Skip to main content
sharethis

ทีดีอาร์ไอมีมุมมองต่อตนเองต่างออกไปจากที่เอกสิทธิ์เข้าใจในหลายเรื่อง งานศึกษาของทีดีอาร์ไอตั้งโจทย์จากนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก และบุคลากรแต่ละคนต่างมีความหลากหลาย ไม่สามารถควบคุมให้คิดเหมือนกันได้ แว่นที่หนังสือ ‘สถาบันคลุมสมอง’ จึงเป็นการมองแบบเหมารวมและหยุดนิ่ง

  • งานของเอกสิทธิ์มีลักษณะที่มองทีดีอาร์ไอแบบหยุดนิ่งไว้ในทศวรรษ 2530 และไม่เห็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงของทีดีอาร์ไอ
  • บุคลากรของทีดีอาร์ไอมีความหลากหลายและไม่มีสายการบังคับบัญชา จึงไม่สามารถควบคุมความคิดหรืองานศึกษาได้ หนังสือสถาบันคลุมสมองจึงเป็นการมองทีดีอาร์ไอแบบเหมารวม
  • งานศึกษาหลายชิ้นของทีดีอาร์ไอสนับสนุนเรื่องธรรมาภิบาล การต่อต้านคอร์รัปชัน การใช้กลไกรัฐสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร และสนับสนุนประชาธิปไตย แต่กลับไม่ถูกอ้างถึงในงานของเอกสิทธิ์

ในมุมของเอกสิทธิ์ หนุนภักดี จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ เป็นสถาบันคลุมสมองที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างชั้นบนของรัฐไทย คำถามมีอยู่ว่า แล้วทีดีอาร์ไอมองตนเองอย่างไร

แน่นอนว่าสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ มีมุมมองที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โต้แย้งงานของเอกสิทธิ์ว่ามองทีดีอาร์ไอแบบหยุดนิ่ง ไม่ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างเพียงพอ และมองคนทีดีอาร์ไอแบบเหมารวม ทั้งที่ในทีดีอาร์ไอมีความหลากหลายทางความคิด รวมทั้งยังชี้แจงถึงการทำงานของทีดีอาร์ไอที่ผ่านมาว่าไม่ใช่สิ่งที่เอกสิทธิ์มอง

ต่อไปนี้เป็นข้อโตแย้งของสมเกียรติ ในงานเสวนาวิชาการ ‘อำนาจของความรู้: ทีดีอาร์ไอ เทคโนแครต และการเมืองของนโยบายเศรษฐกิจไทย ว่าด้วยหนังสือ สถาบันคลุมสมอง: กายวิภาคการเมืองของทีดีอาร์ไอ’ โดยศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ เป็นผู้จัด

งานของอาจารย์เอกสิทธิ์คือการเมืองเรื่องนโยบาย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ทีดีอาร์ไอก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในระบบนิเวศทั้งหมด มีความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดหลายยุคหลายสมัย เติบโตมาคู่กับสังคมไทย ผู้ก่อตั้งยุคแรกเป็นเทคโนแครตยุคของคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานและก็มีกรรมการสถาบันหลายคนเข้าไปเป็นรัฐมนตรีอย่างที่อาจารย์เอกสิทธิ์ว่าจริงและก็มียุคของรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งผู้บริหารบางท่านไปเป็นรัฐมนตรี

เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีการตั้งคำถามกัน ผู้ใหญ่บางท่านก็คิดว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เหมาะสม อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ก็เคยตั้งคำถาม ในงานเสวนาครั้งหนึ่งอาจารย์เกษียรก็กรุณาเตือนว่าการไปสัมพันธ์กับอำนาจต้องระมัดระวัง แล้วอาจารย์อัมมารก็สะท้อนอย่างจริงใจว่าการไปร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอย่างน้อยที่มีผมไปร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คงต้องทบทวน ยุคทหารครองเมืองจากการปฏิวัติมันหมดไปแล้ว มันสร้างพิษในระบบของเราจนถึงทุกวันนี้ ผมหวังว่ามันคงค่อยๆ จางหายไป

เมื่อพิจารณาเสียงสะท้อนต่างๆ เพื่อดูความเป็นไปในสังคม เราคิดกับสังคมไทยอย่างไร เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 ผมก็คิดว่าเราไม่ควรย้ำบทบาทเดิมซึ่งผิดพลาด พอถึงปีที่ผมเป็นประธาน ผมจึงขอความร่วมมือให้ผู้บริหารทั้งหลายอย่าไปเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งหลายท่านก็ให้ความกรุณาร่วมมือด้วยดี แม้กระทั่งกรรมการผู้ก่อตั้งหลายท่านก็เห็นดีเห็นงามด้วยว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว

หนังสือ สถาบันคลุมสมอง: กายวิภาคการเมืองของทีดีอาร์ไอ

ประเด็นคืองานที่อาจารย์เอกสิทธิ์ศึกษาดูเหมือนจะหยุดทีดีอาร์ไอไว้ในทศวรรษ 2530 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย แล้วก็ยังแถมว่าทีดีอาร์ไอขึ้นมาเป็นผู้รักษาสถานะของเศรษฐกิจมหภาคไทย 60 ปี ผมอ่านแล้วก็คิดว่าพวกเราเป็นไปขนาดนั้นจริงหรือ อันนี้ถือเป็นคำถามสำคัญ เพราะจะมีสถาบันอะไรที่อยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนเลย แล้วยังมีความน่าเชื่อถือ เป็นไปได้อย่างไร ผมคิดว่าอาจารย์คงมีภาระในการอธิบายอยู่มากว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ผมขอเสนอข้อมูลในมุมของผมว่า เหตุใดอาจารย์เอกสิทธิ์อาจจะจับประเด็นบางประเด็นพลาดไป เพราะอาจจะไม่รู้ข้อมูลบางส่วน โดยสรุปอาจารย์เอกสิทธิ์เขียนว่าการทำงานในนามสิทธิอำนาจของความรู้และปลอดการเมืองที่ส่งเสียงราวกับเสียงประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งนั้นคืออวิชชา มันตรงกันข้ามกับการกำหนดนโยบายด้วยหลักวิชา แล้วก็มีส่วนที่อาจารย์เขียนด้วยว่าทีดีอาร์ไอนำเสนอแนวความคิดที่เป็นคำสั่งเด็ดขาด มีสถานะเป็นองค์ความรู้ ข้อเสนอ และความเห็นที่ถูกนำไปใช้ในด้านต่างๆ ซึ่งในหนังสือของอาจารย์เอกสิทธิ์ก็มีการอภิปรายหลายเรื่อง แต่ผมจะขอพูดเรื่องคอร์รัปชัน จำนำข้าว เรื่องแรงงาน และเรื่องสวัสดิการ

และจะขอคิดต่างๆ จากจุดที่อาจารย์เอกสิทธิ์ตั้งต้นที่น่าจะสรุปได้ว่าทีดีอาร์ไอรังเกียจการเมือง ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ดูถูกประชาชน ไม่สนใจแรงงาน เอื้อนายทุน ครอบงำสังคม ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อกล่าวหาแรงๆ ทั้งนั้น จึงขอชี้แจงในมุมที่พวกเรามองว่าเรามองกันอย่างไร

ผมจะขอเล่าให้ฟังว่าทีดีอาร์ไอเป็นใคร ทีดีอาร์ไอคิดอย่างไร และเสนออะไรต่อสังคม และถ้าจะศึกษาทีดีอาร์ไอควรศึกษาอย่างไร

ทีดีอาร์ไอเป็นองค์กรเอกชน ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทีดีอาร์ไอเป็นองค์กรวิชาการมีความคิดเห็นที่แต่ละคนเป็นอิสระต่อกัน ไม่มีสายบังคับบัญชาแบบบริษัท กองทัพ หรือองค์กรอื่นๆ ที่สั่งการได้ และทีดีอาร์ไอเป็นองค์กรที่มีขนาดเล็ก เพราะฉะนั้นเราจะครอบงำสังคมได้อย่างไร

แฟ้มภาพ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

คำถามสำคัญก็คือใครคือทีดีอาร์ไอ ตัวละครที่เกี่ยวข้องเป็นใคร มีตัวผมในฐานะประธานคนปัจจุบันและประธานคนก่อนหน้านี้ มีผู้บริหารซึ่งมีตำแหน่งที่เรียกว่าผู้อำนวยการวิจัยและก็มีนักวิชาการ นักวิจัยต่างๆ มีคณะผู้ก่อตั้ง มีกรรมการ มีเครือข่าย ประเด็นสำคัญก็คืออาจารย์เอกสิทธิ์ดูเหมือนจะเหมาว่าทีดีอาร์ไอทั้งหมดมีความคิดเป็นแบบเดียวกัน ได้อิทธิพลความคิดกัน เพราะฉะนั้นจึงถือรวมเป็นกลุ่มเดียวกันได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดที่มีปัญหาอย่างยิ่ง เพราะถ้าจะสรุปอย่างนั้นอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งเป็นกรรมการทีดีอาร์ไอ ถือเป็นทีดีอาร์ไอด้วยหรือเปล่า แต่อาจารย์เอกสิทธิ์ไม่ได้ยกอาจารย์ผาสุก แต่ไปยกบางท่าน

ทำไมเมื่ออาจารย์เสนาะก่อตั้งทีดีอาร์ไอ แล้วพวกเราจึงต้องคิดเหมือนท่านอาจารย์เสนาะ ผมคิดว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่อาจารย์เอกสิทธิ์จะต้องหาหลักฐานสนับสนุนเยอะมาก เพราะพวกเราไม่ได้คิดว่าพวกเราคิดเหมือนอาจารย์เสนาะเลย นี่จึงเป็นการมองในลักษณะเหมารวมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ท่านอาจารย์เอกสิทธิ์คงทราบดีว่าพวกเรามีอิสระกันขนาดไหนเวลาที่ท่านจะไปสัมภาษณ์นักวิจัยทีดีอาร์ไอ อาจารย์ไม่ต้องขออนุญาตผม สามารถลงไปที่แต่ละคนได้ และทุกคนก็ยินดีให้อาจารย์สัมภาษณ์ เพราะฉะนั้นอาจารย์จะคิดว่าทั้งหมดเป็นทีดีอาร์ไอก็ได้ แต่ก็ควรต้องวิเคราะห์ให้แยกกันเพราะไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน

ในด้านเครือข่าย ทีดีอาร์ไอมีเครือข่ายมากมาย เช่น มูลนิธิของเยอรมนีที่ชื่อ เอชบีเอฟ แปลว่าเอชบีเอฟต้องคิดเหมือนทีดีอาร์ไอ หรือทีดีอาร์ไอต้องคิดเหมือนเอชบีเอฟหรือเปล่า คงไม่ใช่ แต่งานของอาจารย์เอกสิทธิ์นั้นบางครั้งไปไกลถึงขนาดว่าทีดีอาร์ไอต้องรับผิดชอบกับคำพูดของคนที่มาร่วมงานหรือไปรับผิดชอบกับคำพูดของคนอื่นที่เราไปร่วมงานด้วย

ผมจะขอยกตัวอย่างบทความที่อาจารย์เอกสิทธิ์เขียนในนิตยสารฟ้าเดียวกันว่า สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์เข้าร่วมการอภิปรายของภาคีต้านคอร์รัปชัน ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งมีการประกาศสถานการณ์คอร์รัปชันว่าเลวร้ายที่สุดในรอบศตวรรษ นโยบายประชานิยมถูกโจมตีว่าเลวร้าย กระทั่งทำให้เกิดสงครามทางชนชั้นจากการที่ทักษิณใช้คนจนเป็นฐานขึ้นสู่อำนาจ

อาจารย์เอกสิทธิ์เขียนอย่างนี้ผิดหรือไม่ ไม่ได้ผิดครับ แต่คนอ่านต้องอ่านอย่างระมัดระวังมากๆ คือต้องอ่านให้รู้ว่าสมเกียรติไม่ได้เป็นคนพูด สมเกียรติไปร่วมงาน แต่ทำไมสมเกียรติที่ไปงานนี้ถึงมีอะไรสำคัญ ทำไมต้องหยิบยกขึ้นมาอ่าน เนื้อข่าวที่เป็นข่าวจริงคนที่พูดคือสังศิต พิริยะรังสรรค์ พูดไว้ว่ารัฐบาลปัจจุบันหมายถึงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เกิดการคอร์รัปชันมากที่สุดในรอบ 100 ปี แล้วทำไมสมเกียรติต้องไปรับผิดชอบสังศิต หรือทำไมต้องเอามาโยงเข้าด้วยกัน ผมไม่เห็นความสัมพันธ์ใดๆ

ผมคิดว่าอาจารย์เอกสิทธิ์น่าจะศึกษาทีดีอาร์ไอบนฐานความคิดของคนทีดีอาร์ไอก่อน เพราะถ้าอาจารย์จะศึกษาวาทกรรม อาจารย์ต้องรู้ว่าคนเขาเรียนมาอย่างไร อ่านมาอย่างไร คนที่ทีดีอาร์ไอประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ทำงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ เศรษฐศาสตร์พัฒนา และที่เหลือตอนนี้มีหลากหลายสาขาด้วยเหตุผลที่ว่าเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวแก้จนไม่ได้ มันต้องมีคนที่รู้รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา รู้กฎหมาย และผ่านการเทรนนิ่งอีกแบบหนึ่งมา รู้เทคโนโลยี รู้การบริหาร

คนที่เป็นกลุ่มใหญ่คือนักเศรษฐศาสตร์ มีพื้นฐานเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่ใช่ของที่หยุดนิ่ง อาจารย์เอกสิทธิ์พูดในหนังสือเหมือนเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคือเสรีนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ แล้วถูกหยุดอยู่ตรงนั้น ถ้าอาจารย์เอกสิทธิ์อ่านงานของอาจารย์วีรยุทธ์ก็จะเห็นว่าเศรษฐศาสตร์เต็มไปด้วยความหลากหลาย แม้แต่ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเอง เช่น มีเศรษฐศาสตร์สถาบัน เศรษฐศาสตร์การเมือง และช่วงหลังที่เป็นที่นิยมคือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้สนใจการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่สนใจเสถียรภาพเศรษฐกิจ ความเท่าเทียม ความยั่งยืนด้วย นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ใช้การเมืองเป็นแว่นตาหลัก ถ้าเราจะศึกษาอะไรเราสนใจนโยบาย แน่นอนว่าสุดท้ายมันทิ้งการเมืองไม่ได้ แต่การเมืองว่าใครเป็นพวกใครจะไม่ใช่แว่นตาแรกที่นักเศรษฐศาสตร์ใส่กัน

นักเศรษฐศาสตร์สนใจการผูกขาดเพราะอยากให้กลไกตลาดทำงานได้ดี เพราะถ้ามีการผูกขาดแล้วกลไกตลาดทำงานไม่ได้ มันจะล้มเหลวหมด ที่นักเศรษฐศาสตร์สนใจข้อมูลข่าวสาร สนใจความล้มเหลวของตลาด เพื่อแก้ไข เพราะไม่ได้เชื่อว่าตลาดดีหมด ตลาดมีความล้มเหลวอยู่ สมมติฐานหลักของนักเศรษฐศาสตร์คือคนไม่โง่ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมากเกินไปหรือเปล่ากับเรื่อง rationality คือทุกคนมีเหตุมีผล ที่อาจารย์เอกสิทธิ์ยกว่าทีดีอาร์ไอมองว่านักการเมืองเป็นพวกเห็นแก่ตัว นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าคนทุกคนเห็นแก่ตัวและสิ่งนี้โดยฐานคิดทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เน้นเรื่องศีลธรรม นักเศรษฐศาสตร์เน้นเรื่องแรงจูงใจ

อีกเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะคนที่ทำงานวิจัยด้านนโยบายจะต้องมี คือถ้าผลการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อเก่าๆ เราต้องพร้อมเปลี่ยนไปตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้ทั้งนั้นผมไม่เข้าใจเรื่องรัฐศาสตร์หรือวาทกรรมดี แต่บางครั้งฟังไปฟังมาเหมือนกับว่าเนื่องจากไม่เชื่อว่าอันนี้คือความรู้ที่แท้จริงเพราะฉะนั้นอะไรก็เป็นความรู้ได้ แต่มันก็ต้องมีจุดหนึ่งใช่ไหมครับว่าไม่ใช่อะไรก็ได้ สิ่งที่มาเช็คสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ก็คือหลักฐานเชิงประจักษ์ แล้วข้อเสนอที่เสนอต้องนำไปปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่การแสดงวาทกรรมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว นักเศรษฐศาสตร์จะผลิตวาทกรรมออกมาโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ แต่เจตนาไม่ได้ตั้งใจผลิตวาทกรรม

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักไปไกลขนาดไหนผมขอยกตัวอย่างงานเขียนของศาสตราจารย์รากุรัม ราจันทร์ Raghuram Rajan เขียนหนังสือชื่อ The Third Pillar สำหรับนักรัฐศาสตร์อาจจะไม่ตื่นเต้น แต่ในวงการเศรษฐศาสตร์ตื่นเต้นกันพอสมควร เล่มนี้บอกว่าสังคมจะไปได้ต้องมี 3 เสาคือตลาด รัฐ และประชาสังคม ไม่ใช่ ตลาดต้องเป็นตลาดไม่ผูกขาด ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ที่ผมยกขึ้นมาเพราะส่วนหนึ่งผมคิดว่าคล้ายกับวิธีที่ผมมองบทบาทของสถาบันการวิจัยด้านนโยบายอย่างทีดีอาร์ไอ ที่ให้ความสำคัญกับการมีรัฐที่เป็นประชาธิปไตย ตอบสนองความต้องการประชาชน และมี accountability เราต้องการรัฐที่กำกับดูแลได้ เพราะเรารู้ว่ารัฐไว้ใจไม่ได้ ทุนก็ไว้ใจไม่ได้ และรัฐสามารถแก้ไขตลาดที่ล้มเหลวได้ ในเวลาเดียวกันรัฐก็ล้มเหลวบ่อยๆ เหมือนตลาดเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีประชาสังคมขึ้นมามีบทบาทร่วมกับรัฐและตลาด ซึ่งงานที่ทีดีอาร์ไอทำตอนหลังๆ ผมคิดว่าเราไปเกาะเกี่ยวกับการสร้างทั้ง 3 เสาในสังคม

ท่านอาจารย์เอกสิทธิ์บอกว่าพวกเราเป็นพวกรังเกียจการเมือง ผมกำลังจะบอกว่าคำว่าการเมืองที่อาจารย์เข้าใจและที่คนทั่วไปเข้าใจอาจไม่ใช่ความหมายเดียวกันแท้ๆ คนทั่วไปเข้าใจกันอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างคุณชาลี ลอยสูง เป็นคนในขบวนการแรงงานไทย คุณชาลีบอกว่าเรื่องค่าจ้างเป็นหน้าที่ของบอร์ดไตรภาคีไม่ใช่การเมือง อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิดท่านก็บอกว่า ไม่อยากให้การช่วยเหลือชาวนาเป็นปัญหาการเมือง ท่านปฏิเสธการเมืองหรือเปล่า ท่านไม่ได้ปฏิเสธการเมืองอยู่แล้วเพราะท่านเป็นนักกิจกรรมการเมืองคนหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะสหภาพแรงงานหรือคนในวงการวิชาการเท่านั้น นักการเมืองพูดถึงการเมืองว่าอย่างไร คุณยิ่งลักษณ์พูดว่าเรื่องระบายน้ำไม่ใช่การเมือง แม้แต่นักการเมืองยังบอกว่าเรื่องการตัดสินใจไม่ให้น้ำท่วมตรงไหนยังไม่ใช่เรื่องการเลย

เพราะฉะนั้นการเมืองที่คนจำนวนมากพูดกันอาจจะไม่ใช่ความหมายที่อาจารย์เอกสิทธิ์ตีว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เป็นแบบที่นักรัฐศาสตร์เข้าใจเสมอไป ในฐานะนักวิจัยนโยบาย เศรษฐกิจและการเมืองแยกกันได้ยาก แต่การวิจัยของทีดีอาร์ไอจุดตั้งต้นเริ่มที่ตัวนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ใช่ระบบการเมืองโดยตรง

เราบอกว่าเราไม่ได้เลือกข้างทางการเมืองแปลว่าอะไร คลังสมองในหลายประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาหรือในเยอรมนีจะมีขั้วชัดเจน ในเยอรมนี คลังสมองผูกติดกับพรรคการเมืองด้วยซ้ำ ทีดีอาร์ไอกำลังจะบอกว่า เราไม่ใช่คลังสมองที่ไปผูกติดแบบนั้น ท่าทีของเราไม่ได้แปลว่าเราอยู่กับพวกไหน   แต่เราคิดว่านโยบายแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร ซึ่งดูแล้วอาจจะคล้ายกับกลุ่มนี้หรือกลุ่มนั้น แต่เราไม่ได้เลือกไปผูกติดกับกลุ่มไหนก่อน อันนี้คือจุดสำคัญ

ท่านอาจารย์เอกสิทธิ์โควทหนังสือของ James Mcgunn กรุณาอ่านด้วยความระมัดระวัง ในหน้า 71 อาจารย์เอกสิทธิ์เขียนว่า James Mcgunn ประเมินว่าทีดีอาร์ไอมีบทบาทด้านการปฏิรูปตลาด แต่ไม่ปรากฏผลต่อกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย แล้วตรงนี้ที่อาจารย์เอกสิทธิ์บอกว่าทีดีอาร์ไอไม่ส่งเสริมการสร้างประชาธิปไตย เหมือนกับว่า James Mcgunn เป็นคนพูดหมดเลย แต่ไปอ่านหนังสือให้ละเอียด James Mcgunn ศึกษาคลังสมองในประเทศต่างๆ สองเรื่องตามชื่อหนังสือ Democratization and market reform คือศึกษาว่าคลังสมองไหนศึกษาเรื่องการปฏิรูปตลาด คลังสมองไหนศึกษาเรื่องการปฏิรูปการเมือง ไม่ได้แปลว่าทุกที่จะมีคลังสมองที่ทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง

ถ้าใช้มาตรฐานอาจารย์เอกสิทธิ์เช่น PIDS (Philippine Institute for Development Studies) ของฟิลิปปินส์ก็เป็นสถาบันที่ไม่ปรากฏโครงการที่ส่งผลต่อประชาธิปไตยเลย เพราะเขาเป็นคลังสมองด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ส่วนสถาบันพระปกเกล้าก็จะพบว่าไม่มีโครงการที่มีผลต่อการปฏิรูปตลาด เพราะเขาเป็นคลังสมองด้านการเมือง อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ แต่อาจารย์เอกสิทธิ์เขียนเหมือนกับว่า James Mcgunn สรุปอย่างนั้น ซึ่งผมคิดว่าวิธีการสรุปแบบนี้ออกจะหมิ่นเหม่ต่อความซื่อตรงทางวิชาการอยู่ไม่น้อย

ทีดีอาร์ไอไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยจริงหรือไม่ มีการศึกษามากมายที่อาจารย์เอกสิทธิ์ไม่ได้กล่าวถึงการศึกษาเรื่องปฏิรูปการเมือง 2549 ที่ทีดีอาร์ไอมีงานศึกษาพวกนี้ไม่ได้แปลว่าเราเชี่ยวชาญ แต่เราจับมือกับคนที่เขาเชี่ยวชาญแล้วมาศึกษาร่วมกัน เช่น งานปฏิรูปการเมือง เราศึกษาร่วมกับอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ ตอนปี 2549 เป็นปีที่มีการรัฐประหารเราหวังว่าโครงการนี้จะมีข้อเสนอที่สร้างระบบการเมืองใหม่ขึ้น แต่เกิดรัฐประหารขึ้น

ข้อเสนอที่เราเสนอก็คืออย่าให้มีการแต่งตั้ง ส.ว. ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้น มีโครงการปรับปรุงและเฝ้าระวังกฎหมาย เพราะในปี 2551 มีกฎหมายออกมาเยอะและออกมาในสมัยที่รัฐบาลไม่ได้มาจากประชาธิปไตย หน้าที่ของคณะวิจัยชุดนี้คือคอยให้ข้อมูลสังคมว่ามีกฎหมายอะไรที่ประชาชนควรจับตามอง โครงการปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติของไทยซึ่งมีอาจารย์ตะวัน มานะกุลศึกษาร่วมกัน อาจารย์ตะวันก็ศึกษาว่าทำไมกฎหมายที่ประชาชนเสนอทั้งที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ประชาชนในการเสนอส่วนใหญ่จึงไปไม่ค่อยรอด เพื่อจะหาวิธีปรับปรุงเพื่อให้เสนอได้ มีโครงการศึกษาด้วยว่าจะปฏิรูปคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างไรให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น

เรามีงานเรื่องการกระจายอำนาจ ท่านอาจารย์เอกสิทธิ์ก็เคยเขียนบทความประมาณนี้ แต่ไปอ้างในที่อื่น แต่พอพูดถึงบทบาทของทีดีอาร์ไอในเรื่องการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตย กลับหายไปอย่างเป็นปริศนา ซึ่งผมอยากได้คำอธิบายว่ามันหายไปได้อย่างไร เราเสนอให้ท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจ เสนอให้กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น แล้วก็มีงานอีกจำนวนหนึ่งที่พูดเรื่องการใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร ส่วนนี้ทำไมจึงหายไปหมดจากการรีวิวของอาจารย์เอกสิทธิ์

เรื่องสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ก็อ้าง แต่ก็หายไป เราเสนอว่าประชาธิปไตยช่วยทำให้เกิดสวัสดิการสังคม จากการศึกษาพบว่า สวัสดิการที่เกิดขึ้นในสมัยเผด็จการกับที่เกิดขึ้นในสมัยประชาธิปไตย ก็ชัดเจนว่าสวัสดิการต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงประชาธิปไตย

ผมไปปาฐกถา 14 ตุลาคมเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย บอกว่าประชาธิปไตยจะอยู่ได้ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย มิฉะนั้นเมื่อมีการ redistribution ใหญ่ๆ คนที่มั่งมีจะยอมไม่ได้ มันก็จะเกิดการคว่ำกระดานกัน เพราะฉะนั้นต้องแก้ความเหลื่อมล้ำพร้อมกันไปด้วยถ้าจะให้ประชาธิปไตยยั่งยืน

เรื่องประชาธิปไตย พวกเราคิดว่าในสังคมไทย มันต้องไปให้พ้นการถกเถียงซึ่งไม่ก่อให้เกิดการสานพลังกันคือเถียงว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือจะต้านคอร์รัปชันหรือจะตรวจสอบรัฐบาล เพราะการเถียงแบบนั้นเป็นการเถียงในประชาธิปไตยที่เป็นเวอร์ชั่นพื้นฐาน เราเสนอว่าทำไมเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงซึ่งมีความคับข้องใจทั้งคู่ไม่มาหาจุดร่วมกันแล้วสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น คนเสื้อเหลืองอยากได้กลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ คนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองอยากได้ศาลที่เป็นอิสระและเลนส์กลาง คนเสื้อแดงอยากได้สิทธิ์เลือกตั้งอยากได้ความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย คนเท่ากันอยากได้การควบคุมทหารโดยพลเรือนและทุกสีเสื้ออยากได้เสรีภาพปัจเจก เสรีภาพคนกลุ่มน้อย และเสรีภาพของของสื่อและประชาสังคม เพราะฉะนั้นควรมาคุยกัน

มีเรื่องการอยู่กับรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่การคว่ำกระดานด้วยการรัฐประหาร แน่นอนว่ามีบทบาทของรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ไม่ได้แปลว่าเราเอาศูนย์อำนาจทั้งหมดไปอยู่กับรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างเดียว มันต้องมีกลไกอื่นประกอบเป็นระบบนิเวศด้วยคือเรื่องของราชการจะต้องมีวินัยการเงินและวินัยการคลัง ด้านการเงินก็คือการมีธนาคารกลางที่เป็นอิสระ ซึ่งอาจารย์เอกสิทธิ์ตั้งคำถามเยอะในหนังสือของอาจารย์และวินัยการคลังซึ่งก็คือเรื่องของการมีหน่วยงานด้านงบประมาณของรัฐสภา

รัฐสภาควรมีหน้าที่พิจารณาเงินนอกงบประมาณ ปัญหาสำคัญของเรื่องประชานิยมก็คือการที่บทบาทของรัฐสภาถูกกันออกไป แล้วประชาธิปไตยคืออะไร อย่างน้อยในความหมายของประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา รัฏฐาธิปัตย์ที่ควรจะเป็นตัวจริงคือรัฐสภา ฝ่ายบริหารควรเป็นส่วนขยายต่อที่รัฐสภาไปเลือกมาเท่านั้น และประชาชนต้องมีประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น ท้องถิ่นมีการกระจายอำนาจ ลดบทบาทขององค์กรอิสระและตุลาการให้ตรวจสอบเฉพาะประเด็นกฎหมาย ไม่ใช่ไปตรวจสอบประเด็นการเมือง สื่อและประชาสังคมต้องมีพื้นที่มากขึ้น

เรื่องต่อมาคือเรื่องคอร์รัปชัน อาจารย์เอกสิทธิ์เสนอว่าทีดีอาร์ไอเสนอวาทกรรมคุณธรรมความรู้คู่คุณธรรมและมองว่านักการเมืองเป็นต้นตอคอร์รัปชัน อย่างที่ผมพยายามจะเรียนให้ทราบ นอกจากผู้ใหญ่ในรุ่นก่อนๆ แล้วคนรุ่นหลังๆ ในรุ่นผมไม่ได้คิดวาทกรรมแบบนี้ เราไม่ได้ใช้วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ใช้วาทกรรมความรู้คู่คุณธรรม พวกเรามองคอร์รัปชันยังไง เรามองคอร์รัปชันว่าไม่ใช่ปัญหาคุณธรรมว่าใครขี้โกง แต่เรามองว่าเป็นปัญหาระบบ สิ่งที่เรายึดก็คือสมการคอร์รัปชันของศาสตราจารย์ Robert Klitgaard ที่ว่าคอร์รัปชันเท่ากับดุลพินิจบวกการผูกขาด ลบด้วยความรับผิดชอบ ความโปร่งใส และเราก็พิมพ์หนังสือมา 1 เล่มคือสมการคอร์รัปชัน ไม่มีตรงไหนเทศนาเรื่องคุณธรรม

เราไม่ได้เชื่อว่ามีเฉพาะนักการเมืองที่คอร์รัปชัน ถ้าอาจารย์ได้อ่านหนังสือเมนูคอร์รัปชันก็จะมีกรณีศึกษาต่างๆ ทั้งข้าราชการ นักการเมือง ตำรวจ ศาล ทหาร พระ อย่างกรณี GT200 ซึ่งซื้อแพงกว่าหน่วยราชการอื่นถึง 4 เท่าเพราะชอบซื้อวิธีพิเศษ คือไม่ต้องแข่งขันและมีเรื่องงบลับต่างๆ มากมายจึงซื้อได้ในราคาที่แพงและงบกลาโหมก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่สมัยรัฐประหาร นี่คือวิธีมองของเรา

เรื่องคอร์รัปชันเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อนในหนังสือ อาจารย์บอกว่า เราเล่นงานรัฐบาลทักษิณแรงมาก โดยเฉพาะเรื่องโทรคมนาคม เรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผม แต่ถ้าไปดูบันทึกจะพบว่าเราคัดค้านตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย รัฐบาลทักษิณ มีเรื่องภาษีสรรพสามิต ผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ในสมัยคุณอภิสิทธิ์ ตัวผมเองก็เคยคัดค้านเรื่องสัมปทานจำแลงกรณีโทรศัพท์ 3G ระหว่าง ทศท. กับ True ซึ่งทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันในการแข่งขัน และมาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ก็ใช้มาตรา 40 ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้กับนายทุน อาจารย์ไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นพวกนี้เลย กลายเป็นว่าอยู่ๆ เราก็ไปหาเรื่องคุณทักษิณ อันนี้ผมคิดว่าต้องขอความเป็นธรรม

เรื่องจำนำข้าว อาจารย์เอกสิทธิ์สรุปว่าทีดีอาร์ไอคัดค้านโครงการที่นักการเมืองหาเสียงขึ้นมา แล้ว ป.ป.ช. กับศาลก็คล้อยตามทีดีอาร์ไอ ทั้งที่มีความเห็นอื่นคือท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดเรื่องจำนำข้าวว่าเป็นการปฏิรูปสังคมยกระดับสถานะทางสังคมของชาวนา ท่านอาจารย์เกษียร เตชะพีระ พูดเรื่องการเปลี่ยนผลประโยชน์ใหม่ ท่านอาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ บอกว่าเป็นการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ

แฟ้มภาพ อัมมาร สยามวาลา

ผมเชื่อว่าทั้งอาจารย์นิธิ อาจารย์นิพนธ์ อาจารย์อัมมาร ล้วนต้องการช่วยเหลือเกษตรกรเช่นเดียวกัน แต่จะมีวิธีที่แตกต่างกัน อาจารย์นิพนธ์ไม่เคยบอกว่าไม่ควรช่วยเกษตรกร อาจารย์บอกว่าหากจะช่วยเกษตรกรมันมีวิธีที่ดีกว่า เช่น วิธีแจกเงินโดยตรงซึ่งเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดกัน การแจกเงินโดยตรงเงินจะไปถึงและไม่ทำลายคุณภาพข้าวไทยให้แย่ลง การส่งออกไม่ตกลงไปด้วย พุ่งเป้าไปยังเกษตรกรยากจนได้ด้วย ไม่ต้องไปอุดหนุนเกษตรกรร่ำรวย

ประเด็นสำคัญก็คือโครงการจำนำข้าวแจกเงินผ่านโครงการนี้ให้กับชาวนาที่ยากจนจริงๆ เพียง 0.6 ล้านครัวเรือน แต่มีชาวนาที่ไม่ยากจนที่ได้ไปด้วย และก็มีคนจนที่ไม่ใช่ชาวนาที่ไม่ได้ ถ้าเราสนใจคนจน เหตุใดเราจึงไม่พุ่งเป้าไปที่คนจน การพุ่งเป้าที่ชาวนาไม่ใช่การพุ่งเป้าไปที่คนจนและเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรงมากๆ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ

แล้วมีเฉพาะทีดีอาร์ไอคัดค้านหรือไม่ ถ้าไปดูจะมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง อาจารย์ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์บอกว่า จำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะเลวที่สุดที่ประเทศเคยมีมา อาจารย์วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรบอกว่าไม่คุ้มกับงบที่ทุ่มลงไป อาจารย์สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมอง บอกว่าควรทบทวนโครงการนี้อย่างเร่งด่วน ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา จากธนาคารโลกบอกว่า ไม่แนะนำให้ทำโครงการแบบนี้อีก แล้วมีเฉพาะคนไม่ชอบคุณทักษิณที่คัดค้านหรือเปล่า แม้กระทั่งอาจารย์วีระพงษ์ รามางกูร ซึ่งเป็นประธานยุทธศาสตร์การฟื้นฟูอนาคตและสร้างประเทศในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ออกมาคัดค้านว่านโยบายจำนำสินค้าเกษตรเป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมายโดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงเกษตรกรอย่างที่คิดกัน

เรื่องประชานิยม อันนี้เป็นโจทย์ที่อาจารย์ถามว่าทีดีอาร์ไอดูเหมือนอยู่ไม่ค่อยได้ ต้องชนกับรัฐบาลเสียงข้างมาก เพราะเป็นพวกเสียงข้างน้อยหรือเปล่า ผมคิดว่ามันมีทางออกได้ เราแก้ปัญหาประชานิยมโดยใช้กลไกรัฐสภาได้ด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ผมเสนอไว้ในรายการคิดกำลัง 2 ตั้งแต่ปี 2557 ก็คือพรรคการเมืองเมื่อจะเลือกตั้งสามารถเสนอนโยบายอย่างอิสระ ไม่ควรมีข้อจำกัดใดๆ ขออย่างเดียวให้ระบุต้นทุนว่าจะทำโครงการนี้ใช้เงินเท่าไหร่ เมื่อได้รับเลือกตั้งมาจะทำนโยบายนี้ก็ให้ใช้กระบวนการงบประมาณ อย่าทำเกินที่หาเสียงไว้ จำกัดวงเงินได้ มีระบบบัญชีตรวจสอบได้ ตอนจำนำข้าวกลายเป็นว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจบัญชีข้าวไม่ได้เลย นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

และการที่ประชานิยมจะอยู่ในประชาธิปไตยได้ รัฐสภาจะต้องมีขีดความสามารถ ถ้ารัฐบาลมีสำนักงบประมาณซึ่งมีบุคลากรมหาศาล แต่รัฐสภามีแต่เจ้าหน้าที่รัฐสภา ซึ่งไม่ได้อยู่ประจำ ก็จะไม่สามารถสู้กับฝ่ายบริหารได้ อย่าลืมว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย รัฐสภาคือรัฏฐาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นรัฐสภาควรทำหน้าที่ได้โดยมีสำนักงบประมาณของรัฐสภา ซึ่งก็เป็นข้อเสนอของทีดีอาร์ไอที่เป็นการแก้ไขปัญหาประชานิยมและคอร์รัปชันโดยวิธีการเป็นประชาธิปไตย

เรื่องแรงงานและสวัสดิการ ท่านอาจารย์เอกสิทธิ์บอกว่าทีดีอาร์ไอให้ความสำคัญกับทุนมากกว่าแรงงาน ไม่ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือให้ปรับตามผลิตภัณฑ์ภาพและเงินเฟ้อ ให้รัฐบาลสนับสนุนการฝึกทักษะแรงงาน อาจารย์เอกสิทธิ์บอกว่าวิธีนี้เป็นการช่วยนายทุน ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนสวัสดิการ ไม่ลดส่วนเกินที่นายทุนได้ คล้ายกับว่าทีดีอาร์ไอเสนออะไรที่นายทุนเสียไม่ได้ และทีดีอาร์ไอไม่คงเส้นคงวาเรื่องการเสนอนโยบาย คือไปบิดเบือนแนวคิดของอาจารย์ป๋วยเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งอาจารย์เอกสิทธิ์อ้างอาจารย์ใจ

ทำไมประเด็นเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2540 อาจารย์ฉลองภพไม่สนับสนุน ซึ่งผมก็เข้าใจ เพราะในปี 2540 เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ คนตกงานพุ่งขึ้นสูงเหมือนภาวะปัจจุบัน ในภาวะแบบนี้ ถ้าใครเสนอให้ธุรกิจขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การเลิกจ้างจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ได้พูดอย่างนี้เพราะกลัวว่าธุรกิจจะเสีย แต่คนงานจะเสีย ถึงอาจารย์จะเจตนาดี แต่ถ้าใช้นโยบายที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดปัญหาได้

มีรายงานชิ้นนี้อยู่ในทีดีอาร์ไอ ซึ่งวิเคราะห์ผลดีผลเสียของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในปี 2556 ว่า 10 ปีที่ผ่านมาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยยังไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รายงานนี้ยังชี้ให้เห็นว่ายังมีแรงงานขั้นต่ำที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำถึง 4 ล้านคน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ทำอย่างนี้คนจะสุ่มเสี่ยงตกไปสู่ความยากจน คือย้ำเตือนว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องสำคัญและมีคนไม่ได้เยอะและควรต้องขึ้นเพราะมันขึ้นไม่ทัน และตัวผมก็เสนอว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเป็นนโยบายที่มีความสำคัญอย่างสูง เพราะค่าจ้างที่เหมาะสมจะมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่นโยบายประชานิยมทั่วไป และทีดีอาร์ไอมีนโยบายสนับสนุนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผมไม่เห็นอาจารย์พูดถึงในหนังสือของอาจารย์

ทำไมเราจึงเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามผลิตภาพและเงินเฟ้อ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ จีดีพีขึ้นไปเร็วมาก ในขณะที่ตัวค่าจ้างขึ้นช้ากว่าจีดีพี ช้ากว่าเงินเฟ้อ และช้ากว่าผลิตภาพมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นคนงานไม่ได้ best deal ที่ตนเองควรจะได้ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าการใช้ค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่ต้องผ่านกระบวนการทางการเมือง ผมจึงเสนอว่าต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับการอยู่การกินของคนก่อน ให้พอเพียงกับการอยู่ดีในระดับหนึ่ง และควรมีกลไกอัตโนมัติที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีโดยใช้ผลิตภาพบวกกับเงินเฟ้อ คนงานจะไม่ได้น้อยกว่านั้น กระบวนการนี้อาจจะฟังดูเป็นกระบวนการเทคโนแครติก แทนที่จะใช้ฝ่ายการเมืองมาเจรจากัน แต่กระบวนการนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการรวมตัวของคนงานเพื่อต่อรอง และจะเป็นไปได้ยังไงถ้าจะขึ้นเกินกว่าผลิตภาพ เพราะมันต้องเอาเงินจากที่ไหนสักที่หนึ่ง

สุดท้าย ทีดีอาร์ไอครอบงำสังคมจริงหรือ ทีดีอาร์ไอไม่ได้เป็นคลังสมองแห่งเดียวในประเทศไทย ลำพังทีดีอาร์ไอที่มีด็อกเตอร์ 20 คน ไม่สามารถทำงานได้และไม่สามารถเป็นตัวแทนมุมต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในสังคมได้ ถึงต้องช่วยกันทำมีสถาบันคลังสมองอื่นๆ เพิ่มขึ้น องค์กรเล็กๆ องค์กรเดียวไม่มีความสามารถที่จะศึกษาได้ทุกเรื่อง และไม่มีความสามารถและความพยายามใดๆ จะครอบงำความคิดของคนในสังคม และต่อให้อยากจะทำก็ไม่มีเครื่องมือ เพราะเป็นองค์กรเล็ก ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีสื่อ ไม่มีเงินซื้อเนื้อที่โฆษณา

ผมคิดว่าทุกองค์กรรวมทั้งอาจารย์เอกสิทธิ์เองก็อยากแสดงความคิดเห็น อยากจะสร้างวาทกรรม ถ้าอาจารย์จะมองว่าพวกเราสร้างวาทกรรมขึ้นมา ซึ่งพวกเราไม่ได้มองในมุมนั้น แต่ไม่ปฏิเสธอาจารย์เอกสิทธิ์ว่าสุดท้ายมันก็คงสร้างวาทกรรมบางชุดออกมานั่นแหละ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาการต่างๆ หรือใครต่อใครก็สามารถทำได้ในการเสนอความรู้หรือวาทกรรมสาธารณะ เพราะฉะนั้นคำถามว่าทีดีอาร์ไอพยายามสร้างวาทกรรม ในสายตาของผมจึงเป็นคำถามที่ไม่น่าสนใจ เพราะอาจารย์เอกสิทธิ์ก็พูดเองว่าใครๆ ก็พยายามสร้างวาทกรรมทั้งนั้น แล้วทำไมจึงคิดว่าการสร้างวาทกรรมของทีดีอาร์ไอจึงน่าสนใจ ถ้าจะให้น่าสนใจควรตั้งคำถามว่าสร้างวาทกรรมอย่างไร มีกลไกในการสร้างอย่างไร และทำไมอาจารย์จึงตั้งชื่อหนังสือว่าสถาบันคลุมสมอง ถ้าอาจารย์เชื่อว่าประชาชนมีสติปัญญา ตัดสินใจได้ ประชาชนในระบบประชาธิปไตยจะถูกคลุมสมองโดยใครได้อย่างไร

สรุปข้อวิจารณ์ต่องานของอาจารย์ก็คือ ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของอาจารย์คือมองทีดีอาร์ไอแบบเหมาเข่ง เช่น คนที่มาในงานสัมมนาประจำปี แล้วก็ไปตั้งกลุ่มย่อยกัน กลุ่มย่อยก็มีผลสรุปงานออกมา อาจารย์ก็บอกว่านั่นก็เป็นทีดีอาร์ไอ ผมไปรับผิดชอบแทนคนเหล่านั้นไม่ได้หรอกและอาจารย์ไม่เห็นถึงพลวัตที่เกิดขึ้นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนแปลงตลอดนะครับ อาจารย์ยังบอกว่าไปตรึงสังคมตลอด 60 ปีด้วย มันจะไปตรึงได้อย่างไร

อาจารย์มองผู้ได้และเสียผลประโยชน์แบบตายตัวมากๆ เวลาเราจะทำวิจัยนโยบายสาธารณะเราไม่ได้ตั้งโจทย์ว่าเราจะให้เซ็คเตอร์นี้เสีย เซ็คเตอร์นี้ได้ เราดูที่ตัวนโยบาย วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ไม่ได้เอาฝ่ายไหนมาเป็นตัวตั้ง

ผมคิดว่าเราอยากให้อาจารย์เอกสิทธิ์มองทีดีอาร์ไออย่างที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่อาจารย์ใช้จินตนาการในการมองโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ไม่สอดคล้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net