Skip to main content
sharethis

'เทพไท' เตือนอย่าประมาทแฟลชม็อบ หนุนตั้ง กมธ.รับฟังความเห็นนักศึกษา จองคิวอภิปรายในฐานะเคยเป็นผู้นำนักศึกษามาก่อน ด้าน 'ศรีสุวรรณ' ชี้ชักชวนกันไปชุมนุมยังไม่ใช่เวลา เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19


เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการนัดชุมนุมของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ในวันที่ 18 ก.ค. นี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษารอบสอง หลังจากที่เคยเคลื่อนไหวในลักษณะแฟลชม็อบ ซึ่งกำลังจะจุดติดมาแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และต้องยุติลงด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดน้อยลง ก็มีการจุดประกายการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง  ซึ่งเป็นสิทธิ์ในการแสดงออกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ และรับฟังความคิดเห็นของนิสิต นักศึกษา

“อย่าประมาทพลังของของนิสิต นักศึกษา เพราะเป็นกลุ่มพลังที่บริสุทธิ์ และมีความสำคัญทางการเมืองในสังคม ที่เคยมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้ว เมื่อเหตุการณ์ 14 ต.ค 2516 และ 6 ต.ค. 2519 ดังนั้นในฐานะที่เป็น ส.ส.คนหนึ่ง ที่เคยเป็นผู้นำนักศึกษามาก่อน ก็จะให้ความสำคัญกับการชุมนุมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาในครั้งนี้” นายเทพไท กล่าว

นายเทพไท กล่าวด้วยว่าโดยจะขอใช้สิทธิ์ในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาในญัตติด่วน 2 ญัตติที่กำลังอยู่ในวาระการประชุมของสภาฯ และจะนำมาสู่การพิจารณาในสัปดาห์นี้ คือ ญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาฯ พิจารณามีมติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ของนายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ และญัตติเรื่อง ขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงกับสภาฯ ในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ของนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

“เพื่อเป็นการรับฟังความเห็นให้รอบด้าน สภาผู้แทนราษฎรควรมีมติจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมของนิสิต นักศึกษา โดยเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วย” นายเทพไท กล่าว

'ศรีสุวรรณ' ชี้ชักชวนกันไปชุมนุมยังไม่ใช่เวลา เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

18 ก.ค. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่เพจเฟสบุ๊คกลุ่มเยาวชนปลดแอก - Free YOUTH ได้โพสต์ข้อความ ที่มีเนื้อหาที่อาจจะปลุกระดมให้คนออกมาชุมนุมกันในวันเสาร์ที่ 18 ก.ค.นี้เวลา 5 โมงเย็น ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังไม่ยุติ และขณะนี้ยังมีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ที่มีการห้ามการรวมกลุ่ม หรือการชุมนุมต่างๆ ซึ่งอาจจะสุ่มเสี่ยงกับการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการขึ้นข้อความ "ไม่ทนอีกต่อไป..." พร้อมระบุในด้านท้ายว่าโปรดสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลล้างมือด้วย โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ต้องประกาศยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นั้น

การจัดการชุมนุมดังกล่าว ผู้จัดคงรู้แจ้งแล้วว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยเฉพาะ ม.9(2) แห่ง พรก.ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ซึ่งสอดรับกับข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ข้อ 5 และฉบับที่ 2 ข้อ 2(2) มีอัตราโทษตาม ม.18 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังมีกฎหมายอื่นอีกมากที่จะสามารถเอาผิดกับผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมได้ อาทิ พรบ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493 พรบ.จราจรทางบก 2522 รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา ม.215 ฐานมั่วสุมกันเกินกว่าสิบคนหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ทั้งนี้ตามข้อกำหนด ฉบับที่ 3 ข้อ 3 ในกรณีมีการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ความผิดต่อทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ฯลฯ และเป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความใน ม.9 แห่งพรก.ฉุกเฉิน 2548 ต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดทุกฐานความผิดนั้นโดยเร็ว

ถึงแม้รัฐธรรมนูญ 2560 ม.44 จะบัญญัติไว้ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งปัจจุบันไทยเรามี พรบ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ออกมาบังคับใช้แล้ว และถึงแม้ใน ม.3(6) จะกำหนดไม่ให้นำกฎหมายฉบับนี้มาใช้บังคับในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม แต่ในวรรคท้ายของอนุมาตราดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า “แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น” ด้วย

ดังนั้น เมื่ออำนาจตาม พรบ.ชุมนุมสาธารณะตกมาอยู่ในการบังคับของนายกรัฐมนตรี และ ศบค. ตาม พรก.ฉุกเฉิน 2548 และยังไม่ได้มีการยกเลิกการประกาศใช้ พรก.ดังกล่าวแล้ว แกนนำที่จะขึ้นเวทีทุกคน ก็จงเตรียมตัวเตรียมใจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปเถิด แล้วอย่ามาฟูมฟายว่าถูกรังแกจากอำนาจรัฐเลย เพราะถ้าตำรวจไม่จับกุมดำเนินคดี ก็อาจถูกข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อ.157 ได้ แม้ พรก.ฉุกเฉินสมควรที่จะยกเลิกได้แล้ว แต่ในขณะนี้รัฐบาลเขายังไม่ยอมยกเลิก แม้เราจะไม่ชอบ พรก. แต่กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมายครับ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net