COVID-19 : 11 ก.ค. ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 14 คน สะสม 3,216 คน

11 ก.ค. 2563 ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 14 คน พบจากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,216 คน รักษาหายเพิ่ม 1 คน รวมรักษาหายสะสม 3,088 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน ย้ำอย่าเพิ่งการ์ดตกหลังสำรวจพบแนวโน้ม ปชช.ป้องกันตนเองลดลง 'หมอยง' ชี้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต้องใช้เวลา

11 ก.ค. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 14 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดคงอยู่ที่ 3,216 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และผู้ป่วยใน State Quarantine จำนวน 279 ราย โดยในประเทศไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 47 วันแล้ว

สำหรับวันนี้มีผู้หายป่วยเพิ่ม 1 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,088 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 70 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

สำหรับผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 14 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine โดยมาจากบาห์เรน 1 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย และซูดาน 12 ราย

ด้านสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 237,329 ราย รวมเป็น 12,625,155 ราย อาการรุนแรง 58,898 ราย รักษาหายแล้ว 7,360,954 ราย เสียชีวิตรวม 562,769 ราย

โดยประเทศที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา 3,291,786 ราย รองลงมาคือบราซิล มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,804,338 ราย อันดับ 3 คือ อินเดีย จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 822,603 ราย รัสเซีย จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 713,936 ราย เปรู จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 319,646 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 100

ย้ำอย่าเพิ่งการ์ดตกหลังสำรวจพบแนวโน้ม ปชช.ป้องกันตนเองลดลง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยผลสำรวจเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน เพื่อประเมินว่าคนไทยการ์ดตกหรือไม่ พบว่าคนไทยยังมีความกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศ แต่ยังมั่นใจในมาตรการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจยังพบว่าการป้องกันตนเองภาพรวมของประชาชนมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถคลายมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดได้ เพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชน ในการปฏิบัติตามข้อกำหนด รวมถึงป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง แม้วันนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายไปมากแล้ว แต่ในหลายประเทศยังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง รัฐบาลจึงต้องขอความร่วมมือทุกคนให้ยังคงเฝ้าระวัง ป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 อันจะนำมาซึ่งผลกระทบหลายด้านตามมา

"ขอบคุณประชาชนที่เชื่อมั่นในมาตรการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งรัฐบาลต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถและเสียสละ รวมถึงประชาชนที่มีส่วนสำคัญช่วยให้ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ด้วยดี ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังต่างๆไปมาก เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ แต่เราทุกคนก็ยังต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเอง โดยใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ new normal เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ"น.ส.ไตรศุลี กล่าว

'หมอยง' ย้ำการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต้องใช้เวลา

ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง “โควิด-19 การพัฒนายาใหม่ หรือวัคซีน” ว่า ในภาวะปกติการพัฒนายาใหม่หรือวัคซีนจะมีขั้นตอนและใช้เวลามาก เป็นเวลา 5 ถึง 10 ปี จากการเริ่มต้นศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ เมื่อได้สารหรือยาหรือวัคซีน ก็จะต้องส่งต่อให้สถานที่มีมาตรฐานขยายจำนวนเพื่อมาศึกษาในสัตว์ทดลอง 

ในสัตว์ทดลองจะศึกษาความปลอดภัยและผลของยาหรือวัคซีน ในสัตว์เล็กก่อน จะใช้หนูหรือกระต่าย ต่อมาจะใช้สัตว์ใหญ่ เช่น ลิง ขั้นตอนต่างๆ ใช้เวลาเป็นปี ยา และวัคซีน จะต้องผลิตแบบมีมาตรฐาน ไม่ใช่ใน Lab ใส่ถุงมือกับเสื้อกาว์น อย่างเห็นในรูปสื่อไทยบ่อยๆ

เมื่อผ่านการศึกษาความปลอดภัย และผล จะขอขึ้นทะเบียน IND (Investigation New Drug) จาก อย.เพื่อศึกษาวิจัยในคน ยาหรือวัคซีนนั้น จะต้องผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน การศึกษาวิจัยในคน จะแบ่งเป็น 3 ระยะ

1. ศึกษาความปลอดภัย จะใช้กลุ่มอาสาสมัครขนาดน้อย เป็นหลักสิบหรือหลักร้อยต้น

2. ศึกษาผลของยาหรือวัคซีน จะใช้อาสาสมัครเป็นหลักร้อย

3. ศึกษาประสิทธิภาพ จะใช้อาสาสมัครเป็นหลักพันหลักหมื่น และมีการเปรียบเทียบกลุ่มที่ให้ยาหรือวัคซีน กับกลุ่มที่ให้ยาหลอก แต่ถ้ามียา หรือวัคซีนที่ใช้ได้ผลแล้ว จะต้องเอายาหรือวัคซีนนั้น มาเป็นตัวเปรียบเทียบขั้นตอนแต่ละขั้นตอน จะใช้เวลาเป็นปี และมีรายละเอียดมาก

เราจะเห็นว่า เราพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 2009 ขณะนี้เป็นระยะเวลา กว่า 10 ปี โรงงานวัคซีนก็สร้างเสร็จแล้ว แต่การศึกษาวิจัยยังอยู่ในระยะที่ 3  ทั้งที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่ใช้กันมานานแล้ว ไม่ได้เป็นการคิดของใหม่ เนื่องจาก โควิด-19 เป็นโรคใหม่ เรายังไม่รู้อะไรอีกมาก 

ขณะเดียวกันการพัฒนายาหรือวัคซีนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนต้องทุ่มทรัพยากรทุกด้านจำนวนมากมาแข่งกับเวลา ขั้นตอนต่างๆ จึงถือว่า ไม่อยู่ในภาวะปกติ ขั้นตอนบางขั้นตอน จึงทำเหลื่อมกัน โดยเฉพาะในสัตว์ทดลอง เพื่อลดระยะเวลาให้น้อยที่สุด 

ระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน มีวัคซีนบางตัวกำลังจะเข้าสู่การศึกษาในอาสาสมัครระยะที่ 3 แล้ว การศึกษาในระยะที่ 3  จะต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมาก ที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรค การเปรียบเทียบจึงจะเห็นผลได้ง่าย ด้วยเหตุผลนี้ทางประเทศจีนเอง ไม่สามารถทำการศึกษาระยะที่ 3 ในประเทศจีนเองได้ เพราะไม่มีโรคนี้มากเพียงพอ ต้องไปศึกษาในประเทศที่กำลังมีการระบาดโรค 

การศึกษาในระยะที่ 3 จะต้องมีการลงทุนอย่างเป็นจำนวนมาก เพราะใช้อาสาสมัครเป็นหลักหมื่น ในอดีตที่ผ่านมาในประเทศไทยหลังจากที่นักวิจัย พบสารหรือยาหรือวัคซีนที่น่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาหรือป้องกัน ก็มักจะประกาศว่าจะได้ใช้ภายใน 2 ปีบ้าง 4 ปีบ้าง ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัด ว่าทำไม่ได้ตามเป้าหมาย แล้วทุกคนก็ลืมไป

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท