Skip to main content
sharethis

ข้อเสนอทางเศรษฐกิจย่อมมีฐานความคิด ความเชื่อทางเศรษฐศาสตร์อยู่เบื้องหลังเสมอ ซึ่งสถาบันคลังสมองในไทยมักไม่กล่าวถึง แต่วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวิธีคิดของแต่ละสำนักส่งผลต่อการตั้งคำถามและการหาคำตอบ

  • ตลาดการเมืองไทยได้เกิดโครงสร้างแรงจูงใจใหม่หลังปี 2549 ภายใต้แนวคิด depoliticization ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ
  • ดุลยภาพในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยยังมีพื้นที่สุญญากาศ เนื่องจากแต่ละภาคส่วนไม่มีใครกล้าเข้าไปล้ำเส้นของตัวเอง
  • สถาบันคลังสมองของไทยควรประกาศสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ตนเองยึดถือให้สังคมรับรู้และมีความคงเส้นคงวาในการใช้ฐานคิดนั้นๆ ในการศึกษานโยบายเศรษฐกิจ ก่อนจะคิดเรื่องความหลากหลายและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ในสังคมไทยต่อไป

จากงานเสวนาวิชาการเรื่อง ‘อำนาจของความรู้: ทีดีอาร์ไอ เทคโนแครต และการเมืองของนโยบายเศรษฐกิจไทย ว่าด้วยหนังสือ สถาบันคลุมสมอง: กายวิภาคการเมืองของทีดีอาร์ไอ’ โดยศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ เป็นผู้จัด หลังจากที่เอกสิทธิ์ หนุนภักดี ผู้เขียนหนังสือ และสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานมูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอและอภิปรายโต้แย้งกันไปแล้ว วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและการพัฒนาจาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น ก็พาไปสำรวจสถานะความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของไทยต่อนโยบายเศรษฐกิจ

วีระยุทธเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองหลายประการนับจากงานของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และงานของธานี ชัยวัฒน์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร จึงจำเป็นต้องมีคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อไล่ตามให้ทันความเปลี่ยนแปลง

อีกทั้งการศึกษาและสร้างข้อเสนอแนะทางนโยบายเศรษฐกิจย่อมเลี่ยงไม่พ้นฐานความคิดของเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนัก ซึ่งวีระยุทธเสนอว่าสถาบันคลังสมองของไทยควรมีความคงเส้นคงวาในจุดนี้ แล้วจึงค่อยต่อยอดไปสู่เรื่องความหลากหลายเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาและองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ต่อไป

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและการพัฒนาจาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น

ผมอยากจะโฟกัสและชวนคุยต่อ โดยถอยกลับมาดูภาพกว้างขึ้นอีกว่าการเมืองของนโยบายเศรษฐกิจของไทยมีทิศทางอย่างไร และมีประเด็นอะไรน่าชวนคิดกันต่อ ผมมี 3 ประเด็น หนึ่ง-ตลาดนโยบายกับตลาดการเมือง สอง-ดุลยภาพและสุญญากาศทางนโยบายของไทย และสาม-หลักวิชาทางเศรษฐศาสตร์กับคุณค่าทางการเมืองและจริยธรรม

ประเด็นแรก ตั้งแต่ผมเป็นผู้ช่วยวิจัยจนเป็นนักวิชาการในปัจจุบันนี้ก็เกือบ 2 ทศวรรษแล้ว ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเราเห็นงานวิจัยเชิงนโยบายอย่างไร ผมมี 4 หนึ่ง-ค่อนข้างชัดเจนว่าใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้การจัดการ ข้อมูล วิธีการนำเสนอ รวมถึงการเข้าถึงสาธารณะสูงขึ้นและดีขึ้นมาก สอง-ประเด็นที่ศึกษามีความครอบคลุมหลากหลายและมีความลึกมากขึ้น สาม-การนำเข้าประเด็นใหม่ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นยิ่งกว่าในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ข้อสังเกตก็คือจุดเน้นโดยทั่วไปก็ยังพูดถึงแนวคิดหรือคำศัพท์ใหม่ๆ เช่น middle Income trap หรือ secular economy หรือศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงต่างประเทศ แต่องค์ความรู้พื้นฐานยังไม่ทันเท่าไหร่นักหรือบางทีก็นำเข้าแนวคิดใหม่ๆ เข้ามารวดเร็วจนเกินไป โดยไม่ตั้งคำถามให้เข้ากับสังคมไทยเท่าไหร่นัก และสี่-ถ้ามองว่าการวิเคราะห์ภาพใหญ่ที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ผมคิดว่ายังอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์เดิมค่อนข้างมาก ต้องบอกว่าเวลาเราเขียนบทวิเคราะห์เชิงนโยบายไม่จำเป็นต้องพูดถึงสมมติฐานหรือทฤษฎีเบื้องหลังเสมอไป แต่มันจะสะท้อนออกมาในตัวบทวิเคราะห์และในตัวข้อเสนอเชิงนโยบายว่างานแต่ละชิ้นเสนออะไรหรือมีสมมติฐานเบื้องหลังอย่างไร ซึ่งในแง่นี้ผมมองว่างานส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจยังคงอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์เดิมอยู่

กระบวนทัศน์เดิมคืออะไร ผมคิดว่างาน 2 ชิ้นที่มีอิทธิพลต่อการมองการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย งานชิ้นแรกเป็นงานของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เขียนไว้เมื่อปี 2532 เรื่องกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย ซึ่งเน้นไปที่ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ในงานชิ้นนั้นพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือกลุ่มผลประโยชน์และนักการเมืองเริ่มมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นจากเดิมในช่วงก่อนหน้านี้ที่การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของระบบปิดของกลไกราชการเท่านั้น ข้อ 2 ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แผ่ขยายในสังคมมากขึ้น พร้อมๆ กับการปันส่วนค่าเช่าทางเศรษฐกิจแบบใหม่ และข้อ 3 การต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ ทำให้สังคมได้เพียงแค่บรรลุเป้าหมายที่น่าพอใจระดับหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป้าหมายในอุดมคติ นี่เป็น 3 ข้อสรุปสำคัญของงานของอาจารย์รังสรรค์ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ซึ่งมีคำสำคัญอยู่ 3 คำคือคำว่ากลุ่มผลประโยชน์และนักการเมือง ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายในอุดมคติ

งานอีกชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการใช้เป็นสมมติฐานมองเบื้องหลังนโยบายเศรษฐกิจไทยก็คืองานของอาจารย์ธานี ชัยวัฒน์และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ในปี 2008 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนกับการเมืองในประเทศไทยว่ามีกี่รูปแบบ และพบว่ามีอยู่ 3 รูปแบบที่วิวัฒนาการไปมา รูปแบบแรกคือกลุ่มทุนอาจจะเลือกเป็นเพียงผู้อุปถัมภ์อยู่เบื้องหลังกลุ่มก๊วนทางการเมือง วิธีนี้จะกระจายความเสี่ยงได้ แต่จะไม่การันตีว่ากลุ่มนักการเมืองจะรับคำสั่งเชิงนโยบายไปปฏิบัติจริงหรือเปล่า รูปแบบที่ 2 คือการส่งตัวแทนเข้าไปรับตำแหน่ง ถือว่าเป็นการเปิดตัวความสัมพันธ์ของกลุ่มทุนระดับหนึ่ง มีการรับความเสี่ยงร่วมกับพรรคการเมือง แต่ก็ยังไม่การันตีการควบคุมนโยบายเท่ากับรูปแบบที่ 3 คือการที่กลุ่มทุนตัดสินใจลงมาเป็นผู้เล่นเอง เปิดหน้าโดยตรง วิธีนี้จะมีต้นทุนสูงสุด แต่จะมีผลได้สูงสุด อย่างน้อยก็ควบคุมนโยบายได้โดยตรงมากที่สุด

ผมเห็นว่างานศึกษาของอาจารย์รังสรรค์และของอาจารย์ธานีและอาจารย์ผาสุกยังคงเป็นสมมุติฐานเบื้องหลังการศึกษางานวิจัยนับจากเวลานั้น ซึ่งก็กินเวลาเกิน 1-2 ทศวรรษแล้ว เวลาจะพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจใดๆ คำถามที่ผมคิดว่าสังคมควรจะถามก็คือ แล้วโครงสร้างแรงจูงใจทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา

ในกระแสโลก มีสิ่งที่เรียกว่าเสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นแต่ผมขอย้ำตรงนี้ว่า เวลาพูดถึงเสรีนิยมใหม่ต้องมีความรัดกุม เพราะคำนี้เป็นคำที่เป็นส่วนผสมที่ค่อนข้างสะเปะสะปะระหว่างเศรษฐศาสตร์ที่มีหลักวิชาชุดหนึ่งที่เรียกว่าสำนักนีโอคลาสสิค แต่มันก็ผสมปนเปกับหลักปรัชญาการเมืองและสังคมของสำนักออสเตรีย แล้วยังมีกลุ่มทุนธนาคาร กลุ่มการเงินที่เพียงแค่เกาะกระแสเข้ามาเท่านั้น ดังนั้น ภายใต้คำว่าเสรีนิยมใหม่จึงมีความหลากหลายภายในและความไม่เป็นเนื้อเดียวกันสูงมาก

แต่ถ้าจะให้แยกหลักๆ ว่ามันมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างไร ก็ต้องบอกว่ามันแยกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือข้อเสนอทางเศรษฐกิจที่เน้นการเอากลไกตลาดเป็นศูนย์กลาง ซึ่งข้อเสนอนี้เห็นผ่านนโยบายอย่างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและอื่นๆ

แต่ข้อเสนอของอีกฝั่งหนึ่งที่ทุกคนมักลืมไปและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ แทบจะในทุกสังคมก็คือข้อเสนอของฝั่งการเมืองของสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่าเสรีนิยมใหม่ก็คือข้อเสนอที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า depoliticization หรือการเชื่อว่าเราควรจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจโดยการขีดเส้นแบ่ง รัฐมีบทบาทแค่นี้ การเมืองมีบทบาทแค่นี้ ที่เหลือเป็นบทบาทตลาด เป็นความเชื่อบนสมมติฐานที่ว่าเราสามารถขีดเส้นแบ่งระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจได้  ดังนั้น ข้อเสนอ depoliticization จึงเสนอให้โอนอำนาจการตัดสินใจจากรัฐสภามาให้กับองค์กรแต่งตั้งที่มีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตัดสินใจแทน เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกภายใต้แนวคิดรวมๆ ที่เรียกว่าเสรีนิยมใหม่ และรัฐธรรมนูญ 2540 ของไทย รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ถูกออกแบบด้วยแนวคิดดังกล่าว

ประเด็นคือกระแสและค่านิยมแบบนี้ก่อให้เกิดแรงจูงใจหรือโครงสร้างแรงจูงใจอย่างไรในระบบเศรษฐกิจการเมือง ในบทความวิชาการภาษาอังกฤษชิ้นหนึ่ง ผมเสนอว่าเราต้องมองว่ามันมีโครงสร้างแรงจูงใจที่เกิดคู่ขนานไปกับการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่ยังคงดำรงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันภายใต้วิธีคิดเรื่อง depoliticization ก็เกิดสิ่งที่ผมเรียกว่าการแสวงหาที่นั่งในองค์กรแต่งตั้ง หมายความว่าในขณะที่มีกลุ่มทุนกับนักการเมืองพยายามแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจหรือผลกำไรที่ล้นเกินจากการแข่งขันจากตลาดสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ต้องการจะแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ในองค์กรแต่งตั้งทั้งหลายในฐานะของการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจจะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยการคาดหวังของผู้ที่ออกแบบนโยบายนี้คาดหวังว่า อำนาจขององค์กรแต่งตั้งที่ใช้ความเชี่ยวชาญเป็นหลักฐาน เป็นจุดศูนย์กลาง จะสามารถคานอำนาจกับองค์กรเลือกตั้งได้ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสียต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ผมยกตัวอย่างว่าถ้าเราดูระบบรัฐประหาร มันก่อให้เกิดอะไร มันก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า career path รูปแบบใหม่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการรัฐประหารหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมาจะมีโครงสร้างที่แบ่งเป็น peer ต่างๆ ในฝั่งหนึ่ง คณะรัฐประหารจะแต่งตั้งรัฐมนตรี สภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงสภาของเขาเองอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในอีกด้านหนึ่งก็จะมีองค์กรที่เป็นผู้กำกับดูแล ตั้งแต่ตุลาการจนถึงผู้คุมกฎที่มีอำนาจให้คุณ ให้โทษ และคณะกรรมการอีกเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างแรงจูงใจที่เกิดขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิด depoliticization

คำถามสำคัญที่เราต้องถามต่อถ้าเชื่อว่าสมมติฐานนี้เป็นจริงก็คือ แรงจูงใจใหม่นี้จะส่งผลอะไรต่อกระบวนการกำหนดนโยบายและบังคับใช้ตรวจสอบนโยบายต่างๆ เพราะถ้าเรามองกระบวนการกำหนดนโยบายทั่วไปในทุกๆ สังคม มันจะเริ่มต้นจากการระบุว่าอะไรเป็นปัญหา อะไรไม่เป็นปัญหาในสังคม กำหนดวาระที่สำคัญของสังคมไปจนถึงการพูดรายละเอียดของตัวนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ การบังคับใช้ และกระบวนการตรวจสอบและการประเมินผล

คำถามคือถ้างานศึกษานโยบายเศรษฐกิจจำนวนมากยังมองแค่การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจหลักของตัวละครทางการเมือง แต่มองไม่เห็นโครงสร้างแรงจูงใจใหม่ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันนี้ มันจะบิดเบือนหรือมองไม่เห็นภาพใหญ่อย่างไรบ้าง อันนี้ยังต้องมีการศึกษาต่อ แต่คำถามคือถ้าเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็จะทำให้สมมติฐานเบื้องหลังการวิเคราะห์ รวมถึงการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปอย่างตรงประเด็นและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมากขึ้น

โดยสรุปในประเด็นแรก ถ้าเรามองพลวัตของตลาดนโยบายและตลาดการเมือง ผมเห็นว่างานวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจยุค 2530 ถึง 2540 นั้นยังคงมีอิทธิพลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ความคิดและความสนใจยังคงอยู่กับค่าเช่าทางเศรษฐกิจ นักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ รวมถึงการผันตัวจากนักธุรกิจมาเป็นนักการเมือง จนทำให้ตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ที่อาจไม่ได้มีเพียงสิ่งที่ผมกล่าว แต่ยังมีแรงจูงใจอื่นๆ ในโครงสร้างตลาดการเมืองทั้งหมดด้วย สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจมากขึ้นหรือไม่ เพราะผมไม่ได้มองกระบวนการ depoliticization ว่าเป็นผลลบอย่างเดียว หากกระบวนการนี้เกิดขึ้นในประเทศที่ประชาธิปไตยปักหลักมั่นคงแล้ว จะเป็นการถ่วงดุลอำนาจสภา ทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายมีความสมดุลและรอบคอบมากขึ้นจริง แต่ถ้าเป็นสังคมที่ประชาธิปไตยยังไม่ตั้งมั่น กระบวนการ depoliticization หรือลดทอนอำนาจของสภาโอนไปให้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรแต่งตั้งอาจจะสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ทางการเมืองให้กับตัวแสดงนอกสภา ส่งผลต่อกระบวนการกำหนดวาระ การจัดงบประมาณ กฎหมาย รวมไปถึงการกำหนดรูปแบบของรัฐบาลด้วยซ้ำ

หนังสือ 'สถาบันคลุมสมอง: กายวิภาคการเมืองของทีดีอาร์ไอ’ 

คำถามต่อมาคือภายใต้วิวัฒนาการที่ได้พูดถึงไป เมื่อผมอ่านหนังสือสถาบันคลุมสมองของอาจารย์เอกสิทธิ์ ผมคิดว่ามีประเด็นชวนคิดต่อในเรื่องดุลยภาพและสุญญากาศทางนโยบายของไทย อย่างแรกผมคิดว่ามันมีคำถามและคำตอบที่ขาดหายไปในหนังสือเล่มนี้ที่จะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทความเป็นไปได้และข้อจำกัดของคลังสมองในสังคมไทยได้มากขึ้น การขาดหายไปนี้ผมไม่รู้ได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกถามหรือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบ ซึ่งมี 3 ประเด็นที่โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราจะเข้าใจคลังสมองในการเมืองไทย

ประเด็นแรกคือกระบวนการถ่วงดุลและการตัดสินใจภายในของแต่ละองค์กรนั้นเป็นอย่างไร ที่จะเคลื่อนไหว ที่จะสื่อสารกับสาธารณะ มีการถอดบทเรียนและจัดวางท่าทีในฐานะสถาบันวิจัยชั้นนำของสังคมอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ได้พูดถึงไปบ้างแล้วว่าในทีดีอาร์ไอก็มีกระบวนการถอดบทเรียนบางอย่าง

ประเด็นที่ 2 แล้วสถาบันเหล่านี้มีการตัดสินใจอย่างไรว่าในการศึกษาแต่ละเรื่องนั้นจะจบท้ายด้วยข้อเสนอนโยบายระดับไหน ถ้าเราไปดูงานบางชิ้นจบด้วยข้อเสนอทางเทคนิคเท่านั้น ว่ากันด้วยตัวเลขล้วนๆ งานบางชิ้นไปไกลกว่านั้น พูดถึงนโยบายเป็นชุด งานบางชิ้นพูดถึงโครงสร้างหน่วยงาน แต่งานบางชิ้นจบด้วยรัฐราชการ มันเริ่มจากส่วนเดียวกันหรือไม่และมีกระบวนการตัดสินใจอย่างไร ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ยังขาดหายไปในหนังสือเล่มนี้

และประเด็นที่ 3 ซึ่งผมก็คิดว่าสำคัญมากเช่นเดียวกัน คือองค์กรคลังสมองหรือผู้วิจัยเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของไทยในภาคส่วนต่างๆ นั้น สมมติฐานเกี่ยวกับการซื้อเสียง ระบบอุปถัมภ์ กลุ่มทุน องค์กรอิสระ ส่งผลต่อกติกาการเมือง รัฐธรรมนูญ และพฤติกรรมผู้เล่นให้เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร เพราะตลอดสิบยี่สิบปีที่ผ่านมา งานทางรัฐศาสตร์จำนวนมากชี้ให้เห็นถึงพลวัตของการซื้อเสียงในประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อระบบอุปถัมภ์ ผมอ่านแล้วก็อยากรู้ว่าคลังสมองมองสมมติฐานเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร และมีผลต่อบทวิเคราะห์อย่างไร แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในงานชิ้นนี้

ดังนั้น เมื่อเรากลับมามองภาพใหญ่ว่าด้วยกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทย ผมจึงเห็นต่อว่าแม้งานวิจัยเชิงนโยบายของไทยจะก้าวหน้าไปมากในหลายๆ ด้าน คำถามก็คือภายใต้ความก้าวหน้าเหล่านี้ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เต็มศักยภาพไหม อย่างน้อยภายใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมา และผมก็คิดต่อจากโมเดลของอาจารย์รังสรรค์โดยนำมาคิดในบริบทปัจจุบัน ผมคิดว่าดุลยภาพในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทยก่อให้เกิดพื้นที่สุญญากาศตรงกลางที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปล้ำเส้นของตัวเอง

ถ้าเราดูงานวิจัยทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่ามีความก้าวหน้าในการเช็คข้อมูล การวิเคราะห์ แต่พอไปถึงข้อเสนอที่เป็นเรื่องสำคัญและแหลมคมในสังคมไทยก็ยังคงมีข้อจำกัด และขีดเส้นไว้เพียงแค่ว่าการเมืองจะต้องถูกควบคุมและจัดการ รัฐราชการต้องปฏิรูป ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ในขณะเดียวกันหน่วยงานราชการก็มีความก้าวหน้าบางอย่าง ถ้าไปดูการจัดทำงบประมาณก็มีการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งที่เราเรียกว่างบบูรณาการ หรือการนำงบของหลายๆ กระทรวงมารวมกันเพื่อแก้โจทย์เดียวกัน แต่เวลาหน่วยราชการไปมองส่วนอื่นๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็บอกว่างานวิจัยต้องไม่ขึ้นหิ้ง ผู้ประกอบการต้องปรับตัว แล้วก็มองว่าฝ่ายการเมืองต้องทำตามแผนระยะยาวที่ฝ่ายราชการกำหนดไว้ ก็จะจบแค่นี้

ในขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองในรัฐสภาก็มีความก้าวหน้าเช่นเดียวกัน เราเห็นการเปิดประเด็นวาระใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้นในสภา แต่ก็ยังมองว่างานวิจัยต้องไม่ขึ้นหิ้ง ระบบราชการต้องปฏิรูป ผู้ประกอบการต้องปรับตัว แต่ไม่ค่อยไปไกลจากเส้นนี้เท่าไหร่ เวลาผู้ประกอบการจัดโฟกัสกรุ๊ปก็จะเบื่อมากเมื่อถูกตั้งคำถามว่าแล้วผู้ประกอบการทำไมไม่ปรับตัว ทั้งที่เมื่อเราไปดูความเป็นจริงจะพบว่าผู้ประกอบการไทยปรับตัวไวขึ้นมาก อ่านกระแสธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ดีขึ้นมาก แต่พอให้ผู้ประกอบการวิจารณ์ส่วนอื่นก็ยังมีขีดจำกัดเหมือนกัน เพราะผู้ประกอบการไทย ภาคธุรกิจไทย ก็ยังขีดเส้นแค่ว่างานวิจัยต้องไม่ขึ้นหิ้ง รัฐต้องเข้ามาช่วยธุรกิจมากขึ้น และการเมืองต้องปรับให้ทันยุคสมัย วนลูปกันไปอย่างนี้

พอเราอ่านแต่ละภาคส่วนที่ตั้งคำถามแล้วจะเกิดคำถามว่า มีพื้นที่สุญญากาศใหญ่หรือเปล่าในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ละฝ่ายอาจมีความหวังดีต่อประเทศ แต่รู้สึกว่าประเทศไทยไปได้ไม่เต็มศักยภาพทั้งสิ้น แต่ทำไมพอพูดถึงรายละเอียดแล้วกลับมีพื้นที่สุญญากาศตรงนี้อยู่ แม้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีความก้าวหน้าในพื้นที่ของตัวเองก็ตาม แต่เรายังขาดรายละเอียดที่แต่ละฝ่ายควรจะล้ำเส้นมากกว่านี้หรือไม่

ยกตัวอย่างเช่นเวลาทุกฝ่ายพูดกันว่าผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว แต่ในความเป็นจริงการเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมสิ่งทอก็เป็นคนละเรื่องกับความสามารถหรือวิธีการในการเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรืออุตสาหกรรมอาหาร เวลาเราพูดคำเดียวกันว่าผลิตภาพในวิธีการ ในกระบวนการ หรือความเป็นไปได้ มันแตกต่างกันทั้งสิ้น ผมว่าจำเป็นต้องก้าวพ้นมาจากเส้นเดิมที่เคยขีดตัวเองไว้ ก้าวมาให้ไกลมากขึ้นว่าพอเราพูดว่าผู้ประกอบการต้องปรับตัว ต้องเพิ่มผลิตภาพ จะไปทางไหน

เวลาพูดว่ารัฐราชการต้องปฏิรูปก็ควรคิดต่อเหมือนกันว่า เราควรมีกระทรวงเศรษฐกิจที่ดูแลหน่วยงานการค้า อุตสาหกรรม การเก็บภาษีเข้าด้วยกันหรือไม่ การพูดถึงเอสเอ็มอีจำเป็นต้องมีหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมของเอสเอ็มอีหรือไม่ การกระจายอำนาจเราจะไปไกลแค่ไหน จะจบที่การเลือกตั้งผู้ว่าหรือมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งกว่านั้นที่ต้องออกแบบ ซึ่งยังไม่พูดถึงความหลากหลายเชิงพื้นที่

เวลาที่หน่วยงานอื่นๆ พูดว่างานวิจัยต้องไม่ขึ้นหิ้ง ต้องถามต่อว่าแล้วจริงๆ เรามีองค์ความรู้เรื่องพฤติกรรมคนไทยในเรื่องสำคัญอย่างการออม การใช้จ่าย การที่คนไทยมองความเหลื่อมล้ำของประเทศตัวเอง เรามีองค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ดีพอหรือยัง ไม่ต้องพูดถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ในเวลาเดียวกัน เวลาที่ทุกฝ่ายชี้ไปที่การเมืองแล้วบอกว่าการเมืองต้องเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีใครไปไกลกว่านั้นว่าแล้วตกลงจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้ประสิทธิภาพควบคู่กับการจัดการคอร์รัปชันควบคู่กับการรับผิดรับชอบ ต้องมีสภาเดี่ยวเลยหรือไม่ องค์กรอิสระจะมีกระบวนการแต่งตั้งอย่างไร วิธีการออกกฎหมาย ขั้นตอนมีปัญหาหรือไม่ หรือจะคงไว้แบบเดิม

ถ้าเรามองแบบนี้ก็จะเห็นว่าแต่ละฝ่ายมีการขีดเส้นตัวเองเอาไว้โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หรือด้วยความเคยชิน ก็เลยทำให้เกิดสุญญากาศ ซึ่งส่งผลต่อสังคมขั้นต่ำคือไม่เกิดประโยชน์อะไรมากกว่านี้ ผลขั้นสูงคืออาจจะบั่นทอนหรือบิดเบือนทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะช่วยกันคิดต่อ

คำถามตอบมาก็คือถ้าสมมติฐานที่ผมว่ามานี้เป็นจริงเสียส่วนใหญ่ เราจะทำอย่างไรกันต่อดี ผมก็คงจะตอบได้เฉพาะส่วนที่ผมรู้จักอยู่บ้างคือในเรื่องหลักวิชาเศรษฐศาสตร์กับคุณค่าทางการเมืองและจริยธรรม

ผมคิดว่าขั้นแรกในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราต้องยอมรับกันมากกว่านี้ว่าเป็นสาขาวิชาที่มีความหลากหลายภายในสูงมาก ตั้งแต่คำถามแรกเลยว่าวิชาเศรษฐศาสตร์คืออะไร ควรจะตั้งคำถามอะไรกับสังคม อันนี้หลายวิชาไม่ค่อยถกเถียงกัน ในเศรษฐศาสตร์มีการถกเถียงกันและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยังมองว่าเศรษฐศาสตร์ควรเป็นวิชาว่าด้วยการเลือกอย่างมีเหตุมีผล คือไปจำกัดขอบเขตของวิชาอยู่ที่วิธีวิทยา แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีข้อเสนอว่าเราควรกลับมามองภาพใหญ่หรือไม่ว่าเศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาระบบเศรษฐกิจเอาตัว subject matter มาเป็นตัวกำหนดหน่วยวิชาอื่นๆ ผมคงไม่มีเวลาพูดต่อ แต่ประเด็นนี้มีความสำคัญมากต่อการประเมินนโยบายเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ

อย่างน้อยๆ ถ้าคิดในเชิงวิธีศึกษาระบบเศรษฐกิจและยอมรับความหลากหลายของวิธีวิทยา เศรษฐศาสตร์ก็มีสำนักคิดอย่างน้อย 9 สำนัก แต่ละสำนักมองพฤติกรรมของปัจเจกชน ปฏิสัมพันธ์ในสังคม กลไกในการเติบโตทางเศรษฐกิจต่างกันหมด มีหน่วยวิเคราะห์ที่ต่างกัน ทำให้ข้อเสนอปลายทางต่างกัน เช่น สำนักนีโอคลาสสิคเชื่อว่าปัจเจกชนนั้นมีเหตุมีผลและเห็นแก่ตัว การแลกเปลี่ยนและการบริโภคจึงเป็นศูนย์กลาง เป็นหัวใจของเศรษฐกิจ จึงสนับสนุนกลไกตลาดและจำกัดบทบาทของภาครัฐไปโดยปริยาย แต่นี่เป็นเพียงวิธีคิดเดียวในสำนักคิดของเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด ยังมีสำนักมาร์กซิสต์ที่มองสังคมชนชั้น ยังมีสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันที่มองคนผ่านโครงสร้างสิ่งจูงใจ หลายท่านคงเห็นได้ว่าสิ่งที่ผมวิเคราะห์มาก็เป็นการวิเคราะห์ผ่านแว่นของเศรษฐศาสตร์สถาบัน

ผมอยากจะยกตัวอย่างวิวาทะที่สำคัญ เพราะว่ามันมีรายละเอียดและผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากแต่ไม่ได้รับการถกเถียงอย่างที่ควรจะเป็นในสังคมไทย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีคนคิดว่าเป็นเรื่องเทคนิคล้วนๆ จริงๆ มันมีเรื่องของวิธีคิดที่ต่างกันอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าคุณจะนิยามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างไร เพราะคงไม่มีประเทศไหนที่จะปฏิเสธเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคแน่นอน แต่ถามว่าสิ่งนี้คุณจะถูกนิยามด้วยอะไร เศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็จะบอกว่าควรนิยามด้วยอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ ซึ่งเวลาพูดถึงเงินเฟ้อต่ำพูดกันที่ระดับ 1 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ แต่พอกำหนดเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคแบบนี้ก็ทำให้ศูนย์กลางของการกำหนดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไปอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อ เพราะมีสมมติฐานเบื้องหลังว่าอัตราเงินเฟ้อต่ำจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเติบโตเร็วขึ้นด้วยซ้ำ

แต่ถ้าไปดูงานศึกษาอีกจำนวนมากที่อาจจะไม่ใช่กระแสหลักก็จะพบว่า การศึกษาเรื่องอัตราเงินเฟ้อกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์เชิงเส้น แต่เป็นเรื่องของการมีขีดจำกัด ยกตัวอย่างงานเมื่อนานมาแล้วพบว่าไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ตายตัวพอจะสรุปได้ระหว่างอัตราเงินเฟ้อกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากอัตราเงินเฟ้อที่เราพูดถึงนั้นต่ำกว่าระดับ 8 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าถ้ามันสูงกว่านี้ มันมีผล แต่มันมีขีดจำกัดบางจุดที่มันไม่มีผล รวมถึงงานที่ใหม่กว่านั้นที่เน้นไปที่ประเทศกำลังพัฒนา พบว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีผลลบหรือทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวก็ต่อเมื่อมีอัตราที่สูงเกิน 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นี่เป็นงานศึกษาในปี 2013

และมีงานอีกจำนวนมากที่บอกว่า ในทางกลับกัน ถ้าคุณใช้มาตรการที่ต่อต้านอัตราเงินเฟ้อมากเกินไป มันจะมีผลด้านลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่ออัตราการจ้างงาน หรือแม้แต่กับประชาชนที่ยากจน หรืออัตราความยากจนในสังคม ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อีกสายหนึ่งอย่างโจเซฟ สติกลิตซ์ ซึ่งออกไปทางสำนักเคนส์หน่อยๆ มองว่าในเชิงนโยบาย อัตราเงินเฟ้อควรถูกมองเป็นแค่ตัวแปรที่เรียกว่า intermediate variable ไม่ใช่ตัวแปรหรือเป้าหมายที่สังคมควรจะบรรลุโดยตัวของมันเอง แต่เป็นเป้าหมายระยะกลางเท่านั้น และไปสนใจตัวแปรที่ส่งผลกับประเทศและชีวิตคนมากกว่านี้ อย่างเช่นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน หรือความสามารถทางการผลิตของประเทศ

ผมรู้สึกว่าสังคมไทยถกเถียงเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป พอเราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อต่ำแล้วจะดีเสมอก็ทำให้เกิดปัญหาในเชิงนโยบาย เพราะมีพื้นที่ทางนโยบายอีกหลายส่วนที่ถูกจำกัดโดยไม่จำเป็น แม้ว่าเราจะยึดหลักวิชาเข้มข้นแค่ไหนก็ตาม แต่การพูดแบบนี้ก็จะถูกบิดเบือนไปอีกว่าคุณสนับสนุนอัตราเงินเฟ้อสูงหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เช่นเดียวกัน เพราะการถกเถียงเรื่องนี้ เป็นการถกเถียงเรื่องขีดจำกัดระยะหนึ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องระมัดระวัง

ผมยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งคือระหว่างเศรษฐศาสตร์สถาบันเก่ากับเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่ มีงานศึกษาที่บอกว่าพอประเทศไปถึงจุดที่มีรายได้ปานกลางแล้ว ถ้าต้องการขยับไปอีกขั้นหนึ่งจำเป็นจะต้องปรับปรุงโครงสร้างทางสถาบันของประเทศตัวเองอย่างไร ผมมีประเด็นสำคัญอยู่ 2 จุด จุดหนึ่งคือสิ่งที่ในทางวิชาการเรียกกันว่า ความสามารถเชิงสถาบันที่มีความจำเป็น กับความเชื่อที่ว่าถ้าประเทศจะเติบโตเป็นประเทศที่มีรายได้สูงจำเป็นต้องมีกลไกทางสถาบันอะไรบ้าง ซึ่งเป็นข้อสรุปของเศรษฐศาสตร์สถาบันสำนักใหม่ว่าต้องมีตั้งแต่สิทธิในทรัพย์สินที่มีความมั่นคงอย่างไร รวมไปถึงเรื่องในเชิงมหภาค เป็นต้น

ผมยกตัวอย่าง 2 ข้อที่สำคัญมากเพราะจะมีผลต่อวิธีคิดเรื่องนโยบายโดยปริยายและผมคิดว่าองค์ความรู้นี้สังคมไทยยังไล่ไม่ทัน เวลาเราพูดถึงความสำคัญของสถาบันที่กลายเป็นมนตราใหม่ของธนาคารโลกและประเทศไทยก็นำเข้ามา แต่ก็ยังไม่ได้นำองค์ความรู้นี้โดยรากฐานเข้ามาถกเถียงสร้างองค์ความรู้ของตัวเองเพียงพอ ประเด็นแรกคือการมองว่าอะไรเป็นเหตุและเป็นผล อะไรจำเป็นต้องเกิดก่อน ประเทศจะพัฒนาได้จำเป็นต้องมีสถาบันเหล่านี้ก่อนหรือไม่ ถ้าคุณเชื่อแบบที่นักเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่จำนวนมากเชื่อ ก็ แปลว่าถ้าสังคมอยากจะพัฒนา คุณต้องทำหนึ่งสองสามสี่ให้เสร็จก่อน

แต่มีนักเศรษฐศาสตร์สถาบันค่อนข้างไปทางสำนักเก่า รวมถึงกึ่งใหม่กึ่งเก่า มองว่าความสัมพันธ์เหล่านี้ อย่างน้อยถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์โลกก็เป็นความสัมพันธ์ 2 ทาง หมายความว่าแม้แต่รายชื่อของสถาบันต่างๆ ที่ควรจะมี ตั้งแต่ระบบราชการที่เข้มแข็ง ระบบตุลาการที่ดี หรือประชาธิปไตยเอง จริงๆ แล้วในประวัติศาสตร์โลกพบว่ามันเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งนั้น เพราะว่าเมื่อคนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นระดับหนึ่งก็จะคาดหวังกลไกในสังคมให้ดีขึ้น เพื่อสอดรับกับความต้องการของตนเอง ถ้าเป็นแบบนี้แปลว่าคุณกำลังมองมันเป็นลักษณะ 2 ทางหรือ multiple causation ซึ่งมีผลต่อวิธีคิดและกระบวนการกำหนดนโยบายมากเวลาคุณคิดว่าอะไรมาก่อน

หรืออีกสายหนึ่งมองว่าเวลาพูดถึงกลไกสถาบันทั้งหมด จริงๆ แล้วมีลักษณะที่เป็น intervening variable หมายความว่ามันไม่ได้เป็นตัวแปรที่ไปกำหนดผลปลายทางโดยตัวของมันเอง แต่เป็นตัวที่ส่งผ่านปัจจัยเบื้องต้นเหล่านี้ไปสู่ผลปลายทางอีกทีหนึ่ง อันนี้มีความซับซ้อนมาก แต่ว่าถ้าคุณไม่ระมัดระวังเรื่องนี้และคุณเสนอเรื่องการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน ภายใต้สมมติฐานใดสมมติฐานหนึ่ง มันจะมีอคติไปโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญในข้อถกเถียงนี้ของเศรษฐศาสตร์สถาบันก็คือการผสมผสานสูตรเฉพาะตัวของสถาบัน  เวลาพูดถึงกลไกทางสถาบันจะมีรายละเอียดหนึ่งสองสามสี่ บางคนลิสต์ไปถึง 10 สถาบันที่จำเป็นต้องมีเลยด้วยซ้ำ ต่อให้คุณเชื่อว่าต้องมีสิ่งเหล่านี้ก่อน คำถามคือคุณคิดว่าส่วนผสมเหล่านั้นจะออกมาลงตัวหรือ สมมติคุณต้องการทำอาหารจานหนึ่ง คุณไปซื้อวัตถุดิบจากตลาดมา 10 อย่าง มันไม่จำเป็นว่าอาหารนั้นต้องอร่อยเรื่องนี้ก็เหมือนกัน การมีกลไกสถาบันที่ดีต่างๆ ไม่ได้แปลว่าเมื่อเอามารวมกันแล้ว มันจะได้ผลออกมาดีเสมอ มันเป็นเรื่องของความเข้ากันได้ของกลไกเชิงสถาบันด้วย ทำไมรัฐสวัสดิการจึงเกิดในประเทศสแกนดิเนเวีย ไม่เกิดในประเทศอื่น สวัสดิการในประเทศอื่นเป็นแบบอื่นเพราะอะไร ถ้าไปดูงานศึกษาจะพบองค์ประกอบเรื่องพรรคการเมืองที่เป็นพรรคผสมที่ชาวนามีอำนาจต่อรองสูงแล้ว ทำให้ไม่เกิดสวัสดิการเหมือนในยุโรปตะวันตก มันมีรายละเอียดพวกนี้อยู่

แต่คำถามคือคุณมองว่ากลไกสถาบันที่ดีหนึ่งสองสามสี่ เมื่อรวมกันแล้วจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วมันจะไปขัดแย้งกันเองและอาจส่งผลลบด้วยซ้ำ เป็นคำถามที่เรายังไม่ตั้งคำถาม โดยเฉพาะในสังคมไทย

นี่ยังไม่นับว่ารายละเอียดการศึกษาสถาบัน มันวัดยาก แล้วในทางปฏิบัติมีคนใช้ proxy จำนวนมาก เพราะอย่าลืมว่าเวลาพูดถึงนโยบายอย่างการเปิดเสรีการค้า ถ้าพูดอย่างเคร่งครัดในทางวิชาการก็ไม่ใช่ตัวแปรทางสถาบัน แต่เป็นตัวแปรนโยบายเท่านั้น แต่งานวิจัยจำนวนมากพอพูดถึงกลไกสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศไม่ได้ก็ใช้ proxy ก็จะมีปัญหาในตัวของมันเอง จะเห็นว่าแม้แต่ในเศรษฐศาสตร์สถาบันก็ยังมีวิธีคิดหลายแบบที่ดูเผินๆ เหมือนเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการ แต่จริงๆ แล้วมันมีผลต่อวิธีคิดในการวิเคราะห์ปัญหาและการกำหนดชี้แนะนโยบายปลายทางสูงมากๆ

คำถามคือถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะพัฒนาองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ในสังคมไทยได้อย่างไร ประเด็นแรกผมคิดว่าเราควรมองเศรษฐศาสตร์ในฐานะวิชาที่ศึกษาเศรษฐกิจ ไม่ใช่วิชาที่เน้นวิธีวิทยา แต่เป็นวิชาที่ศึกษา subject ที่เป็นเศรษฐกิจและจะใช้วิธีวิทยาอะไรก็มาถกเถียงกันต่อได้

ประเด็นที่ 2 พอคุณมองวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ใช้วิธีวิทยาและข้อสมมติฐานที่แตกต่างกัน แปลว่าเราต้องยอมรับด้วยเช่นเดียวกันว่าเวลาเราพูดถึงข้อถกเถียงทางเศรษฐศาสตร์ชุดหนึ่งจะมาพร้อมกับคุณค่าทางการเมืองและจริยธรรมชุดหนึ่งเสมอ ผมยกตัวอย่างสำนักเคนส์ซึ่งจะหายไปเสมอเวลาเศรษฐกิจโลกเติบโต แต่พอรัฐบาลประเทศไหนต้องการใช้เงินชื่อของเคนส์ก็จะกลับมาเสมอ แต่ข้อเสนอเรื่อง general theory มาพร้อมกับคุณค่าอย่างหนึ่ง เพราะเคนส์เชื่อว่าสังคมจะดีได้ต้องให้สังคมไปสู่จุดที่มี full employment ข้อเสนอ สมการ กราฟของเคนส์ที่ใช้จึงมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การสร้างสังคมให้มีการจ้างงานเต็มที่ อันนี้เป็นจริยธรรมพื้นฐานที่ไม่ต้องพูดถึงคุณค่าอื่นที่มีอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน แค่จุดนี้ก็ต้องถกเถียงกันต่อว่าคุณต้องการใช้เงินในวิธีคิดแบบเคนส์กระตุ้นเศรษฐกิจและคุณหวังปลายทางเป็นการจ้างงานเต็มที่จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็แปลว่าวิธีคิดของเคนส์ถูกหยิบมาใช้เพื่อเป้าหมายอย่างไม่คงเส้นคงวาและมีปัญหาแน่นอน

ต่อมาผมจึงเห็นว่าสถาบันคลังสมองต่างๆ และงานวิจัยจำเป็นต้องชี้แจงสมมติฐานเบื้องหลังการศึกษาให้ชัดเจนขึ้นกว่านี้ เพื่อที่สื่อมวลชนและสังคมไทยจะได้เข้าใจ ผมคิดว่าเป็นการช่วยเหลือสังคม ยกระดับองค์ความรู้และความสามารถในการตั้งคำถามของสังคมต่องานแต่ละชุดด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนข้อสุดท้ายอาจจะเป็นข้อเสนอที่มีความเป็นอัตวิสัยของผมสูง ผมเห็นว่าสถาบันคลังสมองแต่ละแห่งควรวางจุดยืนสํานักคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ชัดเจนของตัวเองและรักษามาตรฐานด้วยความคงเส้นคงวาของบทวิเคราะห์และข้อเสนอ ในแง่นี้เราก็จะวิจารณ์ได้ว่าแต่ละสำนักมีความเป็น neoclassical แค่ไหน มีความเป็น social democrats แค่ไหน หรือมีความเป็นเคนส์แค่ไหน การวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นไปอย่างมีผลิตภาพมากขึ้น  สังคมไทยยังต้องการ internal consistency หรือความคงเส้นคงวาของแต่ละสำนักในระยะเบื้องต้นก่อน แล้วในระยะกลางเราค่อยพูดไปถึงการส่งเสริมความหลากหลาย ให้แต่ละสำนักมีงานวิจัยที่เป็นจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์ของตนไปเลย พอถึงจุดนั้นค่อยมาว่ากันเรื่องการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพราะถ้าเราข้ามไปตรงนั้นเลย เราก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง

โดยสรุป วันนี้ผมมาชวนคุยเรื่องการเมืองของนโยบายเศรษฐกิจไทย ผมมี 4 ประเด็นที่อยากชวนคิดต่อ ข้อ 1 ผมเห็นว่างานศึกษานโยบายของไทยไล่ไม่ทันกับโครงสร้างและแรงจูงใจในตลาดการเมืองโดยเฉพาะหลังปี 2549 เป็นต้นมา ผมสนใจว่ามันมีปัญหาเรื่องความรู้เรื่องอำนาจมากเสียยิ่งกว่าเรื่องอำนาจของความรู้ ความรู้เรื่องอำนาจ เรื่องโครงสร้างการเมือง งานจำนวนมากยังคงใช้กระบวนทัศน์เก่าในการวิเคราะห์โลกใหม่

ข้อ 2 พอรวมกับปัญหาของฝ่ายอื่นๆ ในสังคมไทยตั้งแต่รัฐ ภาคธุรกิจ จนถึงภาคการเมือง จึงนำไปสู่พื้นที่สุญญากาศทางนโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือบั่นทอนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมไทย ที่ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากไม่ได้พอใจกับการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมาตั้งคำถามต่อว่ามันมีพื้นที่สุญญากาศจริงหรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไร

ข้อ 3 ทางออกทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเราจำเป็นต้องเน้นการตรวจสอบความคงเส้นคงวาและการลงลึกรายสำนักคิด ก่อนที่จะไปสู่การส่งเสริมความหลากหลาย แล้วค่อยมองปลายทางเป็นเรื่องของการพัฒนาภูมิปัญญาข้ามสายพันธุ์ซึ่งยังเป็นเส้นทางอีกไกล

ข้อสุดท้าย ถ้าจะถามถึงทางออกเรื่องการเปลี่ยนแปลง ผมเห็นว่าถ้าไปในทิศทางที่ผมเสนอมา สถาบันคลังสมองในสังคมไทยก็ควรเพิ่มการแข่งขัน เพราะทุกฝ่ายสนับสนุนเรื่องการแข่งขัน การแข่งขันทางความคิดก็เช่นเดียวกัน และเชื่อว่าสุญญากาศทางนโยบายมีอยู่จริง ข้อเสนอคือทุกฝ่ายต้องพยายามล้ำเส้นแบ่งเพื่อพยายามให้เกิดข้อเสนอที่โปรดักทีฟและลงรายละเอียดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net