กทม. จับมือ สช. สร้างชุมชนนำร่อง รับมือโควิด-19 ป้องกันระลอกสอง  

สำนักอนามัย กรุงเทพฯ จับมือ สช. สร้าง “ธรรมนูญชุมชน” หรือ “มาตรการทางสังคม” ใน 60 ชุมชนนำร่อง ร่วมป้องกันโควิด-19 รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย ย้ำ ประชาชนอย่าประมาทระลอกสอง ป้องกันตัวเองเหมือนเดิม เสริมด้วยแอพลิเคชัน ‘ไทยชนะ - ผู้พิทักษ์ไทยชนะ’ ช่วยรัฐติดตามควบคุมโรคได้เร็ว

14 ก.ค.2563 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นอกเหนือจากความรวดเร็วรัดกุมในทางกฎหมายที่รัฐบาลและผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการมาโดยตลอดแล้ว กำลังหลักในการสู้ภัยโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งก็คือ ภาคประชาชน โดยที่ผ่านมา สำนักอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำหนดพื้นที่ใน 10 เขต กทม. เป็นชุมชนนำร่อง 60 ชุมชน ดำเนินการตามมาตรการที่รัฐบาลและกทม.กำหนดอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง ลดความแออัด การดูแลสุขลักษณะต่างๆ

“เราให้ความรู้ความเข้าใจพี่น้องในชุมชนเกี่ยวกับโควิด-19 เช่น ป่วยแล้วจะมีอาการอย่างไร วิธีป้องกัน แล้วชุมชนจะช่วยเฝ้าระวังได้อย่างไร จากนั้นให้ชุมชนเขาสร้างกฎเกณฑ์หรือธรรมนูญชุมชนขึ้นเองว่า จะมีส่วนร่วมในการดูแลอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม. มีคนไข้ราว 1,500 กว่าคน หลายคนก็อยู่ในชุมชน แม้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ก็ได้พี่น้องในชุมชนต่างๆ ช่วยดูแล ทั้งคนที่ออกจากโรงพยาบาลต้องดูแลต่อหรือคนที่ต้องเฝ้าระวัง หัวใจสำคัญคือ การสร้างความข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือ เคยเจอบางชุมชนที่ไม่เข้าใจ พอมีคนใกล้ชิดคนป่วย เขาแทบจะขับไล่คนนั้นออกจากหมู่บ้าน” นพ.สุนทร กล่าว

นพ.สุนทร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการผนึกกำลังกับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอยู่ 10,000 กว่าคน กระจายตัวอยู่ชุมชนละ 3 - 4 คน ทำหน้าที่ให้ความรู้คนในชุมชนและช่วยคัดกรองเบื้องต้นเหมือน อสม.ในต่างจังหวัด ขณะที่ต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยที่ดูแลใกล้ชิดประชาชนที่สุด กทม. ก็มีหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือในชื่อเดิมว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข อยู่อีก 69 แห่ง

“ถามว่าจะรับมืออย่างไรในระลอกสอง ผมคิดว่าหลักการที่สำคัญ 5 - 6 ข้อที่รัฐบาลและ กทม.ประกาศให้ประชาชนป้องกันตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ทั้งการใส่หน้ากาก ใช้เจลล้างมือ การเว้นระยะห่าง เลี่ยงความแออัด สิ่งเหล่านี้ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ ไม่ได้ขออะไรมาก แต่ขอให้ทำเหมือนเดิม อย่าย่อหย่อน และหากมีอาการเข้าเกณฑ์ความเสี่ยง ก็รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งสิทธิ สปสช.ให้ตรวจฟรีได้ด้วย ช่วงที่คนไข้น้อยลง เราก็ไปเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลต่างๆ เตรียมความพร้อมกันไปเรื่อยๆ ทำให้มีความพร้อมมากกว่าช่วงต้นปีเยอะ” นพ.สุนทร กล่าว 

นพ.สุนทร กล่าวเสริมว่า สำหรับการทำงานของ กทม.นั้นยังคงใช้หลักการ “รีบตะครุบ” นั่นคือ หากพบว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะต้องส่งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วเข้าไปในชุมชน ปัจจุบันมีอยู่ 71 ทีม เพื่อสำรวจว่าผู้ป่วยปฏิสัมพันธ์กับใครบ้างแล้วระงับการระบาดให้เร็วที่สุด

“ตอนนี้มีเครื่องมือที่คนเริ่มไม่ค่อยใช้กันแล้วนั่นคือ ไทยชนะ เรื่องนี้ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ ช่วงจัดทำโปรแกรม ผมมีโอกาสอยู่ในคณะทำงาน คุยกันหลายเรื่อง เราสร้างคนไข้สมมติขึ้นมาด้วย สมมติว่า นายสุนทร เข้าไปในที่แห่งหนึ่งแสกนไทยชนะตามจุดต่างๆ สิ่งที่ปรากฏคือ ระบบจะบอกเบอร์คนต่างๆ ที่อยู่บริเวณนั้น หากพบว่านายสุนทรป่วย ถ้าใช้โปรแกรมไทยชนะ เราก็จะมีคนราว 300-500 คนที่ต้องรีบโทรไปหาเขาเพื่อสอบสวนโรค มีอาการไหม จะได้รีบตรวจให้ แต่หากไม่มีไทยชนะกว่าจะตามได้ บางทีติดกันหลายช่วงแล้ว ต้องตามคนสักหมื่นคน ดังนั้น อย่าขี้เกียจเลย สแกนไว้มีประโยชน์ เราไม่ได้เอาข้อมูลไปทำอะไร ผู้ที่ถือข้อมูลก็คือ กระทรวงสาธารณสุข” รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยกล่าว

นพ.สุนทร ยังกล่าวถึงเครื่องมือที่กรุงเทพมหานครจัดทำนั่นคือ ผู้พิทักษ์ไทยชนะ เป็นแอพลิเคชั่นที่เกี่ยวเนื่องกับไทยชนะในการตรวจสอบมาตรการของร้านค้าร้านอาหารต่างๆ  เพิ่งเปิดตัวไม่นานนี้และมีผู้ร่วมใช้งานราว 2-3 ล้านคน “สมมติเราไปร้าน A แล้ว ผมประเมินมาตรการต่างๆ ระยะห่าง ความสะอาด มีเจลล้างมือ สวมหน้ากากกันไหม ร้านไหนที่ได้คะแนนต่ำ เราก็ส่ง "ผู้พิทักษ์ไทยชนะ" ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของ กทม. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขตไปตรวจสอบ ตักเตือน ตอนนี้ให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนเป็นผู้พิทักษ์หมดทุกคน มีแอพส่วนตัว จริงๆ เราเน้นหลายพื้นที่ แต่พื้นที่สำคัญอย่างห้องน้ำเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้เยอะ ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญมากที่ต้องดูแล” 

“ต้องขอความร่วมมือกัน อย่าคิดว่าตอนนี้ไม่มีคนไข้ ทุกวันที่รัฐบาลแถลงจะพบว่ายังมีคนไปนอนสถานที่กักกันของรัฐบาล แสดงว่าต่างประเทศยังมีคนติดเชื้อเยอะ และประเทศไทยปิดประเทศแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจก็จะไม่ไหว ฉะนั้น เราจึงต้องป้องกันตัวเองและทำให้เป็นนิสัย ใส่หน้ากากไว้จนกว่าจะมีวัคซีนฉีดกันโดยถ้วนหน้า” นพ.สุนทร กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท