Skip to main content
sharethis

'กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย' จัดเวที 'Rescue Forum : Tourism ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตการท่องเที่ยว' เสนอ 2 ข้อเสนอ #ชุบชีวิตท่องเที่ยว ให้กลับมาทำมาหากินและสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกครั้ง ด้วย 'การท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ' และ 'เปิดเกาะภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวเฉพาะ'

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ว่าหนังสือพิมพ์ข่าวสด และกลุ่ม CARE ร่วมกันจัดสัมมนา "ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตท่องเที่ยว" Rescue Forum : Tourism ณ อาคารสำนักงานข่าวสด ถนนประชานิเวศน์ 1 เขตจตุจักร กทม. เพื่อระดมความคิด นำเสนอแนวทางจัดการปัญหาสำหรับขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ลดผลกระทบ-เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยกลับมาเข้มแข็งหลังจากประสบปัญหาโควิด-19

ดำเนินรายการโดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้กล่าวเปิดงานว่า ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ในขณะที่ปัญหาสาธารณสุขดีขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไทยสามารถควบคุมและดูแลได้ดี แต่ยังต้องอยู่ในภาวะที่ต้องป้องกันอยู่ โดยภาวะเศษฐกิจที่กระทบรุนแรงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ได้ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด ทำให้ต้องมีการระดมสมองทุกคนในภาคการท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอปัญหา และการแก้ปัญหาให้กับผู้เกี่ยวข้องในการหาทางออก เพื่อจะชุบชีวิตการท่องเที่ยวไทย

รายได้หาย 13% ของจีดีพี

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนสุดท้ายของปีนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยดูว่าน่ากลัวมาก จากตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 จะหายไป 2.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13% ของจีดีพี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาประเทศไทยอยู่ที่ 8,191,574 คน ลดลง 79% จากปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 39,797,406 คนซึ่งมี 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ กรุงเทพ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี และพังงา

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองว่าผู้ว่าด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวไทยจะพึ่งหวังจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะเป็นไปไม่ได้ และจากนี้จนถึงปลายปีต้องเหนื่อยมากหากจะหวังให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา

การทดแทนรายได้การท่องเที่ยวจากไทยเที่ยวไทย ที่มีรายได้เป็น 1 ใน 3 คือ รายได้การท่องเที่ยวโดยรวม 3 ล้านล้านบาทต่อปี หรือรายได้จากไทยเที่ยวไทยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท

จากนี้จนถึงสิ้นปีการให้คนไทยเที่ยวไทยเป็นลักษณะผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้น โดยจนถึงวันนี้ททท.ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน พร้อมที่ผ่านมาได้เดินสายรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงมาตราการเยียวยาซอฟต์โลนจากรัฐบาล และททท.พยายามประสานงานทุกรูปแบบ

เพราะหลังจากนี้การท่องเที่ยวไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประเทศเป้าหมาย อย่าง ยุโรป และสหรัฐ ยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ตลาดประเทศในภูมิภาคเอเชีย และประเทศเพื่อนบ้าน ที่คาดการณ์ว่าจะกลับมาในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จนถึงวันนี้ยังไม่แน่ใจจากการเคลื่อนไหวของโควิด-19 ที่ยังควบคุมไม่ได้

ทำให้ปัจจุบัน ททท.ต้องปรับแผนทุกสัปดาห์ ขณะเดียวกันจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป การลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย และเลือกท่องเที่ยวกับกลุ่มที่ไว้ไจ ทำให้ททท.ต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจนกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยว เพราะสิ่งสำคัญ คือ การคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ตราบใจที่ยังไม่มีวัคซีน

เปิดท่องเที่ยวต้องทำเสี่ยงต่ำ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาถึงวันนี้ประเทศไทยถือว่าดีมากแล้ว และในระยะต่อไปที่ต้องดำเนินการ คือ 1.ไม่ให้มีผู้ป่วยในประเทศจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องที่เอาชนะ หรือเป็นไปได้ยาก 2.มีผู้ป่วยบ้าง แต่จะควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นเป้าหมายของเราในขณะนี้ คือ การไม่ให้มีการแพร่ระบาด และที่เพิ่มเติม คือ จะไม่ตระหนกเมื่อเกิดขึ้นอีก เพราะรู้ว่าต้องทำอย่างไร โดยจะระมัดระวังอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้กลับไปอยู่ในจุดที่เจ็บปวดได้อีก เพราะการมีสุขภาพดี ทำให้เศรษฐกิจดี

ขณะที่เศรษฐกิจดี ทำให้สุขภาพดีเช่นกัน เป็น 2 เรื่องที่อยู่ข้างเดียวกัน และผลกระทบต่อสุขภาพส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้นต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นให้ได้

เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวการเดินเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถทำได้ แต่ต้องทำให้มีความเสี่ยงต่ำ ด้วยการเลือกมาตรการอย่างชาญฉลาด การออกแบบระบบที่ดี ทำให้การเดินเข้าประเทศของต่างชาติมีความเสี่ยงที่ต่ำ ต้องมีระบบจัดการที่ดี การเปิดตลาดใหม่

การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ท่องเที่ยวปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพ โดยต้องมองไปในอนาคตที่การท่องเที่ยวต้องคิดในแนวนี้มองไปแนวนี้ เพราะไม่รู้ว่าโควิด-19 จะอยู่ไปอีกนานเท่าใด

นายทัศพล แอร์เอเชีย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทยแอร์เอเชีย (TAA) เปิดเผยว่า สนับสนุนให้รัฐบาลไทยพิจารณาแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ ทราเวล บับเบิ้ล เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่มีมาตรการแบบนั้น ไปคุยหลายสถานทูต ทุกคนพูดตรงกัน ถ้าเรามีมาตรการอย่างไร ถ้าเขาทำได้ เขายินดีเปิดกับ

นอกจากนี้ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาท และธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาท ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจสายการบิน รอการช่วยเหลือมา 3 เดือนยังไม่ถึงไหนเลย โดยในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ไม่ควรใช้เกณฑ์ปกติมาแก้ไขปัญหา เช่น วางทรัพย์สินประกันเหมือนเดิม ดอกเบี้ยเหมือนเดิม ต้องมีการผ่อนผัน

คาดโรงแรมปิดตัว 20%

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโรงแรมในไทยที่จดทะเบียนถูกต้อง 16,282 แห่ง มีห้องพักรวม 7.3 แสนห้อง มีโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตเลย 49,927 แห่ง 1.01 ล้านห้อง มีคนในอุตสาหกรรมโรงแรม 1.6-1.8 ล้านคน

ถ้าไม่มีการผ่อนคลาย หรือ มาตรการชัดเจน ผ่อนคลายนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาบ้าง โรงแรมต้องปิดถาวรไปเลยอีกจำนวนหนึ่ง เปิดมาก็ขาดทุน และจะทนขาดทุนไปได้อีกกี่เดือน โดยคาดว่าสิ้นปี 2563 หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ไม่มีมาตรการออกมา โรงแรมจะปิดตัวถาวร 20%

นอกจากนี้ รายได้จากยอดพัก 40% ในช่วง ม.ค.-มี.ค.2563 ก็ไม่พอค่าใช้จ่าย 8 เดือนที่เหลืออยู่ ในสถานะที่ลำบากมากจริงๆ ถ้ารัฐบาลยังไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว จากนี้ ภาคการท่องเที่ยวก็คงไม่ใช่ธุรกิจหลักของประเทศ ในการสร้างรายได้ เพราะถึงกลับมาก็กลับมาไม่เต็ม 100% ส่วนซอฟท์โลน ได้แต่อาจจะไม่ตรงวัตถุประสงค์ ได้ดอกเบี้ยที่ปล่อย 2% ธนาคาร แต่คนที่ได้กี่ % ก็แล้วแต่ความสามารถในการเจรจากับธนาคาร

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหน ยื่นมือช่วยผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ทั้งๆที่สร้างรายได้ให้ประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งจากสถานการณ์โควิด ทำให้มีร้านค้าล้มหายตายจากไปแล้วกว่า 5-6 หมื่นราย จึงเสนอ 2 แนวทางให้รัฐบาล 1.ดูแลแรงงานในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ตกงานและกลับชนบทให้มีงานทำ 2.หาแรงงานคนไทยกว่า 1.5 ล้านราย เข้าสู่งานธุรกิจอาหาร แทนแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศในช่วยโควิด

นางสุมาลี ว่องเจริญกุล เลขาธิการ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตตา) เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปีนี้ เลิกหวังตัวเลขที่ 40 ล้านคนไปเลย จากนี้อย่างน้อยๆ ขอให้มาถึง 1 ล้านคน โดยมีความหวังริบหรี่คือ ให้รัฐบาลออกมาตรการทราเวล บับเบิบ เพราะถ้าวันนี้ยังไม่ทำอะไร แล้วจะรอวัคซีน ซึ่งวัคซีนก็ไม่ได้เพียงพอทุกคน แล้วจะไปได้อีกเท่าไหร่ ซึ่งวิกฤตครั้งนี้สาหัสมาก ทุกคนก็กำลังจะหาวิ่งที่กำลังจะก้าวพ้นไปได้ ส่วนซอฟท์โลน ก็ช่วยได้บ้าง แต่ไม่มาก และเสนอไม่ควรมีเงื่อนไขปล่อยกู้เหมือนภาวะปกติ

ต้องเร่งช่วยผู้ประกอบการ

นายเด่น มหาวงศนันท์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ของรัฐบาลที่ออกมา ก็ส่งผลดีบ้าง แต่ไม่มาก เช่น การสนับสนุนเงินให้ อสม. ไปเที่ยว รัฐบาลเคยถามไหมว่า อสม. อยากเที่ยวหรือไม่

ขณะที่การบริหารการจัดการแหล่งท่องเที่ยวในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ก็เห็นชัดว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ ระบบคัดกรองไม่มี เปิดตลาดชุมชนไม่มี ส่วนซอฟท์โลน ที่ผ่านมา จากสมาชิกสมาคม 400 ราย และผู้ประกอบการโรงแรม กว่า 1 หมื่น กู้ผ่านได้แค่ 10% เท่านั้น

นางอักษิกา จันทรวินิจ ตัวแทนผู้ประกอบการสถานบริการนวดแผนไทย เปิดเผยว่า มาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว เช่น การแจกเงิน อี-วอลเลท เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะไม่มีความต้องการเกิดขึ้นเนื่องจากคนจะใช้บริการก็ต่อเมื่อมีรายได้เพิ่มและมีเวลา แต่คนยังมีปัญหาเรื่องรายได้ ก็ใช้จ่ายระมัดระวัง ส่วนซอฟท์โลน กลุ่มร้านนวดได้มาแล้วจะทำอะไร นำไปใช้หนี้ หรือ ต่อยอดธุรกิจที่ไม่มีผู้ซื้อจริงอยู่ ก็ไปต่อไม่ได้

ทั้งนี้ กลุ่มร้านนวดที่สนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว มีต้นทุนค่าเช่ามากกว่าร้านนวดปกติ 30% ณ ตอนนี้กว่า 60% ของจำนวน 15,000 ร้าน รวมทั้งที่จดทะเบียนและยังไม่จดทะเบียน ปิดตัว เพราะขาดทุน ซึ่งต้นทุนหลักคือ พนักงาน และคนที่มาทำงานเป็นก็เป็นความรู้วิชาชีพ ให้ปรับตัวก็ไม่ทัน

วอนรัฐบาลเปิดทราเวล บับเบิล

นายพิทักษ์ โยธา ตัวแทนผู้ประกอบการสถานบริการเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มร้านนวด มีความคาดหวัง ในมาตรการทราเวล บับเบิล อยากให้รัฐบาลลองดูสักครั้ง ให้นักธุรกิจ ฮ่องกง ไต้หวัน บางเมือง ได้เข้ามาที่ไทยบ้าง คนที่อยากเข้าคือมีฐานะ อยากเข้ามาพัก และอาศัยที่ไทย ก็มีความต้องการเข้ามา ทำธุรกิจ ซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งมีนักเรียนนักศึกษา 4,700 คน ที่ต้องการเดินทางเข้ามาแต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐ ที่จะเปิดให้เข้ามา

รวมทั้งอยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุนเฉิน เพราะทำให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่ต้องการเดินทางมาไทย กังวลว่าสถานการณ์จะปลอดภัยหรือไม่

ส่วนกู้ซอฟท์โลน ธุรกิจนวดก็รอมา 3 เดือนเหมือนกัน ติดต่อธนาคารออมสิน ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้ อยากให้รัฐบาลมองในภาพรวม ถ้าคนไทยมีเงินก็จะไทยเที่ยวไทยได้ แต่ตอนนี้ไม่มีเงิน เพราะไม่มีรายได้ จะให้ไทยเที่ยวไทยได้อย่างไร

นายธนวัฒน์ ศรีสุข ตัวแทนผู้ประกอบการสถานบันเทิง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่อยู่ในธุรกิจสถานบันเทิงในประเทศ หรือกลุ่มคนกลางคืนจำนวน 7 ล้านคน หากรวมคนในครอบครัวมีถึงประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ

เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา และขณะนี้เพิ่งเปิดได้กว่า 1 สัปดาห์ มีผู้ใช้บริการลดลงไปประมาณ 70% โดยมาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดกับภาพรวมธุรกิจอย่างมาก พร้อมได้รับผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวที่หายไป ในขณะที่การถูกมองว่าธุรกิจสีเทา

ทำให้การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นเรื่องลำบาก จึงอยากฝากรัฐบาลและเรียกร้องให้หันมอง ที่ผ่านมาความช่วยเหลือ ทั้งสวัสดิการจากภาครัฐ และสังคม เงินเยียวยาไม่เคยได้

ขณะเดียวกันซอฟต์โลนไม่เคยได้ เข้าไม่ถึง เพราะถูกมองว่าเป็นธุรกิจสีเทาที่มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันไม่สามารถหารายได้ทดแทนเหมือนกับธุรกิจอื่น ที่หลายธุรกิจสามารถทำผ่านออนไลน์ได้

แต่สถานบันเทิงไม่สามารถทดแทนได้ นอกจากนี้อยากฝากถึงภาครัฐกับการที่อนุญาตให้เปิดถึงสถานบันเทิงได้ถึงเวลาเที่ยงคืน และขยายไปถึงตีสองแตกต่างกันอย่างไร เพราะระยะเวลาดังกล่าวได้ส่งผลต่อการจ้างงาน อย่าง การจ้างงานของวงดนตรีได้เพียง 1 วงต่อวัน จากปกติ 2-3 วงต่อวัน ทำให้กลุ่มนักดนตรีได้รับผลกระทบรายได้ลดลง รวมทั้งพนักงานเสิร์ฟในร้านด้วย

นายสุรวัช อัครวรมาส เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวไทยเน้นเรื่องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรืออินบาวด์มาก ดังนั้นแนวทางฟื้นฟูด้วยการทำทราเวลบับเบิล ควรจะเป็นบับเบิ้ลแบบจุดต่อจุดไปก่อน อย่าง จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก อย่าง ภูเก็ต ที่มีนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหลัก ให้ทำบับเบิ้ลกับประเทศจีนด้วยการคุยกับจีน แล้วให้ประชาพิจารณ์จากคนในจังหวัด

2 ข้อเสนอ #ชุบชีวิตท่องเที่ยว ให้กลับมาทำมาหากิน และสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกครั้ง

นอกจากนี้ใน เพจ CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้เปิดเผยถึงรายละเอียด 2 ข้อเสนอ #ชุบชีวิตท่องเที่ยว ให้กลับมาทำมาหากิน และสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกครั้ง โดย นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ดังนี้

1. (Slide ที่ 1 และ 2) Seamless Travel Experience (การท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ)

- ให้รัฐเร่งจัดการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐแบบทวิภาคี (Bilateral) โดยเร็วที่สุด กับกลุ่มประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อตํ่า

- การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยหลักวิชาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่มีความแม่นยําสูง (เช่น PCR Test) และให้ผลเร็ว (ประมาณ 1 ชม) ตั้งแต่ก่อนเดินทางออกจากสนามบิน

- การกักตัวผู้เดินทาง 14 วัน เป็นอุปสรรคสําคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แม้มาตรการข้างต้นนั้นจะลดโอกาสติดเชื้อสูงมากแล้ว หากมีความจําเป็นต้องกักตัวอาจเพิ่มมาตรการกักตัวไม่เกิน 3 วัน เพื่อตรวจหาเชื้อยืนยันครั้งที่ 2

2. (Slideที่ 3) "เปิดเกาะภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวเฉพาะ"

ทำไมถึงต้องเริ่มต้นที่ 'ภูเก็ต' ?

- เนื่องจากจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ที่ทํารายได้เข้าประเทศ 4 แสน 2 หมื่นล้านบาท กลุ่มผู้ประกอบการพร้อมที่จะให้ความร่วมมือการให้บริการแบบ (Alternative State Quarantine) เป็นเขตบุกเบิก ฟื้นการท่องเที่ยวอีกครั้ง

- ภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยี่ยมเยือนเป็นอันดับสอง รองจาก "กรุงเทพ" และมีกว่า มีกว่า 15 - 20 เมือง จากทั่วโลก ที่บินตรงเข้าสู่ภูเก็ต

และนี่คือข้อเสนอของเรา ที่จะพาภาคการท่องเที่ยว และคนไทยทั้งประเทศ ออกจาก "มหาวิกฤต"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net