ประเมินผลงาน 365 วันรัฐบาลประยุทธ์ รัฐสวัสดิการไทยถดถอยหรือก้าวหน้า [คลิป]

คลิปจากเวทีเสวนา "365 วันรัฐสวัสดิการ" จัดโดยเครือข่าย We Fair เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 63 หอประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา แยกคอกวัว

ช่วงแรก เสวนา “ประเมินผลงาน 365 วัน รัฐบาลประยุทธ์ รัฐสวัสดิการไทยถดถอยหรือก้าวหน้า” เริ่มนำเสนอโดย นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair จากนั้นเป็นการอภิปรายโดย (1) ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ รายงานผลการสำรวจความเห็น ผลงานด้านสวัสดิการสังคมของรัฐบาล (2) ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์นโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐบาล และ (3) อภิสิทธิ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ทิศทางนโยบายสวัสดิการสังคมของสังคมไทย

We Fair จัดประเมิน 1 ปีรัฐบาลประยุทธ์ ย้ำ ‘สอบตก’ นโยบายด้านรัฐสวัสดิการ, 12 ก.ค. 63

ธนาธรสอบผลงานรัฐด้านสวัสดิการและส่องงบประมาณปี 64| [365 วัน] รัฐสวัสดิการ [คลิป], 11 ก.ค. 63

ด้านษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ชี้ว่าพรรคการเมืองที่สัญญาเรื่องรัฐสวัดิการก็ยังพยายามไม่มากพอ คนไทยเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำที่มีหน้าตาแบบเดิมมาหลายสิบปี แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ อำนาจทุน และอำนาจรัฐที่มากขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่กดอยู่บนหลังคนไทยยังเป็นแอกที่อยู่บนหลังวัวหลังควายอันเดิม โดยในปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า 4 เสาค้ำยันความสิ้นหวังของประเทศ คือ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การขาดเสรีภาพในการแสดงออก และการถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ทาง We Fair ได้เสนอพรรคการเมืองมาเสนอนโยบายโดยสำรวจดูว่าแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการด้านใดบ้าง โดยพบว่า พรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายด้านรัฐสวัสดิการมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันคือ พรรคก้าวไกล อันดับรองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐมีความชัดเจนทางแนวนโยบายว่าเป็นนโยบายสังคมสงเคราะห์ และพรรคเพื่อไทยมีแนวนโยบายที่เน้นแนวเสรีนิยม

เขาย้ำด้วยว่าการเป็นฝ่ายค้านในสภานั้นไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างได้ว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ เพราะการเป็นฝ่ายค้านในสภาก็สามารถเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ได้ และจากช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าพรรคการเมืองที่เสนอแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการไว้จำนวนมาก และได้รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาฯ แม้จะเป็นฝ่ายค้านก็ตาม ยังพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่มากพอ

เดชรัต สุขกำเนิด เผยผลสำรวจออนไลน์เรื่องสวัสดิการสังคม ผู้ตอบแบบสำรวจ 1.ต้องการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพความทัดเทียมกัน 2.อยากให้เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี 3.เบี้ยยังชีพควรเปลี่ยนเป็นบำนาญแห่งชาติ 3,000 บาทต่อเดือน 4. ต้องการ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและค่าจ้างแรงงานขั้นต้น และ 5.ต้องการสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยตามนิยามสากลแล้ว ซ้ำยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จนทำให้เกิดภาวะแก่ก่อนรวย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสวัสดิการที่รองรับความจำเป็นในการดำรงชีวิตยามชราของประชาชน ส่วนความเป็นไปได้ที่จะทำให้ประเทศมีระบบสวัสดิการที่ถ้วนหน้าได้ ด้านหนึ่งคือพลังของประชาชนในการต่อสู้ผลักดัน แต่ความสำเร็จทางนโยบายหลายเรื่องจำเป็นต้องอาศัย 3 ส่วนด้วยกันคือ พลังของภาคประชาชน ความรู้ และกระบวนการทางการเมืองซึ่งส่วนนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะหากทบทวนดู นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เกิดจากการทำงานเชิงเทคนิคของฝ่ายราชการ แต่พรรคไทยรักไทยในขณะนั้นชูเป็นนโยบายและเอามาทำ การเรียนฟรีถ้วนหน้า ก็เกิดขึ้นเพราะพรรคประชาธิปัตย์หาเสียง เช่นเดียวกับการทำเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบายเหล่านี้ไม่ได้มาจากกระทรวงหรือหน่วยงานราชการ แต่เป็นนโยบายที่มาจากผู้นำในแต่ละยุค

ส่วนการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมีการลงทะเบียนเยียวยาโควิด-19 ถือว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้เก็บข้อมูลของประชาชนไว้มากที่สุด หากรัฐบาลต้องการผลักดันรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างจริงจัง และมีความฉลาดมากพอก็น่าจะรู้ว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาสามารถที่จะออกแบบและจัดสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างถ้วนหน้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท