วงถกไอดอล : ความคาดหวัง-การทำให้เป็นวัตถุ ‘แคนแคน’ มองประเทศเสรีจึงมีสิทธิไม่ออกมาพูด

รายงานวงเสวนา 'วัฒนธรรมไอดอลในบริบทสังคมไทย' ตั้งแต่กำเนิดของวัฒนธรรมนี้ ในฐานะธุรกิจและมาร์เก็ตติ้ง ถึงการตั้งคำถาม ที่ว่าเป็นสินค้าของบริษัทและวัตถุทางเพศของผู้บริโภค รวมทั้งบทบาททางการเมือง ซึ่ง 'แคนแคน' มองเพราะเมืองไทยเป็นประเทศเสรี ไอดอลจึงมีสิทธิที่จะไม่ออกมาพูด

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาที่อาคารมณียา ชิดลม สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) จัดวงเสวนา “วัฒนธรรมไอดอลในบริบทสังคมไทย” (Othaiku: Idol Culture in Thai Context) โดยมี ญาตาวี ลิ้มศิริโพธิ์ทอง (นาวลิ้ม) ไอดอลสมาชิกวง CmCafe, นายิกา ศรีเนียน (แคนแคน) ศิลปินเดี่ยวและอดีตสมาชิกวง BNK48, พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ เจ้าของนามปากกา ‘RicchanSama’ นักเขียนวิเคราะห์วัฒนธรรมไอดอล และ อธิปติ ไพรหิรัญ ผู้ก่อตั้งวงไอดอลแนวอินดี้ Fever ร่วมเสวนา

การเป็นไอดอลในบริบทสังคมไทย กับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

นายิกา หรือ แคนแคน อดีตสมาชิกวง BNK48 กล่าวว่า ในเมืองไทยยังไม่มีคำนิยามเกี่ยวกับไอดอลที่ถูกต้อง คนไทยที่ไม่ได้ตามโซเชียลมีเดียจะมองว่าไอดอลคือต้นแบบ หรือแบบอย่าง ซึ่งคือคำศัพท์สากล แต่ว่าไอดอลสำหรับ BNK48 คือการเป็นไอดอลญี่ปุ่น คือการทำทุกอย่างให้เหมือนระบบของรุ่นพี่ AKB48 ซึ่งแตกต่างกับการที่ไอดอลจะต้องเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่น แต่เมื่อ BNK48 เริ่มมีแฟนคลับขึ้นมาจากเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย แฟนคลับที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ไม่ได้เข้าใจระบบของไอดอลญี่ปุ่น และตีนิยามไอดอลขึ้นมาใหม่ เกิดเป็น Mixed Culture ระหว่างไอดอลที่ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งแบบอย่างและเป็นไอดอลญี่ปุ่น ไอดอลจึงต้องแบกรับสองทางคือต้องเป็นทั้งไอดอลญี่ปุ่นและเป็นทั้งแบบที่คนทั่วไปคาดหวัง ยกตัวอย่าง ดาราเมืองไทย ถ้าเป็นสมัยก่อนจะถูกจำกัดไว้ว่าห้ามออกความคิดเห็นด้านการเมือง เพราะหากพูดออกไปอาจต้องเสียสปอนเซอร์ อย่างไรก็ดีทุกวันนี้นักแสดงเริ่มออกมาแสดงคิดเห็นด้านการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันต่อไปว่าจะกระทบต่อการงานหรือไม่ แต่สิ่งที่รู้สึกว่าทำได้ก็คือการศึกษา ศึกษาในทุกๆ เรื่อง ให้คนอื่นเห็นว่าเราศึกษา 

นายิกา ศรีเนียน (แคนแคน) ศิลปินเดี่ยวและอดีตสมาชิกวง BNK48

“ไอดอลในเมืองไทยคนจะคาดหวังเยอะ ถึงขั้นที่ต้องกูเกิลหาว่าคนนี้เรียนที่ไหน คือเมืองไทย ทุกคนจะคาดหวังให้มีการศึกษาที่สูง เป็นหมอ หรือต้องเรียนจบ ซึ่งมันต่างจากไอดอลญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่พอจบ ม.6 แล้วเขาจะทุ่มให้กับการเป็นไอดอล” นายิกา กล่าว

ซึ่งสุดท้ายการเป็นไอดอลก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทสังคมไทย จึงให้คำตอบไม่ได้ว่าไอดอลต้องอยู่จุดไหน แต่ถ้าอยู่เมืองไทยก็อาจจะต้องเป็นกระบอกเสียงในระดับหนึ่ง เพราะว่าปัจจุบันมันมีความขัดแย้งทางการเมืองที่ชัดเจน หากยังนิ่งอยู่ไม่พูดอะไรออกมา สุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น แม้จะมีคนออกมาพูดแต่เขาก็ไม่ได้มีความนิยมเท่ากับผู้ที่มีชื่อเสียง 

นายิกา เสนอว่า การออกมาพูดอาจจะออกมาพูดในระดับที่ได้ศึกษามาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการพูดไม่จำเป็นต้องพูดออกไปทันที หรือว่าให้ร้ายคนที่คิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงจุดยืน ว่ามีความเข้าใจอย่างไร หากมีคนต้องการแย้ง ก็สามารถแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ เพื่อให้คนที่มาอ่านทีหลังได้มีความเข้าใจในหลายมุมมอง

'แคนแคน' มองเพราะเมืองไทยเป็นประเทศเสรี ไอดอลจึงมีสิทธิที่จะไม่ออกมาพูด

นายิกา กล่าวว่า คนที่ติดตามไอดอลก็จะมีความคาดหวังว่าไอดอลจะออกมาพูดถึงประเด็นทางสังคม ซึ่งความจริงมันขึ้นอยู่กับตัวไอดอลว่าอยากพูดหรือไม่อยากพูดเพราะเราเป็นประเทศเสรี บางเรื่องที่คนอยากให้ไอดอลออกมาพูดเพราะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ส่วนตัวไอดอลก็มีความกลัวที่จะพูด เพราะตนอาจยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนั้นๆ อย่างรอบด้าน เธอกล่าวต่อว่า มีหลายกรณีที่สุดท้ายแล้วพอสนับสนุนด้านหนึ่ง แต่เวลาผ่านไป ความจริงในอีกด้านก็เปิดขึ้นมา มันจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะพูดหรือไม่พูด 

ทั้งนี้ เธอ คาดหวังถึงในอนาคตว่าทุกคนจะออกมาพูด เพราะอาจจะถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องพูดแล้วจริงๆ และได้เสนอวิธีการพูดแบบไม่เลือกข้าง โดยใช้วิธีการบอกว่าสังคมกำลังเกิดปัญหานั้นๆ อยู่ เพื่อให้คนไปคิดเอาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอสนับสนุนให้คนมีชื่อเสียงทำ ซึ่งมีประโยชน์มากกว่า

ญาตาวี กล่าวสนับสนุนว่า แม้จะศึกษาอย่างดีแล้ว แต่ชุดข้อมูลที่เป็นความจริงในปัจจุบันก็อาจไม่ใช่ชุดข้อมูลที่เป็นความจริงในอนาคต เธอกล่าวถึงสาเหตุที่เธอไม่ออกมาพูดว่าเป็นเพราะเธอไม่มั่นใจว่าข้อมูลไหนคือความจริง

ญาตาวี ลิ้มศิริโพธิ์ทอง (นาวลิ้ม) ไอดอลสมาชิกวง CmCafe

ต้นกำเนิดของวัฒนธรรมไอดอล

พิเชฐ อธิบายว่า การเข้ามาของภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า ‘Cherchez l'idole’ ในช่วงทศวรรษ70 คือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมไอดอลในประเทศญี่ปุ่น แต่จากนั้นไม่นานกระแสก็ซบเซาลงจากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อญี่ปุ่นได้ไปลงนามในข้อตกลงการค้าที่เรียกว่า Plaza Accord อย่างไรก็ดีกระแสไอดอลได้เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ90 จุดที่ทำให้กระแสไอดอลในญี่ปุ่นเป็นที่นิยมอย่างมาก มาจากการเกิดขึ้นของ AKB48 ในปี 2005 ที่สามารถชนะรางวัล Japan Record ได้ถึงสองสมัย และได้ไปเล่นคอนเสิร์ตระดับประเทศที่โตเกียวโดม รวมถึงได้เล่นคอนเสิร์ตใน 5 เมืองใหญ่ของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า ‘Dome tour’

ผลพวงจากการเปิดประเทศและส่งออกวัฒนธรรมของญี่ปุ่นภายใต้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘Cool Japan’ ทำให้วงดนตรีหลายวงของญี่ปุ่นได้มีโอกาสมาเล่นคอนเสิร์ตที่ประเทศไทย แต่ก็ยังเป็นวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม จนกระทั่งการประกาศตั้งวงน้องสาวของ AKB48 ในต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย และได้เปิดตัวในปี 2018 โดยสิ่งที่ญี่ปุ่นส่งออกมาผ่าน BNK48 เรียกว่า format กล่าวคือจะต้องทำทุกอย่างให้เหมือนกับวงของญี่ปุ่น ตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้า ทรงผม เพลงที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่น รวมถึงระบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถามกับการดำเนินงานในลักษณะนี้ แต่ในทางความเป็นจริงก็ได้มีการปรับเปลี่ยนลักษณะบางอย่างให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย

พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ เจ้าของนามปากกา ‘RicchanSama’ นักเขียนวิเคราะห์วัฒนธรรมไอดอล

ไอดอลคือเรื่องของธุรกิจ และการทำมาร์เก็ตติ้ง

“เวลาคนให้คำจำกัดความว่าไอดอลมันเป็นแนวเพลง แต่สำหรับผม ไอดอลเป็นธุรกิจ เป็นรูปแบบมาร์เก็ตติ้งแบบหนึ่ง” พิเชฐกล่าว

ซึ่งคล้ายกับแนวเพลง Alternative ที่จะมี Rock, Pop และ Jazz วงไอดอลก็เช่นเดียวกันอาจมีแนวเพลงเป็น Synth-Pop หรือหากเป็นเพลงเต้นก็จะมีลักษณะเป็นอีกแนวหนึ่ง

จุดพลิกผันของ BNK48 คือการประสบความสำเร็จใน Single ที่สอง เพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ ที่ใช้เวลา 2-3 เดือน จนกระทั่งเกิดเป็นกระแส และมียอดวิวในยูทูปกว่า 100 ล้านวิว ซึ่งหลังจากนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ที่มีคนหันมาทำเพลงไอดอลมากขึ้น รวมถึงการเกิดขึ้นของวงไอดอลอีกมากมาย ตามมาด้วยเทศกาลดนตรีอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงโครงข่ายแบบใหม่ ความท้าทายของ BNK48 คือการรับรูปแบบมาจากญี่ปุ่น ที่ต้องนำเพลงจากญี่ปุ่นมาแปลเป็นภาษาไทย ดังนั้นปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเพลงจึงขึ้นอยู่กับว่าสามารถไปได้ด้วยกันกับบริบทของเพลงไทยหรือไม่ ยกตัวอย่าง เพลงญี่ปุ่นจะใช้การเล่าเรื่องโดยการพรรณนาไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อแปลเป็นไทยจะมีความตลก

ความท้าทายต่อมาคือ การที่ไอดอลมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันประเทศไทยเองก็มีปัญหาเศรษฐกิจ และไอดอลคือการบริโภคส่วนเกิน กล่าวคือ ปกติคนเราจะซื้อซีดีเพื่อฟังเพลงเพียงแผ่นเดียว แต่วงการไอดอลทำให้สิ่งที่อยู่ในซีดีมีมูลค่ามากกว่าเดิม อย่างเช่น บัตรจับมือกับศิลปินที่ใน 1 กล่องมีเพียง 1 ใบ แต่เมื่อเศรษฐกิจซบเซาลง จึงเป็นความท้าทายต่อทั้งตัวไอดอลและคนที่ทำธุรกิจด้านนี้ว่าจะปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร

ไอดอลคือสินค้าของบริษัท คือวัตถุทางเพศของผู้บริโภค?

นายิกา เสนอความเห็นว่า การมองไอดอลเป็นวัตถุทางเพศนั้นเป็นเรื่องของกลุ่มบุคคล แต่อาจเป็นเพราะว่าโลกโซเชียลค่อนข้างรวดเร็ว และอีกประเด็นคือคนไทยถูกกดทับไม่ให้แสดงออก หรือพูดคุยอย่างเปิดเผยในเรื่องเพศ จึงหันไปหาทางออกด้วยการระบายลงแพลตฟอร์มต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต

อธิปติ ไพรหิรัญ ผู้ก่อตั้งวงไอดอลแนวอินดี้ Fever

อธิปติ ในฐานะผู้ก่อตั้งวงไอดอล กล่าวว่า เคยมีการพูดคุยในประเด็นนี้มาก่อน จึงทำให้พบว่ากลุ่มคนที่มองไอดอลเป็นวัตถุทางเพศนั้นไม่ใช่แฟนคลับ แต่เป็นคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมหรือบริบทของไอดอล ทั้งนี้บริษัทเองก็มีกลไก หรือกฎเกณฑ์ที่เป็นการปกป้องไอดอลจากถูกคุกคาม เช่น กฎห้ามโดนตัว หรือห้ามถ่ายรูปนอกเวลางาน

พิเชฐ กล่าวเสริมว่า การมองไอดอลเป็นวัตถุทางเพศนั้นอาจตัดสินที่ความยินยอม (Consent) ซึ่งท้ายที่สุดก็มีกรอบบางอย่างที่บริษัทวางไว้เพื่อปกป้องศิลปิน ภายใต้มาตรฐานที่บริษัทและศิลปินตกลงร่วมกัน

การมองไอดอลเป็นวัตถุทางเพศจึงเป็นการมองแบบโลกเก่า เพราะศิลปินและแฟนคลับต่างมีสายสัมพันธ์ต่อกัน เป็นลักษณะ Fan Service ที่ตัวศิลปินเองก็รู้ว่าทำแบบไหนแฟนคลับถึงจะชอบ เพื่อสร้างความนิยมในตนเอง ซึ่งเขามองว่ามันเป็นบทบาทที่ไอดอลต้องเล่น แต่เมื่อถามว่า ‘ไอดอลถือเป็นสินค้าของบริษัทหรือไม่?’ พิเชฐ ตอบว่า วัฒนธรรมไอดอล คือการทำทุกอย่างให้เป็นสินค้า ทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวบุคคน สามารถขายได้ทั้งหมด เช่น เสื้อ พัดเชียร์ แท่งไฟ ซึ่งระบบวิธีการผลิต วิธีคิดแบบอุตสาหกรรม ในตัวของบริษัทเองก็ทำทุกอย่างเป็นสำเร็จรูป ตั้งแต่ Concept ของวง เพลง ชุด เสื้อผ้า การแต่งหน้า ทรงผม

นายิกา กล่าวต่อว่า ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นสิ่งของ เพราะสิ่งของไม่มีความรู้สึก แต่ไอดอลมีความรู้สึก ยกตัวอย่างงานจับมือ ก็ไม่ใช่เพียงการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าไปใช้ แต่เป็นการได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นอกจากการที่แฟนได้จับมือไอดอลแล้ว ไอดอลยังได้รับกำลังใจกลับมา

ธุรกิจไอดอลในยุค New Normal

เมื่อถามถึงทิศทางของธุรกิจไอดอลในยุค New Normal นั้น อธิปติ มองว่ายุค New Normal จะทำให้เกิดการคิดกิจกรรมในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ จากปกติที่จะเป็นงานถ่ายรูปหรืองานจับมือ ทั้งนี้ปัจจุบันก็ได้เริ่มมีกิจกรรมพบปะไอดอลในรูปแบบใหม่ เช่น การวิดีโอคอล แต่อย่างไรก็ดีความต้องการพื้นฐานของแฟนคลับไอดอลยังคงเป็นการได้เจอตัวศิลปิน ซึ่งยังเป็นคำถามอยู่ว่าไอดอลสามารถทำอะไรได้บ้างในยุค New Normal

ทั้งนี้ในวงเสวนายังตั้งข้อสังเกตถึงกฎการห้ามไอดอลมีแฟนซึ่งหากพิจารณาจะพบว่าเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่หากผู้หญิงแต่งงานจะต้องออกจากงานเพื่อมาเป็นแม่บ้านอยู่ที่บ้าน อย่างไรก็ดีในบริบทของประเทศญี่ปุ่นนั้น มีความไม่เท่าเทียมทางเพศสูง ซึ่งแนวคิดระบบดังกล่าวก็ได้ถูกส่งต่อผ่านการเป็นวงน้องของ AKB48 และได้เจริญงอกงามในประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศสูง เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ ทั้งนี้อธิปติ แสดงความเห็นว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นส่งมาถึงไทยก็มีบางเรื่องที่ทำไม่ได้ หลายวงก็มีกฎระเบียบที่ต่างกันออกไป ไอดอลของไทยยังอยู่ในการเริ่มต้น เพื่อนำไปสู่ไอดอลแบบไทยโดยเฉพาะ ดังจะเห็นได้ว่ามีวงที่เกิดขึ้นมาใหม่และหายไปด้วยกฎที่กำลังปรับให้เข้ากับบริบทของไทย ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไป

สำหรับ วิจิตรา รักวงษ์ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท