'งบ 4 แสนล้านซุกพวกเราไว้ใต้พรม' อนาคตการจ้างงานยุคโควิด ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสู่การกดขี่แรงงาน

วงเสวนาโควิดกับอนาคตการจ้างงาน ‘นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ’ ชี้งบ 4 แสนล้านซุกพวกเราไว้ใต้พรม ‘สนท.’ ชี้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้เพราะระบบศักดินาผูกขาดเศรษฐกิจ ‘กัปตันเครื่องบิน’ ฝากให้คิดงานเดียวไม่พอในยุคนี้ ‘ณรงค์’ ชี้ไทยพึ่งส่งออกมาก เงินไม่อยู่ที่ประชาชนและประกันสังคมในเงามืด

12 ก.ค. 2563 สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ Thai PBS ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประเด็นปัญหาเศรษฐกิจและการพัฒนา ปี 2563 หัวข้อ “โควิด-19 ส่งผลต่อการจ้างงาน การประกอบอาชีพในอนาคตอย่างไร...? ข้อเสนอทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย” โดยได้เชิญวิทยากรจากกลุ่มตัวแทนแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และนักศึกษามาร่วมวงเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสนอแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย

นายกสมาคมแรงงานนอกระบบชี้ ในงบฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด มีเพียงโครงการเดียวที่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ

มานพ แก้วผกา นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานนอกระบบในไทยแบ่งออกได้หลายกลุ่ม กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ กลุ่มทำงานบ้าน กลุ่มนวดแผนโบราณ กลุ่มหาบแร่แผงลอย ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านเพราะมีการจ้างงานน้อยลงจนแทบไม่มีงาน วินมอเตอร์ไซค์ก็มีปัญหาจากการปิดเมือง ผู้คนไม่เดินทางไปไหนจนไม่มีลูกค้า กลุ่มของลูกจ้างทำงานบ้านก็ได้รับผลกระทบเพราะนายจ้างจะไม่ให้เข้าไปทำงานในบ้าน เนื่องจากกลัวว่าลูกจ้างจะเอาเชื้อโควิดไปแพร่ต่อคนในบ้าน โดยแรงงานนอกระบบมีมากถึง 20 ล้านคน คิดเป็น 2 ใน 3 ส่วนของแรงงานทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ตามผลวิจัยและลงพื้นที่พบว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แรงงานนอกระบบไม่มีรายได้ ส่งผลให้ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ซึ่งจริงแล้วๆ อาจมีผลมาจากการปิดเมืองด้วย แต่อย่างไรก็ตามแรงงานนอกระบบบางส่วนก็กังวลว่าหากกลับไปภูมิลำเนาแล้วจะมีงานทำและมีรายได้พอยังชีพหรือไม่เลยตัดสินใจไม่กลับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่แต่ละกลุ่มอาชีพไม่มีหน่วยงานมาวิเคราะห์ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่และการรับมือช่วยเหลือเยียวยาอย่างถูกต้อง หลังสถานการณ์โควิด-19 จะมีแรงงานนอกระบบตกงานประมาณ 7 ล้านคน แต่ไม่มีใครมาสนใจ เพราะแรงงานนอกระบบไม่สามารถไปแจ้งขึ้นทะเบียนที่ไหนได้ว่าตกงาน ได้รับแค่เงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีงาน และไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือดูแลเลย

มานพกล่าวต่อว่า อยากถามรัฐบาลว่าได้ทำอะไรบ้าง ช่วยเหลืออะไรเราบ้าง เงินฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทมีโครงการที่เสนอจากกรม กระทรวง ทบวง ท้องถิ่นต่างๆ ประมาณ 80 โครงการเป็นงบประมาณ 8 แสนล้านซึ่งเกินงบประมาณไปแล้ว ซึ่งกระทรวงแรงงานก็มีโครงการที่เสนอเพื่อช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคนเพียง 1 โครงการ งบประมาณเพียง 1,300,000 บาท ซึ่งสุดท้ายแล้วในงบประมาณ 4 แสนล้านบาทเราไม่ได้ถูกทิ้งแต่เราถูกซุกไว้ใต้พรม ในอนาคตคนที่ยังไม่มีงานทำก็ต้องกลายเป็นคนจนเมืองต่อไป และส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไปด้วย ซึ่งก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เมื่อไม่สามารถทำงานหลักได้ก็ต้องอยู่เฉยๆ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การกู้ธนาคารก็เป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานนอกระบบ ทุกวันนี้แรงงานนอกระบบทำงานแค่พอให้มีค่าใช้จ่ายประจำวัน ไม่สามารถหากำไรได้เลยและไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ถึงจะดีขึ้น

เพนกวิ้น สนท. เผยรัฐมองแรงงานไทยเป็นไพร่ทาสถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจ-ทั้งหมดมาจากระบบการศึกษา

พริษฐ์ ชิวารักษ์ กรรมการสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยจะเล็กลง เศรษฐกิจที่เล็กลงแสดงว่ามีการจ้างงานน้อย ปลายปีจะมีผู้ตกงาน 8 ล้านคน รวมกับนักศึกษาจบใหม่อีกราวๆ 5 แสนคน อยากถามว่าในสภาวะแบบนี้มีอนาคตอะไรให้พวกเราบ้าง สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นสังคมศักดินา สังคมที่มีการผูกขาด และล้าหลัง ทำให้เราทุกคนกลายเป็นไพร่ เศรษฐกิจในลักษณะนี้จะกดขี่ให้คนส่วนมากอยู่ในสภาวะยากจน แล้วเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอภิสิทธิชนซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบในสังคม ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศและพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับนายทุนต่างชาติเป็นหลัก รัฐบาลต้องเอาใจนายทุนต่างชาติด้วยการกดสวัสดิการกดค่าแรงให้ต่ำเพื่อจูงใจนักลงทุน ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลขายแรงงานของคนในประเทศเหมือนแรงงานไพร่แรงงานทาส เพื่อให้กลุ่มทุนใหญ่ตักตวงแรงงานไปใช้ในราคาถูก และสามารถจะทำกำไรจากจุดนี้ได้มาก รายได้เหล่านั้นจึงตกไปอยู่ที่คนไม่กี่คน แรงงานก็ต้องเป็นไพร่ที่ถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ 

พริษฐ์ชี้ว่า แนวทางเศรษฐกิจของไทยตอนนี้คือความพยายามเอาโมเดลเศรษฐกิจเมื่อปี 2520 สมัยพล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีมาใช้ โดยพยายามเกื้อหนุนทุนขนาดใหญ่ เพิ่มสิทธิให้แก่ทุนต่างชาติรวมถึงทุนผูกขาดในประเทศผ่านทางโครงการต่างๆ ของรัฐบาลให้มากขึ้น เห็นได้ชัดจากโครงการประชารัฐต่างๆ ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่าหากอุดหนุนกลุ่มทุนใหญ่แล้ว กลุ่มทุนจะกระจายรายได้ไปยังชนชั้นอื่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงมันล้มเหลว เพราะกลุ่มทุนใหญ่กอบโกยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางและล่างลืมตาอ้าปากเลย

พริษฐ์กล่าวว่า ทั้งหมดจะสะท้อนกลับมายังเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาในประเทศไทยไม่ได้เอื้อให้นักเรียน นักศึกษาคิดสร้างสรรคสิ่งใหม่แต่เน้นให้เรียนรู้สิ่งที่มีอยู่แล้ว  คำว่า ‘เรียนเพื่อให้ตรงความต้องการของตลาด’ แสดงให้เห็นว่าสังคมนี้ไม่ได้ต้องการคนที่มีความคิดใหม่ๆ แต่ต้องการแรงงานที่ทำสิ่งเดิมๆ ได้ ระบบการศึกษาแบบนี้ได้ค้ำจุนระบบทุนผูกขาดในสังคมสุดท้ายประชาชนจะกลายเป็นเพียงฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจที่ถูกครอบงำโดยนายทุน

พริษฐ์ฝากข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนนักศึกษาให้คิดทำสิ่งใหม่ๆ จะต้องสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดเล็กและขนาดกลางให้มีโอกาสเติบโตได้ และต้องควบคุมทุนใหญ่ไม่ให้ผูกขาด รัฐบาลต้องปฏิรูปสวัสดิการให้ประชาชน ให้ประชาชนฐานรากมีกำลังซื้อเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ และลดจำนวนผู้ว่างงาน ซึ่งตนคิดว่ารัฐสวัสดิการคือคำตอบของเรื่องนี้

กัปตันไทยไลอ้อนแอร์ ฝากถึงนักศึกษายุคโควิด-19 ‘อาชีพเดียวไม่พอต้องมีอีกอาชีพรองรับ’ 

จตุรงค์ ต๊ะแสง กัปตันสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เล่าถึงสาเหตุที่ต้องมาขับรถส่งอาหารว่า ช่วงแรกที่ต้องหยุดงานจากสถานการณ์โควิด-19 พอจะมีเงินเก็บอยู่ส่วนหนึ่งแต่ไม่อยากใช้ จึงคิดหาอะไรทำโดยมีหลักการคือต้องทำอาชีพที่สุจริต จนในที่สุดก็ไปขับรถส่งอาหารเพราะบ้านอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้าน่าจะสะดวกในการทำงาน ซึ่งตนได้ลงรูปขณะขับรถส่งอาหารในโซเชียลมีเดียจนกลายเป็น

กระแส ซึ่งก็ดีเพราะเป็นการช่วยให้เพื่อนร่วมอาชีพพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย การขับรถส่งอาหารรายได้ก็ไม่ค่อยเยอะแต่อย่างน้อยก็มีอะไรให้ทำในช่วงที่ต้องหยุดงาน

ความหวังเดียวที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาได้คือวัคซีน แต่ความหวังที่จะเศรษฐกิยจะฟื้นตัวได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นคงต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี แต่อย่างที่ทราบกันว่ามาตรการป้องกันโรคของไทยทำได้อย่างยอดเยี่ยม แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติตัวอย่างมีระเบียบวินัยดีของคนไทย ซึ่งในจุดนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย

จตุรงค์เผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอน ส่วนตัวนั้นคิดมาตลอดว่าอยากทำอาชีพที่สอง แต่ด้วยอาชีพหลักคือนักบินนั้นต้องมีการเตรียมตัวค่อนข้างมาก และไม่ค่อยมีเวลาสักเท่าไหร่ จึงไม่มีโอกาสได้ทำเสียที แต่ตอนนี้ได้ทำแล้ว ซึ่งพยายามทำหลายอย่างนอกจากขับรถส่งอาหาร ตนยังทำคุกกี้เบเกอรี่ขาย อยากฝากไปถึงนักศึกษาเป็นข้อคิดว่าการทำงานเพียงอาชีพเดียวมันไม่เพียงพอ เราควรมีอาชีพที่สองมาสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน

ณรงค์ กรรมการส.ส.ท. ชี้ไทยพึ่งส่งออก-ท่องเที่ยวมากเกินไปจนรายได้ไม่อยู่กับประชาชน

รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริญ กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า สังคมไทยถูกหล่อหลอมมาให้ไม่คิดเรื่องอนาคต ถูกทัศนะทางทุนที่ทำให้เราตีความผิดมองโลกในแง่ดีจนเกินไป สถานการณ์โควิด-19 ไทยจึงกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุดในอาเซียน การแก้ปัญหาโควิดของระบบสาธารณสุขที่ดีนั้นแทบจะไม่ได้แก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจได้เลย สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำและพร้อมจะพังได้เป็นเพราะไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมากเกินไป ซึ่งรัฐบาลบอกว่าการส่งออกเป็น 70% ของ GDP นั้นไม่ถูกทั้งหมด เพราะในทุกการส่งออกจะมีการนำเข้าวัสดุที่เป็นต้นทุน เช่นโรงงานประกอบคอมพิวเตอร์ก็ต้องนำเข้าฮาร์ดแวร์มาจากต่างประเทศมาประกอบแล้วส่งออก ซึ่งเมื่อเรานำมูลค่านำเข้าไปลบกับมูลค่าส่งออกมันจะเหลือแค่ประมาณ 10% แต่รัฐบาลก็ยังเอาตัวเลข GDP การส่งออกที่สูงถึง 70% มาอุ้มชูและผลักดันนายทุนส่งออก ซึ่งเมื่อส่งออกไปเราไม่สามารถแข่งขันคุณภาพได้ เราแข่งขันได้แค่เรื่องราคาถูก ทำให้รัฐบาลต้องกดค่าจ้างลงเพื่อลดต้นทุนของสินค้า รายได้จึงอยู่ในธุรกิจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน เศรษฐกิจที่ค้ำจุนเศรษฐกิจโดยรวยที่แท้จริงคือการบริโภคของครัวเรือนซึ่งสามารถสร้าง GDP ได้ครึ่งหนึ่ง ถ้ารายได้ในกระเป๋าของครัวเรือนมาก คนก็ใช้จ่ายมาก ถ้าคนใช้จ่ายมาก GDP ก็สูงขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่พูดถึงความจริงเรื่องนี้

การดำเนินเศรษฐกิจของไทยจึงยิ่งทำให้เศรษฐกิจทรุดลงมาเป็นชั้นๆ จนถึงชั้นล่างสุดคือชั้นครัวเรือน การตกงานของคน 8 ล้านคน แต่มันไม่จบเพียง 8 ล้านมันจะกลายเป็นห่วงโซ่ต่อไปเรื่อยๆ เช่น ลูกตกงานก็ไม่สามารถเลี้ยงพ่อแม่ต่อได้ พ่อตกงานก็ไม่สามารถให้เงินลูกได้ ดังนั้นการตกงานของคน 8 ล้านคนจะส่งผลครอบคลุมคนมากถึง 30 ล้านคน

ณรงค์ชี้ว่า แนวทางทั้งการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยชอบส่งเสริมให้คนเป็นลูกจ้าง แต่นายจ้างกลับไม่มีการยอมรับในความสามารถและไม่เห็นหัวลูกจ้าง ไม่ส่งเสริมให้ลูกจ้างมีปากมีเสียงและมีอำนาจต่อรอง จนกลายเป็นว่าการมีอำนาจต่อรองคือการกระด้างกระเดื่องต่อองค์กร ระบบที่ลูกจ้างพอจะสู้กับนายจ้างได้นั่นก็คือการประกันสังคม เงินกองทุนสำนักงานประกันสังคมมีเงินราวๆ 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนภาคประชาชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ เงิน โดย 2.3 ล้านล้านบาท อยู่ที่รัฐบาล 1.5 ล้านล้านบาท เงินกองทุนสำนักงานประกันสังคมที่สามารถใช้ได้จริงมีเพียง 1.6 หมื่นล้านบาท ตนเคยเสนอให้สำนักงานประกันสังคมนำเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาทมาตั้งธนาคารแรงงานเพื่อให้แรงงานเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ตั้ง ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับต้นๆ ของธนาคารกรุงเทพ กสิกร และไทยพาณิชย์ จึงสงสัยว่าสำนักงานประกันสังคมสามารถนำเงินไปซื้อหุ้นในธนาคารได้ แต่ทำไมจึงไม่สามารถนำเงินมาตั้งธนาคารให้แก่แรงงานได้ แรงงานเองก็เข้าถึงแหล่งเงินทุนประเภทธนาคารได้ยาก จนตอนนี้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบในกลุ่มของแรงงานอย่างรุนแรง ดังนั้นกองทุนสำนักงานประกันสังคมจึงอยู่ในเงามืดมาตลอดเวลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท