การคุกคามทางเพศ การตอบโต้และสถานะทางสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัจจุบัน หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่องคงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องเพศและการคุกคามทางเพศ เมื่อเกิดเหตุในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์หรือสื่อสังคมออนไลน์ เราจะเห็นปรากฏการณ์ของการออกมาถกเถียงกันถึงประเด็นดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมุมมองจากฝั่งเฟมินิสต์หรือฝั่งที่ออกตัวว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับฝั่งของเฟมินิสต์เอง ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นตัวสะท้อนให้เราเห็นปัญหาทางโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมและยังเป็นสนามของการต่อสู้ทางความคิดอย่างต่อเนื่องจากอดีตจวบจนถึงปัจจุบันในหลากหลายวงการ ทั้งรัฐศาสตร์ กฎหมาย จิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ สังคมวิทยา ฯลฯ จนอาจกล่าวได้ว่า ประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศนี้เป็นประเด็นที่ยังหาข้อสรุปได้ยาก ด้วยความอ่อนไหวและความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่ต้นเหตุอย่างโครงสร้างไปจนถึงการเยียวยาในกรณีที่เกิดเหตุขึ้นแล้วด้วย

ในบทความนี้ ผู้เขียนประสงค์จะบอกเล่าเรื่องราวและวิธีการจัดการกับสถานการณ์การคุกคามทางเพศของแรงงานอพยพหญิงไทยและฟิลิปปินส์ในภูมิภาคคยองกีโด ประเทศเกาหลี อีกกลุ่มคนที่ต้องรับความเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศด้วยสถานะทางสังคมที่หลากหลาย ทั้งสถานะของความเป็นผู้หญิง ความเป็นชนชั้นแรงงานและความเป็นคนต่างชาติ โดยบทความนี้ปรับมาจากวิทยานิพันธ์ของผู้เขียน ในขณะที่ศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาสังคมวิทยาอยู่ที่สถาบันวิจัยเกาหลีศึกษา เมืองซองนัม คยองกีโด เกาหลีใต้
 

แรงงานอพยพหญิงและการคุกคามทางเพศในเกาหลี

การคุกคามทางเพศกลายเป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมเกาหลีปัจจุบัน เมื่อมีปรากฏการณ์ #MeToo และการออกมาเปิดเผยถึงเรื่องราวการคุกคามทางเพศในที่ทำงานของผู้หญิงหลากหลายวงการ ประเด็นเหล่านี้ยังกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อสังคมรับรู้ถึงการค้าประเวณี (พ่วงด้วยการค้ามนุษย์) ที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มองค์ธุรกิจขนาดใหญ่ ดารา นักแสดง รวมไปถึงกระแสจากภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายบอกเล่าชีวิตของผู้หญิงเกาหลี ลากยาวมาจนถึงประเด็นห้องแชทลับ ที่ล่าสุดจุดฉนวนความสนใจและทำให้เกิดการตั้งคำถามและการตรวจสอบถึงประเด็นเหล่านี้อย่างเข้มข้น

แต่ถึงกระนั้น ยังมีอีกกลุ่มบุคคลหนึ่งที่มักจะถูกหลงลืมไปเมื่อมีการหยิบยกถึงประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศขึ้นมาถกเถียงกันในสังคมเกาหลี กลุ่มคนเหล่านี้ได้แก่ ‘แรงงานอพยพหญิงในเกาหลี’ นั่นเอง

เมื่อมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกช่วงปี 1990 รัฐบาลเกาหลีเริ่มเปิดรับแรงงานอพยพหญิงเข้าไปทำงานในประเทศเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงานประเภท 3D - งานสกปรก (Dirty Job) งานอันตราย (Dangerous Job) งานยาก (Demeaning Job) ผนวกกับควมต้องการแรงงานในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมเบาและงานบันเทิง อีกทั้งแรงงานหญิงเป็นแรงงานที่รับค่าแรงถูกกว่า ซ้ำยังควบคุมได้ง่ายกว่าแรงงานชาย ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้รัฐบาลเกาหลีเลือกเปิดโควตาให้แรงงานอพยพหญิงเพิ่มมากขึ้น  (Piper, 2008)

แม้ว่าจำนวนแรงงานอพยพหญิงในเกาหลีจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและการเลือกปฏิบัติทางเพศยังไม่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาแก้ไขอย่างจริงจัง และยังคงปรากฏเป็นปัญหารุนแรง โดยหนึ่งในสาเหตุใหญ่นั้นเกิดจากโครงสร้างความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่ในสังคมเกาหลีเดิม จากการศึกษาของ Choi (2015) ได้อธิบายถึงมุมมองของคนเกาหลีไว้ว่า ในสายตาคนเกาหลี ผู้อพยพชายมีสถานะเป็น ‘แรงงานอพยพ’ เป็นคนที่เข้ามาทำงานและมีสถานะในเชิงเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้อพยพหญิงมักจะถูกมงว่าเป็นเพียง ‘ผู้อพยพเพื่อสมรส’ (ภาษาที่เข้าใจได้ทั่วไปคือ สะใภ้เกาหลี) หรือ ‘ผู้ติดตามแรงงานอพยพชาย’ เสียมากกว่า ซ้ำร้าย ภาพลักษณ์ของแรงงานอพยพหญิงในร้านนวดหรือสถานบันเทิงรูปแบบต่างๆ เช่น คลับ ร้านคาราโอเกะ ยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างภาพจำที่ฝังแน่นในความคิดของคนเกาหลี ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นั้น นอกจากจะสร้างความไม่เท่าเทียมทางสังคมให้กับพวกเธอแล้ว ยังนำมาซึ่งปัญหาอื่น เช่น การใช้ความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน อีกทอดหนึ่งด้วย

ปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับแรงงานอพยพหญิงในเกาหลีใต้ ผลการสำรวจจากหลายสำนึกบอกให้รู้ว่า การคุกคามทางเพศเป็นสิ่งที่เธอเหล่านี้ต้องประสบพบเจอบ่อยจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน และสามารถเกิดกับใคร ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าเธอจะทำงานในสวน โรงงานหรือสถานบันเทิง (Lee, 2014; So, 2016) หากพวกเธอไม่ได้ประสบกับปัญหาดังกล่าวด้วยตัวเอง แรงงานอพยพหญิงก็มักจะได้ยินเรื่องราวของแรงงานอพยพหญิงคนอื่นที่เคยถูกล่วงละเมิดในรูปแบบต่างๆ มาอีกทอดหนึ่ง (Chang, 2016) ทั้งประสบการณ์ตรงและคำบอกเล่าเหล่านี้เองที่ทำให้หลายคนมีอาการหวาดระแวงและรู้สึกไม่ปลอดภัยในขณะทำงาน (Lee, 2001)

รูปแบบของการคุกคามที่แรงงานอพยพหญิงมักประสบในที่ทำงานนั้น มีตั้งแต่การคุกคามทางคำพูด การแตะต้องสัมผัสตัวไปจนถึงกรณีการใช้ความรุนแรงที่อาจถึงขั้นขืนใจ ลักษณะการคุกคามทางเพศที่พบเจอได้มากที่สุด คือ การแตะต้องสัมผัสร่างกายโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมและการลวนลามทางสายตา ในกรณีที่แรงงานหญิงมีทักษะในการสื่อสารภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี มีพบกรณีการคุกคามทางคำพูด เช่น การชวนร่วมหลับนอน เป็นต้น แน่นอนว่า พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความคุกคามเหล่านี้สร้างความรู้สึกอึดอัดใจให้กับพวกเธอ แต่เพราะเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำบ่อยครั้ง แรงงานหญิงหลายคนจึงเลือกที่จะมองข้ามประเด็นดังกล่าว และบอกปัดว่าอีกฝ่ายต้องการเพียงจะล้อเล่น ไม่ถือเป็นการคุกคามอย่างจริงจัง ซึ่งการตอบโต้ในลักษณะนี้เองที่สามารถนำไปสู่การเกิดเหตุซ้ำ และบางกรณีนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นเป็นคดีความในท้ายที่สุด

 

การตอบโต้ของแรงงานอพยพหญิงต่อการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

เมื่อเกิดเหตุคุกคามทางเพศขึ้นในที่ทำงาน คำถามต่อมาคือคำถามที่ว่า พวกเธอเหล่านี้จัดการกับเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไร ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมตอบโต้ของแรงงานหญิงอพยพ ผู้เขียนอยากเตือนให้ผู้อ่านเข้าใจก่อนว่า กระบวนการคิดในการตอบโต้ต่อเหตุคุกคามทางเพศของพวกเธอเหล่านี้แตกต่างกันออกไปตามแต่บุคคลนั้นๆ เพราะการรับรู้ถึงความร้ายแรงของการคุกคามทางเพศที่แรงงานแต่ละคนมีนั้นอยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นแล้ว แม้จะถูกคุกคามทางเพศในรูปแบบเดียวกัน พวกเธอแต่ละคนก็อาจเลือกที่จะแสดงออกต่างกันตามความคิด ความเชื่อ ค่านิยม รวมไปถึงข้อจำกัดและสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน ไม่เพียงเท่านั้น สถานการณ์และปัจจัยสนับสนุนภายนอกเอง ก็ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของแรงงานอพยพหญิงในทางตรงด้วย

จากการศึกษา เราสามารถแบ่งประเภทการตอบโต้ต่อเหตุคุกคามทางเพศในที่ทำงานของแรงงานอพยพหญิงได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ ได้แก่ แนวทางเชิงรับและแนวทางเชิงรุก

แนวทางเชิงรับ

การตอบโต้ในเชิงรับนั้น กล่าวได้ว่า มักเป็นการตอบโต้เชิงป้องกันตัวที่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถระงับการคุกคามทางเพศได้ในระยะยาว กรณีตัวอย่างที่เลือกตอบโต้ในเชิงรับมักเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างหรือองค์กรอื่นๆ ซ้ำเจ้าตัวมักมองว่าปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นปัญหาส่วนตัวที่ตนไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยภายนอกได้ การตอบโต้ในลักษณะนี้ ได้แก่ การอดทนและการเปลี่ยนที่ทำงาน

รูปแบบการตอบโต้แบบแรก คือ การอดทนต่อการคุกคามทางเพศในที่ทำงานนั้นเป็นทางเลือกที่พบได้โดยทั่วไป แม้เหตุคุกคามทางเพศจะทำให้พวกเธออึดอัดและไม่พอใจ แต่หลายคนเลือกที่จะอดทน และมุ่งความสนใจของตัวเองไปที่งาน ในการป้องกันการคุกคามที่อาจเกิดซ้ำ เธอเหล่านี้เลือกที่จะเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่เคยแสดงพฤติกรรมคุกคามแทน กลุ่มที่เลือกตอบโต้ในรูปแบบนี้ให้เหตุผลว่า พวกเธอไม่อยากให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย ทั้งตัวเองและคนในที่ทำงาน รวมไปถึงความยุ่งยากและความเสี่ยงในรูปแบบอื่น ที่อาจต้องเผชิญเมื่อมีการดำเนินการในทางกฎหมายด้วย การอดทนด้วยตัวเองจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ทำได้ง่ายและปลอดภัยมากกว่า จากการพูดคุยกับพวกเธอเหล่านี้ ยังพบอีกว่า คนที่เลือกตอบโต้ด้วยการอดทนนี้มีแนวโน้มที่จะมองประเด็นการคุกคามทางเพศและการจัดการกับเหตุดังกล่าวเป็นเรื่องในความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อตัวเองโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ผู้เขียนพบกรณีตัวอย่างที่เลือกเปลี่ยนการตอบโต้จากเชิงรับที่สุดอย่างการอดทนไปเป็นการตอบโต้ในเชิงรุก เช่น การแจ้งความ เมื่อได้รับปัจจัยสนับสนุนเข้ามาในภายหลัง โดยผู้เขียนจะอธิบายเรื่องนี้ในส่วนต่อไป

อีกหนึ่งการตอบโต้ต่อการคุกคามทางเพศในเชิงรับ คือ การเปลี่ยนที่ทำงาน วิธีการตอบโต้ในรูปแบบดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่ต่อเนื่องหลังการอดทนต่อการคุกคามไประยะหนึ่ง โดยผู้ที่เลือกตอบโต้ในรูปแบบนี้ พบว่า การอดทนส่งผลให้ตนยังต้องประสบเหตุคุกคามอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าการคุกคามจะทวีความรุนแรงและอันตรายมากขึ้น กลุ่มที่เลือกใช้วิธีการดังกล่าว มักเป็นกลุ่มแรงงานหญิงอพยพที่ไม่มีใบอนุญาตหรือวีซ่าทำงาน เพราะแรงงานกลุ่มนี้สามารถย้ายงานได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตนายจ้าง และไม่จำเป็นต้องแจ้งขอย้ายงานจากกรมแรงงาน ทั้งนี้ แม้การตอบโต้ด้วยการเปลี่ยนที่ทำงานจะเป็นการตอบโต้ที่มีพลังและเห็นผลลัพธ์ชัดเจนกว่าการอดทนต่อเหตุคุกคาม แต่ผู้เขียนมองว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ใช่การแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศอย่างถาวร ดังนั้น การตอบโต้ในรูปแบบนี้จึงถูกจัดเป็นแนวทางเชิงรับ

แนวทางเชิงรุก

จากการศึกษา แรงงานอพยพหญิงที่อยู่สถานะทางสังคมที่ด้อยกว่ามักทำให้พวกเธอส่วนใหญ่เลือกที่จะตอบโต้ในแนวทางเชิงรับ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มแรงงานอพยพหญิงที่เลือกตอบโต้ในแนวทางเชิงรุกอยู่ด้วยเช่นกัน โดยการตอบโต้เชิงรุกนี้ หมายความถึงการปฏิเสธทางวาจา การรวมกลุ่มและการแจ้งความ ซึ่งจากคำบอกเล่าของกลุ่มตัวอย่าง การตอบโต้ในเชิงรุกนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาการคุกคามที่พวกเธอแต่ละคนประสบ แต่ยังสามารถให้ความช่วยเหลือกับผู้ถูกคุกคามรายอื่นและช่วยป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กลุ่มตัวอย่างที่เลือกตอบโต้ในเชิงรุกจึงได้รับอำนาจ (empowerment) มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรก

การตอบโต้แบบปฏิเสธทางวาจานั้น แง่หนึ่งอาจถูกมองว่าไม่ใช่พฤติกรรมเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะผลลัพธ์อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากเท่าการตอบโต้รูปแบบอื่น แต่จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ผู้เขียนพบว่า การปฏิเสธทางวาจานั้นสามารถเป็นการแสดงออกถึงความตกใจ รวมไปถึงความไม่พอใจต่อการคุกคามที่เกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างที่เลือกใช้วิธีการตอบโต้ทางวาจามองว่า การคุกคามทางเพศที่ตนประสบนั้นยังไม่ใช่กรณีร้ายแรงและการบอกกล่าวทางวาจาถือเป็นวิธีการที่เหมาะสม โดยพวกเธอคิดว่าการกระทำรูปแบบนี้ไม่ยุ่งยากเหมือนกับการแจ้งความ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดซ้ำในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง และผู้เขียนพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เลือกตอบโต้ลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะตอบโต้ในเชิงรุกมากกว่าเดิม หากมีเหตุเกิดซ้ำในอนาคต

อีกหนึ่งรูปแบบการตอบโต้ที่น่าสนใจ คือ การรวมกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมอย่างเข้มแข็ง เช่น แรงงานอพยพหญิงฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มที่จะรวมกลุ่มกันกับเพื่อนร่วมงานที่ประสบเหตุหรือมีแนวโน้มที่จะประสบคล้ายกัน แบ่งปันประสบการณ์ ให้คำปรึกษาและคอยให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน จากการศึกษากรณีตัวอย่าง การรวมกลุ่มในลักษณธนี้ไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อต่อรองกับผู้คุกคามอย่างจริงจัง แต่การรวมกลุ่มในลักษณะช่วยทำให้เกิดการสอดส่องดูแลกันในที่ทำงาน เพื่อไม่ให้การคุกคามเกิดซ้ำได้โดยง่าย นอกจากนี้ พบกรณีตัวอย่างของแรงงานหญิงฟิลิปปินส์ที่รวมกลุ่มกันแจ้งต่อหัวหน้าโรงงานถึงเหตุคุกคามทางเพศ จนทำให้มีการจัดอบรบให้พนักงานในบริษัท ทั้งคนเกาหลีและคนต่างชาติ มีความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกถึงเรื่องการคุกคามทางเพศ อันนำไปสู่การแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงานแห่งนั้นได้ในวงกว้างและในระยะยาวอีกด้วย

การตอบโต้เชิงรุกในรูปแบบสุดท้าย คือ การแจ้งความ ส่วนใหญ่กลุ่มตัวอย่างที่เลือกแจ้งความนั้น เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ประสบการคุกคามทางเพศที่รุนแรง เช่น การขืนใจ หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิตได้ พวกเธอตระหนักว่า การตอบโต้ในรูปแบบอื่นๆ ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม กรณีตัวอย่างที่เลือกตอบโต้ในวิธีนี้มักได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยภายนอก เช่น องค์กรช่วยเหลือแรงงานอพยพหญิง เป็นต้น ทั้งนี้ จากการพูดคุย กลุ่มตัวอย่างมองว่าการแจ้งความเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก ด้วยปัจจัยข้อจำกัดด้านการสื่อสาร (การสื่อสารในการดำเนินการทางกฎหมายล้วนต้องใช้ภาษาเกาหลีเป็นหลัก) สถานะทางกฎหมายของแรงงาน (โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกคุกคามเป็นแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตหรือวีซ่าทำงาน) รวมไปถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ ค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินการฟ้องร้อง ความไม่รู้กฎหมายของเกาหลีและขั้นตอนในการสืบสวนที่จำเป็นต้องมีหลักฐานยืนยันชัดเจนก็เป็นปัญหาที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะหากเป็นการคุกคามทางวาจาหรือการสัมผัสทางกายที่ไม่ทิ้งหลักฐาน จะมีเพียงคำบอกเล่าของผู้ประสบเหตุและคำให้การจากพยาน ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานที่แน่นหนาเพียงพอได้ในชั้นศาล

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตอบโต้ต่อการคุกคามทางเพศของแรงงานหญิงอพยพ

เมื่อมองเห็นถึงการตอบโต้ของแรงงานอพยพหญิงคร่าวๆ แล้ว อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ แล้วปัจจัยใดที่ทำให้พวกเธอเหล่านี้เลือกตอบโต้ต่อเหตุคุกคามในลักษณะดังกล่าว จากการศึกษา สามารถแบ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตอบโต้ของพวกเธอได้เป็น 5 ข้อ ได้แก่

1. สถานะทางเศรษฐกิจ-สังคม

สถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมในการโต้ตอบต่อเหตุคุกคามทางเพศของแรงงานหญิงอพยพ จากการศึกษา พบว่า แม้จะต้องประสบเหตุคุกคามในที่ทำงาน พวกเธอหลายคนเลือกที่จะตอบโต้กลับในแนวรับหรือพยายามหาทางที่จะประนีประนอมกับผู้คุกคาม เนื่องด้วยเหตุภาวะหนี้สินและความรับผิดชอบทางการเงิน อาจกล่าวได้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจมีอิทธิพลมากพอที่จะขัดขวางการตอบโต้ในแนวรุก และทำให้หลายคนเลือกที่จะอดทนต่อการคุกคามทางเพศอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สถานภาพทางเศรษฐกิจเองอาจมองได้ในอีกแง่หนึ่งว่าเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากบทบาททางสังคมของแรงงานอพยพหญิงได้ด้วยเช่นกัน บทบาทในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัวผลักให้แรงงานหญิงเหล่านี้เดินทางจากบ้านมาทำงานในเกาหลี พวกเธอเหล่านี้ถือสถานะของการเป็นแม่(ของลูก) ภรรยา(ของสามี) และลูกสาว(ของพ่อแม่) ตั้งแต่แรก แม้จะต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศและอุปสรรคอื่นๆ หลายคนก็เลือกที่จะอดทน โดยดึงเอาเป้าหมายสำคัญของการมาทำงาน อาทิเชทน การหารายได้มาส่งเสียค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่ เป็นเหตุผลให้การอดทนต่ออุปสรรคต่างๆ กลุ่มตัวอย่างให้สัมภาษณ์ว่า แม้สิ่งที่ตนกำลังเผชิญอยู่จะทำให้รู้สึกลำบากหรืออึดอัดใจบ้าง แต่เทียบกันแล้ว ความรับผิดชอบต่อคนในครอบครัวของตนเองนั้นสำคัญกว่าเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้

นอกจากสภานะทางเศรษฐกิจ-สังคมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญและเกี่ยวพันกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ คือ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ค่าดำเนินการทางกฎหมาย ค่าใช้จ่ายรายทางอื่นๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ที่พวกเธอจำเป็นต้องมีเงินสำรองในระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย เพราะระหว่างการฟ้องร้องนั้น แรงงานจะยังไม่สามารถย้ายงานใหม่ได้ทันที

2. ความสามารถในการสื่อสาร

แต่เดิม อุปสรรคด้านการสื่อสารเป็นปัญหาใหญ่ที่พบได้มากในหมู่แรงงานอพยพต่างชาติ แม้จะมีข้อกำหนดว่า แรงงานที่มีใบอนุญาตหรือวีซ่าทำงานจะต้องได้รับการฝึกอบรมและผ่านข้อสอบภาษาเกาหลีขั้นพื้นฐานก่อนเดินทางเข้าประเทศ จากการศึกษาและคำบอกเล่าของกลุ่มตัวอย่างแรงงานไทยและฟิลิปปินส์ พบว่า การอบรมภาษาก่อนเดินทางเข้าเกาหลีนั้นเป็นเพียงการอบรมระยะสั้น ที่ช่วยเสริมเพียงความรู้ภาษาเกาหลีขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันเท่านั้น และการจะต่อยอดนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่า ทักษะภาษาเกาหลีที่ทุกคนมีในระดับพื้นฐานนั้นเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการตอบโต้ต่อผู้คุกคามเมื่อเกิดเหตุคุกคามขึ้น ทั้งยังไม่เพียงพอต่อการอธิบายประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น การคุกคามทางเพศ ทำให้การสื่อสารเรื่องเหล่านี้เป็นไปได้ยากสำหรับแรงงานอพยพหญิง ไม่เพียงเท่านั้น ความไม่รู้ภาษายังทำให้พวกเธอเหล่านี้ไม่เข้าใจถึงการดำเนินการทางกฎหมาย จนทำให้สุดท้ายหลายคนถอดใจที่จะขอความช่วยเหลือไปด้วย ในทางกลับกัน กรณีตัวอย่างที่สามารถสื่อสารภาษาได้ระดับหนึ่ง มักแสดงให้เห็นถึงการตอบโต้ในเชิงรุกมากกว่า กล่าวคือ ระดับความแตกต่างในด้านความสามารถทางภาษา นอกจากจะทำให้แรงงานอพยพหญิงเลือกตอบโต้ต่อผู้คุกคามต่างกันแล้ว ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการแจ้งความและการขอความช่วยเหลือที่แตกต่างกันอีกด้วย เพราะในท้ายที่สุดแล้วองค์กรที่จะให้ความช่วยเหลือกับพวกเธอได้นั้นยังเป็นหน่วยงานของทางการเกาหลีอยู่นั่นเอง

ข้อจำกัดทางด้านภาษานี้ นอกจากจะเป็นตัวขัดขวางการตอบโต้ของแรงงานในแง่หนึ่งแล้ว ยังเป็นสิ่งที่สื่อนัยยะถึงสถานะในการต่อรองทางสังคมที่ด้อยกว่าของผู้อพยพด้วย ผู้เขียนพบกรณีของกลุ่มตัวอย่างที่สามารถสื่อสารภาษาเกาหลีได้ดีระดับหนึ่ง แต่ในกระบวนการฟ้องร้องหรือการให้ความในศาล พวกเธอยังจำเป็นต้องอาศัยล่ามเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในทางกฎหมาย การที่พวกเธอไม่สามารถถ่ายทอดและอธิบายถึงเรื่องราวของตัวเองได้ด้วยเสียงของตัวเองสร้างความอึดอัดใจให้พวกเธอไม่น้อย

3. ภูมิหลังทางวัฒนธรรม

ภูมิหลังทางวัฒนธรรมในความหมายของผู้เขียนนี้ มีความหมายถึงทัศนคติเรื่องเพศและค่านิยมเกี่ยวกับสิทธิสตรีอันเป็นผลจากวัฒนธรรมของสังคมต้นทางของแรงงานหญิงอพยพ อ้างอิงจากงานของ Erez (2002) พบว่า ทัศนคติทางเพศในเชิงวัฒนธรรมส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้หญิงโดยตรง แม้ผู้หญิงหลายคนจะประสบกับเหตุคุกคามทางเพศในระดับรุนแรง หลายคนเลือกที่จะไม่พูดถึงสิ่งที่ตนประสบมา เพราะวัฒนธรรมของหลายประเทศมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัว แม้เธอจะเป็นผู้เสียหายจากเหตุดังกล่าว แต่การคุกคามทางเพศนั้นได้สร้างมลทินให้กับเธอไปแล้ว และมลทินในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ควรจะให้คนอื่นได้รู้ ทัศนคติในลักษณะนี้พบมากในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมหรือความแตกต่างทางเพศสูง ปัจจัยนี้เองที่ทำให้การตอบโต้ต่อเหตุคุกคามทางเพศของแรงงานอพยพหญิงแตกต่างกันออกไป

จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานหญิงไทยและฟิลิปปินส์ พบว่า สังคมต้นทางทั้งสังคมไทยและสังคมฟิลิปปินส์มองว่า ผู้คุกคามทางเพศทำผิด แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า ครึ่งหนึ่งเป็นความผิดของผู้ถูกคุกคามด้วยเช่นกัน โดยอาจมองว่า การคุกคามทางเพศเกิดจากพฤติกรรมที่ยั่วยุของฝ่ายหญิงเอง ส่งผลให้การเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับผู้ถูกกระทำเป็นไปได้ยากในบางกรณี ผู้เขียนคาดหวังว่า หากเป็นกลุ่มที่เลือกแจ้งความหรือเลือกที่จะตอบโต้ในเชิงรุกอาจมีมุมมองต่อประเด็นนี้แตกต่างออกไป แต่หลังการพูดคุยกับกรณีตัวอย่างจึงพบว่า ทัศนคติในรูปแบบนี้มีผลกระทบต่อพวกเธอเช่นกัน เพราะแม้พวกเธอเหล่านี้จะเลือกแจ้งความและดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อตอบโต้ต่อการคุกคาม พวกเธอยังมองว่า เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ควรที่จะให้ผู้อื่นได้ล่วงรู้ ควรจะต้องปกปิดไว้เพื่อหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์ของ ‘ผู้หญิงมีมลทิน’

อีกหนึ่งส่วนสำคัญนั้น ได้แก่ ค่านิยมเกี่ยวกับสิทธิสตรี ในระหว่างการพูดคุย ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงความแตกต่างระหว่างแรงงานอพยพหญิงไทยและฟิลิปปินส์ในประเด็นดังกล่าว แรงงานหญิงฟิลิปปินส์นั้นแสดงออกถึงความหนักแน่นและความมั่นใจในตัวเองมากกว่า พวกเธอมองว่า ไม่ว่าสถานะทางกฎหมาย (การมีใบอนุญาตหรือวีซ่าทำงาน) ของพวกเธอจะอยู่ในสถานะใด พวกเธอต้องได้รับสิทธิคุ้มครองในฐานะแรงงานเฉกเช่นเดียวกันกับแรงงานอพยพชาย พวกเธอมองว่าเพศที่แตกต่างนั้นไม่ควรจะเป็นตัวกำหนดสถานะที่แตกต่างในการได้รับการคุ้มครอง และแม้จะเป็นผู้หญิง แต่พวกเธอไม่ใช่คนอ่อนแอ แต่เป็นนักสู้ที่แข็งแกร่งและเป็นความหวังสำคัญของครอบครัว ในทางกลับกัน แรงงานหญิงไทยมองว่า เป็นเรื่องยากที่พวกเธอจะต่อรองกับการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น เพราะพวกเธอไม่มีพลังมากพอที่จะควบคุมอะไรได้ ส่งผลให้พวกเธอหลายคนเลือกที่จะอดทนต่อการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4. การสนับสนุนทางสังคม

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถกระตุ้นและเปลี่ยนแปลงแนวทางในการตอบโต้ต่อการคุกคามทางเพศของแรงงานอพยพหญิง ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคม โดยการสนับสนุนทางสังคมในที่นี้ คือ การสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงานและองค์กรภาคประชาสังคมนั้นเอง

จากการศึกษา ผู้เขียนพบว่า แรงงานอพยพหญิงเลือกที่จะปรึกษาเรื่องการคุกคามกับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานมากกว่าครอบครัว เพราะมองว่าการปรึกษาคนในครอบครัวที่อยู่ไกลไม่ทำให้เกิดประโยชน์และอาจทำให้อีกฝ่ายเป็นกังวลต่อสวัสดิภาพของตนด้วย ไม่เพียงเท่านั้น พวกเธอมองว่า การปรึกษาเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานที่อาจมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน อาจช่วยให้พวกเธอสามารถหาหนทางในการจัดการและป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งอิทธิพลของกลุ่มทางสังคมที่เป็นเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานนี้อาจสนับสนุนให้พวกเธอตอบโต้ทั้งในเชิงรุกหรือรับได้ทั้งสองทาง ในแนวทางเชิงรุกนั้น พบกรณีที่กลุ่มตัวอย่างร่วมกับเพื่อนร่วมงานแจ้งต่อบริษัทและรวมกลุ่มเพื่อช่วยกันสอดส่องดูแล จนทำให้เกิดเป็นการป้องกันเหตุเกิดซ้ำที่รัดกุมและเป็นการแก้ไขในระยะยาวมากขึ้น ในทางกลับกันนั้น พบการกระตุ้นให้การตอบโต้เป็นไปในเชิงรับ จากกรณีของแรงงานไม่มีใบอนุญาตทำงานที่เพื่อนร่วมงานบอกผู้ถูกกระทำให้อดทน และไม่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ โดยเตือนว่าการจุดประเด็นนี้ขึ้นมาอาจนำไปสู่ความเดือดร้อนในเรื่องอื่นๆ เช่น การถูกส่งกลับเพราะสถานะไม่มีวีซ่าทำงานได้

นอกจากนี้ องค์กรภาคประชาสังคมเองก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการตอบโต้ของแรงงานหญิง โดยพบกรณีศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิเช่น การสนับสนุนด้านการสื่อสาร การดำเนินการทางกฎหมาย และการสนับสนุนด้านขวัญกำลังใจ ที่ทำให้แรงงานอพยพหญิงหลายคนเลือกที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการตอบโต้จากเชิงรับมาเป็นเชิงรุกในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงองค์กรเหล่านี้หลายครั้งยังเป็นเรื่องยากต่อแรงงานอพยพ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องความขาดแคลนเจ้าหน้าที่ต่างชาติและล่ามที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการสื่อสาร

กลุ่มทางสังคมกลุ่มสุดท้ายที่มีบทบาทช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แรงงานอพยพหญิง ได้แก่ กลุ่มแรงงานจากสังคมต้นทางเดียวกัน ความเข้มแข็งในการรวมตัวกันของกลุ่มแรงงานเป็นส่วนสำคัญที่เสริมให้แรงงานอพยพหญิงตระหนักรู้ถึงสิทธิของตนเองและเลือกที่จะตอบโต้ต่อการคุกคามทางเพศในเชิงรุกมากขึ้น โดยเราจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างของแรงงานฟิลิปปินส์ที่มีเครือข่ายการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ได้รับการสนับสนุนจากทางการของฟิลิปปินส์อย่างเต็มที่และยังมีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศเกาหลี เครือข่ายเหล่านี้ตั้งองค์กรในการทำงานอย่างเป็นทางการและมีการดำเนินการช่วยเหลือสมาชิกอย่างจริงจัง ซึ่งเกิดเป็นผลลัพธ์เชิงปัจจัยสนับสนุนให้แรงงานหญิงฟิลิปปินส์แสดงออกในเชิงรุกได้มากขึ้น  

5. กฎหมายและองค์กรรัฐ

ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลต่อการตอบโต้ต่อเหตุคุกคามของแรงงานอพยพหญิง ได้แก่ การสนับสนุนในเชิงกฎหมายและการสนับสนุนจากองค์กรรัฐ จากการศึกษา แรงงานกลุ่มที่เสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด คือ กลุ่มแรงงานที่ไม่มีวีซ่า เพราะผู้คุกคามและตัวแรงงานเองมองว่าพวกเธอมีสถานะเป็นผู้เข้าผิดกฎหมาย จึงทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เมื่อเกิดเหตุคุกคามทางเพศขึ้น พวกเธอจึงเลือกทำได้เพียงแค่อดทนต่อสถานการณ์ดังกล่าว สิ่งนี้เองที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะแม้จะเป็นแรงงานไม่มีวีซ่าทำงาน มีข้อกฎหมายเกาหลีกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากประสบเหตุคุกคามทางเพศ พวกเธอมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ในระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย

และในกรณีของแรงงานที่มีวีซ่าทำงาน ผู้เขียนพบว่า พวกเธอหลายคนก็ยังเลือกที่จะอดทนต่อเหตุคุกคามทางเพศในที่ทำงานเช่นกัน เพราะพวกเธอมองว่าการแจ้งความเรื่องถูกคุกคามทางเพศอาจส่งผลแง่ลบต่อสถานะวีซ่าของตัวเองได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในบทสนทนา คือ การเลือกปฏิบัติ แรงงานอพยพหญิงมองว่าสังคมเกาหลีมีการเลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ กลุ่มตัวอย่างที่แจ้งความเพื่อฟ้องร้องต่อนายจ้างเล่าว่า เธอรู้สึกว่าในกระบวนการฟ้องร้อง ทุกอย่างยังเอื้อประโยชน์ให้กับคนเกาหลีมากกว่า ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้แรงงานหญิงเลือกที่จะจัดการปัญหาในแบบของตัวเอง นอกจากนี้ ยังพบปัญหาความเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย อันเกิดมาจากความบกพร่องในการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยนชนและการจัดการกับการคุกคามทางเพศในที่ทำงานอย่างทั่วถึง แม้จะมีข้อกำหนดทางกฎหมายให้ผู้ประกอบการเกาหลีจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่บอกว่า การอบรมที่ตนได้รับนั้นมักเป็นการอบรมก่อนเข้าทำงาน (สำหรับแรงงานที่มีวีซ่า) และเนื้อหาของการอบรมเป็นเพียงความรู้อย่างกว้างๆ และไม่มีการให้ข้อมูลโดยละเอียดว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรหรือแจ้งต่อใครได้

อีกบทบาทสำคัญตกอยู่กับองค์กรรัฐต้นทาง แรงงานอพยพนั้น ย่อมได้รับการคุ้มครองในฐานะพลเมืองของประเทศต้นทางทั้งสอ้น ไม่ว่าจะเดินทางเข้าประเทศด้วยสถานะแบบใด ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความเป็นองค์กรของรัฐต้นทางจึงทำให้ไม่มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร ส่งผลให้หลายครั้งแรงงานอพยพหญิงเลือกที่จะติดต่อไปหาสถานทูตประเทศตนเอง โดยเราจะเห็นได้มากในกรณีของแรงงานอพยพหญิงฟิลิปปินส์ สืบเนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพิงรายได้จากแรงงานอพยพเป็นหลัก ทำให้นโยบายของรัฐบาลฟิลิปปินส์เน้นให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกับแรงงานอพยพอย่างมาก ผลลัพธ์ของนโยบายเหล่านี้ทำให้แรงงานอพยพหญิงฟิลิปปินส์รู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากสถานทูตมากกว่าแรงงานชาติอื่น

จากการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างในรูปแบบการโต้ตอบของแรงงานอพยพหญิงหลักๆ นั้น ได้แก่ ภูมิหลังทางวัฒนธรรม การสนับสนุนทางสังคม รวมไปถึงกฎหมายและองค์กรรัฐ ในการเปรียบเทียบพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มผู้หญิงที่เลือกจะตอบโต้ในเชิงรุกนั้น มักมีปัจจัยสนับสนุน 3 ประการข้างต้นในเชิงบวก แม้ในบางกรณี พวกเธออาจจะเลือกที่จะโต้ตอบในเชิงรับก่อน แต่ปัจจัยสนับสนุนข้างต้นสามารถเปลี่ยนแปลง เสริมพลัง (empower) และสนับสนุนการตอบโต้ต่อผู้คุกคามในเชิงรุกได้มากขึ้น

 

สถานะทางสังคมที่ทับซ้อนและอิทธิพลต่อพฤติกรรมของแรงงานอพยพหญิง

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของมนุษย์นั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถอธิบายได้ผ่านปัจจัยทางสังคมภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสถานะทางสังคมและการรับรู้เกี่ยวกับตนเองผ่านสถานะทางสังคมนั้นๆ ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน ในการอธิบายพฤติกรรมของแรงงานอพยพหญิงนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาจากสถานะทางสังคมที่พวกเธอเหล่านี้ถืออยู่ประกอบด้วย จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับกลุ่มตัวอย่าง เราสามารถแบ่งสถานะทางสังคมผ่านบทสนทนาได้ทั้งหมด 3 สถานภาพ ได้แก่ สถานะการเป็นผู้หญิง สถานะการเป็นผู้อพยพ และสถานะการเป็นแรงงาน

1. สถานะการเป็นผู้หญิง

แต่เดิม แม้ความแตกต่างทางกายภาพระหว่างชาย-หญิงจะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจน แต่กลุ่มตัวอย่างไม่ได้มองว่าเป็นความแตกต่างที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม หลังผ่านเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ พวกเธอเหล่านี้ตระหนักถึงความแตกต่างดังกล่าวนี้มากยิ่งขึ้น และรับรู้ได้ว่าความแตกต่างทางกายภาพนี้เองที่ทำให้การคุกคามทางเพศในที่ทำงานเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ประเด็นเรื่องความแตกต่างทางกายภาพของชาย-หญิงนั้นเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงในนักวิชาการสายเฟมินิสต์มาโดยตลอด กลุ่มตัวอย่างเองก็ได้เน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความแตกต่างในเชิงชีววิทยานี้ก็ยังเป็นหนึ่งในข้อจำกัดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงมีประสบการณ์ทางสังคมที่แตกต่างจากเพศชายไปด้วย กล่าวคือ ข้อจำกัดทางกายภาพเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าตนเองอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าในการต่อรองและกลายเป็นผู้เสียหายทางเพศไปโดยธรรมชาติ โดยความแตกต่างทางกายภาพระหว่างเพศนั้นไม่ได้เกี่ยวพันเฉพาะการถูกคุกคาม แต่ยังรวมไปถึงการโต้ตอบที่ไม่สามารถกระทำได้ตามใจอีกด้วย

อีกหนึ่งผลลัพธ์จากสถานภาพความเป็นผู้หญิงที่ส่งอิทธิพลต่อกลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลิกภาพและบทบาททางเพศของผู้หญิงที่สังคมคาดหวัง แม้จะโดนคุกคามทางเพศ แต่กลุ่มตัวอย่างหลายคนกล่าวว่า ตนเลือกที่จะตอบโต้ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในเชิงรับ เพราะไม่อยากสร้างความขัดแย้งและทำให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าเหตุ ซึ่งอาจทำให้คนอื่นในที่ทำงานต้องเดือดร้อนใจไปด้วย ลักษณะความคิดและการให้เหตุผลในรูปแบบดังกล่าว สื่อนัยให้เห็นถึงบุคลิกภาพของผู้หญิงตามแบบที่สังคมคาดหวังได้อีกทางหนึ่ง นักวิชาการและนักต่อสู้สายเฟมินิสต์มีการดึงเอาบุคลิกภาพของผู้หญิง (เช่น การช่วยเหลือ การเสียสละ การประนีประนอม ฯลฯ) มาเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ลดความขัดแย้งในสังคม และยังช่วยเสริมพลังให้กับผู้หญิงในอีกทางหนึ่ง แต่จากการให้สัมภาษณ์ของกลุ่มตัวอย่าง ผู้เขียนพบว่า อีกด้านหนึ่ง ลักษณะบุคลิกภาพในรูปแบบดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้พวกเธอตกอยู่ในสถานทางสังคมที่อ่อนแอลงกว่าเดิมได้

นอกจากนี้ บทบาททางเพศของผู้หญิงเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการตอบโต้ในแนวรับของแรงงานหญิงเช่นกัน ด้วยภาพจำที่แต่เดิมเพศหญิงมีหน้าที่ในการเป็นผู้สนับสนุนทางอารมณ์และตอบสนองต่อความต้องการทางเพศ แรงงานหญิงส่วนใหญ่จึงมองว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำร้าย ภาพจำของผู้หญิงต่างชาติ เช่น ผู้หญิงไทยในร้านนวด ผู้หญิงฟิลิปปินส์ในคลับ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ทำให้ผู้หญิงต่างชาติในสังคมเกาหลีมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเพศ และทำให้ผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นวัตถุทางเพศ (Sexual Objectification) ไปด้วยโดยปริยาย ซึ่งการรับรู้ในลักษณะดังกล่าวนั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้ชาย แต่ยังรวมไปถึงผู้หญิงเองด้วย จึงทำให้การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสายตาของแรงงานอพยพหญิงหลายคน สิ่งนี้เองที่ทำให้ประเด็นการคุกคามทางเพศยังไม่ได้รับการแก้ไขและกลายเป็นปัญหาคาราคาซังในสังคมเกาหลี (รวมไปถึงสังคมอื่น) อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ตำแหน่งทางสังคมของผู้หญิงเองเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แรงงานอพยพหญิงตระหนักและมองว่าทำให้พวกเธอไม่สามารถเลือกทำอะไรได้มากนัก จากคำบอกเล่าของกลุ่มตัวอย่าง พวกเธอมองว่า สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ซึ่งในสังคมแบบนี้ เพศหญิงไม่ได้อยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกันกับเพศชายอยู่เป็นทุนเดิม และความไม่เท่าเทียมในลักษณะดังกล่าวทำให้เพศหญิงตกอยู่ในสถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าและไม่มีอำนาจในการต่อรอง จนเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงที่ทำให้เพศหญิงตกเป็นเหยื่อได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น หมายรวมทั้งการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย การควบคุมผู้ที่อยู่สถานะที่ด้อยกว่า และการคุกคามทางเพศด้วย แม้แรงงานอพยพหญิงจะเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ได้ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่นี้โดยตรง แต่การต้องเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในสังคมเกาหลี ทำให้พวกเธอเองได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมนี้ด้วยเช่นกัน

2. สถานะการเป็นผู้อพยพ

แรงงานอพยพหญิงนั้น ไม่ได้ถือไว้เฉพาะสถานะการเป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังถือสถานะผู้อพยพไว้กับตัวเองด้วย และเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานะผู้อพยพเป็นอีกหนึ่งสถานะที่มีอิทธิพลโดยตรงในการเลือกปฏิบัติตัวต่อการคุกคามทางเพศที่พวกเธอต้องประสบพบเจอ จากการพูดคุยกับกลุ่มตัวอย่าง พวกเธอทั้งหมดมองว่า สถานะการเป็นผู้อพยพทำให้พวกเธอตกอยู่ในสถานะที่ต่อรองได้ยากลำบากมากกว่าเดิม การมาทำงานต่างบ้านต่างเมืองทำให้พวกเธอต้องเรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาใหม่ และเมื่อเกิดกรณีการโดนคุกคามทางเพศขึ้น สถานะการเป็นคนต่างชาติทำให้พวกเธอต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่สื่อสารได้ยากลำบาก และยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น เพราะต้องใช้ภาษาเกาหลีในการทำความเข้าใจ ส่งผลให้ในท้ายที่สุด การเข้าถึงความช่วยเหลือก็กลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากและยุ่งยากจนทำให้หลายคนถอดใจ

ไม่เพียงเท่านั้น สถานะของการเป็นคนต่างชาติยังทำให้พวกเธอรู้สึกได้ถึงการเป็นชนชั้นที่อยู่ต่ำกว่าคนอื่นในสังคมอีกทอดหนึ่งด้วย กลุ่มตัวอย่างที่เป็นแรงงานอพยพหญิงไทยและฟิลิปปินส์มองว่า สาเหตุเกิดจากประเทศบ้านเกิดของตนนั้นไม่ใช่ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจทัดเทียมกับประเทศเกาหลี รวมไปถึงระบบชนชั้นทางชาติพันธุ์ที่ยังแฝงฝังอยู่ในสังคมเกาหลี อ้างอิงจากงานของ Han (2003) พบว่า ในหมู่แรงงานอพยพที่เข้ามาทำงานในเกาหลีใต้ ถูกจัดลำดับชนชั้นตามสีผิว โดยชนผิวขาวอย่างชาวยุโรปหรืออเมริกาเหนือจะถูกจัดไว้บนชนชั้นสูงสุด ตามมาด้วยคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผิวสีเหลือง และชนชั้นล่างสุดจะได้แก่คนที่มีผิวสีดำ โดยลำดับชนชั้นนี้มีการวิเคราะห์จากนักวิชาการชาวเกาหลี (Ham, 1995) ว่า เป็นการจัดลำดับชนชั้นที่เกี่ยวพันกับกรอบคิดชาติพันธุ์ในเชิงสังคม-วัฒนธรรมมากกว่าประเด็นทางชีววิทยา เนื่องจากเกาหลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในเรื่องความเหนือกว่าของชนผิวขาว ทำให้มีการบรรยายภาพลักษณ์ของแรงงานอพยพที่มีผิวสีเหลืองหรือดำในแง่ลบ ทั้งยังมองอีกว่าเป็นชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่า ภาพจำและความเชื่อในลักษณะดังกล่าวนี้เอง ทำให้แรงงานอพยพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจัดลำดับกลายเป็นชนชั้นล่างสุดในโครงสร้างแรงงานของเกาหลี

กลุ่มตัวอย่างมองว่า ในสายตาของเพื่อนร่วมงานเกาหลี พวกเธอมาจากประเทศที่ด้อยกว่าอยู่เสมอ ทำให้พวกเธอต้องเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติที่เป็นผลของการเหยียดเชื้อชาติและความเข้าใจของคนเกาหลีเกี่ยวกับผู้หญิงจากประเทศตนเอง (หญิงไทย/หญิงฟิลิปปินส์) คนเกาหลีเคยชินกับผู้หญิงฟิลิปปินส์ที่ทำงานในคลับของฐานทัพอเมริกันและผู้หญิงไทยที่ทำงานในร้านนวดหรือร้านคาราโอเกะ ไม่นับธุรกิจทางเพศที่ดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยและฟิลิปปินส์เป็นจำนวนไม่น้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพจำเหล่านี้นี่เองถูกนำไปเชื่อมโยงกับการค้าบริการทางเพศด้วยอีกทอดหนึ่ง (Lee, 2003; Truong, 2008; Choi, 2013; Areeyakijkosol, 2014) แรงงานอพยพหญิงมองว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพลักษณ์ของพวกตนเป็นไปในแง่ลบ และทำให้การคุกคามทางเพศยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

3. สถานะการเป็นแรงงาน

สถานะทางสังคมอีกสถานะหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ สถานะของการเป็นแรงงาน จากการพูดคุยกับกลุ่มตัวอย่าง แรงงานอพยพหญิงไม่ได้แสดงให้เห็นความตระหนักชัดเจนถึงสถานะการเป็นแรงงานของตนในลักษณะเดียวกับสถานะทางเพศและสถานะทางชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อลองอ่านใจความระหว่างบรรทัดจากบทสัมภาษณ์ เราสามารถมองเห็นอิทธิพลของสถานะการเป็นแรงงานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างที่พวกเธอไม่รู้ตัว

จากการสัมภาษณ์ สถานะการเป็นแรงงานทำให้อำนาจในการต่อรองของพวกเธอลดน้อยลง กลุ่มตัวอย่างมองว่า งานของตัวเองเป็นงานเล็กน้อยที่ไม่ว่าใครก็สามารถมาทำแทนได้ ซึ่งทำให้การหาคนมาทำแทนเป็นไปได้โดยง่ายเช่นกัน เมื่อเกิดกรณีคุกคามทางเพศขึ้นในที่ทำงาน พวกเธอมองว่า หากตนทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นปัญหาใหญ่ จะมีความเสี่ยงที่จะต้องออกจากงานได้ง่ายๆ ส่งผลให้พวกเธอเลือกที่จะอดทนด่อสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากยังมีภาระและความจำเป็นทางการเงินที่ต้องคำนึงถึง ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มตัวอย่างยังมองว่า ข้อปฏิบัติทางกฎหมายนั้นเอื้อประโยชน์ให้กับนายจ้างมากกว่าลูกจ้าง เป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอย่างมากถึงระบบการรับคนต่างชาติเข้าทำงานของประเทศเกาหลี (EPS – Employment Permit System) ที่กำหนดกฎให้แรงงานต้องพึ่งพิงนายจ้างเป็นอย่างมาก ในการเปลี่ยนงาน ลูกจ้างต้องได้รับการอนุญาตจากนายจ้างก่อน ซึ่งในกรณีของกลุ่มตัวอย่างที่ดำเนินการฟ้องร้องเรื่องการคุกคามทางเพศโดยเจ้าของกิจการเอง ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากงาน แม้ตนจะเป็นผู้เสียหาย ซ้ำยังพบว่า มีการนำเอาข้อกฎหมายดังกล่าวมาใช้ในการโจมตีกลับ การใช้ข้อกฎหมายมาโจมตีผู้เสียหายในลักษณะนี้ยังพบได้กับกลุ่มแรงงานไม่มีวีซ่า เพราะกลุ่มแรงงานดังกล่าวถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

ส่วนสุดท้ายที่พบได้จากการให้สัมภาษณ์ของกลุ่มตัวอย่างและแสดงให้เห็นถึงสถานะการเป็นแรงงานของแรงงานอพยพหญิง คือ ความฝันและความหวังของพวกเธอนั่นเอง กลุ่มตัวอย่างทุกคนมาทำงานที่เกาหลีเพื่อจุนเจือและพาครอบครัวออกจากสถานะทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก Park (2005) เรียกความหวังและความฝันของแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเกาหลีไว้ว่า ‘Korean Dream’ ล้อกับ American Dream (ความฝันของชาวอเมริกันถึงความเท่าเทียมและชีวิตที่ดีกว่าในดินแดนแห่งโอกาส คิดโดย J. T. Adams ในปี 1931) โดย Korean Dream ในที่นี้ คือ ความฝันของแรงงานต่างชาติที่ต้องการเข้ามาทำงาน เพื่อเก็บเงินไปมีชีวิตที่ดีกว่าในบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งจากงานวิจัยก่อนหน้า (Chung, 2010; Smutkupt, 2014) และบทสัมภาษณ์ในการศึกษาครั้งนี้ เผยให้เห็นว่า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แม้จะต้องพบเจอกับการละเมิดสิทธิของตนในรูปแบบต่างๆ แรงงานจำนวนมากเลือกที่จะอดทน ทำงานและยึดมั่นกับเป้าหมายแรกเริ่มของตัวเอง โดยชีวิตที่ดีกว่านั้นยังแสดงนัยยะถึงความปราถนาที่จะเลื่อนชนชั้นของตนได้ในอีกแง่หนึ่งด้วย

 

บทสรุป

ประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จากการศึกษาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ในการศึกษาประเด็นปัญหานี้ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างรอบด้าน เพราะประเด็นดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การกำหนดตัวบทกฎหมายที่ใช้เพื่อการลงโทษคนผิด แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงโครงสร้างสังคม การวางสถานะทางเพศของชายและหญิง ค่านิยมและความเข้าใจของสังคมถึงต้นตอของปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงการสนับสนุนจากรัฐ การสนับสนุนทางสังคมและทางจิตใจของผู้ที่ต้องประสบกับการคุกคามทางเพศด้วย

แม้บทความดังกล่าวนี้จะเน้นหนักไปที่การบอกเล่าประสบการณ์ของแรงงานอพยพหญิงในเกาหลี ผู้เขียนหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะช่วยสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจถึงประเด็นปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศในภาพกว้างๆ และได้มีโอกาสมองเห็นโลกผ่านแว่นตาของผู้ที่ต้องประสบเหตุเหล่านี้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะการรับรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ถูกทิศทางมากยิ่งขึ้นในท้ายที่สุด

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้ปรับมาจาก Ketkaew, Nattamon, “A Study on Sexual Harassment in Workplace and Its Response of Female Migrant Workers in Korea: The Case of the Thai and Philippines Workers.” Master’s Thesis, Academy of Korean Studies, 2019. (ภาษาเกาหลี “한국에서 여성 이주노동자의 직장내 성희롱과 대응 양상”)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ณัฐมน เกตุแก้ว จบปริญญาโทสาขาสังคมวิทยาจากสถาบันวิจัยเกาหลีศึกษา เกาหลีใต้ ขณะนี้เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ที่รับเป็นคนสอนภาษาเกาหลียามว่าง

 

Reference from Korean Source:

박경태, 「이주노동자를 보는 시각과 이주노동자 운동의 성격」. 『경제와사회67호, 2005,

88-112쪽.

소라미, 「이주여성농업노동자 성폭력실태조사」, 공익인권법재단 공감, 2016.

장명선, 제조언 분야 여성이주노동자 인권상황 실태조사, 국가인권위원회, 2016.

정유경, 「‘코리안 드림’을 꿈꾸는 베트남 이주노동자들」. 『통신원브리프 (베트남) 』 4권,

2010, 1-9쪽.

최관, 「필리핀과 타이 매춘에 대한 범죄학적 연구」. 『한국심리학회지: 법정』 4권 3호,

2013, 143-165쪽.

최영미, 「한국 거주 외국인 여성 고용현황 및 시사점」. 『이슈분석』 27권, 2015, 15-19쪽.

이금연, 「국내여성이주노동자의 차별실태와 복지욕구에 관한 연구 수도권을중심으로」.

가톨릭대학교 석사학위 논문, 2001.

______, 「이주와 여성폭력」. 『월간 복지동향』 53권, 2003, 13-16쪽.

이병렬, 「예술흥행비자 소지 이주민인권상황 실태조사」, 국가인권위원회, 2014.

한건수, 「“타자만들기” 한국사회와 이주노동자의 재현」. 『비교문화연구』 9권 2호, 2003,

157-193쪽.

함한회, 「한국의 외국인노동자 유입에 따른 인종과 계급문제」. 『한국문화인류학』 28권,

1992, 199-221쪽.

 

Reference from English Source:

Areeyakijkosol, Vilasinee, “Irregular Labour Migration and Sexual Harassment of Thai

Female Workers: Case Studies of Thai Massage Parlours in Seoul, Republic of

Korea.” Master’s thesis, Chulalongkorn University, 2014. 

Erez, Edna, “Migration/immigration, Domestic Violence and the Justice System,”

International Journal of Comparative and Applied Criminal Justice, Vol. 26, 2002,

pp. 277~299.

Piper, Nicola, “Feminization of Migration and the Social Dimensions of Development:

The Asian case,” Third World Quarterly, Vol. 29, No. 7, 2008, pp. 1287~1303.

Smutkupt, Suriya, “Being khon phi as a Form of Resistance among Thai Migrant

Workers in Korea,” Journal of Social Issues in Southeast Asia, Vol. 29, No. 3,

2014, pp. 721~737.

Truong, Thanh-Dam, “The Dynamics of Sex Tourism: The Case of Southeast Asia,”

Development and Change, Vol. 14, No. 4, 2008, pp. 533-553.  

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท