Skip to main content
sharethis

สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) นำเสนอสถานการณ์อยุติธรรมทางเพศของแรงงานหญิงจากผลกระทบโควิด-19 ไม่มีนโยบายรองรับในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ช่องโหว่ทางกฏหมายทำแรงงานหญิงถูกจ้างลาออกเป็นกลุ่มแรกๆ ได้เงินไม่เท่าเทียมเพศชาย  แนะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกนโยบาย 

กลุ่มผู้ร่วมอภิปรายถ่ายรูปรวมหลังจบการอภิปราย

10 ก.ค. 2563 ที่ห้องประชุมกุมาริกา ที่โรงแรมสวนดุสิต เพลส มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา จัดเวทีอภิปราย “Gender Co-Solutions” รวมพลังสู่ทางเลือก-ทางรอดของทุกเพศสภาพ โดยมีรายงานสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มแรงงานหญิงในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงานหญิงตั้งครรภ์หลังการระบาดของโควิด-19 โดยมีเรื่องรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนาเป็นผู้ดำเนินรายการ 

นอกจากนี้ยังมีการร่วมระดมสมอง และหาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อนักการเมือง นักนโยบาย และนักนิติบัญญัติ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบที่เกิดจากภัยโควิด-19 โดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ประธานอนุกรรมาธิการกิจการ เด็ก เยาวชน สตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศสภาพ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้อภิปราย 

แรงงานนอกระบบกระทบก่อน นายจ้างเอาเปรียบ กฎหมายไม่คุ้มครอง

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (โฮมเนท ประเทศไทย) ระบุว่าแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีมากกว่า 20 ล้านคน นับเป็น 2 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ โดยกลุ่มแรงงานนี้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ก่อนกลุ่มอื่น ๆ

หลังจากการสำรวจแรงงานนอกระบบอาชีพต่างๆ ช่วง เม.ย. ในเขตเมือง ของสถาบันวิจัยจุฬาฯ และโฮมเนทพบว่า กลุ่มคนเหล่านี้ตกงาน ทำให้รายได้ลดลงอย่างมาก มีความสามารถในการประครองภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวได้ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ มีแรงงานน้อยกว่าร้อยละ 2 ที่สามารถกลับบ้านเกิดได้เพราะมาตรการควบคุมโรค

กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือช่างเสริมสวยและหมอนวด ตามมาด้วยกลุ่มรับจ้างทั่วไป หาบเร่แผงลอย ผู้ทำการผลิตที่บ้านและทำอาชีพขนส่งสาธารณะ 

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือนายจ้างไม่แจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้า มีการบังคับให้ลาออกเอง ถูกลดเงินเดือนในภาวะจำยอมและไม่มีกฎหมายหรือมาตรการรองรับและคุ้มครองแรงงานในการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง

พูลทรัพย์กล่าวอีกว่าลูกจ้างส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบในกลุ่มเบื้องต้นเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงและแรงงานผู้หญิงกลุ่มเปราะบาง เช่นหญิงตั้งครรภ์หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว งบประมาณเงินกู้ที่มาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่มีโครงการไหนที่ออกมาเพื่อเอื้ออำนวยให้แก่แรงงานนอกระบบในเมือง เพราะส่วนใหญ่นำเงินไปช่วยเหลือที่ภาคการเกษตร

ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีระบุว่าข้อจำกัดทางเพศที่มีต่อผู้หญิงยังมีกรอบครอบด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ สัดส่วนผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจในระดับนโยบายมีน้อยมากและบางองค์กรไม่มีเลย 

นอกจากนี้กลไกด้านกฏหมายไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันรวมทั้งปัญหาการบังคับใช้กฏหมาย ทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านแรงงาน โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เห็นปัญหาเร็วขึ้น เช่น มีการเลิกจ้างแรงงานหญิงด้วยเหตุผลกระทบจากโควิด-19  โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ แม้กฎหมายแรงงานห้ามไว้ นโยบายรัฐยังมองปัญหาผู้หญิงและเด็กเป็นลำดับท้ายๆ เมื่อดูจากโครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เด็กและผู้ปกครองได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเพราะศูนย์เลี้ยงเด็กและโรงเรียนปิดตัวลง ผู้หญิงไม่อยากมีลูกเพราะสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ทำให้อัตราการเกิดลดลงซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศ

ธนพรวิจารณ์ว่าแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจจากเงินกู้ของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาผู้หญิงและเด็กแบบยั่งยืนและไม่มีการทำงานในรูปแบบบูรณาการของกระทรวงต่างๆ ความกังวลต่อแรงงานหญิงไม่ได้มีเพียงแค่รายได้ที่ต่ำกว่าแรงงานผู้ชาย แต่ยังเป็นเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว การละเมิดสิทธิของผู้หญิงและเด็กที่เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งปัญหาตรงนี้ยังไม่มีนโยบายจากรัฐที่เอื้ออำนวยให้กับกลุ่มบุคคลเปราะบาง

กฎหมายประกันตนช่วยลูกจ้างน้อยกว่านายทุน นโยบาย 425 บ./วัน เงียบหาย

อภัณตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยฝ่ายสตรีและเยาวชน ระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีจำนวนทั้งหมด 1,1476,678 คน ตั้งแต่ 7 เม.ย. ถึง 10 มิ.ย. 2563 โดยแรงงานจ้างส่วนใหญ่ถูกเลิกจ้างทันทีโดยไม่มีแจ้งล่วงหน้าและไม่มีการจ่ายเงินค่าชดเชยให้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงตั้งครรภ์ แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือกลุ่มพิการทางการได้ยิน

อภัณตรีตั้งคำถามถึงการประกาศใช้กฏกระทรวงได้รับผลประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ว่ามีมาเพื่อเอื้อแรงงานในระบบกว่า 12 ล้านคนหรือเพื่อนายทุน 

อภัณตรีกล่าวต่อไปว่า การประกาศใช้นี้กำหนดให้ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมผู้มีสิทธิได้รับเงินกว่ากรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยจำนวนร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ซึ่งมีเพดานที่ 15,000 บาทไม่เกินกว่า 90 วัน แต่พบว่ามีผู้ประกอบการหลายแห่งจัดให้ลูกจ้างทำงานแบบสลับวัน ในบางกรณีนายจ้างแจ้งสำนักงานประกันสังคมว่าผู้ประกันตนลาออกหรือนายจ้างไม่ได้จ่ายเงินสมทบ ทำให้ลูกจ้างไม่ได้สิทธิรับเงินประกันตน

“นโยบายเกี่ยวกับแรงงานที่ทางรัฐบาลเสนอเพื่อให้กลุ่มแรงงานลงคะแนนเสียงให้ เช่น ขึ้นค่าแรงเป็น 425 บาท เงียบหายไปเลย เราไม่สามารถอยู่ได้ ผู้ได้รับผลกระทบตอนนี้มีประมาณหนึ่งล้านสี่แสนคน” อภัณตรีระบุ 

พูลทรัพย์และอภัณตรีมีข้อเสนอมีดังนี้

  1. มีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยแรงงานนอกระบบทั้งด้านสวัสดิการและการประกอบอาชีพ เช่น ให้โอกาสแก่ผู้ค้าหาบแร่แผงลอย ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า ศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพและปลอดภัย ประกันสังคมถ้วนหน้า
  2. ไม่ทำร้ายหรือซ้ำเติม เช่น ไม่ยกเลิกการค้าริมทาง รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง
  3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับตั้งแต่ปฏิบัติการจนถึงการตัดสินใจเชิงนโยบาย
  4. รัฐต้องนำเงินสมทบค้างจ่าย 95,989 ล้านมาคืนทั้งหมด
  5. รัฐต้องจ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 เท่ากับลูกจ้างนายจ้าง
  6. สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ  75 ของฐานค่าจ้างลูกจ้างจากการหยุดงานด้วยเหตุสุดวิสัย
  7. ห้ามนำเงินกองทุนชราภาพมาจ่ายชดเชยแทนกองทุนว่างงาน กรณีกองทุนว่างงานทั้งหมดลงรัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุน
  8. เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม กรณีมีพนักงานสัญญาจ้าง ถ้าหมดสัญญา จะถือเป็นการลาออก ทำให้พนักงานเสียสิทธิบางส่วนที่จะได้รับจากประกันสังคม
  9. ให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานออกประกาศทั่วประเทศในกรณีมีข้อพิพาทตามมาตรา 22 ของ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เป็นผู้วินิจฉัยชี้ข้อพิพาททั้งหมดตามมาตรา 25 และ 36
  10. รัฐต้องช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19
  11. รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือจำหน่ายสินค้าในราคาถูกให้กับประชาชนในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19
  12. รัฐต้องประกาศยกเว้นเป็นกรณีพิเศษในเรื่องของกิจกรรมสหภาพแรงงานในช่วงที่เกิดโรคระบาดที่สหภาพไม่สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบข้อบังคับ
  13. ในกรณีนายจ้างปิดกิจการ ให้ลูกจ้างที่ส่งประกันสังคมครบ 180 เดือนได้รับเงินชราภาพเมื่ออายุ 45 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net