไม่ค่อยมีแรงงานรับรู้ หรือยังกลัวอยู่

นอกจากนี้ซัลวานียังชี้ว่า มีปัญหาเรื่องการให้หยุดงาน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบศาล หรือหน่วยงานรัฐ ก็ได้ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเหมือนกัน ศาลเลื่อนการพิจารณาคดี ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีได้รับผลกระทบเยอะมาก ทั้งในส่วนของการขาดรายได้ ไปทำงานไม่ได้ ขาดสถานะทางกฎหมายในการอยู่อาศัย การร้องเรียนกรณีเลิกจ้างก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากหลายหน่วยงานปิดให้บริการในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ในช่วงหลังมีการเปิดให้กรอกใบคำร้องผ่านออนไลน์ แต่ก็ดูเหมือนจะเอื้อให้แค่คนไทย เพราะแรงงานข้ามชาติมีอุปสรรคเรื่องภาษา และการเข้าถึงเทคโนโลยี นอกจากนี้การเข้าถึงเงินชดเชยว่างงานจากประกันสังคมก็มีปัญหา ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง แต่ขอให้หยุดงาน หรือบังคับให้เซ็นใบลาออก ไม่มีการชดเชยใดๆ การขนส่งสาธารณะก็หยุดในบริการในช่วงที่โควิดแพร่หนัก 

ซัลวานีกล่าวต่อว่า เมื่อการร้องเรียนเป็นไปได้ยาก แรงงานก็จะมาร้องเรียนกับหน่วยงานพัฒนาเอกชน เอ็นจีโอ แต่ก็มีข้อจำกัดที่เราไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด แรงงานที่ถูกให้ออกจากงาน ก็ถูกยกเลิกใบอนุญาตทำงาน จากคนถูกกฎหมายก็กลายเป็นผิดกฎหมาย ซึ่งยังไม่มีแนวทางชัดเจนในการจัดการของรัฐ

ทั้งนี้ซัลวานียกความสำคัญของการเข้าสู่ระบบประกันสังคม  ซึ่งจะทำให้ได้เงินชดเชยกรณีว่างงาน จากเดิมทั้งนายจ้ายและแรงงานเองอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของประกันสังคม แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่าควรต้องมีประกันสังคมหรือไม่ 

"ส่วนเรื่องว่ามีสิทธิแล้วเข้าถึงสิทธิได้ไหม อันนี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ แก้ที่กฎหมายและแนวทางการปฏิบัติต่อไป ไม่ใช่อ้างว่ามีก็ใช้ไม่ได้ เลยไม่จำเป็นต้องมี" ซัลวานีกล่าว

ซัลวานีประเมินว่า แรงงานโดยรวมน่าจะกลับมาทำงานมากพอสมควร เพราะการกลับไปประเทศต้นทางเป็นการกลับไม่ทันทั้งตัว กลับไปไม่มีงานทำ เงินหมด ก็ต้องหาช่องทางกลับมาทำงานในไทยต่อไป 

"ที่เราช่วยได้คือต้องมีกระบวนการนำคนกลับมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ให้แรงงานแอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ขณะที่แรงงานอื่นก้มีแนวโน้มว่าจะไหลไปเป็นแรงงานประมงได้เหมือนกัน ส่วนตัวมองว่าทำอาชีพอะไรก็ได้ เพราะทุกคนกำลังเครียดเพราะไม่มีเงิน และนำไปสู่ปัญหาอื่น แต่ไม่ใช่หน้าที่แรงงานข้ามชาติในการการันตีความปลอดภัยของตัวเอง เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้การทำงานหรือจ้างงานเป็นไปอย่างถูกต้อง แรงงานได้รับสิทธิตามค่าแรงขั้นต่ำ และถูกต้องตามกระบวนการ" ซัลวานีกล่าว

สำหรับการเตรียมความพร้อมของ CSOs ซัลวานีระบุว่า แบ่งเป็นเฟด ช่วงแรกเป็น emergency need ก่อน คือช่วยให้แรงงานพ้นจากภาวะความทุกข์ ณ จุดนั้นก่อน แต่ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้นมาแล้ว จะทำยังไงให้การ์ดไม่ตก หน้าที่หนึ่งคือการเข้าไปทำความเข้าใจกับแรงงานเรื่องการรักษาสุขภาพ ให้ความรู้ในชุมชน ส่งเสริมให้ต่อไปผู้ประกอบการเองต้องมีอุปกรณ์ป้องกันในสถานประกอบการ แรงงานเองก็ต้องดูแลตัวเอง นอกจากนี้การจัดระเบียบที่อยู่อาศัยก็สำคัญ แรงงานที่อยู่ในชุมชนแออัด ได้เห็นการเริ่มต้นของกรมอนามัยในการจัดการเรื่องนี้ แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน 

"ถ้าส่งเสริมคุณภาพชีวิต ก็จะทำให้คุณภาพงานดีขึ้นด้วย" ซัลวานีกล่าวทิ้งท้าย

 

กลไกร้องเรียนต้องเป็นเชิงรุก ผลักแรงงานเข้าสู่ประกันสังคมทั้งหมด

 

 

ปภพ เสียมหาญ นักกฎหมายให้ความเห็นว่า หลายคนยังมองว่าแรงงานประมงไม่ได้รับผลกระทบมาก หนึ่งเพราะคนยังอยากกินปลา สองคือโรงงานอุตสาหกรรมยังมีการผลิต ไม่ได้หยุดงาน แต่ถ้ามองในเชิงลึกคนที่เป็นแรงงานประมงหรือข้ามชาติเป็นกลุ่มเสี่ยงมาก ตัวอย่างที่สิงคโปร์ การแพร่ระบาดรอบสองก็มาจากแรงงานข้ามชาติ ในไทยแรงงานก็มีความเสี่ยงอยู่ ยังอยู่เป็นชุมชน บางส่วนก็ถูกพักงาน เลิกจ้าง อยู่เป็นกลุ่มอัตราการแพร่ระบาดก็จะมาก 

ปภพมองว่า สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือกลไกการร้องเรียน ปัจจุบันเห็นว่าแรงงานข้ามชาติเข้าไปสู่กลไกนี้ได้น้อยมาก เพราะเป็นกลไกเชิงรับไม่ใช่เชิงรุก 

ปภพเสนอว่า กลไกการร้องเรียนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะแรงงานในพื้นที่ห่างไกล หน่วยงานรัฐต้องลงไปในพื้นที่ รับเรื่องร้องเรียน ว่าแรงงานถูกละเมิดอะไรบ้าง ต้องทำกลไกการร้องเรียนให้เข้มแข็งมากขึ้น แรงงานหลายคนไม่กล้าไปหาเจ้าหน้าที่ ไม่มั่นใจ กลัว แก้ได้ด้วยการทำงานประสานระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ต้องทำให้สอดคล้องกันได้ดีกว่านี้

"แรงงานประมงบ้านเราขาดแคลน แต่ถ้าทำงานเชิงรุกให้ความเชื่อมมั่นมากขั้น แรงงานก็จะเพิ่มขึ้น กฎหมายระบุว่าการให้ความช่วยเหลือต้องไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นทำยังไงให้สวัสดิการเข้าถึงคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติได้จริง ถ้ากลไกเป็นไปได้จะทำให้แรงงานประมงได้รับสิทธิของตัวเองมากขึ้น และทำให้เกิดความน่าเชื่อถือของคนที่เป็นแรงงานว่าจะไม่ถูกละเมิดสิทธิ" ปภพกล่าว 

มองไปไกลกว่านั้น ปภพเสนอว่า สิทธิที่คนไทยได้แรงงานข้ามชาติก็ควรได้เช่นกัน เช่น เงินเยียวยา 5,000 บาท เพราะแรงงานข้ามชาติเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทย แต่ปัจจุบันก็ยังถูกเลือกปฏิบัติอยู่ 

นอกจากนี้ปภพชี้ว่า แม้จะมีเรื่องกฎหมายสุขภาพแรงงานอยู่แล้ว แต่ต่อไปต้องมีเกณฑ์จริงจังมากขึ้น มีตัวชี้วัดตามมาตรฐาน โดยให้ภาครัฐกับผู้ประกอบการทำงานร่วมกัน การทำงานอาจต้องมีระยะห่างไหม อุปกรณ์ป้องกัน ต้องแจกอย่างทั่วถึง สม่ำเสมอ 

"ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องประกันสังคม สวัสดิการต่างๆ ปัจจุบันกฎหมายให้ตัวเลือกว่าผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าประกันสังคมหรือไม่ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้แรงงานประมงต่างจากแรงงานอื่นๆ ผมคิดว่าไม่มีสิทธิไหนครอบคลุมเท่าสิทธิประกันสังคมอีกแล้ว กฎหมายควรแก้ รัฐต้องรณรงค์ให้เห็นว่า แรงงานเหล่านี้ต้องเข้าสู่ประกันสังคมได้แล้ว เพราะไม่งั้นถ้ามีเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึง มันจะไม่มีอะไรรองรับ ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายคนต้องกระอักกระอ่วนและมีภาระเพิ่มขึ้นในการรับรองสวัสดิการของแรงงาน ประกันสังคมเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้แรงงานเข้าสู่สวัสดิการ การรักษา การตรวจโรค ค่าชดเชยว่างงาน" ปภพกล่าว

ต่อเรื่อง new normal ของแรงงานประมงไทย ปภพชี้ว่า มีความพยายามจะปรับตัวมาตั้งแต่ยุคที่มี IUU แล้ว ซึ่งตอนนั้นมีปัญหารุนแรง ทั้งการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน มีการปรับปรุงแก้ปัญหากฎหมายหลายฉบับ เอาอนุสัญญาระหว่างประเทศมาใช้ในไทยให้เกิดมาตรฐานมากยิ่งขึ้น 

"ความเป็น new normal ของแรงงานประมงคือการนำกฎหมายเหล่านั้นมาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเวลาพัก เรื่องการจ่ายเงิน เรื่องสิทธิการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ สวัสดิการต่างๆ ปัจจุบันมีความคลุมเครือ มีข้อถกเถียงอยู่มาก ซึ่งผมมองว่าสิ่งเหล่านี้ในอนาคตควรมีความชัดเจน และนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด ในช่วงที่ผ่านมาที่มีการแก้ไขกฎหมาย ตอนนี้ใช้เวลาพอสมควรแล้ว ทุกคนเริ่มตกผลึก มีความเข้าใจในมุมมองของความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมประมงไทยว่ามันควรต้องมีมาตาฐานที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้แล้ว ภาครัฐต้องทำการบ้านอย่างหนักแล้ว ในเมื่อทุกคนมีความเข้าใจแล้วแต่ยังไม่ทำตามกฎหมาย จะมีวิธีไหนที่จะทำให้คนเห็นพ้องต้องกันและนำไปสู่การปฏิบัติ" ปภพกล่าว 

ปภพยังกล่าวถึงการทำงานของรัฐร่วมกับภาคประชาสังคม แม้รัฐมีความพยายามเพิ่มขึ้นในการให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม แต่องค์กรภาคประชาสังคมไม่ใช่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เป็นเพียงหน่วยงานรับเรื่องและสนับสนุนบางประการ เช่น ใช้ล่ามแปลภาษา พาไปดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนคนที่ปฏิบัติคือเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐและเอ็นจีโอต้องคุยกันคือจะออกแบบกลไกยังไงให้กลไกเหล่านี้ราบรื่น ไม่ใช่บอกให้เอ็นจีโอต้องไปสืบหาข้อมูลเอง เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะสืบเสาะหาข้อเท็จจริงต่างๆ 

มองไปไกลกว่านั้น ปภพเห็นว่าผู้ประกอบ แรงงาน ผู้ซื้อ ผู้บริโภคก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทำยังไงให้ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน และออกแบบว่าทำยังไงให้เกิดการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้มากยิ่งขึ้น และองค์กรภาคประชาสังคมไม่ได้มีอยู่ทุกพื้นที่ ดังนั้นควรต้องมีการสนับสนุนการทำงานลักษณะเครือข่ายมากยิ่งขึ้น 

ปภพกล่าวว่า ความร่วมมือของผู้ซื้อจากต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญมาก อุตสาหกรรมประมงไทยส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเยอะมาก คนที่มีอิทธิพลก็คือผู้ซื้อจากต่างประเทศ ยุคโควิด-19 ผู้ซื้อจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญมากในการยกระดับมาตรฐาน โดย หนึ่ง-ให้ผู้ซื้อต่างประเทศกำหนดไกด์ไลน์มาเลยว่ามาตรฐานที่ดีควรเป็นยังไง การป้องกันที่ดีควรเป็นยังไง สอง-ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในประเทศเลย ในเมื่อเป็นสายการผลิตเดียวกัน ก็เข้ามาทำให้การผลิตสินค้าประมงไทยมีมาตรฐานยิ่งขึ้น ซึ่งทำได้และคนเป็นผู้ประกอบการเองก็น่าจะเต็มใจให้คนเหล่านี้มากำหนดมาตรฐานพื้นฐาน สนับสนุน

"สิ่งที่สำคัญในอนาคตของภาคประมงคือการเปิดเผยข้อมูล กับผู้ซื้อ ผู้บริโภค ถึงที่มาของสินค้า ผลิตมาจากแรงงานที่ได้รับการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย บทบาทผู้บริโภคควรต้องพิจารณามาตรฐานของอาหารที่เราบริโภคว่ามันควรจะเป็นยังไง ถ้าเรากำหนดมาตรฐานสินค้าไม่ใช่เพียงความสะอาดปลอดภัยของอาหาร แต่ต้องมาจากความสะอาดของการใช้แรงงานด้วย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย นี่คือ new normal ของการผลิต ถ้าคนเป็นผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูล ผู้บริโภคมีสิทธิตัดสินใจเลือก มันจะยกระดับสินค้าบ้านเราได้มากขึ้น และสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ" ปภพกล่าว 

นอกจากนี้ปภพยังเสนอว่าควรเปิดให้มีการรวมกลุ่มเจรจาต่อรอง แม้แรงงานข้ามชาติในไทยจะเข้าสู่ระบบสหภาพแรงงานได้ แต่เขายังไม่มีสิทธิมีเสียงในการสร้างสหภาพของตัวเอง หากแรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพของตัวเองได้ ก็ไม่น่าเป็นเรื่องที่เสียหาย มีงานศึกษามากมายที่บอกว่าการจัดตั้งสหภาพไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท