Skip to main content
sharethis

พนักงานองค์การค้าฯ ขอรับเงินชดเชยฉุกเฉิน จากการถูกเลิกจ้าง

กรณีที่คณะกรรมการองค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้มีมติเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ จำนวน 961 คน และได้เห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยฉุกเฉินให้กับพนักงานทั้ง 961 คน คนละ 100,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และจะจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดในช่วงสิ้นเดือน ก.ค.นี้นั้น ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายธนพร สมศรี รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะโฆษก สกสค. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพนักงาน เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ มาลงนามเพื่อขอรับเงินชดเชยฉุกเฉินกับทางองค์การค้าฯไปแล้วกว่า 600 ราย ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 300 รายนั้นน่าจะทยอยเดินทางเข้ามาในเร็วๆนี้ แต่หากพนักงาน เจ้าหน้าที่ท่านใดไม่เดือดร้อนที่จะต้องใช้จ่ายเงินในขณะนี้ก็สามารถรอรับเงินชดเชยเป็นก้อนในช่วงสิ้นเดือน ก.ค.นี้เลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตนยังคงยืนยันอีกครั้งว่าคนที่มาลงนาม เพื่อขอรับเงินชดเชยฉุกเฉินในครั้งนี้จะไม่เสียสิทธิ์การดำเนินการทางกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น

ด้าน ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่าตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัด 50 แห่ง ใน กทม. ประสานงานกับ ผอ.องค์การค้าฯ เพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลพนักงานองค์การค้าฯ ที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 961 คน ว่าใครสนใจจะเรียนรู้หลักสูตรอาชีพระยะสั้นบ้าง ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะจำแนกเป็นรายหลักสูตรและจัดวิทยากรเข้าไปช่วยสอนอาชีพนั้น ๆ ให้ฟรีถึงองค์การค้าฯ หรือจะแจ้งความประสงค์เรียนหลักสูตรต่างๆ ที่สำนักงาน กศน.ทุกแห่งก็ได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 11/7/2563

มติบอร์ดประกันสังคม ปรับลดเงินสมทบเหลือ 2% สามเดือน เตรียมเสนอ ครม.

10 ก.ค. 2563 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตน เหลือฝ่ายละ 2% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ โคโรนาไวรัส ซึ่งผ่านความเห็นชอบของบอร์ดประกันสังคม ที่มีตัวแทนทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล

นอกจากนี้ ในส่วนของการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด หากไม่จัดอบรมหรือจัดฝึกอบรมแต่ไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนด ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบการไม่สามารถฝึกอบรมพนักงานได้ในสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด กระทรวงแรงงานจึงออกประกาศกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปรับลดสัดส่วนของจำนวนลูกจ้างที่ต้องจัดฝึกอบรมลดลงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากเดิมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการและเงื่อนไขการฝึกอบรมที่ไม่จำเป็นจะต้องมาฝึกอบรมโดยรวมตัวกันในห้อง แต่ยืดหยุ่นให้สามารถฝึกอบรมผ่านระบบออนไลน์ได้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 10/7/2563

จนท.สาธารณสุขชุมชนเชียงใหม่ ขอเปิดตำแหน่งบรรจุเป็นกรณีพิเศษเพื่อตอบแทนทำงานช่วงโควิดฯ

10 ก.ค. 2563 ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ นายพิพัฒน์ ก้อนคำ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน แกนนำกลุ่มข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป ผู้มีคุณวุฒิปริญญาทางด้านสาธารณสุขและได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนและพวก ได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข,เลขาธิการก.พ.และนายกสภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอความเป็นธรรมพิจารณาให้ข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป ผู้มีคุณวุฒิปริญญาทางด้านสาธารณสุขที่สอบขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งประเภทวิชาการเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือที่ยื่นขอความเป็นธรรมดังกล่าว ระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับอนุมัติจากสำนักงานก.พ.คัดเลือกเพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ในอัตราที่ได้รับจัดสรรตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2563 จำนวน 38,104 อัตรา โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการคัดเลือกเพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ

หากแต่กลุ่มข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป ผู้มีคุณวุฒิปริญญาทางด้านสาธารณสุขที่สอบขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนโดยมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ความชำนาญงานในการบริการและบริหารจัดการงานด้านสาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานในบทบาททางวิชาการด้านสาธารณสุขเหมือนกับตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขหากแต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้กำหนด หรือดำเนินการในหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการคัดเลือกเพื่อบรรจุหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการเป็นกรณีพิเศษ ทั้งที่มีคุณวุฒิปริญญาด้านสาธารณสุขและมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง (นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ)

อนึ่งข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไปฯ ยังมีบทบาทสำคัญของหน่วยงานโดยตรงตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในทุกระดับที่สังกัดได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นั้น

ในการนี้กลุ่มข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป ผู้มีคุณวุฒิปริญญาทางด้านสาธารณสุขที่สอบขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน จึงขอความเป็นธรรมและให้พิจารณาดำเนินการ โดยขอให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานก.พ.พิจารณาให้ข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป ผู้มีคุณวุฒิปริญญาทางด้านสาธารณสุขที่สอบขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งประเภทวิชาการ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการเป็นกรณีพิเศษโดยพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งในตำแหน่งประเภทวิชาการ

นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานก.พ.เร่งรัดการพิจารณาดำเนินการกำหนดตำแหน่งใหม่ทางวิชาการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อให้ข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป ผู้มีคุณวุฒิปริญญาทางด้านสาธารณสุขที่สอบขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งประเภทวิชาการ และขอให้รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานก.พ.พิจารณาให้ค่าตอบแทนวิชาชีพและสิทธิต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนและมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 256 คนด้วย

ที่มา: North Public News, 10/7/2563

กรมการจัดหางานชี้แจงไม่เคยอนุญาตให้คนต่างชาติทำอาชีพขายไอศกรีม

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผย ถึงกรณีที่มีข่าวว่า พบแรงงานต่างด้าวขี่รถขายไอศกรีม แย่งอาชีพคนไทย ทำให้คนไทยได้รับความเดือดร้อน ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้กรมการจัดหางานมิได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศของกรมการจัดหางาน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร อาทิ เขตห้วยขวาง เขตสุขุมวิท เป็นต้น

ซึ่งเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากรถขายไอติมเป็นงานเร่ขายสินค้า ที่ห้ามคนต่างด้าวทำและเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2563 และหากนายจ้าง/สถานประกอบการจะจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานงานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

"จะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรกรและงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่ไทยมี MOU ด้วยเท่านั้น คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม "อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

“ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว นายจ้างต้องดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ ความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย พร้อมเร่งให้กรมการจัดหางานประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แก่นายจ้าง/สถานประกอบการ ให้ทราบและปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงาน "อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กรมการจัดหางาน ได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ จำนวน 367,343 คน ดำเนินคดี จำนวน 1,601 คน พบเป็นเมียนมามากสุด จำนวน 832 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 318 คน ลาว 301 คน เวียดนาม 43 คน และอื่นๆ 107 คน

เป็นแรงงานต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ คือ งานขายของหน้าร้าน จำนวน 9,582 คน งานเร่ขายสินค้า 490 คน และงานอื่นๆ จำนวน 19,811 คน ได้แก่ คนงานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย งานนวดแผนไทย งานจำหน่ายอาหาร (คนต่างด้าวเป็นเจ้าของเอง)

งานเสริมสวย คนงานบริการ งานก่ออิฐช่างไม้หรืองานก่อสร้างอื่น พนักงานรักษาความปลอดภัย ขับขี่ยานพาหนะ งานบริการนำเที่ยว งานรับใช้ในบ้าน งานทำหมวก งานกสิกรรม และได้เปรียบเทียบปรับแรงงานต่างด้าว คิดเป็นเงินค่าปรับจำนวน 1,948,500 บาท ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว จำนวน 368 คน

"อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมการจัดหางานไม่เคยออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวในอาชีพขายไอติมแต่อย่างใด เพราะเป็นงานที่คนต่างด้าวไม่สามารถทำได้ "นายสุชาติ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: คมชัดลึก, 10/7/2563

กรมการจัดหางาน เผย COVID-19 เริ่มคลี่คลาย พร้อมเปิดให้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวที่ค้างอยู่กว่า 5 แสนราย

9 ก.ค. 2563 นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงการต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ว่า ก่อนหน้านี้ได้เปิดให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) แรงงานต่างด้าวภายใน 31 มี.ค. 2563 แต่ไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือ โควิด-19 แต่ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลง กรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดการดำเนินการรอบใหม่เพื่อต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวส่วนที่ยังเหลืออยู่ให้แล้วเสร็จ ขอให้นายจ้างตรวจสอบเอกสารของลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนในที่ตั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของกรุงเทพฯ จะเริ่มให้บริการในวันที่ 13 ก.ค. 2563 ส่วนในภูมิภาคได้ทยอยดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ทั้งนี้ มีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อจำนวน 1,266,351 คน ได้รับบัตรประจำตัวอนุญาตทำงานถึง 31 มี.ค. 2565 แล้ว 761,567 คน ยังเหลือที่ต้องดำเนินการ 504,784 คน แยกเป็นใน กทม. ประมาณ 140,000 คน และในส่วนภูมิภาคราว 350,000 คน

สำหรับขั้นตอนการต่ออายุใบอนุญาตทํางานแรงงานต่างด้าวที่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) ไว้แล้ว ให้ดำเนินการในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตามขั้นตอน ดังนี้

1. แรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐ

2. นำไปตรวจโรคไปยื่นขอรับการตรวจลงตราวีซ่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

3. การยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานผ่านทางระบบออนไลน์ของกรมการจัดหางาน ทางเว็บไซต์ https://e-workpermit.doe.go.th/ โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด

4. ยื่นรับบริการทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานอยู่หลังบัตร ได้ที่สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต ในส่วนภูมิภาคยื่นที่อำเภอ

ในส่วนของการยื่นทำบัตรสีชมพูที่สำนักงานเขตกรุงเทพฯ สามารถติดต่อได้ในเวลาราชการวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น โดยขอให้ประสานล่วงหน้าก่อนเข้าติดต่อรับบริการ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/7/2563

คนบันเทิงชูป้ายขอความช่วยเหลือจากรองปลัด สธ.แต่ไร้ผลรีบขึ้นรถกลับทันที

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มพนักงานสถานบันเทิง ผับ บาร์ในซอยบางลา และผู้ประกอบการซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้รวมตัวกันเพื่อชูป้ายข้อความต่างๆ เช่น เดือดร้อนไม่มีเงินจ่าย งวดรถไม่มีจ่าย ไม่มีงานไม่มีเงินไม่มีกิน ช่วยฟื้นฟูหน่อยลูกค้าไม่มีแย่มากรายได้หด ช่วยบางลา ช่วยป่าตอง บ้านต้องเช่า ค่างวดรถต้องจ่าย ขอความเมตตา ช่วยเยียวยาด้วย หันมามองเราบ้างจะอดตายกันหมดแล้ว เปิดก็เจ๊ง ปิดก็เจ๊ง หันมามองพวกเราบ้าง จะตายกันหมดเราต้องการให้ภาครัฐดูแลเรา ท่านสั่งปิดบางลา 4 เดือน แล้วตอนนี้บางลาได้อะไร พท.สีแดงของท่าน แต่มันคือหัวใจของเรา พวกเราเดือดร้อนครับ เป็นต้น และอื่นๆ อีกจำนวนมาก

เพื่อเรียกร้องของความช่วยเหลือจากนายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ของสถานบริการ สถานบันเทิงและผับบาร์ภายในซอยบางลา ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยมี นายสมปราชญ์ ปราบสงคราม นายอำเภอกะทู้ นายวีรวิชญ์ เครือสมบัติ ประธานชมรมสถานบันเทิงหาดป่าตอง และผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมชมการให้บริการของสถานบันเทิงต่าง ๆ ภายในซอยดังกล่าว

แต่ปรากฏว่า การคณะที่ลงไปในพื้นที่ไม่ได้เดินไปยังจุดที่พนักงานมีการรวมตัวชูป้ายกันอยู่ และเดินกลับเพื่อเตรียมตัวขึ้นรถเมื่อเดินไปตรวจสอบเพียงแค่ครึ่งซอยเท่านั้น ทำให้พนักงานต้องถือป้ายวิ่งตามออกมาที่บริเวณต้นซอย แต่ทางรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ได้เดินขึ้นรถตู้ที่จอดรออยู่แล้ว ทำให้พนักงานต้องนำป้ายเดินออกมาขวางบริเวณหน้ารถ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐหันมาให้ความสนใจและเร่งให้ความช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน

โดยกลุ่มพนักงานได้รวมตัวกันยืนขวางหน้ารถ ประมาณ 3-5 นาที แต่ทางคณะรองปลัดไม่ได้ลงมาจากรถเพื่อพูดคุยกับพนักงานที่มาถือป้ายเพื่อขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด เมื่อเห็นท่าว่าไม่ได้รับความสนใจ ทางพนักงานจึงจำใจหลีกทางให้แก่รถคันดังกล่าวขับออกไปท่ามกลางความผิดหวังของพนักงานที่มาร่วมถือป้ายเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังออกจากซอยบางลา ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อมาติดตามการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของสถานบริการและโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ที่ซอยบางลา ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต มีการจัดการที่ดีโดยมีการตั้งจุดตรวจที่ปากซอยและท้ายซอยบางลา มีการวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ และมีการเดินผ่านตู้ฆ่าเชื้อก่อนเข้ามาใช้บริการภายในซอย และหากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่สวมหน้ากากอนามัยทางเจ้าหน้าที่ประจำจุดจะไม่ให้เข้ามาใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนดจากภาครัฐเป็นอย่างดี ส่วนโรงแรมต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตก็เช่นกัน พบว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันพบว่าโรงแรมและสถานบริการยังเปิดให้บริการไม่มากนักเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/7/2563

เผยนายกกำชับป้องกันลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ห่วงโรคระบาดหาต้นตอไม่ได้

ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในการจัดงานวันสถาปนากองบัญชาการกองทัพไทย ประจำปี 2563 ครบ 60 ปี ว่า การจัดงานในวันนี้ เป็นการเลื่อนมาจากกำหนดการเดิม คือวันที่ 16 มี.ค. 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาล ความสำคัญของกองทัพไทย เป็นหน่วยราชการที่เติบโตทางด้านปฎิบัติการร่วมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการพัฒนาตามลำดับ ปัจจุบันมีภารกิจและหน้าที่ตามกฎหมายที่ได้รับความสำคัญและเกียรติจากหลายหน่วยงาน แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาคือเทคโนโลยีทางทหารตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมทั้งเตรียมกำลังพลให้พร้อมสำหรับรูปแบบการปฎิบัติหน้าที่ที่ซับซ้อนในอนาคต กับกระแสโลกที้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีให้มีความพร้อมในอนาคต

ผบ.ทสส.ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) กล่าวว่าสำหรับการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ระยะที่ 5 ว่าแม้จะอยู่ในช่วงผ่อนคลาย แต่ยังไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังเชื้อโรค ที่มาจากทุกทิศทุกทาง และฝ่ายความมั่นคงยังมีความเข้มงวดจริงจัง จากคนที่จะเข้ามาในประเทศทุกมิติ ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ที่จะต้องเข้มงวดกันต่อไป ส่วนที่กังวลคือการกลับมาเปิดธุรกิจหรือติดต่อธุรกิจต่างๆ ขอผู้ประกอบการดูแรงงานที่จะกลับมาทำงานให้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายมีการตรวจสอบโรคก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดการแพร่เชื้อเข้ามาจนเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ได้

ที่มา: ไทยโพสต์, 9/7/2563

ม.หอการค้าไทย ชี้วัย 15-39 ปี ประมาณ 5 ล้านคน เสี่ยงถูกนายจ้างจะเลิกจ้างงาน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าขณะนี้เป็นห่วงสถานการณ์การเลิกจ้างงานในแรงงานกลุ่มเจนวายและแซด) ที่มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 15-39 ปี ประมาณ 5 ล้านคนมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรก ที่นายจ้างจะเลิกจ้างงาน เนื่องจากส่วนใหญ่เพิ่งทำงานได้ไม่นาน ระดับการศึกษาไม่สูงนัก เช่น จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อนุปริญญา เงินเดือนเฉลี่ย 10,000-20,000 บาท และที่สำคัญส่วนมากไม่ได้เป็นพนักงานประจำในออฟฟิศ

“สาเหตุที่กังวลกับกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะช่วงที่ผ่านมา เจนวาย เจนแซด เป็นกลุ่มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นห่วงเรื่องการก่อหนี้ การใช้บัตรเครดิต ใช้เงินในอนาคตจำนวนมาก และที่ไม่ค่อยมีเงินออม หากถูกเลิกจ้างจะมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะจะมีความเสี่ยงในการกู้เงินนอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ”

สำหรับการคลายล็อกเฟส 5 คาดว่า จะช่วยทำให้มีการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 8,000-9,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 250,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาการจ้างงานได้ในระดับหนึ่ง เพราะการปลดล็อกเฟสนี้ ส่วนใหญ่จะมีแรงงานกลุ่มเจนวาย เจนแซดมาก และมักทำงานในสถานบันเทิงกลางคืน เช่น ผับ บาร์ โดยจะเป็นพนักงานเสิร์ฟ พริตตี้ เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหากโควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 และหลายประเทศไม่สามารถประคองเศรษฐกิจได้ เชื่อว่า ในอนาคตโลกจะเปลี่ยนจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤติการเงินโลกได้ เพราะเริ่มเห็นสัญญาณจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของแต่ละประเทศเริ่มปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน และเข้าแผนฟื้นฟู โดยเฉพาะสายการบิน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม จะนำผู้บริหาร ธพว.ลงพื้นที่ ที่เทศบาลตำบลแพรกษา อ.เมือง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในโครงการ “เติมพลัง เอสเอ็มอีไทย ก้าวไปด้วยกัน” และเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าใช้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของ ธพว. เช่น สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash เพื่อเอสเอ็มอีนิติบุคคลธุรกิจการท่องเที่ยว วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี 2 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ดอกเบี้ย 2.875% ต่อปี 3 ปีแรก เป็นต้น

“จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเอสเอ็มอีเป็นเจ้าของตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การช่วยเหลือเอสเอ็มอี จะส่งผลดีด้านช่วยรักษาการจ้างงาน รวมถึงสร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่น”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธพว.ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวมาหลายๆพื้นที่อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ ระยอง น่าน และนครราชสีมา เป็นต้น มีเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเข้าใช้บริการ 400 ราย และจะทยอยจัดต่อเนื่องทั่วประเทศ ล่าสุดได้อนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่สมุทรปราการไปแล้ว 98 ราย วงเงิน 129 ล้านบาท

ที่มา: ไทยรัฐ, 7/7/2563

นายแพทย์ สสจ.ขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุคนร้ายบุก รพ.หวังทำอนาจารพยาบาลสาว

จากกรณีพยาบาลสาวโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจ.ขอนแก่น โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีการถูกชายใส่กางเกงขาสั้นตัวเดียว ไม่สวมเสื้อบุกเข้ามาในโรงพยาบาล และพยายามลากพยาบาลสาวจากห้องทำงานกลางดึก เพื่อทำอนาจารและหวังจะขืนใจ แต่โชคดีมีญาติคนไข้มาช่วยเหลือ ขณะที่ชายคนดังกล่าวหลบหนีไปนั้น ล่าสุดพยาบาลสาว ได้ลบโพสต์เตือนภัยดังกล่าวแล้ว

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวพยาบาลสาว ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ออกมาโพสต์เตือนภัยสังคม โดยระบุว่า เป็นพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) แห่งหนึ่ง อยู่เวรกะดึก อยู่ด้วยกันประมาณ 3 คน คือมีพยาบาลอีก 1 คนและผู้ช่วย โดยช่วงเวลาประมาณตี 4 มีชายฉกรรจ์สูง 175-180 ซม. ถอดเสื้อ ใช้ผ้าปิดหน้า สวมบ็อกเซอร์ลายตารางเล็กสีน้ำตาล ไม่ใส่รองเท้า และชายคนนี้ใช้ผ้าที่ผูกปิดหน้ารองมือ คงกลัวฝากลายนิ้วมือไว้ และผลักประตูตึกผุ้ป่วยในเข้ามา จนมาถึงห้องทำงานพยาบาล

โดยขณะนั้นพยาบาลสาวกำลังงีบหลับ คนร้ายก็ใช้มือค่อยๆเปิดผ้าที่พยาบาลห่ม เมื่อรู้ตัวก็ใช้มือข้างเดียวจับข้อมือพยาบาล และอีกมือล้วงจับหน้าออก จนเกิดการกรีดร้อง จากนั้นคนร้ายกระชากตัวพยาบาลออกจากห้องทำงานไปตามทางเดิน หนำซ้ำยังเลือกจุดที่อยู่ใต้กล้องวงจรปิด พยายามกระชากกางเกงพยาบาลออก แต่โชคดีมีญาติคนไข้ที่เป็นผู้หญิงมาช่วยเหลือ และคนร้ายวิ่งหนีออกไป ซึ่งขณะนี้ยังตามตัวอยู่ โดยพยาบาลสาวได้โพสต์ว่า อยู่ในอำเภอภูผาม่าน

ความคืบหน้าล่าสุดทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขรับทราบเรื่องดังกล่าว โดย นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กำลังลงพื้นที่ ติดตามความหน้าเหตุการณ์คนร้ายบุกทำร้าย และหวังข่มขืนพยาบาลสาวที่โรงพยาบาลในอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น

นพ.สมชายโชติ กล่าวว่า เชื่อเป็นเหตุการาณ์ที่ไม่มีใครคาดหมาย และจากกล้องวงจรปิดจะเห็นพฤติกรรมของคนร้าย แสดงถึงเจตนาที่ไม่ดีแน่ แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการสอบถามพูดคุยกับทางพยาบาล เบื้องต้นเตรียมดูแลตามระบบก่อน ทั้งการจัดเวรยามรักษาความปลอดภัย ไม่ให้ต้องทำงานคนเดียว หรือ การมีกล้องวงจรปิด ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นระเบียบปฏิบัติที่ทุกโรงงพยาบาลทำกันอยู่ แต่ต้องดูว่าจะมีการเสริมหรือเพิ่มเติมสิ่งใดได้บ้างอีกหรือไม่

ที่มา: Hfocus, 6/7/2563

ท่องเที่ยวจับตา ไตรมาส 3 ธุรกิจปิดกิจการ ตกงานหลักแสนคน

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 770 ราย ระหว่างวันที่ 10-25 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในไตรมาส 3 นี้ ผู้ประกอบการ 8%คาดว่าจะลดพนักงาน จึงคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานถูกให้ออก 2.4%หรือคิดเป็นประมาณ 1 แสนคนจากแรงงานภาคท่องเที่ยวทั้งระบบ และที่น่าติดตามคือผู้ประกอบการ 30%ยังไม่ตัดสินใจว่าจะปลดพนักงานหรือไม่

นอกจากนี้หากผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดกิจการได้อีกครั้งในไตรมาส 3 หรือกลไกทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า คาดว่าจะมีสัดส่วนของการลดพนักงานมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีแรงงานภาคท่องเที่ยวที่ไม่มีงานทำชั่วคราวประมาณ 2.6 ล้านคนและกำลังรอการตัดสินใจจากนายจ้างว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ เนื่องจากระยะเวลาในการชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคมเหตุเนื่องจากถูกสั่งให้ปิดกิจการเพราะโควิด-19 ครบกำหนด 3 เดือนในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงผู้ประกอบการถึงแนวโน้มที่จะลดค่าจ้างหรือเงินเดือนหลังจากวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป พบว่าผู้ประกอบการ 7%มีแผนที่จะลดค่าจ้างหรือเงินเดือน โดยธุรกิจสวนสนุกและธีมพาร์คมีสัดส่วนการลดค่าจ้างของพนักงานมากที่สุด 17%รองลงมาคือธุรกิจนำเที่ยว 12%และธุรกิจขนส่ง 7%ขณะที่ผู้ประกอบการเกือบครึ่งตอบว่ายังไม่แน่ใจ ยังรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรอฟังนโยบายจากภาครัฐก่อน

การสำรวจยังพบว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การลดลงของลูกค้าและการลดลงด้านรายได้ของผู้ประกอบการอยู่ในระดับสูงมากที่ 5.6 คะแนนจากเต็ม 6 คะแนน และขาดสภาพคล่องทางการเงินในระดับค่อนข้างสูงที่ 5.3 คะแนน ส่วนผลกระทบต่อการลดค่าจ้างและการลดจำนวนพนักงานในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการประเมินอยู่ในระดับค่อนข้างน้อยที่ 2 คะแนน เนื่องจากเป็นไตรมาสที่มีการหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ และลดกิจกรรมที่อาจนำไปสู่การแพร่เชื้อ

ที่มา: TNN, 6/7/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net