Skip to main content
sharethis

เปิดเรื่องราว 5 เรื่องต้านเกณฑ์ทหาร จากหนัง 'A Hidden Life' ชาวนาผู้ต่อต้านและปฏิเสธไม่ไปร่วมรบในสงครามให้นาซี  มูฮัมหมัด อาลี ผู้ประกาศ “จิตสำนึกไม่ยอมให้ผมถือปืนไปฆ่า...เพื่อมหาอำนาจอย่างอเมริกา” ขบวนการ  ‘Draft Resisters’ ในออสเตรเลีย ต้านสงครามเวียดนามและเกณฑ์ทหาร เนติวิทย์ ผู้ประกาศ “ข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเกณฑ์ทหารของกองทัพไทย” และแอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานละเมิดสิทธิฯทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การเกณฑ์ทหารประจำปี 2563 ต้องยกเลิกไป แต่กระทรวงกลาโหมได้ประกาศเลื่อนการเกณฑ์ทหารประจำปี 2563 จากเดิมในช่วงเดือน เม.ย. ออกมาเป็นช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. โดยกำหนดให้เริ่มแก้หมายเรียกตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. - 22 ก.ค. 63 และเริ่มตรวจเลือกในวันที่ 23 ก.ค.- 9 ส.ค. 63 เว้นวันที่ 28 ก.ค. (รวม 17 วัน) โดยจำนวนผู้ที่เข้ารับตรวจเลือกในแต่ละหน่วยต้องไม่เกินวันละ 500 คน และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด 

กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า กองทัพต้องการทหารกองประจำการในปี 2563 จำนวน  97,324 คน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 ประมาณ 4,500 คน คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นทุกปีก็คือ “เกณฑ์ทหารยังจำเป็นอยู่ไหม” ในประเทศที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะเสี่ยงสงคราม อีกทั้งยังล้าสมัยและยังพบการละเมิดสิทธิฯ ทหารเกณฑ์อย่างหนัก หรือถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร ดังนั้น เราจะพาผู้อ่านไปย้อนดูการปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร ตั้งแต่ ภาพยนตร์ A Hidden Life ที่พูดถึงการต่อต้านนาซีและปฏิเสธไม่ไปร่วมรบในสงคราม นักมวยดังอย่าง มูฮัมหมัด อาลี ที่ปฏิเสธเข้าร่วมการเกณฑ์ทหารไปรบที่เวียดนาม ขบวนการต่อต้านการเกณฑ์ทหารในออสเตรเลีย จนถึงเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักศึกษาผู้เคยประกาศตัวคัดค้านการเกณฑ์ทหาร และรายงานจากแอมเนสตี้ฯ เรื่องทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย

1. หนัง A Hidden Life ชาวนาผู้ต่อต้านและปฏิเสธไม่ไปร่วมรบในสงครามให้นาซี

A Hidden Life ภาพยนตร์เล่าถึงการต่อต้าน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ “ฟรันซ์ เจเกอร์สแตทเทอร์” ชาวนาผู้ใช้ชีวิตเรียบง่ายกับครอบครัวในประเทศออสเตรีย หลังพรรคนาซีบุกเข้าออสเตรีย หมายเกณฑ์ทหารถูกส่งมาเพื่อเรียกตัวเขาและชายหนุ่มในหมู่บ้านไปเข้าร่วมรบกับพรรคนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เขาต่อต้านและปฏิเสธไม่ไปร่วมรบในสงคราม จนต้องติดคุกในข้อหาต่อต้านนาซี และทำให้เขาต้องโทษประหารชีวิตในปี 1943 

ที่มาภาพจาก austinchronicle.com

ฟรันซ์นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิค เขาจึงปฏิเสธการปฏิญาณตนมอบความจงรักภักดีต่อพรรคนาซีและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และปฏิเสธการไปรบในสงครามที่เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม และการเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ผู้บริสุทธิไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องตามความเชื่อของเขา การตัดสินใจของเขาสวนทางกับผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ รวมถึงขัดกับคริสตจักร ฟรันซ์และครอบครัวจึงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอย่างยากลำบาก เพราะคนในหมู่บ้านประณามการกระทำของเขาว่าจะนำพาบาปแสนสาหัสมาสู่หมู่บ้าน 

ในช่วงที่โดนคุมขังในคุก ฟรันซ์ได้รับคำแนะนำจากทั้งทนายและผู้พิพากษาของศาลทหารนาซีให้ยอมรับผิด และแสดงออกถึงการจงรักภักดีต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซี เพื่อให้รอดชีวิต 

“คุณกล่าวปฏิญาณไป แต่ใจคุณไม่ต้องคิดแบบนั้นก็ได้” ทนายของเขากล่าว แต่เขายังกล้าหาญที่จะขัดขืนและยืนหยัดในอุดมการณ์ต่อต้านการเกณฑ์ทหารและพรรคนาซี จนวาระสุดท้ายในชีวิตของเขามาถึง แต่ในบางบันทึกมีการเปิดเผยว่าฟรันซ์ยอมเข้าร่วมกองทัพนาซีโดยขอทำหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่ไปออกรบ แต่ทางกองทัพไม่ยอม เขาจึงถูกจับและตัดสินโทษประหารชีวิต

หลังจากฟรันซ์โดนประหารชีวิตไม่ใช่เรื่องทุกอย่างจะจบ ฟรันซิสกา ชวานิงเกอร์ ภรรยาของฟรันซ์กลายเป็นเสาหลักของครอบครัว เธอดิ้นรนช่วยสามีตั้งแต่ฟรันซ์ยังติดคุกจนหลังจากที่โดนประหารชีวิตไปแล้วเธอก็ดิ้นรนเรียกร้องความเป็นธรรมต่อเนื่อง ชื่อของฟรันซ์ไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์สงครามในเมืองบ้านเกิดของเขา อีกทั้งทางการไม่ยอมอนุมัติให้เงินเยียวยาจากการสูญเสียสามีและพ่อแก่ครอบครัวของฟรันซ์ จนกระทั่งปี 1950 จึงมีการอนุมัติให้เงินเยียวยา ชื่อของฟรันซ์เพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักในปี 1964 โดยกอร์ดอน ซาน ได้เขียนหนังสือชีวประวัติของฟรันซ์ หลังจากนั้นก็มีหนังสือและภาพยนตร์ตามมาอีกหลายเรื่อง

2. มูฮัมหมัด อาลี  “จิตสำนึกไม่ยอมให้ผมถือปืนไปฆ่า...เพื่อมหาอำนาจอย่างอเมริกา”

มูฮัมหมัด อาลี ยอดนักมวยเฮฟวีเวทผิวดำชาวอเมริกัน คว้าแชมป์มวยโลกได้ในปี 1964 หลังจากนั้นเขาประกาศเปลี่ยนจากนับถือศาสนาคริสต์มานับถือศาสนาอิสลาม ในช่วงเดียวกันนั้นสหรัฐฯ ใช้การเกณฑ์ทหารเพื่อส่งทหารเข้าไปรบในสงครามเย็นที่เวียดนาม ซึ่งแต่เดิมสหรัฐฯ ใช้การสอบเพื่อคัดคุณสมบัติของผู้ที่จะไปรับใช้ชาติ ปรากฏว่าอาลีสอบตกจึงไม่ผ่านคุณสมบัติซึ่งเป็นปัญหาจากที่เขาไม่ได้รับการศึกษาตามระบบที่เหมาะสม สองปีต่อมากองทัพสหรัฐฯ ต้องการกำลังพลที่มากขึ้นจึงเรียกผู้ที่สอบไม่ผ่านคุณสมบัติเข้ามารับการเกณฑ์ทหาร อาลีก็เป็นหนึ่งในนั้น

อาลี ในปี 60 (ที่มาภาพวิกิพีเดีย)

ปี 1967 อาลีปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเกณฑ์ทหารไปรบที่เวียดนาม เนื่องจากขัดกับหลักศาสนาอิสลาม เขากล่าวว่าคนขาวมองว่าพวกคนดำเป็นเหมือนหนูสกปรก แต่ศาสนาอิสลามสอนให้เขาเห็นถึงสัจธรรมและไม่ได้มองว่าเขาเป็นหนูสกปรก “จิตสำนึกของผมไม่ยอมให้ผมถือปืนไปฆ่าพี่น้อง หรือคนที่ผิวสีเข้มกว่า หรือคนยากคนจนที่อาศัยอยู่ในเลนในตม เพื่อมหาอำนาจอย่างอเมริกา จะยิงพวกเขาไปทำไม? พวกเขาไม่เคยเรียกผมว่านิโกร พวกเขาไม่เคยจับผมไปประชาทัณฑ์ ไม่เคยเอาหมามาไล่กัด ไม่เคยยึดสัญชาติของผมไป ไม่เคยข่มขืนแม่และฆ่าพ่อผม จะยิงพวกเขาทำไม? ผมจะไปยิงคนจน ๆ ได้ยังไง เอาผมไปขังคุกเลยดีกว่า” การปฏิเสธของอาลีสร้างความตกตะลึงให้คนอเมริกัน อาลีจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามไปในทันที 

อาลีอ้างว่าเขาเป็นครูสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งหากครูสอนศาสนาคริสต์ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหารได้ เขาก็ควรได้รับการยกเว้นด้วยเช่นกัน ปี 1968 อาลีไม่ยอมไปรายงานตัวเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เขาจึงถูกยึดคืนแชมป์โลกและยึดใบอนุญาตชกมวย รวมถึงถูกดำเนินคดีเขาต้องรับโทษจำคุก 5 ปี ปรับเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นเขาก็ยื่นประกันตัวและต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายมาโดยตลอด อาลีได้กลายเป็นหัวหอกในการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวผิวดำในสหรัฐฯ

ในปี 1971 ศาลฎีกาสหรัฐฯ ได้กลับคำพิพากษาให้อาลีพ้นผิด โดยให้เหตุผลว่าคณะกรรมพิจารณาคำร้องขอยกเว้นการเกณฑ์ทหารของอาลี ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมอาลีจึงไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรมสำนึก เหมือนกับชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนาเคยได้รับสิทธิมาก่อน

หลังจากนั้นอาลีก็กลับมาชกมวยอีกครั้ง จนกลับมาคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จในปี 1974

3. เกณฑ์ทหารแดนจิงโจ้ 

ในช่วงสงครามเย็น ออสเตรเลียมีการส่งทหารเข้าสนับสนุนเวียดนามใต้ร่วมกับประเทศพันธมิตรฝ่ายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงมีการเกณฑ์ทหารโดยให้ผู้ชายอายุ 20 ปีขึ้นไปมาจับฉลากเพื่อเป็นทหารไปรบที่เวียดนาม ช่วงปี 1969 เริ่มมีการต่อต้านสงครามเวียดนาม และให้รัฐบาลออสเตรเลียถอนทหารออกจากสงครามเวียดนาม การยกเลิกการเกณฑ์ทหารก็เริ่มเป็นประเด็นในสังคม กลุ่มที่อยากให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเรียกตัวเองว่า ‘Draft Resisters’ ซึ่งปกติทางการจะส่งหมายเรียกให้ไปเกณฑ์ทหาร แต่กลุ่มนี้มีแนวทางเรียกร้องโดยการส่งจดหมายไปบอกทางการก่อนเลยว่าจะไม่ให้ความร่วมมือกับการเกณฑ์ทหาร และขบวนการ ‘Draft Resisters’ Union’ ซึ่งดำเนินการใต้ดิน และจะปะปนกับผู้คนเมื่อมีการประท้วงเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ แต่สุดท้ายก็ถูกจับได้อยู่ดี การที่กลุ่มต่อต้านการเกณฑ์ทหารถูกจับส่งผลให้ประชาชนเริ่มสนใจเรื่องนี้ไปในวงกว้างมากขึ้น

ในปี 1972 รัฐบาลออสเตรเลียเริ่มตระหนักถึงการต่อต้านการเกณฑ์ทหารไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการเกณฑ์ทหารเท่านั้น แต่จะส่งแรงกระเพื่อมต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลด้วย จนในที่สุดก็ประกาศยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และปล่อยนักโทษที่ต่อต้านการเกณฑ์ทหารออกจากเรือนจำ 

4. เนติวิทย์ ผู้ประกาศ “ข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเกณฑ์ทหารของกองทัพไทย”

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักศึกษาผู้ประกาศตัวคัดค้านการเกณฑ์ทหาร โดยประกาศไว้ใน “คำประกาศความเป็นไทเมื่ออายุ 18 ปี ข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเกณฑ์ทหารของกองทัพไทย” เมื่อ 28 ต.ค. 2558 มีเนื้อหากล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลทหารมีความพยายามสร้างประเทศไทยให้กลายเป็นรัฐที่ปกครองโดยทหาร อยากให้ทุกคนออกมาร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นไปในแนวทางประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน จึงขอเชิญชวนให้เยาวชนปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร เพราะเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องล้าสมัยควรจะมีการปรับเปลี่ยนได้แล้ว ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิในการปฏิเสธการเกณฑ์ทหาร ทั้งๆ ที่เราเป็นคนผู้สนับสนุนสันติภาพ และสามารถช่วยเหลือสังคมได้ด้วยสันติวิธี เนติวิทย์กล่าวว่าแม้ว่าเขาจะนับถือศาสนาพุทธแต่ไม่สามารถเรียกได้เต็มปากว่าเป็นคนพุทธในประเทศที่เต็มที่ด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ตนก็เป็นบุคคลที่มีมโนธรรมสำนึก ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์และตนไม่ได้ต้องการฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และจะไม่เป็นทหารในกองทัพไทยหรือกองทัพแห่งความรุนแรงใดๆ 

หลังอายุครบ 21 ปี เนติวิทย์ใช้สิทธิผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเนื่องจากยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีมาโดยตลอด โดยการไปผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเขาจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทุกครั้ง 

เช่น นำกระดาษที่พิมพ์ข้อความระบุว่า “การรักชาติควรทำได้หลายทาง การบังคับเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งล้าสมัยและเกินจำเป็น” สวมนาฬิกา 5 เรือนและอ้างว่ายืมเพื่อนมา นำบัตรเลือกตั้งจำลองมาห้อยคอพร้อมระบุข้อความว่า “นายสั่งมา เกณฑ์กองทัพออกจากการเมือง หยุดสร้างวาทกรรมแบ่งแยกคนไทย และเกณฑ์นายพลกลับกรมกอง” 

เนติวิทย์ใช้สิทธิผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเป็นรอบที่ 3 ในเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งเขาได้ระบุว่าหลังจากจบการศึกษาก็จะต่อต้านการเกณฑ์ทหารเหมือนเดิม และพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขพ.ร.บ.การเกณฑ์ทหาร และอาจจะไปถึงระดับแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ด้วย ยังไงตนก็ไม่ยอมเกณฑ์ทหารแน่นอน เพราะไม่เห็นด้วยกับระบบที่เป็นอยู่มันเสมือนระบบไพร่ทาส และไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย

5. แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานละเมิดฯ ทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย พบว่ามีการธำรงวินัยหรือการซ่อมในรูปแบบของการทำร้ายร่างกายด้วยวัตถุต่างๆ เช่น ปืน ไม้ หรือการตบตีด้วยมือและเท้า การล่วงละเมิดทางเพศในห้องน้ำรวมโดยจะให้พลทหารยืนเรียงกันเหมือนรถไฟและให้จับอวัยวะเพศของกันและกัน การถูกบังคับให้ช่วยตัวเองในที่สาธารณะ การข่มขืนทหารเกณฑ์ที่เป็นเกย์และการกระทำที่ทำให้อับอายในที่สาธารณะ เช่น บังคับให้เต้น การดูหมิ่นศักดิ์ศรี การบังคับให้กินอาหารเหมือนหมาโดยให้นั่งคุกเข่าลงบนพื้น เอามือไขว้หลัง ก้มหน้าลงไปโดยใช้เพียงลิ้นในการกินอาหาร ด้านพล.อ.อ.เฉลิมชัย ศรีสายหยุด รองเสนาธิการทหาร ส่งหนังสือชี้แจงตอบกลับแอมเนสตี้ฯ ว่ากองทัพไทยดูแลทหารกองประจำการดุจญาติมิตร และผู้ใดละเมิดต่อทหารกองประจำการย่อมมีโทษทางอาญาและวินัย

ยูวาล กินบาร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่าจริงอยู่ที่ว่ากองทัพต้องมีระเบียบวินัย และมีการลงโทษ แต่การลงโทษทหารเกณฑ์ในกองทัพไทยเป็นไปด้วยความรุนแรง และไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน กองทัพไทยเป็นวงจรของอำนาจที่ไม่ถูกต้อง ผู้บังคับบัญชาตระหนักถึงอำนาจในมือตัวเองจึงใช้มันละเมิดทหารผู้น้อยซึ่งไม่มีอำนาจในการต่อต้าน ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากกองทัพขึ้นเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ โดยทำงานร่วมกับจิตแพทย์และนักสิทธิมนุษยชน เพื่อหามาตรการป้องกันแก้ไขต่อไป 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง : 


สำหรับ พศวัต แซ่คู้ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท สถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net