Skip to main content
sharethis

'กองทุนการออมแห่งชาติ' กลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ ยอดสมาชิกสูงกว่าเป้า 1.2 ล้านคน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้การออมเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้คนทุกวัย โดยเฉพาะผู้มีอาชีพอิสระที่มีรายได้น้อย เช่น พ่อค้าแม่ค้า ผู้รับจ้างทำงาน เกษตรกร ได้เข้าถึงการออมอย่างเป็นระบบจะได้มีความมั่นคงในบั้นปลายชีวิต ซึ่งมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา การทำงานประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง กองทุนฯได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการเพิ่มสมาชิก สร้างพันธมิตรกับสถาบันการเงินและภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการสมัครเป็นสมาชิกและการจ่ายเงินกองทุนฯ ที่ขณะนี้สามารถจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่มีมากกว่า 13,000 แห่งได้แล้ว จากเดิมที่ต้องจ่ายผ่านธนาคารของรัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีการรายงานความคืบหน้าตามแผนการปฏิรูปประเทศ ครม.ได้ทราบว่า ความพยายามผลักดันนโยบายรัฐด้านการส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่องของ กอช.ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ นำไปสู่จำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ณ เดือนมีนาคม 2563 มีจำนวน 2.357 ล้านคน เกินค่าเป้าหมายในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่กำหนดไว้ 1 ล้านคน ขณะที่ช่วงปี 2561-2562 มีจำนวนสมาชิกราว 7 แสนคนเท่านั้น ส่วนการดำเนินการต่อยอด กอช.จะลงพื้นที่สร้างตัวแทนการออมประจำหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมความความรู้ความเข้าใจให้เห็นถึงประโยชน์ของการออมกับ กอช. มีเป้าหมาย 7 หมื่น 5 พันคน ในปีนี้

นางสาวรัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการออม และครม.ได้เห็นชอบให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ที่มีอาชีพอิสระ (ไม่ใช่ข้าราชการและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม) หรือนักเรียน/นักศึกษา สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพราะเป็นการออมในรูปแบบ “คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญ” เช่น ถ้าส่งเงินสะสมเดือนละ 100 บาท รัฐจะสมทบให้อีก 50% ของเงินสะสม (แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี) และจำนวนเงินสมทบจากรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด เมื่ออายุครบ 60 ปี สมาชิกจะได้บำนาญรายเดือน ส่วนการส่งเงินสะสม ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 50 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี

“สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ธนาคารของรัฐ คลังจังหวัดทั่วประเทศ แอพพลิเคชัน กอช. จากนี้ อยากให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องการออม จะออมมากน้อยก็ขอให้ได้เริ่ม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าการมีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงจะช่วยสร้างหลักประกันในวัยเกษียณด้วย การออมต้องสร้างให้เป็นนิสัย และการออมกับ กอช.ถือเป็นการออมแบบค่อยเป็นค่อยไป ยืดหยุ่น แต่ให้ผลตอบแทนอย่างดีและมีความมั่นคง” นางสาวรัชดา กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 18/7/2563

ก.แรงงาน เร่งช่วยแรงงานไทยในอุซเบกิสถานกลับประเทศ

17 ก.ค. 2563 นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อจากแรงงานไทยที่ ทำงานอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน จำนวน 95 คน ซึ่งไปทำงานโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางาน ขอให้ช่วยเหลือพากลับประเทศไทย เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศ ทำให้ตกงาน ไม่มีรายได้ รวมทั้ง ต้องอาศัยอย่างแออัดรวมอยู่กับแรงงาน 3 ประเทศคือ ประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน และ ประเทศบังคลาเทศ ทำให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19)

นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจากทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ซึ่งมีเขตอาณาดูแลประเทศอุซเบกิสถาน ว่า ได้ติดต่อกับแรงงานไทย แล้ว และได้ประสานให้กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำอุซเบกิสถาน ดูแลแรงงานไทยระหว่างรอเดินทางกลับไทย โดยเฉพาะแรงงานที่เจ็บป่วย แต่ทั้งนี้ เนื่องจาก รัฐบาลอุซเบกิสถานออกกฎห้ามเดินทางถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563 และอยู่ระหว่างปิดประเทศ จึงไม่มีเที่ยวบินให้บริการ จึงคาดว่าต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการเจรจากับทางการอุซเบกิสถานและสายการบินเพื่อจัดเที่ยวบินส่งกลับแรงงานไทย ซึ่งที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ เคยจัดเที่ยวบินส่งแรงงานไทยกลับในลักษณะนี้แล้ว 37 คนในเบื้องต้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบ แรงงานไทยทั้ง 95 คน ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้น บริษัทที่เป็นนายจ้าง จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่และการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ซึ่งกระทรวงแรงงานจะได้เชิญบริษัทฯ มาให้ข้อมูลเพื่อกำชับให้ดูแลคนงาน ตามสัญญาต่อไป

นายดวงฤทธิ์ กล่างอีกว่า อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น แรงงานไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จากกรมการจัดหางาน โดยเฉพาะแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศที่ทำงานอยู่ ซึ่งทางการของประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้ว และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฯ จะได้รับเงินสงเคราะห์ ดังนี้ 1. สมาชิกกองทุนฯ ที่ได้รับผลกระทบและประสบปัญหาจากการเกิดโรคระบาด ทำให้ต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน จะได้รับการสงเคราะห์ รายละ 15,000 บาท

ที่มา: เดลินิวส์, 17/7/2563

กสร.จัดเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง เป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสร. ได้ประชาสัมพันธ์ให้สมาคมนายจ้าง รัฐวิสาหกิจ และสหภาพแรงงาน เสนอชื่อผู้แทนในการเลือกตั้งและลงคะแนนเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง ตามมาตรา 14 (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 และแจ้งคณะกรรมการหรือองค์กรที่เกี่ยวกับแรงงานเสนอชื่อผู้เข้าร่วมประชุมและเลือกกันเองเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง ตามมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ซึ่งขณะนี้ครบกำหนดระยะเวลาในการเสนอชื่อแล้ว และได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ลงคะแนน และผู้เข้าร่วมประชุมและเลือกกันเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีผู้สมัคร ฝ่ายนายจ้าง จำนวน 25 คน ฝ่ายลูกจ้าง จำนวน 22 คน และผู้ลงคะแนนฝ่ายนายจ้าง จำนวน 35 คน และฝ่ายลูกจ้าง จำนวน 93 คน และมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าประชุมและเลือกกันเอง ฝ่ายนายจ้าง จำนวน 207 คน และฝ่ายลูกจ้าง จำนวน 91 คน

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า กสร. ได้กำหนดจัดเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง เพื่อแต่งตั้ง เป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง ทดแทนผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานซึ่งจะหมดวาระดำรงตำแหน่งใน ปี พ.ศ. 2563 โดยกำหนดจัดขึ้น 3 วัน ดังนี้ 1. การเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง ในวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2563 ระหว่างเวลา 9.00 – 15.00 น. ณ บริเวณชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร 2. การประชุมและเลือกตั้งกันเองของผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ในวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2563 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 และบริเวณชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร และ 3. การประชุมและเลือกตั้งกันเองของผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ในวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม 2563 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 และบริเวณชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร กสร. จึงขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทราบและเข้าร่วมดำเนินการตามกำหนด วัน เวลา และสถานที่ดังที่กล่าวมา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/7/2563

กมธ.การสาธารณสุข รับหนังสือร้องเรียนจาก ตัวแทนประธานชมรม รพ.สต. ไม่ได้สิทธิสมัครบรรจุเป็นข้าราชการ

16 ก.ค. 2563 - กมธ.การสาธารณสุข รับหนังสือร้องเรียนจาก ตัวแทนประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งประเทศไทย นำเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนจากทั่วประเทศไทย ร้องขอความเป็นธรรม ไม่ได้สิทธิสมัครบรรจุเป็นข้าราชการ

นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ เลขานุการกรรมาธิการฯ และคณะ รับหนังสือร้องเรียนจากนางเครือวัลย์ พานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อ.บ้านพลี จ.เพรชบูรณ์ และ นายกวัน พาณิช เป็นตัวแทนประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งประเทศไทย(รพ.สต. ) ได้นำเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนจากทั่วประเทศ ร้องขอความเป็นธรรม ไม่ได้สิทธิสมัครบรรจุเป็นข้าราชการ หลังรัฐบาลเปิดบรรจุข้าราชการเป็นกรณีพิเศษในสถานการณ์โควิด-19 เพราะว่าเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนใช้วุฒิเจ้าพนักงานสาธารณสุขซึ่งเป็นการสมัครต่ำกว่าเกณฑ์ปริญญาตรี ในการจ้าง แต่ในความเป็นจริง เจ้าพนักงานเหล่านี้ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี แล้วหรือเทียบเท่านักวิชาการสารธารณสุข และปฎิบัติหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรค จึงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้รับสิทธิในครั้งนี้ ขอ กมธ.การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาช่วยเหลือด้วย

ทั้งนี้ กมธ.จะเชิญ 2 หน่วย คือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และ ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข มาร่วมพิจารณาทบทวนและหารือ ซึ่งขณะนี้ ทาง กมธ.เป็นคนกลางในการประสานงาน รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีร่วมกันในการทำงานบรรจุเพิ่มบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะทำหนังสือถึงหน่วยงานต้นสังกัดในการแก้ไข้ปัญหาต่อไป

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 16/7/2563

ตั้งจุดตรวจ-ชุดเคลื่อนที่เร็ว คุมลักลอบแรงงานต่างด้าวเข้าเมือง

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เรียกประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 47/2563 โดยการประชุมครั้งนี้มีการรายงานผลปฏิบัติจำนวนจุดตรวจ ชุดเคลื่อนที่เร็ว และผลการจับกุม รายงานผลการจับกุมชุมนุมมั่วสุมเฉพาะในเคหะสถาน รายงานผลการตรวจร่วมสถานประกอบการ ผลการดำเนินการในการแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 191 1599 และPolice I Lert U และรายงานผลการจับกุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า ทางตำรวจมีการประชุมสถานการณ์เรื่องดังกล่าวกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการควบคุมในประเทศถือว่ายังไม่มีการแพร่ระบาดแต่อย่างใด จะมีมาตรการจะเข้มข้นขึ้นในการตรวจร่วม ในระยะที่ 5 ที่มีสถานประกอบการ สถานบริการ ถึงแม้ว่าช่วงนี้จะไม่มีเคอร์ฟิว แต่ก็ยังมีจุดตรวจในเวลากลางวันและกลางคืนอยู่ 2 พันกว่าจุด ตลอดจนชุดเคลื่อนที่เร็ว 2พันกว่าชุด โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องของการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ทางตำรวจได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวได้กว่า 3พันกว่าราย ทั้งที่แนวชายแดน ตำรวจภูธรภาค5 ตำรวจภูธรภาค6 ตำรวจภูธรภาค7 ตลอดจนชั้นใน ตำรวจภูธรภาค1 ล่าสุดสามารถจับกุมขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาจำนวนมาก ได้ที่ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นผลงานของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับตำรวจท้องที่ ทั้งนี้ในแนวชายแดนตำรวจจะทำงานร่วมกับกำลังทหาร จะมีจุดตรวจสกัดจับทุกช่องทาง

สำหรับขบวนการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวนั้น มีทั้งรูปแบบกองทัพมด ทั้งลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ทางตำรวจก็ยังดำเนินการจับกุมได้อย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้จะมากำชับกวดขัน ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเรื่องนี้ ส่วนขบวนการลักลอบต่างที่มีคนไทยอยู่เบื้องหลังนั้น ทางตำรวจอยู่ระหว่างตรวจสอบ ตลอดจนพวกเอเย่นต์ต่าง ๆ ด้วย ที่ผ่านมานั้นมีขบวนการผลประโยชน์กับเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องค่าหัวคิว และการนำพาเข้ามา ซึ่งหลังจากตำรวจมีการกวาดล้าง ขณะนี้เชื่อว่า ขบวนการเหล่านี้เหลือน้อยลงแล้ว แต่ด้วยช่วงนี้เป็นช่วงผ่อนปรน สำหรับสถานประกอบการต่าง ๆ จึงมีความต้องการแรงงานต่างด้าวมาทำงานนั้น ทางตำรวจเข้าใจว่าเป็นไปตามปัจจัยความต้องการ ที่ธุรกิจมีการเปิดทำงานตามปกติ ทำให้แรงงานที่กลับไปต่างประเทศ ก็มีความต้องการที่พยายามกลับเข้ามา ทางตำรวจยืนยันว่าจะมีมาตรการที่เข้มงวด

โดยทางรัฐบาลอาจจะมีมาตรการป้อนปรนให้บุคคลต่างด้าวเหล่านี้ แต่ต้องเข้าสู่ขบวนการคัดกรอง การกักตัว เชื่อว่าทางรัฐบาลกำลังอยู่ในขั้นตอนคิดอยู่ หากมีผู้ประกอบการรายใด สนับสนุนให้บุคคลต่างด้าวเข้ามาทำงานนั้น ก็ต้องมีความผิด ถูกดำเนินคดี เช่นเดียวกับหากมีตำรวจ เข้าไปอยู่ในขบวนการนี้ก็ต้องดำเนินการทั้งทางอาญา และทางวินัยด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/7/2563

ผลสำรวจตลาดแรงงานหลังโควิด อุตฯดิจิทัลจ้างเพิ่ม-ธุรกิจลดไซส์

นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้สำรวจสถานการณ์การจ้างงาน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 และแนวทางการปรับการจ้างงานในอนาคต จากกลุ่มตัวอย่างใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. พบว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีกลุ่มอุตฯ ที่มีการลดเวลาทำงาน สลับเวลาทำงาน เลิกจ้างบางส่วน จำนวน 20 กลุ่ม คิดเป็น 44.4% และมีกลุ่มอุตฯ ที่ยังสามารถคงการจ้างงานเท่าเดิม 25 กลุ่ม คิดเป็น 55.6% ส่วนความต้องการแรงงานภายหลังโควิด-19 มีกลุ่มอุตฯ ที่มีความต้องการแรงงานลดลง 14 กลุ่ม คิดเป็น 31.% มีกลุ่มอุตฯ ที่ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 1 กลุ่ม คิดเป็น 2.2% และมีกลุ่มอุตฯ ที่มีความต้องการแรงงานเท่าเดิม 30 กลุ่ม คิดเป็น 66.7%

"อุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ในเบื้องต้นได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของโลกที่กำลังมุ่งสู่ยุคดิจิทัล แม้ว่าหลังโควิด-19 บริษัททุกขนาด ยังคงมีแนวโน้มการจ้างงานลดลง แต่มีอัตราส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และคาดว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป น่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 4-10% " นายสุชาติ กล่าว

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน ยังได้ผลสำรวจแนวทางการปรับตัวการจ้างงานในอนาคต พบว่า กลุ่มอุตฯ ได้ให้ความสำคัญกับการลดขนาดองค์กร และนำเทคโนโลยีมาใช้งานให้มากขึ้นเป็นลำดับ 1 คิดเป็น 32.2% ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ การจ้างค่าจ้างเพิ่ม เพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะหลากหลาย (Multi Skills)คิดเป็น 19.5% อันดับ 3 ได้แก่ การปรับรูปแบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่น เช่นจ้างรายชั่วโมง 17.8 % อันดับ 4. การลดการจ้างลูกจ้างประจำ และมาใช้ outsourceแทน 15.5% อันดับ 5. อื่นๆได้แก่ เน้นตลาดออนไลน์ ปรับฐานเงินเดือน 6. การแชร์หรือแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างอุตสาหกรรม 4.6% และ 7. ลดการใช้แรงงานต่างด้าว 1.2%

ทั้งนี้ จากผลสำรวจยังระบุว่าช่วงโควิด-19 บริษัทขนาดย่อม (รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/แรงงานไม่เกิน 50 คน) บริษัทขนาดกลาง (รายได้ระหว่าง 100-500 ล้านบาท/ แรงงาน 51-200 คน) มีการจ้างงานลดลง กว่า 50% ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ (รายได้มากกว่า 500 ล้านบาท /แรงงานมากกว่ 200 คน ) มีการลดการจ้างงานลงประมาณ 1 ใน 4 ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทขนาดเล็กและกลาง ได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่ และประเมินว่า หลังโควิด-19 การจ้างงานของบริษัทขนาดย่อม จะเพิ่มขึ้น 6.5% ขนาดกลาง 10.6% และขนาดใหญ่ 4.1%

ด้านนายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตฯยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มฯ ยังคงติดตามกำลังซื้อทั้งไทยและตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 63 เนื่องจากจะมีผลต่อการจำหน่ายรถยนต์ในไทย และการส่งออกไปยังตลาดโลก โดยขณะนี้ยังคงมองเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้ไว้ที่ต่ำสุด 1,000,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 500,000 คัน และส่งออก 500,000 คัน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้พยายามคงอัตราการจ้างพนักงานเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยกลุ่มฯ ยังคาดหวังว่าหลังจากคลายล็อกดาวน์ มาสู่ระยะที่ 5 แล้วกิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ ก็จะทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น

"ผลกระทบโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อทั้งไทยและโลกลดลงค่อนข้างมาก และเดิมที่ยังไม่มีโควิด-19 เรามองเป้าหมายการผลิตปีนี้ อยู่ที่ 2 ล้านคันด้วยซ้ำไปและหลังจากที่ต้องล็อกดาวน์ ทำให้ต้องหยุดการผลิตในไทยชั่วคราวก่อนหน้า ก็มีผลกระทบ รวมถึงส่งออกด้วย จึงคาดว่าการผลิตปีนี้จะไม่ลดต่ำไปกว่า 1 ล้านคัน แต่จะดีขึ้นหรือลดลง ขอดูแนวโน้มซึ่งคาดว่าอีก 2-3 เดือนน่าจะเห็นสัญญาณที่ชัดเจน ว่าจะไปในทิศทางใด" นายองอาจ กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/7/2563

'อิสราเอล' ลงนามจ้างงานภาคเกษตรจากไทย 2.5 หมื่นคน

มีรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2563 ที่กรุงเยรูซาเลม รัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานไทยจำนวน 25,000 คนไปทำงานในภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอล

นายเมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานไทยในภาคการเกษตรของอิสราเอลมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจอิสราเอล ที่ต้องการแรงงานผู้มีความชำนาญด้านเกษตรกรรม หลายปีที่ผ่านมา การทำงานหนักและอุทิศตนของแรงงานไทยส่งผลเลิศต่อความสำเร็จทางการเกษตรของอิสราเอลที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในฐานะผู้นำด้านวิทยาการการเกษตร

“ข้อตกลงนี้เป็นโครงการสำคัญของความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างอิสราเอลและไทย ที่ผมมั่นใจว่าจะดำเนินต่อไปอีกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของไทยและอิสราเอล ทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างงาน โดยเฉพาะในขณะนี้ที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีนัก" นายชโลโม กล่าว

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตอิสราเอล ยังได้กล่าวอบคุณกระทรวงแรงงานและรัฐบาลไทย ที่ช่วยให้การเจรจาหารือในหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ก็ตาม

อิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยให้ความสนใจ เนื่องด้วยมีค่าจ้างที่ดึงดูด ทั้งยังมีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายอิสราเอล นอกจากนั้น เมื่อกลับมายังประเทศไทย แรงงานไทยยังสามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรจากอิสราเอลมาปรับใช้ได้

ข้อตกลงฉบับนี้ เป็นไปตามข้อตกลงทวิภาคีฉบับแรกลงนามเมื่อเดือน ธ.ค. 2553 เพื่อว่าจ้างแรงงานไทยเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและโปร่งใส ข้อตกลงฉบับ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดกระบวนการจ้างงานและป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การที่บริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินเป็นจำนวนมากจากแรงงานไทย

อย่างไรก็ตาม การลงนามในข้อตกลงทวิภาคีฉบับใหม่ มีความสำคัญยิ่งของความร่วมมือระหว่างไทยและอิสราเอล นั่นคือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ภายใต้กรอบข้อตกลงนี้ แรงงานไทยหลายหมื่นคนได้ไปทำงานแล้วในประเทศอิสราเอล โดยเป็นไปตามการว่าจ้างงานที่ให้ความคุ้มครองและเคารพสิทธิของแรงงาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/7/2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net