Skip to main content
sharethis

ในขณะที่การเคลื่อนไหว #MeToo ที่เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวสำคัญเรื่องสตรีนิยมและความเท่าเทียมทางเพศ ถึงแม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะมีภาพลักษณ์ว่ามาจากดารา แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ผลักดันจริงๆ คือกลุ่มองค์กรต่างๆ ในระดับรากหญ้า โดยที่เว็บไซต์นิตยสาร Yes! นำเสนอถึงองค์กร 3 องค์กรที่มีวิธีแตกต่างกันในการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิ LGBTQ+

ถึงแม้ว่าผู้คนจะรับรู้เรื่อง #MeToo ว่าเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญที่ตีแผ่เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในหลายวงการว่าเป็นการเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศที่สำคัญ สื่อนิตยสาร Yes! ก็ระบุว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้มีมานานแล้วจากการทำงานหนักขององค์กรต่างๆ หลายองค์กร ไม่ว่าจะในเรื่องการทำให้ค่าจ้างระหว่างเพศมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เรื่องการปกป้องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และหยุดยั้งการล่วงละเมิดทางเพศ

ในขณะที่ขบวนการสตรีนิยมมักจะมีภาพลักษณ์ในสื่อว่ามาจากการโปรโมทของดาราแต่จริงๆ แล้วขบวนการต่อสู้เพื่อส่งเสริมพลังให้กับผู้หญิงและคนข้ามเพศผู้ไม่อยู่ในระบบสองเพศหรือ "นอนไบนารี" (Non-Binary) มีรากฐานมานานหลายรุ่นหลายสมัยแล้ว และหลายครั้งก็มาจากองค์กรระดับรากหญ้าที่ทำให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพเกิดขึ้นได้ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งในโซเชียลมีเดีย หรือในสถานที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งในครอบครัว นิตยสาร Yes! แนะนำองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่างๆ ไว้ดังนี้

องค์กรแรกคือ สถาบันเดอะแอลจีบีทีคิววิคตอรี (The LGBTQ Victory Institute) ที่ผลักดันให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงตำแหน่งต่างๆ ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับตุลาการ ไปจนถึงสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ พวกเขาสามารถผลักดันชาว LGBTQ เข้าสู่ตำแหน่งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้มากกว่า 800 ตำแหน่งแล้ว

สถาบันวิคตอรีฯ ทำการผลักดันให้ชาว LGBTQ สามารถเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำในวงการต่างๆ มานานมากกว่า 20 ปีแล้วนับตั้งแต่ปี 2536 ที่ตอนนั้นมีเกย์กับเลสเบียนอยู่ในตำแหน่งอยู่น้อยกว่า 50 คน โดยที่ในช่วงราว 3 ปีที่แล้วองค์กรนี้ได้สร้างเว็บไซต์ชื่อ “เอาท์ฟอร์อเมริกา (Out for America)” ซึ่งเป็นแผนที่ไว้ติดตามว่ามีชาว LGBTQ ที่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองอยู่ที่ไหนบ้างในสหรัฐฯ ซึ่งในตอนนั้นยังพบว่ามีน้อยกว่า 500 คน

รูเบน กอนซาเลส บอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำก็เป็นสิ่งเดียวกับฝ่ายต่อต้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศทำคือการสนับสนุนกลุ่มคนของตัวเองเข้าไปอยู่ในวงการการเมือง นั่นทำให้สถาบันวิคตอรีฯ กลายเป็นแหล่งฝึกฝนบ่มเพาะผู้แทนทางการเมืองชาว LGBTQ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ร่วมการฝึกฝนเล็งเห็นเป้าหมายตามสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันและขับเคลื่อนไปในระดับที่ปฏิบัติได้จริง

บริอันนา ทิโทน เป็นหญิงข้ามเพศที่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในรัฐโคโลราโดมาได้เมื่อปี 2561 อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ทิโทนได้บอกว่าคนข้ามเพศหรือทรานเจนเดอร์ (Transgender) นั้นมีตัวแทนการเมืองยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับกลุ่มเพศวิธีอื่นอย่างเกย์ เลสเบียน และไบเซ็กชวล

ทิโทนบอกอีกว่า สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศนั้นเป็นกรณีพิเศษที่ต่างจากกลุ่มเพศวิธีอื่นๆ ที่สามารถใช้เทคนิดเดียวกันได้ แต่กลุ่มคนข้ามเพศนั้นต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปในเส้นทางการเมือง ทำให้เธอต้องเรียนรู้ว่าต้องใช้เทคนิคใดและจะมีวิธีการจัดการอย่างไรให้ได้ผลจริง

องค์กรต่อมาคือเบรกทรูห์ (Breakthrough) ที่เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ให้พื้นที่เด็กผู้หญิงและเด็กผู้แสดงออกทางเพศไม่ตรงขนบในสังคม (gender non-conforming) ที่เป็นคนผิวสี พวกเขามีโครงการที่ชื่อ her.stories ซึ่งเป็นการพยายามปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ของสังคมต่อกลุ่มคนชายขอบด้วยการให้ผู้คนที่มีเชื้อชาติไม่ใช่คนขาว เป็นผู้อพยพ และมีเพศสภาพหรือเพศวิถีต่างจากกระแสหลักซึ่งไม่ได้เป็นที่รับรู้ในสื่อมากนัก

ตลอดช่วงปี 2563 เบรกทรูห์ นำเสนอเรื่องราวของเยาวชน 75 คน ที่แสดงออกในเชิงศิลปะ พวกเขาจะได้รับการเผยแพร่ต่อในนิทรรศการภาพถ่าย กิจกรรมชุมชน และการเล่าเรื่องโต้ตอบออนไลน์ ปรียา ควัม(Priya Kvam) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขององค์กรบอกว่า พวกเธอมีเป้าหมายต้องการสร้างสายสัมพันธ์ที่ไม่ใช่แค่ระหว่างเยาวชนด้วยกันเองเท่านั้น แต่ต้องการขยายเครือข่ายไปถึงกลุ่มนักเรียนและสถาบันการศึกษาที่มีใจให้กับความเป็นธรรมในสังคมด้วยเช่นกัน

ปรียายังกล่าวอีกว่านอกจากนี้ยังมีเป้าหมายต้องการแทรกเข้าสู่วัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นและจินตนาการถึงชุมชนอื่นๆ ที่มีความหลากหลายในด้านที่จะทำให้ความเคารพ การยอมรับและให้โอกาสกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการรับรู้เรื่องความรุนแรงทางโครงสร้างและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาต้องเผชิญด้วย

เยาวชนคนหนึ่งที่ถูกนำเสนอเรื่องราวใน her.stories  คือ ทาลอร์ ดยอนนา มอสลีย์ (Ta’Lor D’Yonna Mosley) นักแสดงและนางแบบเควียร์คนดำจากนิวยอร์ก เธอบอกว่าโครงการนี้ให้พื้นที่เธอในการนำเสนอความเป็นเควียร์ของตัวเองและเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญต่อการชื่นชมตัวเองที่ได้ต่อสู้ฝ่าฟันความยากลำบาก ความรุนแรง ความเกลียดชังและความโหดร้ายที่เธอต้องพบเจอ เธอบอกอีกว่าอยากให้ผู้คนรู้สึกชื่นชมต่อการต่อสู้ของตัวเองเมื่อพวกเขาได้เห็นการต่อสู้ของเธอ

อีกองค์กรหนึ่งคือองค์กรด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ อีฟ/เวน/ฮาว (If/When/How) ซึ่งประเด็นนี้น่าเป็นห่วงในช่วงยุครัฐบาลทรัมป์ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามยกเลิกและจำกัดสิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย นั่นทำให้องค์กรต้องระดมสมองกันเพื่อหาทางต่อสู้กับการถูกจำกัดสิทธินี้โดยคำนึงถึงเรื่องการพิจารณาการกดทับจากอำนาจแบบทับซ้อน (intersectional) ทั้งจากเรื่องเชื้อชาติสีผิว, เศรษฐกิจ, สถานะผู้อพยพ, เพศสภาพ, เพศวิถี และความพิการ

สาเหตุที่พวกเขาต้องคำนึงถึงเรื่องการกดทับเช่นนี้เพราะพวกเขาเล็งเห็นว่ากฎหมายไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับทุกคนและกลายเป็นสิ่งที่กดทับคนบางกลุ่ม

แอนเดรีย ไกรมส์(Andrea Grimes) ผู้จัดการด้านการสื่อสารขององค์กร กล่าวว่าพวกเขากำลังสร้างขบวนการจากเหล่าทนายความและนักศึกษากฎหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางกฎหมายและทางนโยบาย แอนเดรียได้อธิบายคำว่าอีฟ/เวน/ฮาว (ถ้าหาก/เมื่อไหร่/อย่างไร) จึงหมายถึงการที่ทุกคนจะสามารถตัดสินใจได้ว่าถ้าหากเผชิญสถานการณ์แบบหนึ่ง จะสร้าง นิยาม หรือรักษากลุ่มของพวกเขาเอาไว้เมื่อไหร่และอย่างไร

หนึ่งในสิ่งที่พวกเขานำร่องออกมาคือการให้เยาวชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการทำแท้งได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ รวมถึงให้การคุ้มครองกับคนที่หาวิธีทำแท้งด้วยตนเองจากการถูกเล่นงานทางกฎหมายซึ่งกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้นในขณะนี้


เรียบเรียงจาก

Beyond #Metoo, 3 Movements Making a Difference for Gender Equity, Yes!, 19-02-2020

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net