ชะตากรรมที่แสนโหดร้ายของเรนนี่แห่งช่องส่องผี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คุณเรนนี่แห่งช่องส่องผีโดนจัดหนักเสียแล้ว ข้อหาฉกรรจ์ของเธอคือการบิดเบือนประวัติศาสตร์และการดูหมิ่นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดนครราชสีมานั่นคือท้าวสุรนารีหรือย่าโม คือเธอไปบอกว่าพระยาปลัดทองคำ สามีของย่าโมได้นางสาวบุญเหลือเป็นภรรยาอีกคน ทำให้อนาคตของคุณเรนนี่ รวมไปถึงคุณบ๊วยเชษฐวุฒิ ผู้บริหารรายการช่องส่องผีอาจถึงการอวสาน และไม่รู้ว่าพวกเขาจะถูกโดนดำเนินการทางกฎหมายจริงๆ หรือแค่มวยล้ม แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้สังคมโดยเฉพาะ social media ได้เล่นงานคุณเรนนี่และรายการเสียอ่วมแล้ว

กระนั้นผมมาสะดุดกับคำโจมตีจากหลายฝ่ายที่ว่า "บิดเบือนประวัติศาสตร์" แน่นอนว่าคุณเรนนี่ดูเป็นคนไม่น่าเชื่อถืออย่างยิ่งเพราะถ้าไปสืบประวัติของเธอจะพบว่าเธอบอกว่าตัวเองมีญาณวิเศษ เคยตายแล้วไปท่องสวรรค์นรก 49 วันกว่าจะฟื้นในห้องดับจิต จากนั้นก็เธอเสนอประวัติศาสตร์ตามแบบขอตัวเองแต่มีความพิเศษเพิ่มมาด้วยคือความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเช่นว่าคนดังคนโน้นคนนี้ชาติก่อนเคยเป็นคนสำคัญมาก่อน แม้กระทั่งสุนัขในวัดก็เคยเป็นพระยาในชาติที่แล้ว ล่าสุดมาพระเจ้าตากสินมหาราชเหมือนจะทรงโดนด้วย

กระนั้นข้อหาที่ว่าเธอบิดเบือนประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะไม่คิดว่าใครในโลกนี้จะสามารถบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้ อาจเพราะสำนึกคนทั่วไปมักคิดว่าประวัติศาสตร์หรือ History หมายถึงการบรรยายเรื่องราวหรือภาพปรากฎซึ่งสามารถสะท้อนความจริงซึ่งเกิดขึ้นในอดีตได้ดุจดังภาพฟูลเอชดี แต่แท้จริงแล้วหาใช่อย่างนั้นไม่ เพราะไม่เคยมีใครได้เกิดทันในยุคที่มักมีการกล่าวถึงโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น 100 ปีขึ้นไป หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 หรือเมื่อ 88 ปีที่แล้วจะมีคนอยู่และรู้เรื่องราวสักกี่คน ขนาดอายุ 100 ในตอนนี้ สมัยนั้นก็อายุแค่ 12 ขวบคงไม่รู้ความอะไร

กระนั้นแม้จะเกิดทันและรู้ความแต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าเราจะเห็นตัวประวัติศาสตร์จริงๆ การเข้าร่วมหรือพบเห็นเหตุการณ์นั้นจริงๆ อย่างเช่นคนที่รู้ความในปี 1962 ก็ยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนลอบสังหารจอห์น เอฟ เคนนาดีจริงๆ เพราะเชื่อกันว่าคนที่โดนจับคือนายลี ฮาร์วีย์ ออสวาล์ดเป็นแพะ และก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไมเคนนาดีถึงถูกยิง หรือคนในปี 2475 ที่อยู่ไกลออกจากพระนครยังไม่เลยรู้เลยว่ามีคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีกี่คน ปฏิบัติการอย่างไร เพราะความห่างของระยะทางและเทคโนโลยีอันล้าสมัย หรือแม้แต่ให้คนอายุ 45 ปี ขึ้นไปตอนนี้ให้บรรยายเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ถ้าไม่สนใจหาความรู้เพิ่มเติมก็จะไม่สามารถบอกได้จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในขณะนั้น เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่สมมติว่าเราอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ แต่เราก็จะเห็นความจริงที่เป็นเศษเสี้ยวอยู่ดี อย่างช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง บุคคลทั้งคณะราษฏรและคณะเจ้าห็นเหตุการณ์ตามมุมมองและจุดที่ตัวเองอยู่ จากหลักฐานเช่นหนังสือ จดหมาย บันทึกช่วยจำของพวกเขามากมายก็ล้วนแต่กล่าวถึงเหตุการณ์เหล่านั้นในแง่มุมที่แตกต่างกัน แถมยังมีการใส่อคติส่วนตัว อารมณ์ คุณธรรมเข้าด้วย อีกทั้งไม่นับว่าโกหกเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง จึงไม่ถือว่าพวกเขาจะรู้ซึ้งถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ (สมมติว่ามีคนยุคนั้นฟื้นคืนชีพมาได้คงตื่นตาตื่นใจกับหนังสือการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ที่เพิ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.2501 เป็นอย่างยิ่ง)

ด้วยขีดจำกัดดังกล่าว เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อถือในปัจจุบันจะสะท้อนความจริงอะไรได้ แต่เป็นเพราะเรามีปฏิสัมพันธ์ตามสื่อ (medium) ต่างหาก สื่อที่กล่าวถึงนี้คือระบบสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถแบ่งเป็นสื่อชั้นต้นหรือ primary source เช่น ตำราหรือเอกสารที่ถูกบันทึกหรือคำให้การโดยคนในยุคนั้นหรือหลังยุคนั้น คำเล่าลือ วัตถุ สถานที่ อนุสาวรีย์ต่างๆ ฯลฯ ส่วนสื่อชั้นรองหรือ secondary source ได้แก่ หนังสือเรียนในห้องเรียน ตำราที่เอาสื่อชั้นต้นมาเรียบเรียงอีกต่อหนึ่ง รวมไปถึงสื่อแห่งความบันเทิงซึ่งเปี่ยมด้วยจินตนาการแต่กลับทรงพลังไม่น้อยคือละครทั้งเวทีและโทรทัศน์ รวมไปถึงภาพยนตร์ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่ตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ประการใดเพราะมันได้สิ้นสุดไปแล้ว

ที่สำคัญสื่อพวกนี้เองกว่าจะเดินทางมาสู่การรับรู้ของเราก็ต้องผ่านการผลิตซ้ำหรือ reinvention นั่นคือการแต่งเติมจากผู้สื่อสาร ถ่ายทอดกันไปกันมา ยิ่งเวลาผ่านไป ผ่านคนจำนวนมากเข้า สารก็ยิ่งเปลี่ยน ถึงสารหลักจะคงที่แต่รายละเอียดหรือการให้คุณค่าและความหมายก็เปลี่ยนไปตามผู้สื่อแต่ละคนอาจโดยไม่ตั้งใจหรือเจตนาก็ตามแต่รวมไปถึงบริบททางการเมืองและสังคมด้วย กระนั้นเราก็ยังหลงผิดคือยึดถือประวัติศาสตร์อันปรากฏตัวในฐานะสื่อดังข้างบนว่าเป็นความจริงเหมือนเราย้อนอดีตไปดูเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเองทั้งที่มันเป็นคนละอย่างกัน เหมือนกับคำอุปมาของศาสนาพุทธนิกายเซนก็คือการชี้นิ้วไปยังพระจันทร์เพื่อแสดงว่าพระจันทร์อยู่ตรงไหน มีลักษณะเป็นอย่างไร แต่ดันมีคนไปคิดว่านิ้วคือพระจันทร์

ดังนั้นคำกล่าวหาว่า "การบิดเบือนประวัติศาสตร์" หรือ "การทำให้ประวัติศาสตร์ (ตามความหมายของคนทั่วไปคือข้อมูลดิบๆ มีการดำเนินเรื่องไปตามเนื้อเรื่องชัดทุกกระเบียดนิ้ว) ไม่ตรงกับความจริง" จึงเป็นการพูดที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ตามความคิดของผม ไม่มีคนบิดเบือนประวัติศาสตร์ มีแต่คนที่นำเสนอประวัติศาสตร์ตามฉบับที่เราเชื่อหรือต้องการเสนอว่าถูกต้องเท่านั้น เพราะประวัติศาสตร์คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและดับไปแล้วซึ่งไม่มีใครเห็น ขนาดหลักฐานชัดเจนที่สุดอย่างรูปถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวยังสามารถนำเสนอเหตุการณ์ในอดีตได้แค่เสี้ยวหรือมุมมองหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่มีการคิดค้นเครื่องย้อนเวลาเพื่อไปยุ่งกับอดีตแล้ว อย่างมากที่สุดที่มนุษย์ทำได้ก็คือปลอมแปลงหลักฐานเพื่อใช้ในการเสนอประวัติศาสตร์อีกแง่มุมหนึ่งที่ตนต้องการ อย่างรัฐเผด็จการอย่างจีนและสหภาพโซเวียตทำบ่อยครั้งเพื่อหลอกประชาชนตัวเองรวมไปถึงประเทศไทยเองก็ขึ้นชื่อไม่น้อย

สาเหตุการที่พวกเรายึดถือเนื้อเรื่องประวัติศาสตร์หลายอย่างพ้องกันจนกลายเป็นกระแสหลักเพราะมันสามารถตอบรับหรือสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมือง (political ideology) ที่ถูกปลูกฝังในกมลสันดานของพวกเราจากรัฐหรือสังคมมาได้อย่างเช่นลัทธิเชิดชูบุคคลหรือการถือว่าบุคคลมีความวิเศษ ยิ่งใหญ่ มีคุณธรรมอันสูงสุด และลัทธินี้ก็เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ที่ใหญ่กว่าคือชาตินิยมที่ว่าบุคคลนั้นได้เสียสละแม้ชีวิตในการนำชาติไปสู่ความยิ่งใหญ่หรือกู้ชาติให้พ้นจากการยึดครองของศัตรูผู้ชั่วร้าย แน่นอนว่าข้อมูลหลายอย่างก็น่าจะสอดคล้องกับความจริงอย่างเช่นพระนเรศวรเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ย่อมไม่ใช่กรุงสุโขทัยหรือกรุงรัตนโกสินทร์ แต่รายละเอียดย่อย ๆ ของพระองค์ไม่ว่าวีรกรรมหรือพระราชกรณียกิจสามารถถูกถูกผลิตซ้ำ แทรก เปลี่ยนแปลงไปมาจนมีหลายแหล่งที่พิสูจน์ไม่ได้จริงๆ แม้จะขัดแย้งกัน กลายเป็นความสับสน

ตัวอย่างเช่นการทำยุทธหัตถีของพระนเรศวรที่ถูกทำเป็นละครหรือหนังมาหลายครั้งนั้น ไปๆ มาๆ มีนักประวัติศาสตร์พบพงสาวดารฉบับอื่นว่าพระองค์ทรงใช้ปืนยาวยิงมหาอุปราช หรือสถานที่กับวันของการทำยุทธหัตถีซึ่งเป็นวันกองทัพไทยนั้น ก็ยังหาข้อสรุปจริงๆ ไม่ได้ วันกองทัพไทยก็เลยมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่นานมานี้โดยบอกว่าที่ผ่านมาคำนวนผิด (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนอีกหรือไม่) หรือการประกาศเอกราชของพระนเรศวรแท้จริงเป็นการหลั่งน้ำทักษิโณทกเพื่อตัดพี่ตัดน้องกับเมืองหงสาวดี แต่ผู้ที่ผลิตซ้ำงานประวัติศาสตร์กระแสหลักไปใช้ฉากของบรรดาผู้นำสหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษมาซ้อนทับแทน แถมยังมีคนรุ่นหลังบอกว่าเป็นเอกราชของประเทศไทยทั้งที่ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่เกิดเลย

สำหรับเรื่องของย่าโม ในมิติของอุดมการณ์นั่นคือตัวตนของท่านเกี่ยวข้องกับเรื่องลัทธิชาตินิยมในฐานะวีรสตรีที่รับใช้กรุงเทพฯ คือนำชาวโคราชสู้กับพวกลาวที่มากวาดต้อนพวกเขาในช่วงรัชการที่ 3 ให้พ่ายไป แต่ขณะเดียวกันย่าโมก็เป็นตัวแทนของแนวคิดท้องถิ่นนิยมหรือความยิ่งใหญ่ของโคราชอันไม่สามารถละเมิดได้ผสมกับแนวคิดอย่างอื่นอีกเช่นเรื่องเหนือธรรมชาติที่คนกราบไหว้ย่าโมในฐานะเทพศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงลัทธิราชานิยมคือมีการโยงย่าโมกับกษัตริย์คือรัชกาลที่ 3 และ 4 ในกรณีที่คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับคุณเรนนี่ที่ไปบอกว่าสามีของย่าโมได้นางสาวบุญเหลือเป็นภรรยาก็สะท้อนว่ายังมีการเอาเรื่องคุณธรรมคือการไม่นอกใจภรรยา ตามแบบผัวเดียวเมียเดียวหรือ monogamy ของคนปัจจุบันเข้ามาเป็นเกณฑ์ตัดสินด้วย ความเชื่อเรื่องย่าโมตามความเชื่อกระแสหลักจึงทรงพลังยิ่งถึงแม้จะเป็นการถูกผลิตซ้ำในปัจจุบันก็ตาม

ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมอิงวีรบุรุษวีรสตรีเช่นนี้แพร่หลายไปทั่วโลก และเป็นที่มาของสื่อต่างๆ อย่างเช่นอนุสาวรีย์ คำเล่าลือ ตำนาน ซึ่งจะช่วยให้ลัทธิชาตินิยมนั้นอยู่มั่นคงหรือถูกปลุกระดมโดยรัฐเพื่อความยิ่งใหญ่ของชนชั้นปกครองหรืออาจเพื่อกิจกรรมบางอย่างเช่นสงครามกับเพื่อนบ้านที่มักเป็นตัวร้ายเพราะเคยรุกรานชาติตนมาก่อน หรืออาจจะเป็นที่ยึดถือของประชาชน หากเขาหรือเธอเป็นคนในท้องถิ่นนั้น ซ้ำร้ายยังมีผู้เชี่ยวชาญคือนักประวัติศาสตร์มายืนยันหรือพ้องกันหลายคนก็ยิ่งทำให้เหตุการณ์นั้นมีความขลังยิ่งขึ้น แต่นักประวัติศาสตร์ก็ไม่มีใครเกิดทันสักคนได้แต่ทำการศึกษาจากหลักฐานทั้ง 2 ชั้นดังที่ได้กล่าวมาโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์จึงทำให้ดูน่าเชื่อถือกว่าคุณเรนนี่ที่ดูท่าทางเหมือนมั่วอย่างไงอย่างงั้น แต่นักประวัติศาสตร์เองก็เป็นมนุษย์ ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกครอบงำโดยอคติหรืออุดมการณ์อย่างหนีไม่พ้นถึงจะอ้างว่าเป็นกลางขนาดไหน มีถมไปที่ยอมบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพหรือเลี่ยงการถูกรัฐที่มักเป็นเผด็จการลงโทษ อย่างเช่นนักประวัติศาสตร์ในประเทศคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็น หรือแม้แต่ของไทยในปัจจุบันที่จำนวนมากจะตื่นกลัวเหมือนกระต่ายตัวน้อยหากต้องนำเสนอถึงเรื่องชนชั้นสูง สำหรับประเทศเผด็จการแล้ว ประวัติศาสตร์ผ่านงานของนักประวัติศาสตร์มักเป็นเพียงวาทกรรมของคนมีปัญญาแต่ไร้อำนาจจำนวนหนึ่งที่เต็มไปด้วยการเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะความอ่อนไหวง่ายต่ออิทธิพลทางการเมืองหรือไม่ก็เพราะต้องการผลประโยชน์และชื่อเสียงแต่งานเหล่านั้นดูเหมือนจริงเพราะเห็นพ้องกันหลายคน

กระนั้นก็มีข้อยกเว้นอย่างครูท่านหนึ่งทำวิทยานินธ์เรื่องการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโมแล้วแสดงสมมุติฐานเกี่ยวกับตัวตนย่าโมในด้านที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อหลักของคนไทย ผลก็คือคนโคราชจำนวนมากออกมาประท้วงด้วยความโมโห เธอถูกสั่งย้ายที่สอนและวิทยานิพนธ์ซึ่งถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนถูกนำออกจากแผงในร้านหนังสือ ผมยังจำได้ว่าเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของนายตำรวจคนหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณว่านักวิชาการไม่ควรผลิตผลงานขัดแย้งกับกระแสหลักของสังคม ซึ่งถือได้ว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่เฮงซวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา เหมือนกับบาทหลวงยุคกลางบอกกับนักดาราศาสตร์อย่างกาลิเลโอให้หุบปากเพราะดันไปเสนอทฤษฎีเหมือนคอเปอร์นิคัสที่ว่าโลกหมุนรอบพระอาทิตย์ ไม่เหมือนอย่างที่ศาสนจักรเชื่อว่าพระอาทิตย์หมุนรอบโลก ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่มีใครในยุคนั้นเคยเดินทางออกไปนอกโลกเลยเช่นเดียวกับการที่คนทั้งหมดไม่เคยเห็นตัวตนและวีรกรรมของย่าโมด้วยตาตัวเองแต่ก็ปกป้องหัวชนฝาเพราะเหตุผลข้างบน

วงการประวัติศาสตร์นั้นจะเจริญงอกงามคือทำได้ให้คนเปี่ยมด้วยปัญญา และรัฐและสังคมต้องเปิดพื้นที่สำหรับการศึกษาอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมาเจอบริบทการเมืองแบบไทยๆ แล้ว นักประวัติศาสตร์จึงมักผลิตผลงานในขอบเขตที่ไม่กระทบต่อลัทธิชาตินิยมท้องถิ่นนิยมแบบย่าโม รวมไปถึงชนชั้นสูง หรือถึงแม้จะเกี่ยวข้องแต่ก็เป็นเชิงสนับสนุนแบบใช้ข้อมูลมารับใช้ไม่ใช่เพื่อหาคำตอบที่แท้จริง หรือบางคนก็เจาะเนื้อหาอย่างผิวเผินหรือจำกัดการตีพิมพ์เช่นเป็นภาษาอังกฤษในวารสารของมหาวิทยาลัยเมืองนอกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา อันทำให้เกิดปัญหาอื่นคือเหมือนได้คำตอบเพียงเสี้ยวและวนอยู่แต่ในอ่าง

กล่าวโดยย่อ ประวัติศาสตร์ก็คือชุดวาทกรรมหนึ่งที่ถูกสร้างเป็นเนื้อเรื่องผ่านอำนาจของรัฐและอื่นๆในการผลิตซ้ำและสถาปนาให้กลายเป็นความจริงอันสูงสุดและหลายกรณีล่วงละเมิดไม่ได้ เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวรัฐกับสังคม อันแอบแฝงในนามของความมั่นคง ความดีงาม ความเป็นชาติ ฯลฯ และคุณเรนนี่ก็ถือว่าเป็นผู้ละเมิดชุดอำนาจดังกล่าว

ไม่ว่าวาทกรรมต้านกระแสของคุณเรนนี่จะเกิดจากความเชื่อหรือญาณจริงๆ ของเธอหรือแค่มั่วเพราะอยากดังและต้องการผลประโยชน์อื่นๆ ก็ตาม ถ้าอยู่ในประเทศตะวันตกที่เป็นเสรีนิยม (1) เธอก็คงได้แค่ถูกด่าโจมตี หรือล้อเลียนว่าเพี้ยน แต่ถ้าเป็นประเทศไทยที่เต็มไปด้วยหัวอนุรักษ์นิยมและนิยมอำนาจบารมีของตัวบุคคล เธอก็ต้องพบกับชะตากรรมที่โหดร้ายกว่านี้ ยกเว้นจะให้ผู้ใหญ่ของค่ายมาเคลียร์กับคนมีอำนาจ แล้วเรื่องก็จะจางหายไปแม้จะมีคนมาแจ้งความขนาดไหนก็ตาม หรือถ้ายอมมืออ่อนตีนอ่อนไปขอขมาต่อหน้าอนุสาวรีย์ เรื่องก็น่าจบตามแบบไทยๆ แต่เป็นการตอบสนองการใช้อำนาจบังคับปัจเจกชนในสังคมไทยได้อย่างดี

หมายเหตุ:

(1) กระนั้นตามความจริง ตะวันตกก็ใช่ว่าจะปล่อยอิสระต่อความเชื่อทางประวัติศาสตร์อย่างไร้ขอบเขต หากมันกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงและระบอบประชาธิปไตย (ดูย้อนแย้งอย่างไงชอบกล) อย่างเช่นการปฏิเสธว่าการเข่นฆ่าของพวกนาซีต่อชาวยิวหลายล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีจริงดังที่เรียกว่า Holocaust denial เป็นเรื่องผิดกฎหมายและมีคนเชื่อเช่นนั้นติดคุกจริงๆ เพราะหลายประเทศกลัวว่าการปฏิเสธดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์สำหรับพวกขวาสุดขั้วอย่างเช่นพวกนาซีใหม่ ตรงนี้จึงเป็นการยืนยันนิยามของประวัติของผมข้างบน

ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/local/detail/9630000069722

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท