Skip to main content
sharethis
 

ปิยบุตรเล่าถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 เริ่มจากแนวคิดพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก่อนจะมีตัวแปรและปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ลื่นไถลกลายเป็นระบอบสาธารณรัฐ จุดเริ่มต้นของแนวคิดความเป็นสมัยใหม่ ที่มีเส้นแบ่งชัดระหว่าง 'สาธารณะ' กับ 'ส่วนบุคคล’ และมี 'คน' อยู่ในวิธีคิดของรัฐ

 


เรียนออนไลน์ หัวข้อ 'แนวคิดสมัยใหม่ผ่านเมือง กรณีศึกษา: การปฏิวัติฝรั่งเศส'

 

“...การปฏิวัติฝรั่งเศสจึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คือการปลดปล่อยพลังกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา ให้มีโอกาสต่อสู้กัน และต่อสู้กันอยู่เสมอ ดังนั้นไม่ใช่เรื่องของวันใดวันหนึ่งจบ แต่สู้มาแล้วถูกเอาคืน ต้องต่อสู้กันไปเรื่อยๆ"

เกือบ 2 ชั่วโมงที่เราฟังบรรยายถึงความดุเดือดเลือดพล่านในการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายต่างๆ นับจากการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรกในปี 1789 จนถึงการสร้างสาธารณรัฐอีกครั้งในปี 1848 จาก ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในห้องเรียนออนไลน์วิชาประวัติศาสตร์ ทฤษฎี และปรัชญาทางสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา

ห้องเรียนนี้รับผิดชอบโดย จิรันธนิน กิติกา มีการเชิญอาจารย์พิเศษมาสอนแลกเปลี่ยนเป็นครั้งคราว ยิ่งเมื่อเป็นการเรียนออนไลน์ คนทั่วไปจึงมีโอกาสร่วมเรียนออนไลน์ได้อย่างสะดวก

หัวข้อบรรยายในครั้งนี้คือ 'แนวคิดสมัยใหม่ผ่านเมือง กรณีศึกษา: การปฏิวัติฝรั่งเศส’ จิรันธนินเกริ่นไว้ก่อนว่า กรณีปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ของรัฐและคน ไอเดียของเมือง และการปกครองแบบใหม่ขึ้นมา ในเชิงสถาปัตย์ นิยามคำว่า 'อาคารสาธารณะ' เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงนี้ ซึ่งหมายถึงการมีคนเป็นส่วนประกอบในวิธีการออกแบบ รวมถึงการสร้างนิยามใหม่ๆ ของเมือง เช่น Modernity หรือความเป็นสมัยใหม่ ก็เป็นการเกิดขึ้นเพื่อต่อกรกับประเพณีนิยม

"การปฏิวัติฝรั่งเศสสองครั้งทำให้เกิดแนวคิดทางสังคม การเมือง ศิลปะ และสถาปัตยกรรมมาเรื่อยๆ ก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารของกษัตริย์ ศาสนา เราไม่เคยพูดถึงอาคารบ้านคน หรืออาคารสาธารณะ แม้กรีกหรือโรมัน จะมีเธียเตอร์หรือโคลอสเซียม แต่เป็นอาคารสาธารณะที่ถูกคิดผ่านเจ้าของเมือง ไม่ได้ถูกคิดโดยรวมคนเข้าไปอยู่ด้วย แต่ยุคใหม่ คน ถูกรวมไปอยู่ในวิธีคิดการออกแบบด้วย

"นอกจากนี้ยังเกิดยุคทางศิลปะอย่าง Neoclassicism (ศิลปะฟื้นฟูคลาสสิค) เน้นการกลับไปหาแนวคิดแบบกรีกกับโรมเพื่อหาเสถียรภาพของรัฐ พูดถึงระบบการปกครองที่เป็นสาธารณรัฐ และ Romanticism (ศิลปะจินตนิยม) พูดถึงจิตวิญญาณ ความรู้สึกพูดถึงคนชนชั้นกลางเป็นหลัก และพูดถึงการปกครองแบบประชาธิปไตย" จิรันธนินกล่าว ก่อนส่งไม้ต่อให้ปิยบุตรบรรยายถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสและเปรียบเทียบกับประเทศไทยในบางประเด็น

 

 

นิยาม ‘revolution’ การหมุนสู่จุดเริ่มต้น ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก

ปิยบุตรเริ่มจากการอธิบายคำว่า ‘revolution’ หากพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสจะใช้ R ตัวใหญ่เสมอ เพราะเป็นการปฏิวัติที่มีลักษณะพิเศษ และหากพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ต้องพูดถึงระบอบเก่าด้วย สาเหตุเพราะระบอบที่ดำรงอยู่จะไม่มีทางเป็นระบอบเก่าได้ ถ้าไม่มีสิ่งอื่นมาแทนที่ ปฏิวัติฝรั่งเศสได้มอบระบอบเก่าให้ฝรั่งเศส ดังนั้นการปฏิวัติฝรั่งเศสจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับระบอบเก่า

ศัพทมูลวิทยา revolution รากศัพท์จากภาษาละตินแปลว่าการหมุนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น แรกเริ่มนำไปใช้กับแวดวงดาราศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงวงโคจรของดาวที่หมุนไปเรื่อยๆ แล้วกลับมาที่เดิม ต่อมาถูกใช้ในแวดวงสังคมศาสตร์มากขึ้น กลายเป็นความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก การเปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐาน การเปลี่ยนแปลงระบอบที่ดำรงอยู่ในเวลานั้นอย่างถึงราก ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ เหตุการณ์ปฏิวัติอเมริกาและฝรั่งเศส 

ปิยบุตรชี้ว่า ขณะที่ประเทศไทย พยายามหาภาษาไทยมาแทน revolution หลายครั้ง ในบันทึกของรัชกาลที่ 7 ซึ่งอ้างถึงปาฐกถาของรัชกาลที่ 5 พูดเอาไว้เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสยาม ปฏิรูประบบราชการ รัชกาลที่ 7 ให้นิยามว่า นี่คือการพลิกแผ่นดินหรือ revolution จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ในช่วงเวลานั้นคณะราษฎรก็คิดว่านี่คือ revolution เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา

ตอนนั้นไม่มีการแทนที่คำศัพท์ ปรีดี พนมยงค์ใช้คำว่า 'การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน' ต่อมาพระองค์วรรณ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ​บอกว่าควรแปลว่า 'ปฏิวัติ' ซึ่งหมายถึงการย้อนกลับไปจุดเดิม ซึ่งในความเห็นของอ.ปรีดี มองว่า ปฏิวัติ ไม่เหมาะเพราะหมายถึงการย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น และคำว่าปฏิวัติถูกจอมพลถนอม จอมพลสฤษฎ์ จอมพลประภาสเอาไปใช้แล้ว พวกเขาเรียกตัวเองว่าคณะปฏิวัติ ปรีดีจึงเห็นว่าควรใช้ 'อภิวัฒน์' แต่ในท้ายที่สุดคำที่ติดปากมากที่สุดคือ ปฏิวัติ ซึ่งในภาษาไทยให้ความหมายไว้สองแบบ คือการหมุนกลับไปที่เดิม กับการเปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานอย่างถึงราก

 

ความอัดอั้นของชนชั้นกระฏุมพีในฝรั่งเศส การเปิดประชุมสภาครั้งแรกในรอบหลายร้อยปี

ปิยบุตรเกริ่นว่า แม้เหตุการณ์วันที่ 14 ก.ค. 1789 หรือเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์ คือเหตุการณ์ที่ผู้ติดตามประวัติศาสตร์มักให้ความสนใจในการปฏิวัติ และกลายเป็นวันหมุดหมายของการต่อสู้กับระบอบแบบเดิม แต่เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลในทางระบอบการเมืองการปกครอง ระบบกฎหมายของฝรั่งเศส ไม่ได้เกิดในวันที่ 14 ก.ค. 1789 แต่มีหลายเหตุการณ์สะสมกันเรื่อยมา และในการทลายคุกนั้นไม่ใช่เพื่อปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง แต่คือการเข้าไปเอากระสุนดินดำปืนใหญ่เท่านั้น

"จะพูดถึง 1789 ก็ต้องพูดถึงระบอบเก่า สังคมยุโรปต่างจากไทยหรือเอเชียตรงที่มีชนชั้นใหม่เกิดขึ้น คือ ชนชั้นกระฎุมพี เป็นชนชั้นนายทุนน้อย เจ้าสมบัติ เมื่อก่อนเป็นระบบศักดินา ทุกคนไปสังกัดเจ้าที่ดินต่างๆ แต่ท้ายสุดเริ่มมีคนมีที่มีความรู้ วิทยาการเป็นของตัวเอง เริ่มสะสมทรัพย์สินเป็นของตนเอง เริ่มมีที่เป็นของตนเอง และพวกเขาต้องจ่ายภาษี แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในทางการเมือง ไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบการปกครองใดๆ ซึ่งการเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมพีก็เป็นผลสืบเนื่องจากสภาพสังคมในยุโรปสมัยนั้น การปฏิว้ติอุตสาหกรรม

"ในเวลานั้นเองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เผชิญศึกรอบด้าน มาจากการทำสงคราม จากวิกฤต จากการใช้จ่ายของราชสำนัก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เอาเงินไปสร้างแวร์ซายส์หมดเงินมหาศาล แล้วก็ต้องหาเงินจากการรีดนาทาเร้นจากประชาชน คือการเก็บภาษี ในขณะเดียวกันตัวราชสำนักเองก็ต้องการปฏิรูปการปกครองภายใน ดึงอำนาจเข้าสู่พระมหากษัตริย์มากขึ้น ทำให้ตัวพระมหากษัตริย์เผชิญศึกสองด้านในเวลาเดียวกัน คือกลุ่มขุนนางที่มีอำนาจเยอะขึ้นๆ และชนชั้นกระฎุมพี 

"พระมหากษัตริย์พยายามปฏิรูปหลายด้าน ด้านการศาล การคลัง การเก็บภาษี แต่ท้ายสุดปฏิรูปไม่สำเร็จเพราะกลุ่มขุนนางขัดขวางอยู่ ในขณะที่พวกกระฎุมพีก็เรียกร้องต้องการมีสิทธิมีเสียงบ้าง

"ช่วงนั้นมีการรวมหนังสือถวายฎีการ้องทุกข์ ประชาชนขอให้มีสภา ขอให้ลดภาษี ขอให้ปฏิรูประบบการเงินการคลัง ท้ายสุดมีเสียงกดดันเรียกร้องจำนวนมาก พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงตัดสินใจว่าเปิดสภาดีกว่า ในตอนนั้นมีสภาฐานันดร ซึ่งมีมานานแล้วแต่เป็นเพียงประเพณีการปกครอง จะประชุมได้ต้องมีการเรียกประชุมก่อน ซึ่งคนที่จะเรียกประชุมได้คือพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่เรียกก็ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการประชุม ซึ่งไม่เคยมีการเรียกมาหลายร้อยปี เรียกครั้งสุดท้ายคือศตวรรษ 17

"พระเจ้าหลุยส์เห็นว่าเรียกประชุมดีกว่า หวังว่าฐานันดรที่สามหรือชนชั้นกระฎุมพีเข้ามาจะช่วยกันถล่มพวกขุนนาง พระองค์จะนำสภาฐานันดรมากระชับอำนาจให้ตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันพวกขุนนางก็เล็งเห็นว่าเรียกประชุมก็ดี จะได้เปิดโอกาสให้พูดจากัน พวกฐานันดรที่สามซึ่งมีจำนวนมากที่สุดก็คิดว่านี่เป็นโอกาสทองของเราที่จะพูดในสภา เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นทุกฝ่ายอยากจะเรียก แต่หวังผลคนละด้าน แต่หารู้ไม่ว่าการเรียกประชุมสภาฐานันดร กลับเป็นจุดเริ่มต้นของการไถลลื่นไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส การจำกัดอำนาจ และลดอำนาจกษัตริย์จนไม่เหลือ

"สภาฐานันดรมี 3 ฐานันดรคือพระ ขุนนาง กระฎุมพี เวลาลงมติไม่ได้นับรายหัว แต่ใช้ระบบโหวตแยกฐานันดร เช่น ฐานันดรที่หนึ่งและสองเอา แต่สามไม่เอา ก็คือสองต่อหนึ่ง พระกับขุนนางชนะ แต่ก่อนเปิดประชุมมีงานเขียนสั้นๆถูกปล่อยออกมาเป็นใบปลิวชื่อ'อะไรคือฐานันดรที่สาม' กระตุ้นปลุกเร้าให้ฐานันดรที่สามขึ้นมาต่อสู้ทางการเมือง ด้วยการบอกว่าฐานันดรที่สามเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศฝรั่งเศส ทั้งคนมากกว่า ทั้งเสียภาษี แต่กลับไม่มีบทบาทอะไรเลย ดังนั้นจงเข้ามาเรียกร้องกัน

"วันที่ 5 พ.ค. 1789 เปิดประชุมสภา ท้ายที่สุด ในวันที่ 17 มิ.ย. 1789ฐานันดรที่สามผนึกกำลังกันยืนยันว่าจะเปลี่ยนสถานะสภาฐานันดรนี้ให้กลายเป็นสภาแห่งชาติ ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ นี่คือหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ถ้าคิดกันตามกฎหมายระบอบเดิม การกระทำนี้คือผิดกฎหมายเห็นๆ กบฎแน่นอน แต่พวกเขาไม่สน รวมพลังกันในรูปแบบสภาแห่งชาติ และประกาศว่าถ้าฐานันดรอื่นอย่างมาร่วมก็เชิญ แต่ถ้าไม่อยากร่วมก็เรื่องของเอ็ง ก็มีพระและขุนนางก้าวหน้าบางส่วนเข้ามาร่วมด้วย

"ในวันที่ 20 มิ.ย. 1789 บรรดาสมาชิกฐานันดรที่สามตัดสินใจรวมตัวที่สนามเทนนิส ปฏิญาณตนร่วมกันว่าพวกเราจะต่อสู้ร่วมกันจนกว่าจะนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหตุการณ์การปฏิญาณตนนี่เอง ฌาค-หลุยส์ ดาวิด จิตรกรฝรั่งเศสได้นำมาวาดภาพ 'การสาบานตนที่สนามเทนนิส' (The Oath of the Tennis Court ) เหตุการณ์นั้นก็เป็นหมุดหมายสำคัญอีก

“พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แม้อาจไม่เห็นด้วยแต่ก็ทานแรงต้านไม่ไหว ต้องปล่อยให้ทำต่อไป ซึ่งในยุคนั้นแนวคิดไม่เอาพระมหากษัตริย์เลยยังไม่ปรากฎเท่าไหร่ ยังยืนยันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังมีพระราชอำนาจอยู่ แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ในระหว่างนั้นเองพระเจ้าหลุยส์ที่ 16ก็พยายามหาทางตอบโต้เอาคืน ทรงทำอะไรหลายอย่าง เช่น ส่งจดหมายไปหากษัตริย์ประเทศเพื่อนบ้านให้นำกำลังมายึดฝรั่งเศส ปลดปล่อยให้พระองค์ได้เป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ มีการนำเงินในทองพระคลังติดสินบนสมาชิกสภาให้มาช่วย มีความพยายามสกัดขัดขวางไม่ให้รัฐธรรมนูญได้บังคับใช้” ปิยบุตรกล่าว

 

หมุดหมายการสิ้นสุดสถาบันกษัตริย์ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หนี

"เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือวันที่ 20 มิถุนายน 1791 เหตุการณ์นั้นคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต และลูกๆ ได้พยายามหลบหนีออกจากประเทศฝรั่งเศสไปออสเตรีย (บ้านเกิดของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต) เพื่อรวมกำลังกลับมายึดประเทศฝรั่งเศสคืน แต่ถูกจับกุมได้ที่เมืองวาแคน เนื่องจากขบวนเดินทางของพระเจ้าหลุยส์เดินทางช้ากว่ากำหนด 6-7 ชั่วโมง เพราะเก็บสมบัติเยอะ เคลื่อนตัวได้ช้า 

"เหตุการณ์นี้นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสที่ชื่อ โมนา โอซุส บอกว่านี่คือหมุดหมายเริ่มต้นของการสิ้นสุดสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศฝรั่งเศส เพราะก่อนหน้านี้คนฝรั่งเศสหวังว่าจะประนีประนอมต่อกัน หวังว่าจะยังมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การหนีเพื่อไปรวมกำลังทำให้ความไว้วางใจต่อกันไม่มีอีกต่อไป

"เมื่อนำตัวกลับมาที่ปารีส มีการทำประกาศสิทธิมนุษยชนพลเมือง 1789 ซึ่งเป็นแม่แบบในการเขียนเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งคำประกาศเหล่านี้ได้นำไปให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ลงนาม แต่พระองค์ทรงดึงดันไม่อยากลงนาม ท้ายที่สุดสภาตัดสินใจประกาศใช้เลย มีการเดินขบวนกดดันทุกวันจนท้ายสุดพระเจ้าหลุยส์จึงยอมลงนาม

ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1791 ซึ่งก็ไม่ได้นำไปให้พระเจ้าหลุยส์ลงนาม ประกาศใช้เลย และให้พระเจ้าหลุยส์ลงนามเพื่อยอมเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญแทน

"สภาแห่งชาติพยายามตราพระราชบัญญัติสำคัญหลายฉบับ แต่พระเจ้าหลุยส์ก็วีโต้ไม่ลงนาม ถ้าวีโต้หมายความว่ากฎหมายฉบับนั้นต้องถูกดองไว้ 1 ปี กฎหมายที่พระเจ้าหลุยส์วีโต้ เช่น กฎหมายที่เขียนให้พระต้องปฏิญาณตนในระบอบแบบใหม่ กฎหมายที่จะยึดทรัพย์ชนชั้นเจ้านายที่หนีไป ประชาชนจึงแต่งเพลงล้อเลียน 'เมอร์ซิเออวีโต้’ กับ 'มาดามวีโต้’ ซึ่งหมายถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต

"มีหลายเหตุการณ์สะสมเรื่อยๆ ท้ายที่สุดมันสุกงอม 10 ส.ค. 1792 ประชาชนเดินเท้าไปกดดันที่วังในปารีส สภาประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญ 1791 ตั้งสภาพิเศษขึ้นมา หลังจากนั้นสภาพิเศษเข้าประชุม และประกาศในวันที่ 21 ก.ย. 1792 ให้ประเทศฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป

"สภาระบุว่าต้องเอาพระเจ้าหลุยส์มาดำเนินคดีฐานทรยศต่อชาติ การดำเนินคดีใช้สภาพิจารณา ท้ายที่สุดมีมติให้ประหารชีวิตด้วยกิโยติน ในวันที่ 21 มกราคม 1793

"จตุรัสที่ประหารชีวิตในสมัยนั้นให้ใช้ชื่อว่า จตุรัสปฏิวัติ ก่อนเปลี่ยนชื่อในเวลาต่อมา แต่ยังมีหมุดถูกฝังอยู่เขียนว่า หลุยส์ กาเป (ชื่อเดิมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) ถูกประหารชีวิตในวันที่ 21 มกราคม 1793” ปิยบุตรกล่าว

 

วิเคราะห์จุดเปลี่ยนจาก 'กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ' เป็น 'สาธารณรัฐ'

ปิยบุตรชี้ว่า จุดเปลี่ยนอันหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อฐานันดรที่สามที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภา พวกนี้ไม่ได้อยากเป็นสาธารณรัฐ เขายืนยันจะให้มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่มันลื่นไถลไปเป็นสาธารณรัฐได้อย่างไร ปัจจัยสำคัญที่สุดคือพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์จะต้องยอมรับก่อนว่าสมบูรณาญาสิทธิ์ไปต่อไม่ได้แล้ว และขอเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแทน

"ดังนั้นขบวนการแบบประชาธิปไตยที่เคลื่อนมาเรื่อยๆ ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ตบด้วย ท้ายที่สุดกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่เกิด และถ้าพลังของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยยังเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ คราวนี้มันจึงไหลไปเป็นสาธารณรัฐ กรณีของฝรั่งเศสปรากฎชัดเจน ตั้งแต่ปี 1789-1792 ใน 3 ปีนี้ มีเหตุการณ์ โอกาสสำคัญๆ ที่หากหลุยส์ที่ 16 ปรับตัวให้เข้ากับระบบแบบใหม่ ยอมลดอำนาจตัวเองลง หลุยส์ที่ 16 ก็ยังจะเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ต่อไป

"กลางปี 1789 หลุยส์ที่ 16 สั่งทหารให้ล้อมปารีสไว้ เพราะกลัวประชาชนลุกฮือ ท้ายสุดประชาชนตื่นตระหนก เลยติดอาวุธขึ้นสู้ และบุกไปคุกบาสตีย์เพื่อเอากระสุนมาป้องกัน ตั้งกองกำลังป้องกันสู้กับกองกำลังของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หรือการเขียนจดหมายไปหากษัตริย์เพื่อนบ้าน ทำให้ประชาชนตระหนกว่าหลุยส์ที่ 16 จะไม่เอา กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือวีโต้กฎหมายสำคัญหลายฉบับ และการหนี นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย

"สมาชิกสภา 'บรีโซ' เป็นฝ่ายปฏิรูป ไม่ได้อยากปฏิวัติสุดโต่ง อธิบายว่า รัฐธรรมนูญ 1791 ที่พวกเราทำกันขึ้นมามันจะไปรอดได้สำคัญอย่างยิ่งต้องมีกษัตริย์นักปฏิวัติ นั่นหมายความว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้มีกษัตริย์ต่อไป แต่จะมีต่อไปเรื่อยๆได้ กษัตริย์ต้องเป็นนักปฏิวัติในตัวเอง คือกล้าปฏิวัติตัวเองลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าไม่มีอำนาจเด็ดขาดแบบเดิมแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็จะอยู่ต่อไปได้ แต่บรีโซกล่าวว่า ฝรั่งเศสอาจจะโชคร้ายที่หลุยส์ 16 ไม่พร้อมเป็นกษัตริย์นักปฏิวัติ

"อีกคนคือคาโบ แซ็กเนเตียน บอกว่า สิ่งที่ยากที่สุดของการปฏิวัติฝรั่งเศสคือมีความต้องการสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในดินแดนที่กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดอยู่แล้ว ซึ่งหลุยส์ที่ 16 ไม่พร้อม ไม่พยายามปรับตัว มันเลยยาก" ปิยบุตรกล่าว

 

5 กลุ่มอำนาจที่ต่อสู้กันไม่รู้จบ

ปิยบุตรอธิบายว่า ถ้าดูยาวๆ ตั้งแต่ปี 1789-1799 จะมีกลุ่มพลังทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อยู่หลายกลุ่มก้อนมาก และต่อสู้กันหลายปี ไม่ได้จบแค่ปี 1799 กลุ่มพลังกลุ่มเหล่านี้แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1) รอยัลลิสต์ ฝ่ายที่ต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดต่อไป 2) ฝ่ายที่อยากให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อแต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 3) เสรีนิยม นำโดยชนชั้นกระฎุมพี ต้องการเข้ามามีบทบาททางการเมือง ต้องการให้รัฐประกันกรรมสิทธิ์ให้ตัวเอง ต้องการเสรีภาพในการประกอบอาชีพ 4) สังคมนิยม กลุ่มนี้เรียกร้องให้รัฐสร้างความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่หลักกรรมสิทธิ์ คนแย่งกันสะสมทรัพย์สิน จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ 5) กลุ่มที่บ้า 'นโปเลียน โบนาปาร์ท' เชื่อในเผด็จการอำนาจนิยม แต่ไม่เอาพระมหากษัตริย์ ต้องการให้มีผู้นำเข้มแข็งหนึ่งคนเพื่อสร้างชาติ

“5 ก้อนนี้ต่อสู้กันตลอดเวลา สเต็ปที่หนึ่ง เกิดปฏิวัติ 1789 ขึ้นมา คือฝีมือของพวกกระฎุมพี ดอกผลของมันคือการยกเลิกฐานันดรทิ้ง ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และประกาศสิทธิมนุษยชนพลเมือง นี่คือการต่อสู้ครั้งที่ 1 ชนชั้นกระฎุมพีสู้กษัตริย์ และดึงอำนาจกษัตริย์ลงมาได้ แต่กระฎุมพีไม่เคยเหลียวแลชนชั้นล่าง ในสภาก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนชนชั้นล่าง

"สเต็ปที่สอง ชนชั้นล่างเป็นหัวโจกในการเดินขบวนบนท้องถนน กดดันให้สถาบันการเมืองในระบบปฏิวัติให้รุดหน้ากว่าเดิม เดินเท้าไปกดดันพระมหากษัตริย์ กองทัพ สภา โดยมีขุมกำลังสำคัญที่เข้าไปอยู่ในสภา คือปีกความคิดที่เน้นเรื่องความเสมอภาคมากกว่าเสรีภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ รัฐจำเป็นต้องประกันคุณภาพชีวิตของประชาชน สนับสนุนเรื่องสวัสดิการ กลุ่มนี้เริ่มเข้ามาสู้กับกลุ่มกระฎุมพีและกษัตริย์ ดอกผลก็คือการปฏิวัติมันรุดหน้าขึ้น จนถึงขั้นเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐในปี 1792 และมีการทำรัฐธรรมนูญปี1793 ที่ประกันสิทธิในทางเศรษฐกิจและสังคมเอาไว้จำนวนมาก

"พอกลุ่มนี้ได้ขึ้นมา ไปสู่สเต็ปที่สาม ปี 1794 พวกกระฎุมพี เสรีนิยม เห็นว่าหากปล่อยให้พวกนี้อยู่ นายทุนน้อยจะตายหมด เอะอะอะไรก็เอาเงินไปช่วยคนจน เลยรวมหัวกันก่อการรัฐประหารล้ม 'มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์' (ผู้นำแนวคิดสังคมนิยมขณะนั้น) และประหารชีวิตด้วยกิโยตินโดยไม่มีการขึ้นศาล พวกเสรีนิยม กระฎุมพีกลับมาได้ใหม่ สถาปนาระบอบการปกครองแบบมีคณะผู้บริหาร เป็นประเทศเสรีนิยมทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

"สเต็ปที่สี่ นโปเลียน โบนาปาร์ทโผล่ขึ้นมา บอกว่าฝรั่งเศสวุ่นวายกันมาเป็น 10 ปีแล้ว ไม่จบไม่สิ้นสักที เลยก่อรัฐประหารในปี 1799 ยึดอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว เป็นระบบอำนาจนิยม เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย จัดการสร้างฝรั่งเศสเป็นประเทศมหาอำนาจ บุกไปยึดประเทศนั้นประเทศนี้ สถาปนาฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิ ตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิตลอดกาล เอาสิ่งทันสมัยต่างๆ เข้ามา ประมวลกฎหมายแพ่ง ปฏิรูประบบศาล นำอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รักษาความสงบเรียบร้อย สร้างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เสรีนิยม แต่ท้ายสุดเมื่อบุกยึดประเทศอื่นมากๆ กษัตริย์ประเทศอื่นจึงรวมหัวกันสู้และชนะนโปเลียน ปี 1814 จึงมีการประชุมที่เวียนนา เพื่อตกลงว่าจะจัดการฝรั่งเศสยังไง ท้ายสุดจึงนำระบอบพระมหากษัตริย์กลับมาใหม่ในปี 1814 แต่เป็นกษัตริย์อำนาจน้อยลง และใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากยิ่งขึ้น

" การปฏิวัติฝรั่งเศสจึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คือการปลดปล่อยพลังกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา และให้มีโอกาสต่อสู้กันจ ะเห็นได้ว่าเป็นการต่อสู้กันของกลุ่มพลังทางการเมืองแบบต่างๆ และต่อสู้กันอยู่เสมอในฝรั่งเศส ดังนั้นไม่ใช่เรื่องของวันใดวันหนึ่งจบ สู้มาแล้วถูกเอาคืน ต้องต่อสู้กันไปเรื่อยๆ 

"ถ้าพูดแบบ อีริค ฮอบสบาวม์ (Eric Hobsbawm) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง The Age of Revolution ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติในยุโรป โดยเขาวางหมุดหมายไว้สองอัน การปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่คือการปฏิวัติอุตสาหกรรม พลิกโฉมเศรษฐกิจในยุโรปไปอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดชนชั้นกระฎุมพี ชนชั้นแรงงาน ในขณะที่การปฏิวัติที่ส่งผลสะเทือนเลือนลั่นในทางการเมือง ในทางสังคม คือการปฏิวัติฝรั่งเศส"

ปิยบุตรทิ้งท้ายว่า "ทุกวันนี้ในปารีสมีถนนใหญ่ๆ เป็นบล็อกๆ มีอาคารสวยๆ เต็มไปหมด อาคารสถานที่เหล่านี้เกิดขึ้นได้สาเหตุหนึ่งคือกุศโลบายในการจัดการม็อบ ม็อบฝรั่งเศสจะมีการเอากระสอบมาตั้งเป็นป้อมปราการ ทหารก็ยึดยากเพราะถนนหนทางมันเล็กและซับซ้อน ในช่วงศตวรรษ 19 มีความพยายามจะรื้อฟื้นสร้างเมืองกันใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนโปเลียนที่ 3 ผู้ว่าการตอนนั้นบอกว่าต้องรักษาสุขอนามัย ต้องทำถนนให้สวย ทำเมืองให้สวย ซึ่งพอทำแบบนั้นก็จะไม่สามารถสร้างป้อม ก่อม็อบแบบเดิมได้ หรือถ้าก่อ ทหาร ตำรวจก็วิ่งเข้าสลายได้ง่ายกว่าเดิม แต่ก็ยังมีพื้นที่สาธารณะให้คนได้ชุมนุม

"แตกต่างจากประเทศไทยของเราที่ทุกวันนี้พื้นที่สาธารณะแทบไม่เหลือแล้ว สนามหลวงชุมนุมไม่ได้แล้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ถูกต้นไม้มาล้อมเต็มไปหมด ไปที่ไหนก็มีกฎหมายการชุมนุมห้ามไปหมด จะเข้าไปในมหาวิทยาลัย โรงเรียน ก็ต้องขออนุญาตเจ้าของสถานที่ สวนสาธารณะต่างๆ เทศบาลก็เป็นเจ้าของ ทุกที่มีเจ้าของหมด กลายเป็นไม่มีพื้นที่สาธารณะในการชุมนุมทางการเมือง"

 

คำถามในคลาสเรียน: อะไรที่ทำให้ชนชั้นกระฏุมพีขึ้นมาสู้กับทหารได้จนเกิดฐานันดรที่สาม?

ปิยบุตร: ถ้าสนใจเรื่องนี้ผมแนะนำให้อ่านหนังสือเพิ่มเติมของ อ.กุลลดา เกษบุญชู เรื่อง 'วิวัฒนาการรัฐอังกฤษและฝรั่งเศส' สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน การปฏิวัติฝรั่งเศสและอังกฤษ เกิดจากสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ค่อยๆ บ่มขึ้นมา ด้านหนึ่งชนชั้นกระฎุมพีความเป็นเจ้าสมบัติ มีวิทยาการความรู้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ชนชั้นกลางในยุโรปเป็นหัวโจกผู้นำการปฏิวัติในการสู้กับสถาบันกษัตริย์

แต่ในไทยทำไมชนชั้นกระฎุมพี หลายครั้งหลายหนกลับกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม เรื่องนี้น่าสนใจ ต้องคิดกันดูว่าท้ายที่สุดอะไรจะเป็นชนวนให้ชนชั้นกระฎุมพีของประเทศไทยเกิดความรู้สึกว่าต้องการการเปลี่ยนแปลง และถ้าชนชั้นกลางได้อำนาจแล้ว จะตีเส้นรักษาอำนาจตัวเองไว้ไม่ให้มันไหลไปสู่ผู้ใช้แรงงาน ชนชั้นล่างหรือไม่

อาจจะบอกว่าสภาพสังคมแบบยุโรปตะวันตกมันไม่มีในประเทศไทย ระบบศักดินาของเขาก็ไม่เหมือนเรา และสำคัญคือเขามีการปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

อะไรเป็นคลื่นสำคัญที่ทำให้เกิดประชาธิปไตย?

ปิยบุตร: กลุ่มพลัง 5 กลุ่มสู้กันไม่จบ ปี 1789 กระฎุมพีขึ้น ปี 1792 พวกสังคมนิยมขึ้น ปี 1793 พวกกระฎุมพีเอากลับไปอีก ปี 1799 นโปเลียน อำนาจนิยม ปี 1814 พระมหากษัตริย์ประเทศอื่นล้มนโปเลียน สถาปนาพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กลับมาเป็นกษัตริย์ จำกัดอำนาจลง มีระบบรัฐสภา เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ 

ปี 1830 เป็นการต่อสู้กันของฝ่ายชนชั้นล่างซึ่งไม่มีสิทธิมีเสียง เพราะสิทธิการเลือกตั้งถูกสงวนให้เฉพาะคนที่จ่ายภาษีถึงเกณฑ์ คำนวณแล้วมีไม่ถึง 10% ของประเทศที่ได้ไปเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นการตัดสินใจขึ้นกับคนไม่กี่คน ชนชั้นล่างซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้ง สิทธิทางการเมือง จึงเรียกร้อง ต่อสู้ มีการชุมนุมหลายครั้ง พอดีกับมีการเปลี่ยนพระมหากษัตริย์เป็นชาร์ลที่ 10ซึ่งหุนหันพลันแล่น เช่น สภาเลือกตั้งกันมา พระองค์ไม่พอใจก็ยุบทิ้ง เลือกใหม่จนกว่าตัวเองจะพอใจ ชุมนุมกันมากพระองค์ก็สั่งรัฐบาลไปจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน หรือทรงประกาศกฎอัยการศึก ใช้อำนาจเข้มตลอดเวลา ในท้ายที่สุดเกิดเหตุการณ์ 3 วัน ในเดือน ก.ค. ปี 1830 ล้มพระเจ้าชาร์ลทิ้งทันที

แต่การปฏิวัติ 3 วัน ก็ถูกช่วงชิงไปโดยพวกกระฎุมพี ดึงเอาไปแล้วไม่ยอมให้เป็นสาธารณรัฐ แต่ไปดึงเอาพระมหากษัตริย์หัวก้าวหน้าอีกราชวงศ์หนึ่งกลับมา ชื่อ 'หลุยส์ ฟิลิป' นำมาซึ่งภาพ 'เสรีภาพชี้นำประชาชน’ (La Liberté guidant le peuple) โดยวาดภาพ 'มารียาน’ ผู้หญิงถือธงฝรั่งเศสเดินนำขบวนในการต่อสู้ ซึ่งเขียนขึ้นมาจากเหตุการณ์ 'July Revolution’ (การปฏิวัติในเดือนกรกฎาคม)มารียานทุกวันนี้เป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส

อีกอย่างที่สำคัญคือการปฏิวัติวัฒนธรรม ในการล้มอะไรบางอย่าง มันต้องสถาปนาบางอย่างขึ้นมาทดแทน ที่คนทั้งชาติเชื่อร่วมกัน ฝรั่งเศสสถาปนาหลักสาธารณรัฐขึ้นมาจนคนเชื่อคุณค่าของความเป็นสาธารณรัฐ ไม่ใช่ตัวบุคคล ขณะที่ไทย คณะราษฎรมีความพยายามในการปฏิว้ติวัฒนธรรมหลายครั้ง หลังปฏิวัติก็ส่งคนเดินสายบรรยายเรื่องรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ สร้างพิธีกรรมเรื่องวันฉลองรัฐธรรมนูญ สร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เหรียญตรา 

หลังจากการปฏิวัติในเดือนกรกฎาคม ก็มีการต่อสู้ของชนชั้นล่าง เรียกร้องสิทธิการเลือกตั้ง ท้ายที่สุดเกิดการสร้างสาธารณรัฐอีกครั้งในปี 1848

 

สถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างไร?

ปิยบุตร: เอาเรื่องความสวยงามก่อน สวยไม่สวยเป็นอัตวิสัย เป็นรสนิยมของใครของมัน แต่ความสำคัญอยู่ตรงที่เราจะเอาสถาปัตยกรรมแบบต่างๆ มารับใช้บริบททางการเมืองอย่างไร

เวลาเราศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะนักศึกษา เราอย่าศึกษาเพื่อไปเป็นช่างเทคนิค แต่ต้องมีวิธีคิดในทางการเมืองด้วยว่าวิชาชีพของเรามันเอาไปใช้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เราจะออกแบบเมือง สถาปัตยกรรมต่างๆ ได้อย่างไรในลักษณะที่ต้องมีการใช้สอยร่วมกัน ต้องมีพื้นที่สาธารณะ 

ทุกวันนี้จะเห็นว่าการออกแบบของประเทศไทยไม่มีเรื่องพวกนี้ในหัว บางทีมันใหญ่ อลังการมากเลย แต่เข้าไปใช้ไม่ได้ ไม่มีใครเข้าถึงมัน หรือที่ทำการศาล ถูกออกแบบให้รู้สึกว่าเขาเป็นอีกแบบ เราเป็นอีกแบบ เข้าไปอึมครึม นั่งตัวตรง แข็งทื่อ บังลังก์อยู่สูง 

อยากชวนให้ทุกคนคิดในมุมของ universal use หนึ่งคือทุกคนใช้มันได้ เข้าถึงมันได้ ไม่ใช่ถูกสงวนไว้ให้คนไม่กี่คน ชนชั้นนำเท่านั้นสองคือสถาปัตยกรรมหลายอันที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก 2475 ทุกวันนี้จะค่อยๆสูญหายไปเรื่อยๆ ผมไม่ทราบว่าจะสามารถรักษา บูรณะ ฟื้นฟูไว้ได้อีกนานแค่ไหน แต่อย่างน้อยต้องช่วยกันบันทึกไว้ว่ามีอะไรอยู่บ้าง อะไรหายไป อะไรถูกเปลี่ยนไป ท้ายสุดจะเป็นข้อมูลสำคัญให้คนรุ่นหลัง

 

เมืองไทยยังไม่เคยเป็นสมัยใหม่จริงๆ เมื่อคนไม่ได้ถูกรวมเข้าไปอยู่ในกระบวนการคิดของรัฐ?

จิรันธนิน: อ.ชาตรี (ชาตรี ประกิตนนทการ) เคยตั้งคำถามไว้ว่าตกลงพื้นที่สาธารณะของเรามันคือของหลวงหรือไม่ แล้วเราเป็นรัฐสมัยใหม่แล้วหรือยัง เพราะสมัยใหม่ในนิยามของตะวันตกคือการเอากษัตริย์ ศาสนา ออกจากรัฐ แล้วพูดถึงคนเป็นหลัก พูดถึงเมืองที่ผลิตเพื่อคน ดังนั้นเราไม่เคยเป็นสมัยใหม่เลยด้วยซ้ำรึเปล่า หรือการปฏิวัติ 2475 มันคือการวนกลับไปสู่จุดเดิม เรายังไม่ถึงสมัยใหม่จริงๆ เมื่อคนยังไม่เคยถูกรวมเข้าไปอยู่ในกระบวนการคิดของรัฐ

ปิยบุตร: รัฐสมัยใหม่มีการแยกแดนระหว่างสาธารณะกับส่วนบุคคล จะไม่ปนกัน ถ้าย้อนไปในสมัยอดีตยุโรปตะวันตก เราเรียก รัฐราชสมบัติ หลุยส์ที่ 14 เป็นคนพูดว่า 'รัฐคือข้า' มันไม่มีการแยก เป็นของเขาหมดเลย วังแวร์ซายส์ก็เป็นของเขา เขาอยากได้ เขาไม่มีตังค์ เขาก็มาเก็บภาษีแล้วเอาไปสร้างให้เขาอยู่เอง เขาอยากจะไปรบก็ไม่ได้รบเพื่อใคร รบเพื่อเขา เพราะฝรั่งเศสคือเขา มันไม่มีการแยกความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะออกจากกัน

คอนเซปต์เรื่องรัฐ กฎหมายมหาชน เกิดขึ้นเพื่อแยกทั้งสองส่วนนี้ออกจากกัน ดังนั้นบรรดาผู้ปกครอง กลับไปบ้านก็คือนาย ก. นาง ข.แต่ตอนทำงาน คุณกำลังใช้อำนาจรัฐ ทำในเรื่องส่วนรวม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว 

หลัง 2475 จึงมีการออก พ.ร.บ.สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อธิบายชัดเจนว่าทรัพย์สินส่วนพระองค์อยู่ตรงไหนบ้าง พระคลังข้างที่อยู่ตรงไหนบ้าง ส่วนไหนที่เป็นมรดกตกทอด ส่วนไหนที่เป็นของรัฐ เช่นเดียวกันทรัพย์สินของแผ่นดินมีอะไรบ้าง ต้องนิยามแยกออกจากกัน 

อีกอันคือรัฐต้องเป็น secular ไม่ใช่ถูกวิธีคิดอะไรครอบไว้จนทำให้มันไม่กล้าคิดออกจากกรอบเดิม

 

มุมมองทางศิลปะก่อนและหลังปฏิวัติ ต่างกันไหม?

ปิยบุตร: ช่วงก่อนปี 1789 จริงๆ มีความพยายามลดทอนความศักดิ์สิทธิของพระมหากษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังอยู่ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการศึกษาว่าคนฝรั่งเศสอ่านอะไรก่อนปี 1789 พบว่ามีแต่นิยายประโลมโลก มีแต่เรื่องเสียดสีสถาบันกษัตริย์ หรือหนังสือซุบซิบนินทาเจ้า ซึ่งแน่นอนผิดกฎหมาย แต่กฎหมายคุมไม่อยู่ มีงานศิลปะหลายชิ้นที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบฟิวดัล(Feudalism-เจ้าที่ดิน) หรืองานเขียนเรื่อง 'การแต่งงานของฟิกาโร่' (The Marriage of Figaro) โมสาร์ทเอามาทำเป็นโอเปร่า ช่วงก่อน 1789 ไม่นานถูกแบน เพราะมีฉากหนึ่งฟิกาโร่ด่าชนชั้นสูง ซึ่งรวมแล้วสิ่งที่ปฏิวัติ 1789 มอบให้คือเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการพิมพ์ 

ในไทยก่อน 2475 มีการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์ในหลวงรัชกาลที่ 6 แล้วอาศัยสิทธิสภาพนอกอาณาเขตคุ้มกัน ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นกับฝรั่ง ขณะเดียวกันรัชกาลที่ 6 ก็ทรงเป็นนักปราชญ์ นักเขียน นักคิด เป็นสื่อสารมวลชน ท่านเขียนหนังสือสู้ ทำหนังสือพิมพ์ของตัวเองออกมาสู้ ใช้นามปากกาหลายชื่อ ท่านไม่สนับสนุนให้มีระบบรัฐสภา ท่านเขียนเป็นละครขึ้นมาเลย นี่คือการสู้กันอย่างตรงไปตรงมา

หรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีสหภาพแรงงานคือคุณถวัติ ฤทธิเดช คนนี้ไปฟ้องรัชกาลที่ 7 แสดงว่ามันบ่มอะไรบางอย่างมาแล้วรอวันระเบิด สำคัญคือเสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพการสื่อสาร สมัยนั้นมากับเทคโนโลยีการพิมพ์ พอพิมพ์ได้ มันกระจายเต็มไปหมด สมัยนี้คือสื่อโซเชียล ทุกอย่างแพร่เร็วมาก 

อีกอันที่น่าสนใจคือความคิดเรื่องพระเจ้า วิธีคิดหลังจากปฏิรูปศาสนาเสร็จ พระเจ้ากลายเป็นสิ่งนามธรรมพื้นฐาน อยู่สูงสุด ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ดังนั้นคุณก็ตีความพระเจ้าได้หลายแบบ วิธีคิดแบบนี้ไม่มีเรื่องความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างอยู่ ขณะที่ของมันจะปะปนกับเรื่องความศักดิ์สิทธิ์มาก รวมถึงสถาบันต่างๆ ก็ไปผูกโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาสนา มันไม่ใช่เรื่องของคน แต่มันคือเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นกฎหมาย 112 จึงไปอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ในขณะที่หมิ่นประมาทศาล ทูต เจ้าหน้าที่รัฐ มันอยู่ในเรื่องหมิ่นประมาท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net