Skip to main content
sharethis

เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเปิดข้อมูลเหตุวิกฤต COVID-19 ทำลูกหลานตกงานเพียบ ส่งผลให้คนเป็นแม่ต้องดูแลทุกคน พร้อมยื่น 6 ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ขอให้อยู่บนพื้นฐานปกป้องสิทธิผู้หญิง แม่และคนทำงานดูแลคนอื่น ๆ ให้เข้าถึงอำนาจด้านเศรษฐกิจ ชงรัฐจัดสวัสดิการถ้วนหน้าจัดที่อยู่อาศัย-การศึกษา-สุขภาพ ให้กับผู้หญิงทุกคน

เมื่อวันที่ ‪11 ก.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นำโดยนางทันตา เลาวิลาวัณยกุล และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ในเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ ปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยมีนายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช กรรมาธิการฯ เป็นผู้รับจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายฯ

นางทันตา กล่าวว่า เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ทำงานในชุมชนจาก 19 กลุ่ม ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรมนูญ พ.ศ. 2560 และคณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในคณะกรรมาธิการฯ นำข้อเสนอของเครือข่ายฯ ไปประกอบในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ และส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณา หาแนวทางในการสนับสนุน โดยข้อเสนอของเครือข่ายฯ มี 6 ข้อ ประกอบด้วย

1. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพ ปกป้อง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

2. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องตระหนักว่างานในบ้านในชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นงานที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ที่กระทำโดยแม่และผู้ดูแลคนอื่นๆ ในครอบครัว และต้องได้รับค่าตอบแทน โดยรัฐต้องจัดหาสวัสดิการและประกันค่าตอบแทนให้แม่และคนทำงานในบ้านทุกคน 

3. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องลดอำนาจการกระจุกตัวและกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น ให้ผู้หญิงทุกระดับมีอำนาจในการตัดสินใจและมีส่วนร่วม

4. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องสนับสนุนสวัสดิการการศึกษาถ้วนหน้าของผู้หญิงทุกกลุ่ม ทุกความต้องการพิเศษและสนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่สามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางของชีวิตได้อย่างอิสระ 

5. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องลดอำนาจและงบประมาณทหารเพื่อนำมาจัดสรรรัฐสวัสดิการให้กับผู้หญิงและประชาชนทุกคน

6. รัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพที่ผู้หญิงกลุ่มต่างๆ เข้าถึงได้ เช่น ต้องจัดสรรที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่มีผู้หญิงเข้าถึงการถือครองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ต้องจัดสรรให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการในทุกระดับอย่างน้อยร้อยละ 50 ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าถึงการให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงอย่างรอบด้าน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติและมีบ้านพักฉุกเฉินที่ผู้หญิงทุกคนใช้ได้ แรงงานหญิงไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบต้องได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและเท่าเทียม สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ถูกกฎหมาย ต้องมีทางเลือกให้ผู้หญิงที่ไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์โดยรัฐต้องมีสวัสดิการให้ รวมถึงผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว สร้างความเชื่อมั่นเรื่องรัฐสวัสดิการให้ผู้หญิงทุกกลุ่มด้วยการจัดให้มีล่ามหรือแปลเอกสารเป็นทุกภาษา

นางทันตา ระบุด้วยว่า เครือข่ายฯ ต้องการย้ำถึงความสำคัญในประเด็นเรื่องงานดูแลในบ้าน ในชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นงานที่มีคุณค่าสร้างคุณูปการทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทำโดยผู้หญิง แม่ และคนทำงานดูแล อย่างไรก็ตามงานดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกให้คุณค่าโดยสังคมและระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐเห็นถึงความสำคัญของงานดูแลในบ้านในชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้หญิง แม่และคนทำงานดูแล ด้วยการจัดสวัสดิการและประกันค่าตอบแทนให้กับคนทำงานดูแลทุกคน

“ที่ผ่านมาพวกเราถูกดำเนินคดี ถูกกระทำ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิของเรา โดยเจตนารมณ์ของเครือข่าย คือการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่มีพลังในการต่อสู้ เพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในประเทศไทย ที่จะสามารถกำหนดเจตนารมณ์และความต้องการของตัวเองในการแก้ไขปัญหาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” ตัวแทนเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยระบุ

ด้านนายเอกพันธุ์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ หากสามารถบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ก็จะเป็นการยกระดับความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่คณะกรรมาธิการฯ จะต้องนำไปศึกษาและลองดูว่ามีเงื่อนไขอะไรที่จะสามารถทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ หากต้องมีการแก้ไขหรือร่างใหม่ ส่วนประเด็นการทำงานดูแลในบ้านนั้น ยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังว่าคนที่ทำงานดูแลในบ้านจะมีประโยชน์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งในคุณค่าทางเศรษฐกิจเห็นว่า คนทำงานกลุ่มนี้ช่วยประคับประคองการดำรงชีวิตของสถาบันครอบครัว และถึงแม้จะเป็นการทำงานในบ้านแต่ถือว่ามีความสำคัญที่สุด และเป็นคนที่เสียสละเวลาที่จะไปทำมาหากินในการดูแลปากท้องตัวเอง มาดูแลคนในบ้าน 3-4 คน ซึ่งทำให้ศักยภาพในการดูแลตัวเองของคนทำงานดูแลในบ้านลดลง ขณะเดียวกันพวกเขายังจะต้องอยู่ในภาวะพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น จนในบางครั้งถูกกล่าวหาว่าเป็นภาระในบ้าน ดังนั้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ระบบของสังคมจะถูกออกแบบให้มาตอบโจทย์กลุ่มคนเหล่านี้ให้มีรายไดและมีสวัสดิการดูแล

นายเอกพันธุ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลด้วยนั้น กล่าวว่า ในส่วนของผลประโยชน์ทางสังคมนั้น การดูแลคนในบ้านเป็นความสัมพันธ์ระดับปฐมภูมิระหว่างคนในครอบครัว ย่อมมีคุณค่ามากกว่าการจ้างงานในระบบปกติกับงานประเภทเดียวกัน เช่น การดูแลผู้ป่วย หากไปจ้างงานกับคนนอก ผู้ดูแลก็จะขาดความรู้สึกใกล้ชิด ไม่มีความสัมพันธ์ ไม่สามารถเติมเต็มให้ผู้ป่วยได้เหมือนกับคนในครอบครัวดูแล

ด้านนางสมปอง เวียงจันทร์ เครือข่ายสมัชชาคนจนในฐานะสมาชิกเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้บอกเล่าประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ทำงานดูแลในบ้าน ในชุมชน ว่ามีตัวอย่างที่ชัดเจนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ลูกและหลานของตนตกงาน และทุกคนก็กลับบ้านมาอยู่กับแม่ โดยแม่ก็มีหน้าที่ในการแบกรับในการดูแลทุกคน ทั้งยังช่วยหาที่ดินเพื่อให้ลูก-หลานทำการเกษตร เพื่อให้มีรายได้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะดูแลแม่หรือผู้ที่ทำงานดูแลในบ้านก็ถือเป็นเรื่องดี

ในส่วนของนางสาว ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพคเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องระบุว่าให้ค่าตอบแทนแม่และคนทำงานดูแลทั้งในครอบครัว ชุมนุม และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า คือหลักประกันของสิทธิและความเสมอภาคของประชาชน ที่ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ เป็นเงื่อนไขการสร้างอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ให้แม่และคนทำงานดูแล และจะเป็นกลไกต่อการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงและคนที่ต้องดูแลคนอื่นที่เป็นประชาชนคนธรรมดาที่ต้องรับภาระการดูแลแทนรัฐมาโดยตลอด

สำหรับเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่มายื่นข้อเรียกร้องในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ 19 กลุ่ม [1]

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ฯ จะจัดเวทีส่วนภูมิภาครับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติม ในวันเสาร์ที่ 18 ก.ค. 2563 มหาวิทยาลัยของแก่น จังหวัดขอนแก่น วันเสาร์ที่ 25 ก.ค. 2563 มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี วันอาทิตย์ที่ 26 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาและ วันเสาร์ที่ 1 ส.ค. 2563 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา โดยจากการระบาดของโควิด-19 คณะกรรมาธิการฯ ได้ขยายเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการไปอีก 90 วัน นับจากวันที่ 25 มิ.ย. เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และจะจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเพื่อส่งไปให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป

 
___
[1] ประกอบด้วย ผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พนักงานบริการ ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ผู้หญิงต่อสู้เรื่องการเข้าถึงทรัพยากรทางทะล ผู้หญิงที่ร่วมก่อตั้งการเดิน We Walk ผู้หญิงต่อสู้เรื่องการปฏิรูปที่ดินในอีสาน ผู้หญิงที่ต่อสู้ต้านเผด็การ ผู้หญิงผู้ลี้ภัย ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ผู้หญิงที่เคยติดคุกเพราะความอยุติธรรม ผู้หญิงทนายความที่ทำคดีสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกคุกคาม ผู้หญิงจากขบวนการต่อสู้ชุมชนที่เป็นตำนาน เช่น สมัชชาคนจน ผู้หญิงจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ผู้หญิงแรงงานที่ต่อสู้กับทุนอย่างกลุ่ม Try Arm และผู้หญิงหาบเร่แผงลอย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net