ตำรวจ-อัยการ-ศาล-คุก-กฎหมาย ‘พิเศษ’: ภาคประชาชนเสนอแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย

เวทีระดมสมองจากภาคประชาสังคมและนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ชี้ที่ผ่านมาเกิดภาระทางคดีต่อประชาชน และมีขั้นตอนรอนสิทธิตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ ศาล จนถึงเรือนจำ

000

“การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา”

เป็นคำใหญ่ที่ฟังดูน่าเบื่อหน่าย เนื่องจากเราทราบกันดีว่า ปัญหามีอยู่จริง มีอยู่มาก การพูดเรื่องการแก้ไขหรือการปฏิรูปนั้นก็มีมายาวนาน มีหลายหน่วยงานที่ศึกษาและนำเสนอจนผลการศึกษาวางซ้อนกันอาจสูงกว่าเอว ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลที่มุ่งเน้นการปฏิรูปทุกเรื่องราวอย่าง คสช. ผลลัพธ์ของความพยายามแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาหลายสิบปีก็ใช่จะไม่มีให้เห็น แต่ดอกผลที่ได้ดูล่าช้ากว่าปัญหาที่ทับถมไปหลายช่วงตัว 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (FCEM) ชวนเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วมพูดคุยถึงปัญหาและข้อเสนออีกครั้ง โดยมีสาวตรี สุขศรี และ คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยอำนวยการอภิปราย เพื่อหาจุดร่วมของปัญหาและข้อเสนอจากมุมมองของภาคประชาชนโดยเฉพาะ

โดยเครือข่ายที่เข้าร่วมอภิปรายออนไลน์ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) มูลนิธิโอโซน และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

เครือข่ายที่เข้าร่วมบอกเล่าประสบการณ์ตรงที่เผชิญปัญหารวมทั้งเสนอปัญหาหลายองค์กรโดยทำงานเกี่ยวพันกับ การละเมิดสิทธิในสามจังหวัดชายแดนใต้, การละเมิดสิทธิในยุค คสช., การฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปากประชาชนและนักรณรงค์ (SLAPP), การละเมิดสิทธิผู้ใช้ยาเสพติด เป็นต้น 

ปัญหาแต่ละประเด็นนั้นมีรายละเอียดมากมาย ไล่ตั้งแต่ตัวกฎหมาย ทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมาย บริบทของผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หากพิจารณาเฉพาะภาคปฏิบัติ หรือ “กระบวนการ” ในการดำเนินคดีที่อาจแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลัก คือ ตำรวจ (ชุดจับกุม+พนักงานสอบสวน), อัยการ, ศาล, เรือนจำ เราอาจมองเห็นปัญหาร่วมที่เกิดขึ้นกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้นรวมถึงข้อเสนอที่น่าจะแก้ปัญหาเชิงระบบได้ (โดยอ่านรายละเอียดได้จากล้อมกรอบด้านล่าง)

ในวาระนี้จึงขอนำเสนอผลสรุปบางข้อเสนอบางกรณีจากวงประชุมเพื่อเป็นตัวอย่างรูปธรรมจากพื้นที่
เริ่มต้นที่ ตำรวจ ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม จึงมักตกเป็นจำเลยรายแรกของปัญหาต่างๆ แม้ที่ผ่านมาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ต่างเคยศึกษามาแล้วว่า งบประมาณและจำนวนบุคลากรในชั้นสืบสวนสอบสวนนั้นไม่สอดคล้องกับภาระงานอย่างยิ่ง แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ปัญหาในกระบวนการสืบสวนสอบสวนมีอยู่จริง 

แยกพนักงานสอบสวนให้เป็นหน่วยงานอิสระ หรือ ต้องไม่สอบสวนเจ้าหน้าที่โรงพักเดียวกัน

เรื่องนี้ชัดเจนอย่างมากในภาคใต้ซึ่งมักมีปัญหาที่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทำร้ายผู้ต้องหาหรือกระทั่งเกิดการวิสามัญฆาตกรรม ญาติของผู้ต้องหาหวังพึ่งตำรวจซึ่งก็คือตำรวจในสถานีเดียวกันกับตำรวจที่ปฏิบัติการ
ปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความเห็นว่า “ในการควบคุมตัว ชั้นนี้มักมีปัญหาในเรื่องการทำร้ายร่างกาย และพอถึงชั้นสอบสวนก็อยู่ในอำนาจตำรวจโรงพักเดียวกันอีก กฎหมายบอกว่าพนักงานสอบสวนมีอิสระ แต่เมื่ออยู่โรงพักเดียวกัน ผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน คำถามคือ มีอิสระจริงหรือเปล่า มีหลายคดีที่ชาวบ้านเรียกร้องให้จับกุมและดำเนินคดีตำรวจที่ไปจับกุมตัวญาติเขาแล้วมีการซ้อมหรือเสียชีวิตโดยกล่าวหาว่าต่อสู้เจ้าหน้าที่”

“กรณีวิสามัญฆาตกรรม การซ้อมทรมาน ก็ไม่เคยมีปรากฏที่เอาตำรวจที่กระทำความผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง มีแค่บางคดีเท่านั้นที่คนที่เสียหายลุกมาต่อสู้ ไม่ยอม แต่เสียเงินทองเวลากำลังมากมายกว่าจะดิ้นรนต่อสู้ได้ ที่ทำมาหลายสิบคดี มีคดีเดียวเท่านั้นที่ปราจีนบุรีที่สามารถลงโทษตำรวจที่ซ้อมทรมานได้” 

“ขอเสนอว่า ควรจะมีการแยกโครงสร้างอำนาจ สายบังคับบัญชาอย่างชัดเจน ระหว่างตำรวจชุดสืบสวนจับกุม กับตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนมีอิสระแท้จริง ถ้ายังแยกไม่ได้ก็ต้องมาแก้กฎหมาย หากตำรวจโรงพักใดถูกกล่าวหา ต้องไม่ให้ตำรวจโรงพักนั้นสอบสวน ยกให้ดีเอสไอสอบสวนไปเลย อยู่คนละหน่วยเลย แยกให้ห่างกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ให้อัยการร่วมทีมกับพนักงานสอบสวน 

อีกรูปแบบหนึ่งของการแก้ปัญหาที่มีการพูดถึงกันมากก็คือ ให้อัยการมาร่วมสอบสวนด้วย เรื่องนี้ภาคประชาชนหลายส่วนก็เห็นด้วยเนื่องจากเชื่อว่า การที่อัยการเข้ามามีส่วนแต่ต้นนี้จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการสอบสวน การเก็บพยานหลักฐานต่างๆ โดยหวังว่าจะมีการถ่วงดุลกับตำรวจ และทำให้อัยการเห็นข้อมูลชั้นต้นเองไม่ใช่เพียงเอกสาร ซึ่งนั่นจะส่งผลให้อัยการวิจารณญาณในการสั่งไม่ฟ้องคดีได้มากขึ้น ไม่ให้คดีความไปกองรวมกันที่ศาล

อัยการไม่ใช่แค่ ‘ไปรษณีย์’ เพื่อการสั่งฟ้อง และควรมีกระบวนการ “ชะลอฟ้อง”

ปัญหาคลาสสิคตลอดกาลปัญหาหนึ่ง คือ กรณีที่มีการฝากขังผู้ต้องหาระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน กฎหมายกำหนดชัดเจนว่าฝากขังได้เท่าไร หากอัยการสั่งฟ้องไม่ทันก็ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวนก็มักส่งสำนวนคดีมาในโค้งสุดท้ายก่อนครบฝากขัง ทำให้อัยการไม่มีเวลาพิจารณามากนัก มักจบลงด้วยการสั่งฟ้องให้ไปว่ากันในศาล ซึ่งนั่นสร้างต้นทุนและภาระแก้จำเลยรวมถึงระบบยุติธรรมไทยเอง

ยกตัวอย่าง คดีแรงงานหญิงชาวพม่าในคดีรับของโจร

เรื่องมีอยู่ว่า หญิงพม่ารับมอเตอร์ไซค์และมือถือมาจากน้องชาย โดยน้องชายได้ยึดของแฟนเก่ามา เนื่องจากทะเลาะกับแฟนแล้วแฟนไปอยู่บ้านพี่ชาย เมื่อไปตามง้อขอเคลียร์ก็ไม่ออกมาพบจึงเอามอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้รวมถึงมือถือมายึดไว้หวังว่าแฟนมาพบ ต่อมาเมื่อพบว่ายังไงแฟนก็ไม่มา อยากจะเอาของไปคืนก็ไม่กล้าจึงไปฝากพี่สาวซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ไว้และให้พี่สาวติดต่อให้พี่ชายแฟนมารับของคืนไป พี่ชายแฟนตกลงมารับของแต่ได้แจ้งตำรวจให้เข้าจับกุมในวันมารับของด้วย ตำรวจสอบสวน จำเลยรับสารภาพ จึงไปฝากขังไว้และส่งฟ้องต่ออัยการในโค้งสุดท้าย

กรณีนี้ทนายความได้เข้าพบอัยการเพื่อขอให้มีการสอบพยานเพิ่มเพื่อชี้เจตนาผู้ต้องหา แต่อัยการปฏิเสธเนื่องจากพนักงานสอบสวนฝากขังแรงงานหญิงชาวพม่าไว้ในเรือนจำ กำลังจะครบฝากขังจึงต้องรีบสั่งฟ้อง ทนายความขอพบหัวหน้าฝ่ายคดีอาญาของอัยการเพื่อนำหลักฐานต่างๆ ไปแสดงและอธิบายว่า เหตุที่ผู้ต้องหารับสารภาพเพราะใช้ภาษาไทยไม่คล่องและสื่อสารไม่เข้าใจ วันต่อมาผลลัพธ์จึงออกมาว่า อัยการสั่งไม่ฟ้อง

“หลักคิดเรื่องหลักนิติธรรม คุณธรรมของการปฏิบัติหน้าที่ในสายงานของกระบวนการยุติธรรมของตำรวจมีปัญหา ทัศนคติของอัยการก็มีปัญหา มุ่งว่าจะต้องเอาผิดเท่านั้น ทั้งที่หลักกฎหมาย ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เขียนไว้ชัดว่า คุณต้องสอบทั้งความผิดและบริสุทธิ์ของเขา “รวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวง” คดีจึงไปรกโรงรกศาลแล้วผู้ต้องขังก็ล้นเรือนจำ ผมเคยคุยกับอัยการผู้ใหญ่หลายคน โดยหลักแล้วไม่ได้มีกฎหมายบอกว่า อัยการต้องเร่งส่งสำนวนฟ้อง แต่มันจะมีปัญหาในเชิง KPI ด้านประสิทธิภาพผลงาน สำนักงานอาจวัดด้วยตัวเลขการฟ้องคดีได้เป็นสำคัญ เรื่องนี้ต้องปรับเปลี่ยน” ปรีดา นาคผิว กล่าว

เช่นเดียวกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ที่มีความเห็นว่า มีกรอบกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่ออัยการในคดีอาญาและต่อสังคมยังคงมีอยู่ ตัวอย่างเช่น การทำสัญญาละเว้นการฟ้องคดี (Non-Prosecution Agreement: NPA) ซึ่งอัยการอาจทำข้อตกลงกับผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรงและมีแนวโน้มในการก่อคดีซ้ำต่ำ โดยให้ผู้ต้องสงสัยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แทนที่จะนำคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล เป็นการประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร นอกจากนี้ ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ อัยการมีอำนาจในการพิจารณาว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ หรือที่เรียกว่า “หลักการดําเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle)” ตัวอย่างเช่น อาชญากรรมบางอย่างอาจถูกยกฟ้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในระบบกฎหมายและอุทิศทรัพยากรในการจัดการกับอาชญากรรมที่ร้ายแรง และหากหลักฐานไม่เพียงพอที่จะตัดสินได้ว่ามีความผิดอัยการก็อาจพิจารณายกฟ้อง

อัยการควรมีอำนาจชะลอฟ้อง

ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า อัยการควรทำหน้าที่นี้เพื่อไม่ให้คดีไปกองรวมกันที่ชั้นศาลโดยไม่จำเป็นหรือไม่เกิดการลงโทษจำคุกแบบล้นเกิน

“ยกตัวอย่างคดีที่จำคุกไม่จำ 5 ปี แทนที่จะสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องไปเลย อัยการจะสั่งแขวนคดีไว้ แล้วรอดูความประพฤติของผู้ต้องหา ถ้าคุณทำตัวดี ตามเงื่อนไขที่วางไว้ เราจะไม่ฟ้อง แต่ถ้าทำไม่ได้ เราฟ้อง นี่คือการชะลอฟ้อง ซึ่งในประเทศไทยมีความพยายามผลักดันกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จสักที”

ปรับปรุงการลงโทษให้ยืดหยุ่นมากกว่า 5 สถาน (ริบทรัพย์ ปรับ กังขัก จำคุก ประหาร)

ในต่างประเทศ มีการขยายโทษเป็น 11 สถาน โดยเพิ่มโทษแบบอื่นๆ มาแทนการจำคุกและโทษปรับ ตัวอย่างเช่น คดีอุบัติเหตุทั้งหลายบางทีการจำคุกไปก็ไม่มีประโยชน์ การมีโทษหลากหลายเช่นนี้จะช่วยแก้ปัญหานักโทษล้นคุก บางคดีพฤติการณ์ไม่น่าจะหนักถึงขั้นจำคุกก็ใช้มาตรการเชิงฟื้นฟูเยียวยา ปรับทัศนคติ ให้อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของพนักงานคุมประพฤติ ทำสาธารณะประโยชน์ ฯลฯ ส่วนการกักขังแทนค่าปรับไม่ควรมีเพราะความจนไม่ใช่อาชญากรรม

แก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ให้ทหารขึ้นศาลพลเรือน

ปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นชัดเจนมากคือ เมื่อมีการทำร้ายพลเรือนจนบาดเจ็บหรือถึงชีวิต โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นทั้งกับสามจังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดอื่นๆ เช่น กรณีทหารเกณฑ์เสียชีวิตที่มีข่าวเป็นประจำ ทหารที่ถูกกล่าวหาจะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ไม่ใช่ศาลอาญาปกติ ทั้งนี้ศาลทหารอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม และมีระบบของตนเองที่สร้างความกังขาอย่างมากว่าจะอำนวยความยุติธรรมได้อย่างไร (อ่านกลไก ระบบ เขตอำนาจ ศาลทหารได้ที่นี่)

“ยกตัวอย่าง พลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ถูกซ้อมเสียชีวิตเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2554 คดีแพ่งครอบครัวฟ้องจนกองทัพบกจ่ายเงินแล้ว คดีอาญาก็ชัดเจนว่ามีความผิดอย่างไร ตร.ท้องที่เจาะไอร้อง ส่งไป ป.ป.ช. ทางป.ป.ช.ส่งไป ปปท.กลาง ทางปปท.กลางส่งไปปปท.เขต9 แล้วจึงส่งไปที่อัยการ ทางอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นทหารจึงส่งไปอัยการทหาร กระบวนการทั้งหมดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันยังไม่การฟ้อง ทราบมาว่า ปปท.เขาชี้มูลแล้วว่าควรฟ้องทหาร 10 นาย ตอนแรกมีแค่ 9 นายต่อมาทางญาติเรียกร้องว่ามีอีกคนสำคัญจึงมีการเพิ่มผู้ต้องหาอีกหนึ่ง เมื่อส่งไปที่อัยการทหาร อัยการทหารสั่งฟ้องแค่ 2-3 คน เมื่อมีความเห็นแย้ง ปปท.ก็ยืนยันว่าควรฟ้อง 10 คน โดยระบบศาลทหารก็ต้องส่งไปที่เจ้ากรมธรรมนูญทหาร ทางเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารก็มีความเห็นเหมือน ปปท.ทราบว่าตอนนี้มีความเห็นว่าต้องสั่งฟ้อง 10 คน แต่ก็ยังอยู่ระหว่างที่อัยการทหารพยายามเรียกตัวทหารทั้งสิบคนมา มันล่าช้ามาก” 

“กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง เหตุเกิดปี 2551 คดีอาญาก็ไม่รู้อยู่จุดไหนของศาลทหาร แทบไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นเรื่องการดำเนินคดีอาญากับทหารที่กระทำความผิด ควรจะแก้กฎหมายธรรมนูญศาลทหารว่า ควรพิจารณาคดีเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับทหารกระทำความผิดต่อคำสั่งหรือนโยบายหรือวินัยของทหารเท่านั้น ถ้าคุณกระทำความผิดต่อพลเรือนก็ต้องไปขึ้นศาลพลเรือน” ปรีดา นาคผิว ให้ความเห็น

ไม่ให้มีการส่งตรวจและแก้ไขคำพิพากษาหรือกดดันองค์คณะ

กรณีการฆ่าตัวตายของผู้พิพากษา คุณากร เพียรชนะ พร้อมกับจดหมายที่เรียกร้องให้ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” สะท้อนปัญหาของการแทรกแซงกันเองภายในสถาบันตุลาการ จากการสอบถามหลายเครือข่ายพบว่า คดีที่มีความสำคัญ คดีนโยบาย เช่นคดีความมั่นคง คดี 112 มักมีการตรวจสอบคำพิพากษาขององค์คณะที่ทำการพิจารณาคดีโดยผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่า เรื่องนี้หลายส่วนเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะขัดแย้งกับหลัก “ความเป็นอิสระ” ของผู้พิพากษา ซึ่งองค์คณะผู้พิจารณาคดีเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับพยานหลักฐานต่างๆ มากที่สุด ย่อมมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดที่สุด ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่า หากหัวหน้าศาลหรืออธิบดีภาคไม่เห็นด้วยให้ทำความเห็นแย้งแนบท้าย

อีกประการหนึ่งคือ มีข้ออ้างว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอาจมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ ในด้านหนึ่งก็อาจเป็นความจริงเนื่องจากระบบคัดเลือกผู้พิพากษามีปัญหาที่ทำให้ผู้สามารถสอบเป็นผู้พิพากษาอายุน้อยลงเรื่อยๆ และไม่มีประสบการณ์ทางสังคมใดๆ มาก่อนการเป็นผู้พิพากษา จึงมีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกด้วยเช่นกัน

อัยการและศาลควรมีบทบาทป้องกันการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อปิดปาก หรือ SLAPP

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) เคยมีข้อเสนอแนะต่อมาตรการทางกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือ SLAPP  ถึงกระทรวงยุติธรรม โดยเสนอให้อัยการใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของกฎหมายอัยการในการพิจารณาไม่สั่งฟ้องคดีลักษณะนี้ ขณะที่ศาลสามารถใช้ ป.วิอาญามาตรา 161/1 และ 165/2 ในการสั่งยกฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดีลักษณะนี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ มาตรา 161/1 ให้ศาลมีดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องก่อนจะมีการไต่สวนได้เลย ถ้าพบว่าคดีนั้นเป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง แต่ที่ผ่านมาศาลมักไม่ใช้อำนาจส่วนนี้ จึงเป็นจุดที่กระบวนการยุติธรรมสร้างภาระให้กับจำเลย ส่วนมาตรา 165/2 คือการไต่สวนมูลฟ้องก่อนรับคดี

ผ่านและบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน)

สร้างกระบวนการควบคุมตัวที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในพื้นที่ที่มีการใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง

ใช้ ‘กฎหมายวิธีพิจารณาคดีก่อการร้าย’ แทนกฎหมายความมั่นคงต่างๆ

กรณีของจังหวัดชายแดนใต้ เป็นมหากาพย์ของปัญหากระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุความสงบขึ้นและรัฐประกาศใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงสารพัดรูปแบบ ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นแพ็คเกจใหญ่เสมือนเป็นอีกโลกคู่ขนาน

เจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ Jasad ระบุว่าในปี 2562 เฉพาะพื้นที่จังหวัดปัตตานี และ 4 อำเภอในสงขลา มีผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษอย่างน้อย 167 ราย และในปี 2020 จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 มีผู้ถูกควบคุมตัว 33 ราย

กฎหมายพิเศษที่ว่าคือ กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 3 ฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวใครก็ตามที่ “สงสัย” ไปไว้ในค่ายทหารซึ่งต่อมาเรียกว่า “ศูนย์ซักถาม” ได้ยาวนานรวมกันแล้วถึงประมาณ 35 วัน และโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ถูกนำตัวเข้าไปก็จะถูกควบคุมตัวไม่ต่ำกว่า 28 วันทั้งสิ้น และมีรายงานการถูกซ้อมทรมานระหว่างควบคุมตัวอย่างชัดเจน โดยเมื่อปี 2560 มีการออกรายงานเรื่องการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างปี 2557-2558 ซึ่งระบุว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50 คนถูกซ้อมทรมานในช่วงเวลาดังกล่าว จากนั้น กอ.รมน.ได้ฟ้องเอ็นจีโอผู้จัดทำในข้อหาหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และต่อมาได้ถอนฟ้องหลังจากโดนกดดันจากทั้งในและนอกประเทศ แต่ไม่ว่าจะปฏิเสธอย่างไร ข่าวการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยที่ถูกคุมตัวในค่ายทหารก็ปรากฏอยู่ตลอดจนปัจจุบัน รายล่าสุดคือ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เมื่อปลายปี 2562

ข้อมูลจากการเจ้าหน้าที่ภาคสนามระบุถึงปัญหาในศูนย์ซักถามว่า ผู้ต้องสงสัยไม่ได้พบทนาย ญาติเยี่ยมได้ในเวลาจำกัด หากเจ็บป่วยหรือถูกทำร้ายแพทย์ที่จะดูแลก็เป็นแพทย์ในค่ายทหารเท่านั้น ยกเว้นอาการโคมาจึงจะมีการส่งต่อไปยังรพ.ภายนอก พนักงานสอบสวนเข้าไปสอบสวนในค่ายทหารโดยมีการอัดวิดิโอแต่ก็ยังคงเป็นการสอบสวนภายใต้ความควบคุมของทหาร โดยมีทนายความและตัวแทนศาสนาซึ่งกองทัพระบุว่าจะได้เป็นคนกลางคอยสังเกตการณ์ แต่ทั้งทนายและผู้แทนศาสนาล้วนเป็นคนที่ทางทหารเตรียมการไว้ให้

เมื่อถึงชั้นพนักงานสอบสวนก็มีปัญหาว่า ผู้ต้องหาไม่สามารถจัดการทนายความเองได้ ตำรวจจัดหาไว้ให้แล้ว แต่ทนายก็ไม่ค่อยได้อธิบายเรื่องราวทางกฎหมายให้ผู้ต้องหาซึ่งส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจภาษาไทยมากนักได้เข้าใจอย่างชัดแจ้ง ส่วนอัยการก็ไม่ค่อยได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมและมีแนวโน้มส่งฟ้องทั้งหมด

เมื่อถึงชั้นศาลสิ่งที่เป็นประเด็นอย่างมากคือ การที่ผู้พิพากษาบางส่วนรับฟังหลักฐานที่ได้จาก “ศูนย์ซักถาม” แม้จะระบุว่า “รับฟังอย่างระมัดระวัง” แต่องค์กรภาคประชาชนเห็นว่า หลักฐานชนิดนี้ไม่สมควรแก่การรับฟังเนื่องจากจำเลยอยู่ในภาวะหวาดกลัว

“หมดจากการควบคุมตัวโดยกฎหมายพิเศษ ก็จะส่งต่อให้ตำรวจมีอำนาจคุมตัวอีก 48 ชม.แล้วฝากขังศาล ส่วนอัยการสั่งฟ้อง 99.99% ในชั้นศาลครอบครัวต้องใช้หลักทรัพย์สูงมาก คดีความมั่นคงหนึ่งคดีต้องว่าง โฉนดที่ดินมูลค่า 500,000 บาท เงินสด 50,000 บาท บางคนโดนสองสามคดี และคนที่ถูกควบคุมตัวมักอยู่ในชนชั้นรากหญ้า รายได้ต่อวันสามร้อยบาทบางทีก็ยังหาไม่ได้ ครอบครัวต้องยืมจากญาติมาประกัน และในช่วงหลังๆ ศาลไม่ให้ประกันตัวเลย” เจ้าหน้าที่ภาคสนามกล่าว

โดยสรุปเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมนำเสนอการปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ดังนี้ 

1. หน่วยต้นสังกัดต่างๆ อบรมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่คนในพื้นที่ 
“เช่นการสลาม จับมือ กอดกัน ชาวบ้านในพื้นที่แม้กับคนไม่รู้จักเราก็จะสลาม เจ้าหน้าที่เห็นเข้าก็ระแวง ไหนบอกไม่รู้จักกัน มันเหมือนสวัสดี”

“เรื่องภาษาในพื้นที่ก็เหมือนกัน เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นทหารชั้นปฏิบัติการ พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล ควรรู้ว่าในพื้นทีนี้ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เป็นภาษามลายู และเป็นตัวเขียนภาษายาวี ที่นี่ใช้มานานมากแล้วแต่ถูกมองเป็นปัญหาความมั่นคง”

2. ศาลอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดีจดบันทึกข้อมูลในห้องพิจารณาได้

3. มีหน่วยแพทย์อิสระ และตรวจทุกเคสที่ถูกควบคุมตัวโดยละเอียด หากมีอาการป่วยหรือบาดเจ็บจนต้องส่งต่อ รพ.อื่น รพ.ควรมีบันทึกที่ชัดเจนและให้ทนายเข้าถึงได้ 

4. ศาลไม่ควรรับฟังพยานหลักฐานชั้นศูนย์ซักถาม เพราะเป็นการได้หลักฐานมาด้วยกฎหมายพิเศษ วิธีการพิเศษ

5. การต่อหมายควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ละครั้ง ศาลเป็นผู้อนุมัติแต่ศาลพิจารณาจากเอกสารไม่เห็นตัวผู้ต้องหา อยากให้ศาลเรียกผู้ต้องหามาด้วยเพื่อพิจารณาว่าเขาถูกทำร้ายหรือไม่

6. ในชั้นพนักงานสอบสวนอยากให้มีองค์กรศาสนา และทนายที่ครอบครัวจัดหามาเองเข้าร่วมด้วย  

7. ศูนย์ซักถามควรมีกล้องวงจรปิดทุกจุดตลอด 24 ชม. และการควบคุมตัวเพื่อซักถามไม่ควรใช้เวลานานนับเดือน ผู้ถูกควบคุมตัวหลายรายระบุว่า เขาถูกสอบสวนจริงๆ สัปดาห์ละ 1 วันแต่ควบคุมตัวเป็นเดือนทำให้เสียเวลาและสูญเสียงาน

8. หลักทรัพย์ประกันตัวในคดีความมั่นคงสูงเกินไป การขาดการตรวจสอบข้อมูลของอัยการ”

ปกป้อง ศรีสนิท จากนิติศาสตร์ มธ. เคยระบุว่า กฎอัยการศึกในสามจังหวัดเป็นการใช้ที่ไม่ถูกวัตถุประสงค์ กฎหมายฉุกเฉินควรใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในระยะเวลาจำกัด แล้วกลับไปสู่ภาวะเดิมให้ได้ แต่ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สามจังหวัดอยู่ในภาวะฉุกเฉินตลอด ซึ่งไม่น่าใช่เรื่องปกติ ทุกวันนี้เราใช้กฎหมายนี้เพื่อไปดำเนินการทางคดีอาญา โดยเฉพาะคดีความมั่นคง คดีก่อการร้าย จึงเสนอว่า ประเทศไทยน่าจะมี ‘กฎหมายวิธีพิจารณาคดีก่อการร้าย’

หลักการของมันคือ ลดการคุ้มครองสิทธิประชาชนหรือผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้ายลง แต่ยังคุ้มครองสิทธิพื้นฐานอยู่ ถ้าเรามีกฎหมายนี้ เราไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉิน กฎหมายฉุกเฉินเก็บเอาไว้ใช้ในเวลาที่ฉุกเฉินจริงๆ ดีกว่า ซึ่งแง่หนึ่งก็จะทำให้กฎหมายดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้นด้วย ในต่างประเทศจะมีกฎหมายนี้อยู่ เขาลดการคุ้มครองสิทธิ์ลง เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ แต่การทรมาน การอุ้มหาย การฆ่านอกกฎหมาย ก็จะมีไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐจะไปทรมานหรือฆ่าเขาไม่ได้ เพราะนี่คือสิทธิพื้นฐานที่ต้องรักษาไว้อยู่

ขณะเดียวกัน ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน) ที่กำลังผลักดันกันอยู่ก็น่าจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหานี้ได้ โดยกฎหมายดังกล่าวมีข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้

1.การควบคุมตัวต้องมีการบันทึก แจ้งสิทธิ เปิดเผยข้อมูลให้ญาติหรือทนายเข้าพบ
2.ศาลมีอำนาจตรวจสอบและสั่งห้ปล่อยตัวได้ หากคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.ให้พ่อแม่ ลูก คู่ชีวิต นับเป็นผู้เสียหายเสมือนผู้ถูกอุ้มหายหรือซ้อมทรมาน
4.ให้คดีความมีอายุ 50 ปี และเริ่มนับอายุความเมื่อเจอผู้สูญหาย 
5.ให้คดีตามกฎหมายนี้เป็นคดีพิเศษ และอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนสอบสวน
6.ผู้บังคับบัญชาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับโทษด้วย 
7.ทุกคดีขึ้นศาลยุติธรรมและให้ใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี 
8.การอุ้มหายหรือซ้อมทรมานมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึงตลอดชีวิต

ปัญหาและข้อเสนอ
เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม (เบื้องต้น)

 

ชั้นพนักงานสอบสวน

ปัญหา

  • ชุดจับกุม กับ ชุดสอบสวน อยู่ภายใต้โครงสร้างและผู้บังคับบัญชาเดียวกัน การตรวจสอบกันจึงเป็นไปได้ยาก
  • ในชั้นจับกุมหรือชั้นสอบสวนอาจมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา
  • การฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ คดีอาญาดำเนินไปอย่างล่าช้า 

ข้อเสนอ

  • ยกพนักงานสอบสวนเป็นหน่วยอิสระ
  • (หรือ) แก้กฎหมายเพื่อกำหนดว่า หากตำรวจโรงพักใดถูกกล่าวหาเรื่องการทำร้ายผู้ต้องหาหรือวิสามัญฆาตกรรม ต้องไม่ให้ตำรวจโรงพักนั้นสอบสวน แต่มอบให้ดีเอสไอสอบสวน
  • ให้อัยการร่วมทีมสอบสวน 
  • เพิ่มจำนวนและงบประมาณให้เพียงพอ (อ้างอิงจากรายงานของ สปช.)

ปัญหา

  • หากเจ้าหน้าที่ทหารกระทำความผิดต่อพลเรือน จะไปขึ้นศาลทหารซึ่งเป็นระบบปิด มีทหารเป็นตุลาการ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีเป็นไปอย่างล้าช้า 

ข้อเสนอ

  • ควรจะแก้กฎหมายธรรมนูญศาลทหารว่า ควรพิจารณาคดีเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับทหารกระทำความผิดต่อคำสั่งหรือนโยบายหรือวินัยของทหารเท่านั้น และหากกระทำผิดต่อพลเรือนต้องขึ้นศาลพลเรือน

 

ชั้นอัยการ

ปัญหา

  • กรณีฝากขังผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนมักส่งสำนวนมายังอัยการตอนเกือบครบฝากขัง ทำให้อัยการรีบสั่งฟ้องให้ทัน พนักงานสอบสวนและอัยการมักมุ่งหาหลักฐานในการเอาผิด โดยไม่ใส่ใจหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไม่สมควรเอาผิดผู้ต้องหา

ข้อเสนอ

  • ให้อัยการร่วมทีมสอบสวนเพื่อร่วมกลั่นกรองด้วยตั้งแต่แรก ถ้าพยานหลักฐานไม่พอก็สั่งไม่ดำเนินคดี เพื่อไม่ให้คดีขึ้นไปยังชั้นศาลจำนวนมาก
  • เปลี่ยนวิธีคิดเป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน “ทั้งปวง” ตาม ป.วิอาญา เพื่ออำนวยความยุติธรรมทบทวน KPI ของพนักงานสอบสวนและอัยการ ไม่ให้เน้นปริมาณการฟ้อง

ปัญหา

  • อัยการทำหน้าที่เพียง ‘ไปรษณีย์’ สั่งฟ้อง

ข้อเสนอ

  • ให้อัยการมีอำนาจชะลอฟ้อง ยกตัวอย่างคดีที่จำคุกไม่จำ 5 ปี แทนที่จะสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องไปเลย อัยการจะสั่งแขวนคดีไว้ แล้วรอดูความประพฤติของผู้ต้องหา ถ้าคุณทำตัวดี ตามเงื่อนไขที่วางไว้ เราจะไม่ฟ้อง แต่ถ้าทำไม่ได้ เราฟ้อง 

ปัญหา

  • มีกรณีฟ้อง SLAPP เกิดขึ้นมาก อัยการไม่ใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง ใช้การเลื่อนนัดไปเรื่อยๆ แล้วสั่งฟ้อง พอศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วพบว่าไต่สวนแล้วไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็จะยกฟ้อง ทำให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้า

ข้อเสนอ

  • อัยการใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องได้

 

ชั้นศาล

ปัญหา

  • กรณีผู้พิพากษาคุณากร เพียรชนะ ประท้วงเรื่องการต้องส่งคำพิพากษาให้อธิบดีภาคตรวจสอบและแก้ไข ทำให้องค์คณะขาดความอิสระ

ข้อเสนอ

  • ไม่ควรให้มีการส่งตรวจและไม่มีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาหรือกดดันองค์คณะ แต่หากไม่เห็นด้วยให้ทำความเห็นแย้งแนบท้าย
  • การสอบเป็นผู้พิพากษาควรมีเกณฑ์ มีระบบคัดกรองที่เพียงพอ มีความรู้และประสบการณ์

ปัญหา

  • หลักทรัพย์ในการประกันตัวสูง/ประกันตัวได้ยาก

ข้อเสนอ

  • โดยหลักของกฎหมายต้องให้ประกันเป็นหลัก
  • ชั้นอัยการ ชั้นตำรวจ ต้องไม่ตั้งข้อหาเกินกว่าพฤติการณ์การกระทำความผิด

ปัญหา

  • ศาลสั่งจำคุก (โดยไม่จำเป็น)

ข้อเสนอ

  • โทษในคดีอาญาของไทยควรมีมากกว่า 5 สถาน เพิ่มการบำเพ็ญประโยชน์ และการการคุมประพฤติในชั้นอัยการ
  • ยกเลิกการกักขังแทนค่าปรับ 

ปัญหา

  • ศาลรับฟ้องคดี SLAPP

ข้อเสนอ

  • ศาลควรใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 ให้ศาลมีดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องก่อนจะมีการไต่สวนได้เลย ถ้าพบว่าคดีนั้นเป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง แต่ศาลไม่ใช้ จึงเป็นจุดที่กระบวนการยุติธรรมสร้างภาระให้กับจำเลย และ มาตรา 165/2 ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อจำเลย
  • ผ่านร่าง แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่ออุดช่องโหว่ทางกฎหมายกรณี SLAPP

กฎหมายพิเศษ

ปัญหา

  • การควบคุมตัวไม่โปร่งใส

ข้อเสนอ

  • ควรได้รับสิทธิพื้นฐานเช่นเดียวกับการเป็นผู้ต้องหา คือ ได้พบทนาย พบญาติ

ปัญหา

  • การสอบสวนไม่โปร่งใส
  • บางกรณีมีการซ้อมทรมาน บางกรณีเสียชีวิต

ข้อเสนอ

  • ควรมีการติดกล้องวงจรปิดทุกจุดตลอด 24 ชม.ในค่ายทหาร
  • ควรมีล่ามภาษายาวีที่เข้าใจกฎหมาย
  • ให้ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถมีทนายที่จัดหาเองได้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จัดหา
  • ให้ญาติเยี่ยมได้โดยอิสระ
  • มีทีมแพทย์อิสระที่จะตรวจร่างกายทั้งเข้าและออก
  • ผ่านกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย
  • ให้มี ‘กฎหมายวิธีพิจารณาคดีก่อการร้าย’ หลักการของมันคือ ลดการคุ้มครองสิทธิประชาชนหรือผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้ายลง แต่ยังคุ้มครองสิทธิพื้นฐานอยู่ ถ้าเรามีกฎหมายนี้ เราไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉิน กฎหมายฉุกเฉินเก็บเอาไว้ใช้ในเวลาที่ฉุกเฉินจริงๆ

ปัญหา

  • มีการบังคับสารภาพในศูนย์ซักถาม

ข้อเสนอ

  • ศาลไม่รับคำรับสารภาพใดๆ ในชั้นควบคุมตัว หรือ “ศูนย์ซักถาม” 
  • มีล่ามภาษายาวีที่เข้าใจกฎหมาย

ปัญหา

  • การซักถามในช่วงกฎหมายพิเศษ ใช้เวลานานเกินไป (28-35 วัน)  

ข้อเสนอ

  • ควรใช้เวลาไม่เกิน 1-2 สัปดาห์

ปัญหา

  • มีการร้องเรียน กมธ.กฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร แต่หน่วยงานความมั่นคงไม่มาชี้แจง

ข้อเสนอ

  • บังคับให้ทุกหน่วยงานต้องมาชี้แจงกมธ.เพื่อให้สภาสามารถตรวจสอบได้

ปัญหา

  • เจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น

ข้อเสนอ

  • ควรมีการอบรมเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นและหลักสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่

ปัญหา

  • ศาลห้ามจดกระบวนพิจารณา

ข้อเสนอ

  • ควรพิจารณาโดยเปิดเผยและอนุญาติให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึก

ปัญหา

  • คดีความมั่นคงใช้หลักทรัพย์สูงมาก

ข้อเสนอ

  • หาทางเลือกอื่นๆ ในการวางหลักประกัน

ปัญหา

  • ทนายความเข้าไม่ถึงเอกสารการรักษาของผู้ถูกควบคุมตัวที่ได้รับบาดเจ็บ

ข้อเสนอ

  • มีการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บระหว่างคุมตัวในค่ายทหารแล้วต้องส่งต่อ รพ.อื่น รพ.ควรมีบันทึกที่ชัดเจนและให้ทนายเข้าถึงได้

ปัญหา

  • ศาลมักออกหมายควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษโดยง่าย

ข้อเสนอ

  • ศาลไม่เห็นตัวผู้ต้องสงสัย เห็นแต่เอกสาร ไม่รู้เขาถูกทำร้ายไหม ดังนั้นการอนุมัติต่ออายุการควบคุมต้วจึงควรมีผู้ต้องสงสัยมาด้วย

 

เรือนจำ

ปัญหา

  • นักโทษล้นคุก

ข้อเสนอ

  • แก้ปัญหากฎหมายยาเสพติด แยกผู้ซื้อผู้เสพ จัดการคนละระบบ ไม่ใช้การคุมขังกับผู้เสพ
  • ทบทวนประเภทยาเสพติด ลดโทษของยาบ้า (ยาเสพติดประเภท 1) 
  • มีโทษแบบอื่นเพิ่มขึ้น ต่างประเทศมีบทกำหนดโทษแยกย่อยเป็น 11 สถาน (ของไทยมี 5 ริบทรัพย์ ปรับ กักขัง จำคุก ประหาร)

ปัญหา

  • นักโทษทำผิดซ้ำมีสัดส่วนสูง

ข้อเสนอ

  • สร้างระบบที่จะขัดเกลาความประพฤติและที่สำคัญคือ สร้างอาชีพ

ปัญหา

  • คุณภาพชีวิตแย่ 

ข้อเสนอ

  • พัฒนาคุณภาพชีวิต เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ปัญหา

  • มีการเสียชีวิตในเรือนจำระบบพิเศษ

ข้อเสนอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท