Skip to main content
sharethis

ประชาชนจากชลบุรี ฉะเชิงเทราและระยอง พร้อมทนายความจาก EnLAW เข้าฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ยกเลิกผังเมืองเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ที่จะทำให้พื้นที่ใน 3 จังหวัดมีเขตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนทำให้ทำการเกษตรและประมงไม่ได้ในอนาคต

16 ก.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาชนจาก 3 จังหวัดตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่อยู่ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เดินทางมาศาลปกครองพร้อมทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อฟ้องต่อศาลให้มีพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 โดยมีผู้ถูกฟ้องคือ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะรัฐมนตรี

ประชาชนในพื้นที่ จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยองที่จะได้รับผลกระทบจากผังอีอีซี

คำฟ้องระบุว่าจากการประกาศใช้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัด ถูกปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้รองรับอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตามแผนดังกล่าวทำให้พื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรม และทำให้พื้นที่ชนบทสามารถประกอบกิจการโรงงานได้ ซึ่งจะทำให้พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเสียหาย

ปัญหาหลักของกระบวนการทำแผนผังการใช้ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคนั้นไม่ได้รับฟังความคิดเห็นภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมายตามหลักวิชาการผังเมือง ซึ่งเป็นการกำหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินขึ้นใหม่มายกเลิกและบังคับใช้แทนที่ผังเมืองเดิม จากพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้เครือข่ายชุมชนและประชาชนในพื้นที่ได้ใช้สิทธิคัดค้านการจัดทำร่างแผนผังดังกล่าวโดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และปรับเปลี่ยนข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว แต่คณะกรรมการฯ ก็ไม่ได้นำไปพิจารณาก่อนออกประกาศดังกล่าว ส่งผลให้ต้องมีการทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการผังเมืองต่อไปไม่เป็นจริง

อาหารทะเลและพืชผักที่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวนำมาด้วย

สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการทำผังเมืองประชาชนแทบไม่ได้มีส่วนรวมเลย แล้วบางการประชุมก็แทรกเรื่องอีอีซีเข้าไปในวาระการประชุมอื่นแล้วก็นับรวมเป็นเวทีรับฟังความเห็นไป ซึ่งการจัดเวทีลักษณะนี้เป็นเพียงจัดเพื่อให้ผ่านไปเท่านั้น ทั้งตัวพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ หรือแม้กระทั่งคำสั่งคสช.เอง ก็ระบุว่าควรจะต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นไปตามใจของคนในพื้นที่ในสามจังหวัดจะไม่พัฒนาแบบอีสเทิร์นซีบอร์ดอีกแล้ว แต่ปรากฏว่าเขาก็มีโปรเจคต์อยู่ในใจ ในระหว่างที่มีการทำผังเมืองก็มีการประกาศเขตอีอีซีเต็มไปหมด ผังเมืองที่ออกมานี้จึงมีฐานมาจากตัวโครงการอีอีซีไม่ใช่การทำผังเมืองแบบที่ทำตามบริบทของพื้นที่ และยังมีโครงการจะถมทะเลอีกซึ่งจะทำให้สัตว์ทะเลต่างๆ ที่เป็นอาหารได้ก็จะหายไป

สมนึก จงมีวศิน

สมนึกกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นจะมีการซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินซึ่งเกษตรกรเช่าไว้เป็นที่ทำกินอยู่ด้วยก็จะทำให้ที่ดินทำกินของคนในพื้นที่หายไปด้วย นอกจากนั้นยังจะมีการเวนคืนที่ดินเพื่อเอาไปทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ด้วย และยังจะมีโครงการเมืองใหม่ในอนาคต โดยในผังออีอีซีนี้จะทำให้ที่ดินขนาด 8.29 ล้านไร่ มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้นภายใน 20 ปี(พ.ศ. 2560-2580) เป็นพื้นที่ 60 กว่าเปอร์เซนต์และเป็นพื้นที่ที่เป็นเมืองใหม่จะเพิ่มขึ้นกว่า 30% แต่ส่วนที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจะหายไป 12% โดยยังไม่ได้นับพื้นที่ประมงที่เป็นชายฝั่งทะเลแต่ถ้ารวมด้วยก็จะหายไปมากกว่านั้น

สมนึกยังกล่าวต่ออีกว่า โครงการจะทำให้พื้นที่ของทั้งสามจังหวัดก็จะถูกใช้ไปโดยไม่ตรงกับพื้นฐานอาชีพของชุมชนและไม่ตรงกับบริบทของพื้นที่ และเป็นทิ้งคนที่มากันที่ศาลในวันนี้ทั้งหมดไว้ข้างหลัง โดยยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาของเสียจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตามมา ซึ่งทุกคนที่ติดตามข่าวก็จะทราบว่าอุตสาหกรรมที่จะมาตามโครงการอีอีซีไม่ได้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 จริงๆ แต่เป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม แม้กระทั่งตัวแทนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ก็พูดเองว่าคนที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแบบเดิมด้วย

“เราเสนอมาตลอดตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญ 60 คือการทำ SEA หรือ Strategic Environmental Assessment การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ว่าพื้นที่เหมาะกับอะไรหรือไม่เหมาะกับอะไรสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องคิดก่อนทำผังเมืองและผังเมืองควรทำจากเล็กไปใหญ่ ไม่ใช่คุณทำผังเมืองสามจังหวัดแล้วมาทำผังเมืองเล็กๆ นั่นไม่ใช่หลักการทำผังเมืองที่ถูกต้อง” สมนึกกล่าวทิ้งท้าย

“โครงการพัฒนาอีอีซีที่เข้ามานี้ หลักการผังเมืองที่ดีก็ไม่ได้ถูกดำเนินการ การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ” นันทวัน หาญดี สมาคมเกษตรอินทรีย์ ฉะเชิงเทรากล่าวถึงสภาพปัญหาที่ชาวสามจังหวัดตะวันออกต้องเจอจากการ

นันทวัน หาญดี

นันทวันกล่าวต่อว่าในแผนผังดังกล่าวมีการขยายพื้นที่สีม่วง(เขตอุตสาหกรรม) เพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่ต้นน้ำ คือ เขาหินซ้อน สนามชัยเขต และท่าตะเกียบ ในจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตเกษตรกรรม การขยายพื้นที่อุตสาหกรรมออกไปย่อมเกิดกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรรายย่อย

นันทวันอธิบายถึงการทำเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตว่า กลุ่มเกษตรฯ มีการส่งผลผลิตไปต่างประเทศทั้งข้าวอินทรีย์พืชผักผลไม้กว่าสองร้อยรายการ รวมถึงมีส่งค้าปลีกภายในประเทศด้วย การที่มีอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำแบบนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อมาตรฐานของเกษตรอินทรีย์จากน้ำที่ปนเปื้อนมลพิษด้วย

ผัง EEC โดย EnLAW

แผนที่ประกอบคำอธิบายถึงผังเมืองเดิมกับผังเมืองอีอีซีที่เปลี่ยนจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่อุตสหากรรมในชลบุรี ฉะเชิงเทรา - กราฟฟิคโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW)

อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี ตัวแทนชาวประมงจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ก่อนจะมีอีอีซีก็มีผลกระทบจากท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังอยู่แล้ว ก็มีปัญหาทับถมอยู่นานแล้วโดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุงใดๆ ซึ่งรัฐก็ไม่เคยมองเห็นปัญหาเรื่องนี้กับคนในชุมชนเลย แค่ในอำเภอศรีราชาและบางละมุง ก็มีชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือประมงอยู่พันกว่าลำ ถ้ามีโครงการอีอีซีเข้ามาอีกการทำประมงก็จะทำไม่ได้อีกเลย แล้วยังมีอาชีพต่อเนื่องที่เอาสัตว์ทะเลที่จับมาได้ไปแปรรูปเป็นสินค้าอีกซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งขายทั้งในและนอกประเทศ

อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี

กัญจน์ ทัตติยกุล ตัวแทนเครือข่ายเพื่อนตะวันออก อธิบายภาพรวมของผังโครงการอีอีซีว่า ความสำคัญเพราะผังนี้เป็นฐานที่จะบอกว่าจะมีการใช้ที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างไรบ้าง ถ้าแผนผังถูกออกแบบมาดีก็ยังมีโอกาสพัฒนาให้ดีได้ แต่เมื่อภาคประชาชนจัดเวทีรับฟังความเห็นเองและได้เชิญหน่วยงานต่างๆ มาร่วมหรือทางภาคประชาชนไปร่วมเวทีของหน่วยงานรัฐแล้วโดยได้แสดงความคิดเห็นไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ร่างของผังโครงการที่ออกมาก็ยังมีพื้นที่เขตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนผังสุดท้ายที่ประกาศใช้มีมากถึงกว่า 160,000 ไร่ ซึ่งเดิมในพื้นที่ก็มีเขตอุตสาหกรรมอยู่แล้ว 2 แสนกว่าไร่ และปัญหามลพิษและขยะที่ออกมาจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วก็ยังจัดการไม่ได้

กัญจน์ ทัตติยกุล

กัญจ์กล่าวถึงพื้นที่สีเหลืองอ่อนในแผนที่ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “ชุมชนชนบท” ซึ่งมีการห้ามตั้งโรงงานบางประเภทเท่านั้น แต่ประเภทของโรงงานอีก 95% ที่มีอยู่ในไทยก็สามารถตั้งได้ ถ้าเป็นโรงงานประเภทที่ไม่เข้าข่ายต้องทำ EIA ก็สามารถซื้อที่ดินแล้วตั้งโรงงานได้เลย ซึ่งพื้นที่สีเหลืองอ่อนนี้มีถึง 1 ใน 4 ของพื้นที่ร่วมกันทั้งหมดของ 3 จังหวัด ก็จะทำให้ความมั่นคงในทรัพย์สินของประชาชนลดลงมากและยังมีปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่จะพวกเขาจะต้องเจอในอนาคตด้วย

“เขาไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.อีอีซีว่าต้องคำนึงถึงสุขภาวะของประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเราเห็นว่ามันเป็นการจัดสรรผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ เสียมากกว่าที่จะพูดถึงสุขภาวะของประชาชนซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวม แต่มันไม่เกิดขึ้นในผังอีอีซี” กัญจ์กล่าวถึงเหตุที่คนในสามจังหวัดต้องมายื่นฟ้องถึงศาลปกครองในวันนี้

ประชาชนจาก 3 จังหวัดและทนายความจาก EnLAW

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net