Skip to main content
sharethis
 

คุยกับ 'นนทวัฒน์ นำเบญจพล' ผู้กำกับที่ตามติดชีวิตชาวไทใหญ่ ตั้งแต่การเป็นทหารบนดอยก่อวัน จนถึงการเดินทางกลับบ้านที่รัฐฉานโดยเครื่องบิน เมื่ออัตลักษณ์ไทใหญ่ไม่เพียงพอต่อการเป็นสมาชิกประชาคมโลก

 


นนทวัฒน์ นำเบญจพล

 

"ตอนเราทำ #BKKY เราถามเด็กกรุงเทพฯ ว่ามีความฝันอะไร เด็กก็ตอบกันใหญ่ว่าอยากเป็นนู่น อยากเป็นนั่น พอเราถามวัยรุ่นที่เป็นทหารที่อยู่บนดอยก่อวัน เขาตอบกันไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรให้เขาได้ฝัน แต่เท่าที่จะฝันได้คืออยากมาอยู่เชียงใหม่ อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง" 

นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์เล่าให้เราฟังเมื่อถามเขาเกี่ยวกับการเปิดตัวหนังสือภาพ 'in process of time' เล่ากระบวนการจากภาพยนตร์สารคดี 'ดินไร้แดน' และนิทรรศการ 'The Longest Way Round is the Shortest Way Home' ที่จัดแสดงในรูปแบบการฉายหนังสารคดีรวดเดียว 4 จอ แต่ละจอให้มุมมองที่ต่างกันในช่วงเวลาเดียวกัน เล่าเรื่องการเดินทางกลับบ้านในรัฐฉานของ 'ต๊ะ' หนุ่มไทใหญ่ที่มาทำงานในเชียงใหม่

นนทวัฒน์คือผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีอย่าง 'ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง' ที่ว่าด้วยเรื่องราวผู้คนในชายแดนไทย-เขมร นำเอาเขาพระวิหารมาเป็นใจกลางการเล่าเรื่อง และเคยถูกแบนในไทย หรือ 'สายน้ำติดเชื้อ' สารคดีว่าด้วยชาวบ้านในคลิตี้ที่ได้รับผลกระทบโดยน้ำปนเปื้อนตะกั่ว ภาพยนตร์กึ่งสารคดีกึ่งฟิคชั่น '#BKKY' สำรวจชีวิตและความฝันของวัยรุ่นในเมืองกรุง จนมาถึง 'ดินไร้แดน' สารคดีติดตามชีวิตของทหารวัยรุ่นไทยใหญ่ในดอยก่อวัน จนเป็นที่มาของหนังสือภาพ  'in process of time'

'ไม่ว่าสนใจอะไร ก็จะกระโจนเข้าไปทำทันที' น่าจะเป็นคำแรกที่ผุดขึ้นหลังจากเราได้คุยกับเขา เมื่อชวนเขาคุยถึงเบื้องหลังกว่าจะออกมาเป็นหนังสือภาพและนิทรรศการ เราจึงพบว่า 'การเดินทางกลับบ้าน' ของต๊ะนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าเรานัก ทั้งทางเอกสาร และเส้นทางการกลับบ้าน เมื่ออัตลักษณ์ความเป็นไทใหญ่ไม่เพียงพอต่อการเป็นสมาชิกประชาคมโลก

 


ภาพจากนิทรรศการ in process of time I I Soil Without Land

 

เล่ากระบวนการทำหนังสือภาพ 'in process of time' ให้ฟังหน่อย

หนังสือภาพนี้ จริงๆ มันคือกระบวนการของการทำหนัง การรีเสิร์ช การสัมภาษณ์ที่เราไปคุยมา หรือบทความของคนที่ชำนาญในด้านนั้นๆ บวกกับภาพนิ่งที่อาจจะยังไม่มีโอกาสได้ใช้ในหนัง

เริ่มจากมันมีหลายอย่างที่เราสงสัยตอนที่ทำเรื่องนี้ เราเลยหาคนที่จะให้คำตอบเราได้ เช่น ดอยก่อวันเกิดขึ้นมาได้ยังไง กลายมาเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ยังไง เราเลยไปคุยกับคุณคืนใส ใจเย็น (ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวฉาน S.H.A.N.) ปัจจุบันเขาทำเรื่องการเจรจาสันติภาพกับพม่าอยู่ ก็จะได้เห็นไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคขุนส่าจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราให้ ป้อ (เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา นักข่าวประชาไท) เป็นคนมาเรียบเรียงที่เราคุยกับคุณคืนใส เพราะเราเคยชวนป้อไปทำข่าวที่ดอยก่อวัน แล้วเราก็คิดว่าป้อสามารถจะย่อยข้อมูลเยอะแยะออกมาเป็นบทความได้ดี และน่าจะมีมุมมองต่อประเด็นเหล่านี้ที่กว้างขึ้นกว่าที่เรามองเอง

คุณคืนใสค่อนข้างจะเป็นประวัติศาสตร์เจาะลึก เป็นมุมมองบุคคล เราอยากรู้ในมุมที่กว้างกว่านั้นอีกของพม่าที่มีต่อชาติพันธุ์ เราเลยชวน อ.ลลิตา (ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) มาช่วยเขียนเรื่องภาพรวม

ทีนี้ตอนเราฉายดินไร้แดน เราไปเห็นรีวิวอันหนึ่งของคุณอรดี (อรดี อินทร์คง) เขียนถึงหนังเรา แล้วเราชอบมาก เขามองเรื่องเสียงในหนัง เพลงที่คนไทใหญ่ฟังกัน เสียงที่เขาพูดกัน ซึ่งพอเรารู้จักเขาเพิ่มปรากฎว่าเขาเรียนอยู่ที่คอร์แนล ทำวิทยานิพนธ์เรื่องเสียงที่ได้ยินในพื้นที่ชาวไทใหญ่ เราก็เลยให้เขามาเขียนในสิ่งที่เขารู้ เพราะเราคิดว่าน่าสนใจมาก เสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งภาษา เพลง มันเป็นยังไง มีที่มาที่ไปยังไง

ต่อมาเราอยากเล่ากระบวนการทำหนังด้วย แต่เขียนเองก็กระไรอยู่ เลยชวนคุณนัชชา (นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้กำกับหนังสารคดี Mr. Zero) มาช่วยสัมภาษณ์เรา มีผู้กำกับหนังสารคดีหน้าใหม่หลายคน เราคิดว่าคุณนัชชาเขาดูมีวิธีคิด การจับประเด็น ที่มัน relate (เกี่ยวเนื่อง) กับหนังเราได้ เพราะหนังของนัชชาก็พูดเรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรม ซึ่งมันคล้ายๆ กับของเรา

ต่อมาคือ อ.สมฤทธิ์ (สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์) ในอีเว้นท์วันชาติที่ดอยก่อวัน สิ่งหนึ่งที่รู้สึกมันมากเลยคือโชว์พระนเรศวร เราเลยอยากรู้ว่าพระนเรศวรมายังไง เราถามคนตรงนั้นก็ได้รู้ว่าพระนเรศวรเคยมาช่วยไทใหญ่รบกับพม่า แล้วความเชื่อมันก็กลายเป็น Myth (ตำนาน) บางอย่าง จนกลายเป็นการบูชาพระนเรศวร ซึ่งมันเป็นการเมืองมากๆ มันเหมือนการหาวัฒนธรรมร่วมระหว่างไทยกับไทใหญ่ในเชิงของเจ้า ซึ่ง อ.สมฤทธิ์ ก็มีความรู้ในด้านพวกนี้ 

สุดท้ายคือคุณสมัคร์ (สมัคร์ กอเซ็ม นักมานุษยวิทยา) ตอนเราไปรีเสิร์ชคนไทใหญ่ที่เชียงใหม่ เราได้รับการช่วยเหลือจากคุณสมัคร์ ก็เลยให้เขามาช่วยเขียนถึงคนไทใหญ่ในเชียงใหม่ให้

ซึ่งทั้งคุณสมัคร์ อ.ลลิตา อ.สมฤทธิ์ เราเคยพาไปดอยก่อวันหมดแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนเราคิดจะทำหนังสือ

 

ทำไมต้องชื่อ 'The Longest Way Round is the Shortest Way Home' 

The Longest Way Round is the Shortest Way Home มันเป็นอีเดียม แปลว่า ถ้ากระบวนการมันดี มันจะจบงานง่าย แล้วก็เล่นกับคำว่า way, home การเดินทาง, บ้าน อะไรแบบนี้ ซึ่งมันทำให้มีมิติดี มีความเก็ตสึโนวา (วงดนตรีไทยที่มักมีชื่อเพลงที่มีความหมายขัดแย้งกันเอง เช่น ไกลแค่ไหนคือใกล้)

 

 

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ

เหตุผลที่เราถ่ายสารคดีนี้ เพราะบทภาพยนตร์ของเราเรื่อง 'ดอยบอย' (โปรเจกต์ภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของนนทวัฒน์ เล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มจากรัฐฉานซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานในแวดวงธุรกิจสีเทาที่เชียงใหม่) มันค่อนข้างประสบความสำเร็จตอนที่ไปขายไอเดีย แต่พอถึงตอนขอทุนที่ต้องใช้บทภาพยนตร์ มันเข้ารอบสุดท้ายแต่ถูกปฏิเสธและให้ส่งใหม่อีกครั้ง เราเลยคิดว่าบทอาจจะยังไม่พร้อม โปรเจกต์นี้เลยเกิดขึ้นเพราะเราอยากเข้าใจพวกเขาเพิ่ม เราอยากได้ความเป็น personal (ส่วนบุคคล) เข้าไปในบทของเรา 

ตอนเราทำ #BKKY เราถามเด็กกรุงเทพฯ ว่ามีความฝันอะไร เด็กก็ตอบกันใหญ่ว่าอยากเป็นนู่น อยากเป็นนั่น พอเราถามวัยรุ่นที่เป็นทหารที่อยู่บนดอยก่อวัน เขาตอบกันไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรให้เขาได้ฝัน แต่เท่าที่จะฝันได้คืออยากมาอยู่เชียงใหม่ อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง ซึ่งถ้ามาอยู่เชียงใหม่ก็ต้องเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเพราะไม่มีบัตร เราเริ่มมารีเสิร์ชที่เชียงใหม่ แล้วก็พบว่ามัน sensitive (อ่อนไหว) เกินกว่าจะถ่ายสารคดี เปิดเผยหน้าไม่ได้เพราะเขาอยู่อย่างผิดกฎหมายกัน

เราสัมภาษณ์คนไทใหญ่หนุ่มสาว 30 คน แล้วก็เลือกมาคนหนึ่งคือ 'ต๊ะ' เขาไม่ได้กลับบ้านมา 6 ปีแล้ว บ้านเขาอยู่รัฐฉาน เราก็อยากรู้ว่าพลเมืองที่รัฐฉานเขาอยู่กันยังไง เราเลยเสนอกับเขาว่าจะออกเงินให้กลับบ้าน แล้วขอถ่ายสารคดีไปด้วย 

 

ความแปลกใหม่ของนิทรรศการนี้

โครงสร้างจะไม่เหมือนกับสารคดีที่เราเคยทำ ก็สนุกกับการทดลองกับพื้นที่แบบนี้ ปกติเวลาเราถ่ายหนัง ในกิจกรรมหนึ่งๆ เราจะต้องถ่ายทั้งมุมกว้าง ระยะกลาง โคลสอัพ ถ่ายภาพอื่นๆ ประกอบ เช่น มือ ซึ่งพอเป็นหนังในจอเราก็จะนำมุมต่างๆ เหล่านี้มาต่อกัน แต่พอเป็นพื้นที่แบบนี้ซึ่งไม่ได้ถูกบังคับให้อยู่แค่ 1 จอ เราเลยอยากทำ 4 จอ เราสนุกกับการทำให้คนดูได้อารมณ์ร่วมมากกว่าเดิม ในบางซีนเราก็สามารถดูบรรยากาศรวมโดยรอบได้ เป็นมุมแบบ establish shot ขณะเดียวกันก็สามารถดูหน้าเขา มือ หรือขาของเขาได้ ในเวลาเดียวกัน ทำให้คนดูสามารถเลือกได้ว่าอยากจะดูจากมุมไหน คล้ายๆ VR ทำให้เรามีอารมณ์ร่วมกับพื้นที่ตรงนั้น

 


บรรยากาศนิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home

 

ใช้เวลาถ่ายกี่วัน

เราตั้งใจไป 14 วัน เต็มแม็กที่กฎหมายให้ เราคิดว่าเดินทางแค่ไม่กี่วัน แล้วอยู่บ้านเขาสัก 10 วัน ปรากฎอยู่บ้านไม่ถึง 7 วัน ที่เหลืออยู่บนรถตลอดเวลา การเดินทางคือ เราบินไปลงมัณฑะเลย์ นั่งต่อไปตองจี จากตองจีต่อไปปางหลง  ปางหลงต้องนั่งมอเตอร์ไซค์เข้าไปอีก ยิ่งพอมันเป็นรัฐฉานซึ่งเคยสู้รบกับพม่ามันเลยไม่ถูกการพัฒนาจากรัฐบาลพม่าเลย ขนส่งมวลชนก็ไม่ได้เจริญมากนักในพม่า 

 

ซีนฆ่าหมูในหนัง

บางคนอาจจะมองว่าโหด รับไม่ได้ แต่เราอยากให้เห็นกระบวนการก่อนที่เขาจะกินหมูมันเป็นยังไง คนที่นี่ไม่มีเซเว่น บ้านอยู่กลางเขา ถ้าเขาจะกินหมู เขาก็ต้องฆ่าแบบนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ซีนนี้ก็สร้างให้คนดูมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมได้ เราเองตอนตัดก็ยังต้องตัดข้ามๆ เหมือนกัน (หัวเราะ)

 

หนังทำให้เห็นว่าการมีบัตรประชาชนพม่าสำคัญมาก บัตรของไทใหญ่อย่างเดียวไม่พอ

บัตรไทใหญ่ที่พวกเขามี แทบจะเป็นกระดาษเปล่า เวลาไปทำบัตรประชาชนพม่าต้องนั่งรถไปอีกเมืองหนึ่ง ใช้เวลาไปกลับ 1 วัน เราถามลูกผู้ใหญ่บ้านที่เขาเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์พาคนไปทำบัตรว่า 'น่าจะไม่ค่อยมีคนไปทำใช่ไหม บัตรน่าจะมีกันอยู่แล้ว' เขาบอกว่า 'เปล่า เดือนหนึ่งต้องขับรถไป 4-5 รอบ' เราเลยอนุมานเอาว่าที่ผ่านมาคนไทใหญ่ไม่น่าจะอยากมีบัตรประชาชนพม่า แต่ปัจจุบันบัตรประชาชนพม่ามันจำเป็นต่อการเป็นประชาคมโลก เพราะบัตรไทใหญ่ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายเลย

ต๊ะเข้ามาเมืองไทยแบบผิดกฎหมาย แต่เขามีบัตรประชาชนพม่าอยู่ เขาเอาบัตรนี้ไปทำ immigrant passport เล่มเขียว ซึ่งใช้ได้แค่ในไทยกับพม่าเท่านั้น แต่เขาอยู่ได้ปีเดียวก็ทำบัตรประชาชนพม่าหาย ทีนี้เขาอยากได้พาสปอร์ตแบบที่พวกเรามีกัน ที่เดินทางไปได้มากกว่าแค่ไทยกับพม่า เขาก็เลยต้องไปทำบัตรประชาชนพม่าอีกรอบ 

ตอนที่ต๊ะจะขึ้นเครื่อง ทั้งสนามบินไทยและพม่าไม่คุ้นเคยกับพาสปอร์ตที่ต๊ะถือ เพราะคนถือพาสปอร์ตแบบนี้คือแรงงานที่มักจะกลับบ้านโดยรถทัวร์ ไปทางแม่สาย ซึ่งก่อนที่เราจะไปก็ถามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เชียงใหม่แล้วว่าพาสปอร์ตนี้ใช้ได้ใช่ไหม เขาบอกว่าได้ แต่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินไม่เคยเห็นพาสปอร์ตแบบนี้ทั้งสองประเทศเลย เพราะไม่เคยมีใครถือพาสปอร์ตแบบนี้ขึ้นเครื่อง ข้ามแดน ต้องรอนานเกือบชั่วโมงเพื่อให้เขาเช็คว่าพาสปอร์ตนี้ใช้ได้จริง

 


ภาพจากนิทรรศการ in process of time I I Soil Without Land

 

ตอนนี้ยังมีภาวะความขัดแย้งอยู่ไหมจากที่เราไปถ่าย

มีเรื่องการห้ามเรียนภาษาไทใหญ่ และแต่ละชุมชนก็จะถูกเอาลูกชายไปเป็นทหารไทใหญ่ ใครไม่อยากเป็นทหารก็ต้องเข้ามาไทย และปัญหาก็คือความเป็นมนุษย์ของพวกเขาจะถูก identify (ระบุตัวตน) ก็ต่อเมื่อมีบัตรประจำตัว ซึ่งไม่ใช่บัตรของไทใหญ่

 

ทำไมถึงเลือกต๊ะ

เวลาเลือกซับเจกต์ นอกจากเรื่องราวชีวิตของเขาเป็นประเด็นที่เราสนใจ คือคุยถูกคอขนาดไหน บางคนนั่งคุยด้วย 5 นาทีก็อึดอัดแล้ว แต่บางคนคุยได้เรื่อยๆ ซึ่งต๊ะเป็นคนคุยได้เรื่อยๆ และอีกอย่างคือเหตุผลด้าน visual (ภาพ) ถ่ายง่าย หันซ้าย หันขวา ลุกขึ้น ยืน นั่ง ถ่ายแล้วขึ้นกล้อง 

 

ไม้ไผ่และกระสอบในนิทรรศการมีที่มายังไง

ตั้งแต่ทำดินไร้แดนเราก็ amazing (มหัศจรรย์) กับไม้ไผ่ มันมีอยู่ทุกที่ ใช้งานสากกะเบือยันเรือรบ เราเลยอยากเอาไม้ไผ่มาอยู่ในนิทรรศการ เลยเอามาสานเป็นรูป 

ส่วนกระสอบ ใช้เป็นผ้าม่าน และที่นั่งก็มีลักษณะเป็นกระสอบ แต่ทำจากเสื่อกก เพราะถ้าเป็นกระสอบจริงนั่งแล้วจะคัน 

ที่มาคือบ้านต๊ะปลูกข้าว แล้วเราชอบกระสอบข้าวไทยที่เป็นสีน้ำตาลแล้วมีแถบเขียว แต่เราไปเห็นว่ากระสอบข้าวบ้านต๊ะมันไม่ใช่แบบเดียวกัน เราก็เสิร์ชอ่านต่อ ไปเจอข่าวยิ่งลักษณ์เรื่องจำนำข้าว ยุคจำนำข้าว ข้าวไม่พอให้จำนำ เลยต้องแอบเอาข้าวจากพม่าเข้ามาจำนำ แล้วข่าวออกว่าไปเจอกระสอบข้าวจากพม่ากำลังแอบลักลอบขนข้ามแดนมาไทยจากที่แม่สอด เราเลยคิดถึงคนไทใหญ่ที่เข้ามาเมืองไทยแล้วต้องมาสวม identity (อัตลักษณ์) ไทย เราเลยคิดว่ากระสอบข้าวแบบนี้มันคือ identity ไทยที่คนไทใหญ่อย่างต๊ะต้องสวม ก่อนมาทำโปรเจคนี้เราไม่เคยรู้เลยว่าที่เชียงใหม่มีคนไทใหญ่อยู่เยอะมาก เพราะเขากลืนไปกับเราหมดแล้ว และบางครั้งเขาก็ invisible (ล่องหน) สำหรับเราด้วยซ้ำ


 

in process of time I I Soil Without Land

นิทรรศการภาพถ่ายและเปิดตัวหนังสือ in process of time

ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2563 ที่ daily delay

 

The Longest Way Round is the Shortest Way Home

ฟุตเทจติดตามการเดินทางของเด็กหนุ่มคนหนึ่งระหว่างที่เขากลับสู่หมู่บ้านในรัฐฉานเพื่อเยี่ยมเยียนครอบครัว หลังจากที่ไม่ได้กลับมาเป็นเวลาหกปี และทำเอกสารประจำตัวประชาชนอันจำเป็นอย่างยิ่งของเขา

ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. ถึง 22 ส.ค. 2563 ที่ Gallery VER

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net