2 นศ. ระยองเเจ้งความ ตร.คุมตัวนอกกฎหมาย 4 ข้อหา แต่ถูกแจ้ง 4 ข้อหากลับ

นักศึกษาชาวระยองยืนชูป้ายประท้วง นายกฯ เข้าแจ้งความ ตร. ชุดควบคุม 4 ข้อหาฐาน กักขังหน่วงเหนี่ยว, ลักพาตัว, ปฎิบัติหน้าที่มิชอบ และทำร้ายร่างกาย แต่ถูกแจ้ง 4 ข้อหากลับฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ , ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และหลบหนีการคุมตัว ด้านรังสิมันต์ โรม รับเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ.กฎหมายฯ ยันการแสดงออกของประชาชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

16 ก.ค. 2563 สืบเนื่องจากวานนี้ ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย และ ณัฐชนน พยัฆพันธ์ สองนักศึกษา จังหวัดระยอง ได้เดินทางไปยืนชูป้ายประท้วงนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่การปล่อยให้ทหารอียิปต์ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเดินทางเข้ามาพักเครื่องบินในพื้นที่ และเข้าพักที่โรงแรมหนึ่ง โดยไม่มีการกักตัว จนเป็นเหตุให้เศรษฐกิจ การทำมาค้าขายในจังหวัดระยองต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากกลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดอีกครั้ง

โดยระหว่างที่พวกเขายืนถือป้ายประท้วงอยู่นั้น ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมควมตัวไปยังหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ภ.จว.ระยอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา พวกเขาจึงเดินออกจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ภ.จว.ระยอง มาเพื่อยืนถือป้ายประท้วงต่อ โดยในวันดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ไปตรวจราชการ

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม พวกเขาทั้งสองคนได้เดินทางไปยังสถานนีตำรวจอีกครั้งเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมตัวพวกเขา 4 ข้อหา ฐาน กักขังหน่วงเหนี่ยว, ลักพาตัว, ปฎิบัติหน้าที่มิชอบ และทำร้ายร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ร้อยเวรได้รับเรื่องไว้ 

ตร.ฉุด 2 นศ. ขึ้นรถ หลังไปถือป้ายทวงถามความรับผิดชอบประยุทธ์ ปล่อยทหารอียิปต์ติดโควิดเข้าระยอง

ต่อมาวันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า  พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีการควบคุมตัวบุคคล 2 คน ที่อ้างตัวเป็นตัวแทนกลุ่มเครือข่ายเยาวชนภาคตะวันออก ยืนถือป้ายข้อความ เชิญชวนบุคคลอื่นมาชุมนุม เพื่อรอเจอกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น ได้รับรายงานจาก สภ.เมืองระยอง ว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 63 เวลา 16.00 น. ได้มีชาย 2 คน เชิญชวนบุคคล มาชุมนุมในโซเชียล พร้อมกับ ชูป้ายแสดงข้อความ ซึ่งเป็นการแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากเป็นคนระยองและไม่พอใจกับสิ่งที่รัฐบาลกระทำ บริเวณหน้าโรงแรมดีวารี ก่อนที่ นายกรัฐมนตรีจะมาตรวจสอบและปฏิบัติราชการในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาศัยอำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้มีคำสั่งให้บุคคลทั้ง 2 ออกไปจากบริเวณดังกล่าว ในการรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญและเป็นการเสี่ยงต่อโรคติดต่อ แต่ปรากฏว่าบุคคลทั้ง 2 ไม่ให้ความร่วมมือและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคฯ จนกระทั่งมีการใช้กำลังในการควบคุม ให้ออกนอกบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จนสามารถควบคุมบุคคลทั้ง 2 ขึ้นรถยนต์ เดินทางมาถึงหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ภ.จว.ระยอง ปรากฏว่าบุคคลทั้งสองได้วิ่งหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วมาปรากฏตัวบริเวณตลาดสตาร์ พร้อมกับได้ทำการไลฟ์สด หลังจากนั้นจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม โดยกล่าวหาว่า “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ” โดยพนักงานสอบสวน ได้สอบปากคำผู้เสียหายทั้งสองและส่งตัวให้แพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง ตรวจชันสูตรบาดแผลและทำการรักษา เพื่อจะได้สอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ในส่วนการกระทำของบุคคลทั้งสอง ซึ่งถือเป็นความผิดซึ่งหน้า ตั้งแต่ที่ได้มีการควบคุมตัวเพื่อมาดำเนินคดี ภายหลังจากหลบหนีการควบคุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และได้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองระยอง ให้ดำเนินคดีความผิดฐาน “ทำกิจกรรม ที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ 18, ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ที่ห้ามกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะฯ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558, ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร, หลบหนีไประหว่างที่ควบคุมของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวน” เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

รองโฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า การกระทำของบุคคลทั้งสอง ถือว่าเข้าข่ายความผิดและเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชิญชวนบุคคลร่วมชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ขอฝากเตือนไปยังกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน ที่มีแนวคิดใช้คำหยาบคาย แสดงความก้าวร้าว ในลักษณะที่ สร้างความเกลียดชัง หรือใส่ร้ายป้ายสีผู้หนึ่งผู้ใด เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะการอยู่รวมกันในสังคม ย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นต่างได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นการกระทำที่ไปกระทบสิทธิผู้อื่น อีกทั้งมีความเป็นห่วงเป็นใย เยาวชน ที่ถูกชักจูงให้ร่วมกระทำความผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมาย ด้วยความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในสังคม ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชน โปรดตั้งสติ ใช้วิจารณญาณ ในการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลในโซเชียลมีเดีย หรือจากแฮชแท็ก #ตำรวจระยองอุ้มประชาชน ทั้งในทวิตเตอร์ หรือ เฟซบุ๊ก เพราะหากทุกคนเคารพ กฎกติกา ให้ความร่วมมือ ไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง หรือประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ขึ้น

ขณะที่ ด้าน พ.ต.อ.ฐาปนะ คลอสุวรรณา ผกก.สภ.เมืองระยอง กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เบื้องต้นพนักงานสอบสวนเตรียมเรียก ภาณุพงศ์ จาดนอก และณัฐชนน พยัฆพันธ์ สองแกนนำเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย มาพบเพื่อรับทราบข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายที่ถูกกล่าวหาจะได้เรียกมาสอบสวนว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ หากผิดจริงจะส่งตัวให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป

รังสิมันต์ โรม รับเรื่องเตรียมดันเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ. กฎหมาย ยันการแสดงออกของประชาชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน 

ขณะที่ the standard รายงานว่า วันนี้ รังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรื่อง การรับเรื่องร้องเรียนจาก ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ณัฐชนน พยัฆพันธ์ ชาวบ้านจังหวัดระยอง กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวขณะชูป้ายไม่เอา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ภาณุพงศ์กล่าวว่า ตนกับณัฐชนนไปชูป้ายเพื่อตั้งคำถามต่อ พล.อ. ประยุทธ์ ในเรื่องการเยียวยาพี่น้องประชาชนชาวระยองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีมาตรการเยียวยาอย่างไร และจะรับผิดชอบจากสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยขณะนี้โรงเรียน 247 แห่ง ผู้ประกอบการห้าง ร้านค้า และโรงแรมต่างๆ ต้องถูกหยุดชะงักไปจากกรณีที่ทางรัฐบาลยกเว้นแขก VIP ตนทั้งสองจึงต้องการเรียกร้อง โดยการแสดงเชิงสัญลักษณ์ และคิดว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งตนทั้งสองคนได้เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรระยอง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้อื่นอีก โดยตนขอฝากเรื่องนี้ให้กรรมาธิการฯ ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง และไว้วางใจให้กรรมาธิการฯ นำคนผิดมาลงโทษ

ด้านรังสิมันต์ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เราเป็นกรรมาธิการฯ ที่ให้ความสำคัญทางเสรีภาพมาโดยตลอด เราเชื่อว่าเสรีภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และเราเชื่อว่าเสรีภาพคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย โดยทางคณะกรรมาธิการฯ จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ โดยจะพิจารณาว่าจะมีการเชิญหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว

ด้านพรรณิการ์ ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวานนี้ประชาชนกว่าล้านคนได้ติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #ตำรวจระยองอุ้มประชาชน ซึ่งสร้างความกังขาและความไม่พอใจต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก กรณีดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า ผู้ต้องหากระทำเกินขอบเขตเพียงเพราะว่ามีความคิดเห็นต่างจากภาครัฐ แน่นอนว่าประเทศนี้ เราอยากจะอยู่กันอย่างสงบสันติ ภายใต้การแสดงความคิดเห็นและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นที่มาของแฮชแท็ก #ตำรวจระยองอุ้มประชาชน

ทั้งนี้ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการฯ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล กรรมาธิการฯ มีความจำเป็นต้องเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น ว่าเหตุใดจึงมีการใช้อำนาจรัฐต่างจากบุคคลที่ชื่นชอบรัฐบาล ซึ่งกรรมาธิการฯ จะรับผิดชอบและดำเนินการด้านนี้อย่างถึงที่สุด เพื่อเป็นลดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

แอมเนสตี้แถลงหลังตำรวจระยองคุมตัวและตั้งข้อกล่าวหาสองแกนนำเยาวชนถือป้ายประท้วงนายก

ขณะที่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า เจ้าหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการรวมตัวกัน ไม่ใช่ลงโทษพวกเขาเพียงแค่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

“เจ้าหน้าที่ไม่ควรปิดปากประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบและมีการวางข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบโดยอ้างการควบคุมโรคโควิด-19 มาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ควรเป็นไปอย่างสมเหตุผลและไม่จำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอย้ำให้เจ้าหน้าที่ทบทวนการใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เป็นกรณีพิเศษ ได้สัดส่วน จำเป็นและไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้เพื่อจำกัดสิทธิโดยพลการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท