Skip to main content
sharethis

คุยกับ ‘Hockhacker’ ศิลปินแร็พ กลุ่ม Rap Against Dictatorship หลังปล่อยเพลงใหม่ ‘เสียงนี้ส่งถึง…’ เพลงแร็พวิจารณ์รัฐบาลที่ไม่มีคำหยาบเลยแม้แต่คำเดียว หวังสร้างแนวร่วมจากประชาชน

“ผมอยากสื่อสารให้เขาไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่ฟังเรา” นี่คือเหตุผลที่ Hockhacker พูดถึงเพลงใหม่ล่าสุดของเขาคือเพลง ‘เสียงนี้ส่งถึง…’ ซึ่งเป็นเพลงแรกสำหรับเขาที่ไม่มีคำหยาบคายอยู่ในเพลงเลยแม้แต่คำเดียว

ในวัฒธรรมของเพลงแร็พ การสบถ ด่าทอ ดูจะเป็นเรื่องที่เดินควบคู่กันมา ทั้งยังสะท้อนถึงความโกรธ ความอัดอั้นของผู้ถูกกดขี่ ในกรณีที่เนื้อเพลงเป็นการตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ แต่ในครั้งนี้ Hockhacker อยากทดลองทำเพลงที่ไม่มีคำด่าหยาบคายดู เพราะต้องการให้เพลงเข้าถึงผู้รับสารได้มากขึ้น แต่สำหรับผู้มีอำนาจต่อให้พูดดีแค่ไหน หากเนื้อหาที่พูดไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการจะได้ยิน เขาก็เลือกที่จะไม่ฟัง

แม้ไรม์ (RHYME) หนึ่งในเพลงจะพูดว่า "เปิดเสียงนี้ส่งถูกหูคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา" แต่กลุ่มเป้าหมายที่เขาอยากให้ได้ยินเรื่องราวที่สะท้อนผ่านเพลงนี้คือ ประชาชน

‘ทหารอียิปต์’ จุดปะทุของการเกิด ‘เสียงนี้ส่งถึง…’

Hockhacker หรือ เดชาธร บำรุงเมือง คือหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Rap Against Dictatorship ผู้ทำเพลงวิพากษ์สังคมการเมือง ตั้งแต่ปี 2558 ปล่อยเพลงแรกคือ ‘อุดมการณ์’ ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อให้กำลังใจนักศึกษาที่ถูกจับหน้าหอศิลปฯ จากการจัดกิจกรรม 1 ปี รัฐประหาร 2557 และได้เคลื่อนไหวผ่านบทเพลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศกูมี, 250 สอพลอ, ท.บริหาร และ โซตัส จนกระทั่งเพลงล่าสุด

Hockhacker เล่าถึงที่มาของเพลงให้ฟังว่า เดิมทีเขามีความคิดที่จะทำเพลงในช่วงนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อเห็นข่าวกรณีที่รัฐไทยอนุญาตให้คณะทหารอียิปต์เข้ามาในประเทศ โดยที่ไม่มีการกักตัว และไม่มีการควบคุมดูแล เนื่องจากเป็นการเข้าประเทศแบบ VIP จนกระทั่งมีการตรวจพบว่ามีทหารที่ติดเชื้อโควิด-19 และอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนในจังหวัดระยอง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมารัฐเองพยายามควบคุมประชาชนอย่างหนัก แต่กลับปล่อยปละละเลยกับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน เขาจึงเรียบเรียงเพลงนี้ขึ้นมา และทำจบในวันที่ 15 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่จังหวัดระยอง

“ที่ผ่านมา(ช่วงโควิด-19) มันมีเรื่องเยอะแล้ว สาธารณสุขไทยก็ทำงานหนักมากๆ แต่ว่าเคสนี้มันคือเรื่องของสิทธิพลเมือง ของชนชั้น ของประชาชน ที่สุดท้ายแล้วเราก็เป็นแค่ชนชั้นธรรมดา ที่โดนสิทธิพิเศษจากทูตหรือทหารที่ได้สิทธิพิเศษเข้าประเทศมา แล้วทำให้ระบบสาธารณสุขไทยที่ดูแลดีกับคนในประเทศ แต่พอเจอชนชั้นวีไอพีแบบนี้ มันกลายเป็นช่องโหว่เข้ามา แล้วก็อย่างที่เห็น..”

“มันเป็นเรื่องของชนชั้น เรื่องของสิ่งที่คนไทยได้รับน้อยกว่าคนข้างนอก ในแง่ของข้อตกลงพิเศษต่างๆ ที่เขาพูดออกมาตามข่าวว่าเจอเชื้อที่สนามบินแล้ว แต่ไม่สามารถกักตัวไว้ได้ด้วยสิทธิทางการทูต หรือทหารอียิปต์ก็ปล่อยโดยที่ไม่ต้องตรวจ ทีเรื่องของคนไทย เราก็โอเค เรายอมรับเรื่องระบบสาธารณสุขมาตลอด ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไปไหนก็ต้องเช็คอิน ทำตามหน้าที่ของเรามาตลอด ซึ่งเราสงสารคนที่เขาเดือดร้อนมากกว่า คนในพื้นที่ระยองเอง คนที่เดือดร้อน อย่างในกรุงเทพ โซนสุขุมวิท ที่จะต้องมาห่วงเรื่องการเดินทางอีกครั้งหนึ่ง”

เสียงที่ส่งไป(ไม่)ถึงภาครัฐ

“จริงๆ เราอาจไม่ได้ทำเพลงเพื่อให้ภาครัฐปรับอะไร ณ ตอนนี้ เพราะคนที่ยังทำงานอยู่ในหน่วยงานเหล่านั้นยังเป็นคนเดิม คนรุ่นเดิม เจนเนอร์เรชั่นเดิม แนวคิดเหมือนเดิม แต่เราทำเพื่อให้คนอายุราวเดียวกับเรา รุ่นใกล้เรา หรือผุ้ใหญ่ที่เขาเปิดใจฟังคนรุ่นใหม่ รวมถึงเด็กที่กำลังตามขึ้นมา ให้เขารู้ว่ายังมีคนอย่างเราอยู่ มีคนที่พยายามจะพูดอะไรแบบนี้อยู่อีกหลายๆ คน คือการทำในยุคนี้มันอาจจะส่งผลอีกทีใน 8-9 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ในยุคที่เจเนอร์เรชั่นคนมันเปลี่ยนเข้าสู่หน่วยงานที่มันจะต้องทำงานแล้วมีอำนาจตัดสินใจในบางเรื่องแล้ว..”

“คือถึงแม้เนื้อหาบางเพลงอาจจะวิพากษ์รัฐบาล แต่คนที่เราอยากให้ฟังแล้วคิดตามไปกับเราก็คือประชาชนด้วยกันเองนี่แหละ ส่วนคนที่ครองอำนาจรัฐเขาก็คือประชาชนในมุมหนึ่ง แต่เขาก็มีอำนาจอยู่ ทีนี้มันอยู่ที่ว่าเขาจะรีแอคอย่างไร เขาจะตอบรับตอบสนองกับการขึ้นมาของคนที่ไม่ยอมรับอำนาจที่เขากำลังใช้อยู่อย่างไร ซึ่งผมก็เชื่อว่าเขาอาจจะเคยฟัง ไม่ว่าจะเพลงของกลุ่มหรือของใคร หรืองานของศิลปินอื่นๆ มันต้องมีการถูกส่งไปผ่านเขาบ้างแหละ แต่ก็แสดงว่าเรายังพลังไม่แข็งแรงพอที่จะไปทำให้เขาเปลี่ยน ซึ่งเราก็ยังต้องทำต่อไป จนกว่าเราจะพร้อมทั้งคนที่สนับสนุน ทั้งคนที่ยังคิดมาตลอดว่าจะเอายังไง วันหนึ่งมันอาจจะถึงจุดที่เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง..”

‘สงสารคนที่ทำงานอยู่ในกรม ต้องรับคำสั่งตามลำดับพวกยศใหญ่แต่ใจโกง’

ท่อนหนึ่งในเพลง ‘เสียงนี้ส่งถึง…’ ร้องว่า ‘สงสารคนที่ทำงานอยู่ในกรม ต้องรับคำสั่งตามลำดับพวกยศใหญ่แต่ใจโกง’ เมื่อถามถึงความหมาย Hockhacker กล่าวว่า นอกจากกรมทหาร หรือกรณีหมู่อาร์ม แล้วยังหมายถึงหน่วยงานอื่นๆ ได้ทั้งหมด

“ผมพอจะเคยคุยกับคนที่ทำงานอะไรแบบนี้มา มันมีการคอร์รัปชั่นเล็กๆ น้อยๆ มาเสมอ ไม่ว่าจะหน่วยงานเล็กแค่ไหน ระดับจังหวัด ระดับตำบล จริงๆ อาจจะพูดได้เลยว่าเป็นเรื่องของการปกครองส่วนท้องถิ่น คือผมเคยไปคุยกับคนที่เขาทำงานข้างในนั้น คือเราก็เคยรีเสิร์ชข้อมูล มีคนทักเข้ามาบ้างอะไรบ้าง ซึ่งเราก็ค่อนข้างชัวร์ว่าในหน่วยงานเล็กๆ ต่างๆ มันมีพนักงานที่ต้องยอมทำ เรียกได้ว่ายอมช่วยคอร์รัปชันให้กับผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราพยายามจะบอกคนที่อยู่ในรุ่นเรา ที่ยังมีใจอยากจะเปลี่ยนแปลง อยากให้เขาคงความคิดตรงนี้ไว้ ไม่อยากให้เขาถูกกลืนไปกับระบบที่มันหลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นไม่เห็น ถึงแม้เราจะหลับตา แต่เราเห็นอยู่อีกข้างหนึ่ง แล้วเราก็ต้องทำตัวว่าเราเห็น เราไม่จำเป็นต้องไปปิดตาทั้งหมด”

ตั้งแต่เริ่มทำเพลงแนววิพากษ์สังคมการเมืองมา มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?

Hockhacker มองว่า ในมุมการรับรู้ของประชาชน คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น มีสำนักข่าวที่หลากหลายให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้หลายชุดกว่าแต่ก่อน อีกทั้งยังสามารถรับรู้ข่าวจากคนในพื้นที่ โดยตรง จากการ live facebook โดยไม่ต้องรอนักข่าวเดินทางไปถึง แต่สิ่งที่ไม่ดีขึ้น หรืออาจจะแย่ลง คือปฏิกริยาตอบกลับจากภาครัฐ ของเจ้าหน้าที่ หรือคนที่มีอำนาจรับผิดชอบในส่วนต่างๆ ที่ยังเหมือนเดิม คือมีแนวคิดปิดกั้นประชาชน ในขณะที่ประชาชนสามารถเปิดรับข้อมูลได้เพิ่มขึ้น แต่หน่วยงานรัฐ หรือคนที่มีอำนาจกลับปิดกั้น

“คือเราพยายามเข้าถึงรัฐเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดกับชีวิตตัวเองในชีวิตทุกคน แต่ภาครัฐกลับปิดเราออกไปจากสิ่งนั้น..”

เสรีภาพผ่านงานศิลป์กำลังถูกคุกคาม

Hockhacker กล่าวถึงกรณีนักกิจกรรมนักศึกษาชูป้ายประท้วงนายกที่ระยอง และกรณีของ Headache Stencil ศิลปินกราฟิตี้ชาวไทยซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตาดู โดยมีความกังวลต่อเสรีภาพในการแสดงออกผ่านงานศิลปะในอนาคต นอกจากนี้ตัวเขาเองหลังจากที่ปล่อยเพลงออกไป เป็นครั้งแรกที่มีคนเข้ามาพิมพ์ข้อความข่มขู่ โดยที่ก่อนหน้านี้มีเพียงการเข้ามาพิมพ์ข้อความด่าทอ แต่ครั้งนี้มีสื่อสารว่า "น่าโดนเก็บนะมึง"

“ผมก็ไม่รู้ว่าหลังจากนี้ แทนที่มันจะเปิดกว้าง จะกลายเป็นกลับมาปิดอีกเหมือนเดิมหรือเปล่า ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะการที่เขายังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ มันทำให้รูปแบบการใช้อำนาจกลับมารวมศูนย์แบบที่เคยเป็นตอนที่เขายึดอำนาจหรือเปล่า เขาอาจคุ้นชินกับการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จโดยลืมไปว่าเราอยู่ในยุคที่เราเลือกตั้งกันไปแล้ว แต่กลายเป็นว่าเรายังถูกภาครัฐที่มีอำนาจจากส่วนกลางเข้ามาจัดการในลักษณะปิดปากไม่ให้คนแสดงออกเหมือนเดิม”

“ผมอยากให้รัฐบาลรู้สึกว่าประชาชนส่งเสียงออกไปแล้วเขารับฟังจริงๆ ไม่ใช่แค่รัฐบาลสิ ทั้งรัฐสภา ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยเองก็ตามที่อยู่ข้างในสภาแล้วเงียบ หรือฝ่ายรัฐบาลที่สุดท้ายก็มาจบที่การลาออกของกลุ่มอำนาจหนึ่งแล้วเปลี่ยนคน แล้วเดี๋ยวก็จะมีต้องครม. ใหม่ เพื่อจัดสรรอำนาจ คำถามคือแล้วประชาชนอยู่ตรงไหน นอกจากการเยียวยาแจกเงินที่เคยทำมาแล้ว เรื่องอื่นๆ มันเคยถูกส่งไปถึงหรือเปล่า คนตกงาน หรือมาตรการใดๆ ก็ตาม หรือการผ่อนผันใดๆ ก็ตาม มันมาจากประชาชนที่เขาเดือดร้อนจริงๆ หรือเปล่า นโยบายที่เขาออกมา คนออกนโยบายเคยลงมาใช้ชีวิตอยู่กับคนที่รับนโยบายหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เราอยากให้ข้างในเขารู้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net