องค์กรสิทธิฯ ขอให้ทบทวนโครงการ 'จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า'

  • องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ขอให้ทบทวนโครงการ 'จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า'
  • กสม. ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ-ปชช.ยึดหลักสิทธิมนุษยชน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างสันติ
  • สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ขอยกเลิกโครงการฯ
  • 'ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ' เดินทางกลับถึงหาดใหญ่ หลังเข้ากรุงขอประยุทธ์ยกเลิกนิคมฯ

10 ก.ค.2563 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.) ออกแถลงการณ์ ขอให้ทบทวนโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า”

โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ทบทวนโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า”

ตามที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และ 21 มกราคม 2563 อนุมัติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หรือโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยใช้พื้นที่ชายทะเล อำเภอจะนะ จ.สงขลา เป็นสถานที่ตั้งนิคมกว่าหมื่นไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อาศัยของประชาชนและเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นแหล่งทำมาหากิจของประมงพื้นบ้าน โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการให้เกิดโครงการนี้ 

แต่การดำเนินการผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ของ ศอ.บต.ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน กระทบต่ออาชีพ อย่างรุนแรง ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่คัดค้านโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ยกเลิกโครงการนี้ และขอให้เลื่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ ศอ.บต.จะจัดขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่โรงเรียนจะนะวิทยา อ.จะนะ จ.สงขลา ออกไปก่อน

จากเหตุดังกล่าวข้างต้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) และองค์กรข้างท้ายแถลงการณ์นี้ มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1. ให้มีการทบทวนโครงการนี้ โดยการยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และ 21 มกราคม 2563 เนื่องจากเป็นมติที่อนุมัติโดยรัฐบาล คสช.โดยขาดข้อมูลทางวิชาการ และไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมาก่อน

2. ศอ.บต.ควรแสดงบทบาทในการเสริมสร้างสันติสุข ลดปัญหาความขัดแย้ง มิใช่เป็นผู้ดำเนินโครงการที่สร้างความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ โดยบทบาทของ ศอ.บต. ต้องเป็นกลาง ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่มาทำหน้าที่แทนกลุ่มธุรกิจ และต้องไม่เป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง

3. สร้างกลไกกระบวนการมีส่วนร่วมให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันก่อนที่จะมีการอนุมัติโครงการ โดยมีสัดส่วนของนักวิชาการ ภาคประชาสังคมที่หลากหลาย โดย ศอ.บต.ต้องเป็นเพียงหน่วยงานสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวเท่านั้น

4. รัฐบาลต้องเคารพสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน วิถีชีวิตรวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง

5. รัฐบาลต้องให้ความคุ้มครองผู้ชุมนุมโดยสงบ และต้องให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐยุติการสนับสนุนกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการที่ใช้พฤติกรรม ข่มขู่ คุกคามนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และประชาชนหรือบุคคลอื่นใดที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(CrCF)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)

10 กรกฎาคม 2563

กสม. ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ-ปชช.ยึดหลักสิทธิมนุษยชน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างสันติ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า สมณ์ พรหมรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ดูแลการส่งเสริม คุ้มครองและตรวจสอบงานด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งของโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการ โดยใช้พื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม ในเขตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่า ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 นี้ ศอ.บต. จะจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว และที่ผ่านมามีทั้งกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและคัดค้านการดำเนินโครงการด้วยเหตุความกังวลต่อผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการกล่าวอ้างถึงการปิดกั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งก่อนหน้านี้ยังปรากฏรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเดินทางไปยังที่พักของประชาชนที่คัดค้านโครงการเพื่อสอบถามถึงการเดินทางเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้คัดค้านด้วย

สมณ์ เปิดเผยว่า รู้สึกห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของโครงการจะนะฯ ที่จะมีขึ้น ณ โรงเรียนจะนะวิทยา ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. ศอ.บต. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการและดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกฝ่ายครอบคลุมทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยจัดเตรียมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการอันประกอบด้วยผลดีและผลเสียเพื่อเปิดเผยอย่างชัดเจนและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเวทีเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้

2. หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง และส่งผลต่อการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนประการอื่น เช่น สิทธิในชีวิตและร่างกาย เป็นต้น

3. ประชาชนและภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ควรตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ โดยหลีกเลี่ยงการยั่วยุและการใช้ความรุนแรงในทุกกรณี

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างใกล้ชิดซึ่งรวมถึงโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตและโครงการพัฒนาอื่น ๆ โดยหวังว่าการดำเนินการของทุกภาคส่วนจะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิชุมชน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่ายและนำไปสู่ความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ต่อไป” นายสมณ์ กล่าว

ขณะที่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ออกแถลงการณ์ ยกเลิกโครงการเมืองต้นแบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต (อ.จะนะ)

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

แถลงการณ์ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS เรื่อง ยกเลิกโครงการเมืองต้นแบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต (อ.จะนะ)

ด้วยมีมติคณะนายกรัฐมนตรีในการพลักดันโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ปาตานีมีมติเมื่อ 4 ต.ค.2559ในสมัยรัฐบาล คสช.และได้ พยายามผลักดันมาตลอดโดยอาศัย พระราชบัญญัติ การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ร.บ ศอ.บต.) ร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4ส่วนหน้า) เป็นคณะกรรมการและเลขานุการ จนได้มีมติคณะรัฐมนตรี อีกครั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อนุมัติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยจะใช้พื้นที่ 3 ตำบล คือตำบลนาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม รวมเนื้อที่ทั้งหมด 16,753 ไร่
สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีเป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสันติภาพปาตานีโดยยึดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงไม่สามารถเห็นพ้องต้องด้วยเนื่องจากการมีมติ คณะรัฐมนตรีเกิดก่อนการทำประชาพิจารณ์และโครงการดังกล่าวมิได้อยู่ในสภาวะปกติแต่อาศัยกฎหมายพิเศษทำ ให้การแสดงออกของประชาชนไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ร่วมทั้งการนำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค4 สน.) ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงและสมบูรณภาพแห่งดินแดน มิใช่งานด้านพัฒนา เศรษฐกิจโครงการดังกล่าวจึงไม่ชอบธรรมทตั้งแต่ต้น จึงควรยกเลิกโครงการ

เพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อชะตากรรมตนเองและให้กองทัพออกจากผลประโยชน์อื่นใดที่มิใช่หน้าที่ของตน สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1 ยกเลิกโครงการดังกล่าวเนื่องจากไม่ชอบธรรมด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
2 ต้องยุติเวทีวันที่ 11 ก.ค. 63 ออกไปเนื่องจากการสร้างกระบวนการภายใต้กฎหมายพิเศษไม่สามารถทำให้ประชาชนแสดงออกได้อย่างปลอดภัย
3 กองทัพต้องออกจากผลประโยชน์และไม่ยุ่งเกี่ยวเนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย
สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
10กรกฎาคม พ.ศ.2563

'ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ' เดินทางกลับถึงหาดใหญ่ หลังเข้ากรุงขอประยุทธ์ยกเลิกนิคมฯ

Banrasdr Photo รายงานว่า ไครียะห์ ระหมันยะ หรือยะห์ “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ”เดินทางกลับถึงสถานีรถไฟหาดใหญ่ โดยมีครอบครัวและเครือข่ายรักษ์จะนะมารอต้อนรับ ก่อนที่จะแถลงการณ์เชิญชวนชาวสงขลาและประชาชนทั่วไปออกมาปกป้องชุมชนและทะเลอำเภอจะนะ

ไครียะห์ วัย 17 ปี เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อยืนจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ ขอให้ยกเลิกมติ ครม.กรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยระบุว่าโครงการนี้ได้ใช้อำนาจของรัฐบาล และ ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการสามจังหวัดชายแดนใต้(ศอ.บต.)ดำเนินการอย่างรวบรัดขั้นตอน เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน สร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาล ไครียะห์ เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ และยกเลิกเวทีประชาพิจารณ์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 กค.นี้ ออกไปก่อนเพื่อมาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท