Skip to main content
sharethis

แรงงานต่างชาติกว่า 80,000 คน ในไต้หวันสมัครงานใหม่หรือได้รับการว่าจ้างต่อตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2563 ช่วยลดการเดินทางช่วง COVID-19 ระบาด รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายการกักตัวแรงงานต่างชาติ 14 วัน และมีโครงการลดหย่อนโทษสำหรับชาวต่างชาติผิดกฎหมาย 


ไต้หวันผลักดันแรงงานเข้าประเทศผิดกฎหมายกลับเวียดนามในช่วง COVID-19 เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเวียดนามได้จัดส่งเครื่องบินโบอิ้ง 787 ไปรับ | ที่มาภาพ: Radio Taiwan International

20 ก.ค. 2563 ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่าแรงงานต่างชาติกว่า 80,000 คน ในไต้หวันสมัครงานใหม่หรือได้รับการว่าจ้างจากนายจ้างต่อตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 ซึ่งได้ช่วยลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 เป็นอย่างมาก

ไต้หวันจะห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เข้าประเทศมาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 ยกเว้นผู้ที่มีใบรับรองถิ่นที่อยู่ (ARC) หรือเอกสารที่พิสูจน์ว่าพวกเขาอยู่ในไต้หวันเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทูตและทางการหรืออื่น ๆ รวมทั้งสัญญาทางธุรกิจ

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ไต้หวันเองก็ได้มีการดำเนินมาตรการลดการเดินทางเข้าออกประเทศของแรงงานต่างชาติ และชะลอการนำเข้าแรงงานต่างชาติ จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 นี้ได้อนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ครบสัญญาแล้วยังสามารถทำงานต่อในไต้หวันด้วยการต่อสัญญาและโอนย้ายนายจ้าง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 82,324 คน ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศและยังสามารถตอบสนองความต้องการแรงงานของนายจ้างไต้หวันได้ด้วย

ข้อมูลของกระทรวงแรงงานไต้หวันยังระบุว่า นอกจากแรงงานที่ทำงานครบสัญญาแต่ยังไม่ครบ 12 ปี (แรงงานภาคการผลิต) หรือ 14 ปี (แรงงานภาคสวัสดิการสังคม เช่น แรงงานทำงานบ้าน ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น) ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่กระทรวงแรงงานอนุญาตให้แรงงานต่างชาติแต่ละคนทำงานในไต้หวันแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ยังได้อนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานครบสัญญา 12 ปีหรือ 14 ปี ต่ออายุสัญญาได้อีก 3 เดือน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,685 คน 

นอกจากนี้ยังมีแรงงานต่างชาติที่ทำงานครบสัญญาประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ แต่เนื่องด้วยเที่ยวบินระหว่างไต้หวันกับประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ถูกยกเลิกทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ตามกำหนดเวลา ได้รับการต่ออายุการทำงานระยะสั้น (3-6เดือน) อีกจำนวน 726 คน

เพื่อลดการเดินทางข้ามพรมแดนและชะลอการแพร่กระจายของ COVID-19 กระทรวงแรงงานไต้หวันยังได้สนับสนุนให้นายจ้างจ้างแรงงานต่างชาติที่ตกค้างหรือจ้างแรงงานต่างชาติคนงานเดิมแทนที่จะจ้างจากต่างประเทศเข้ามาใหม่

“หากนายจ้างสามารถจ้างแรงงานต่างชาติในไต้หวันหรือจ้างคนงานเดิมได้ ก็ช่วยให้ทุกคนไม่ต้องเดือดร้อน เพราะคนงานเข้ามาใหม่ต้องผ่านการกักกัน” เฉิน ชาง-ปาง ผู้อำนวยการศูนย์กิจการแรงงานข้ามพรมแดนภายใต้สำนักงานพัฒนาแรงงาน ระบุ

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าสำหรับนายจ้างที่จะจ้างแรงงานต่างชาติที่อยู่ในไต้หวันแล้ว

"ยกตัวอย่างผู้ช่วยแม่บ้าน พวกเขาต้องผ่านการกักกันรวมเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะทำให้นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 10,500 เหรียญไต้หวัน" เฉินกล่าว โดยจำนวนเงินดังกล่าวคำนวณจากค่าใช้จ่าย 1,500 เหรียญไต้หวันต่อวันโดยรัฐบาลจะอุดหนุนให้ครึ่งหนึ่ง

จำนวนแรงงานต่างชาติเข้ามาใหม่ลดลงอย่างมาก โดยในเดือน มี.ค. 2563 มีจำนวนประมาณ 10,000 คน เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2563 เหลือเพียง 469 คน เท่านั้น (176 คน ในภาคการผลิต 293 คน ในภาคภาคสวัสดิการสังคม)

การกักตัวแรงงานต่างชาติในไต้หวัน 14 วัน ช่วง COVID-19

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการพบว่า ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.-16 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันจำนวนทั้งสิ้น 3,169 คน ในจำนวนนี้ เป็นแรงงานภาคการผลิต ซึ่งนายจ้างเป็นผู้จัดหาสถานที่กักตัว 14 วัน จำนวน 2,975 คน 

ทั้งนี้แรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม (เช่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ช่วยงานบ้าน) ที่เดินทางเข้ามายังไต้หวันใหม่ รวมถึงที่กลับจากการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว ต้องไปกักตัวในสถานที่กักตัวรวมของกระทรวงสาธารณสุข 14 วัน โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายวันละ 1,500 เหรียญไต้หวัน ต่อคนต่อวัน ค่าใช้จ่ายนี้ประกอบด้วยค่าที่พัก ค่าอาหาร 3 มื้อและค่าดูแลสุขภาพ 14 วันเป็นเงิน 21,000 เหรียญ เงินก้อนนี้ นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หลังจากแรงงานต่างชาติกักตัว 14 วันแล้ว กระทรวงแรงงานจะมีหนังสือถึงนายจ้างเพื่อให้ไปชำระเงิน โดยนายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายนี้จากแรงงานต่างชาติไม่ได้ หลังพ้นการกักตัวแล้วสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลได้ ในอัตราวันละ 1,000 เหรียญไต้หวัน

ส่วนแรงงานภาคการผลิต นายจ้างต้องเป็นผู้จัดหาสถานที่กักตัว 14 วัน โดยต้องเป็นห้องพักห้องละ 1 คน และมีคนควบคุมดูแลไม่ให้ผู้ถูกกักตัวออกนอกสถานที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงต้องติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค นายจ้างจะหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้จากแรงงานต่างชาติไม่ได้เช่นกัน 

โครงการลดหย่อนโทษสำหรับชาวต่างชาติผิดกฎหมาย 

ทั้งนี้ในช่วง COVID-19 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน ผลักดันโครงการการเข้ารายงานตัวเพื่อเดินทางกลับประเทศของชาวต่างชาติที่พำนักหรือทำงานในไต้หวันอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2563 แม้ช่วงนี้ จะไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ แต่เปิดให้รายงานตัวตามปกติ เมื่อสายการบินกลับมาให้บริการตามปกติแล้ว จะได้เดินทางกลับประเทศโดยเร็ว โดยผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายได้รับการลดหย่อนโทษมากเป็นพิเศษ นอกจากไม่ต้องไปอยู่ยังสถานกักกัน มีการลดค่าปรับเหลือ 2,000 เหรียญไต้หวันแล้ว ยังไม่จำกัดการเดินทางเข้าไต้หวันหรือติดแบล็คลิสต์ ไม่ว่าจะพำนักหรือทำงานอย่างผิดกฎหมายนานเท่าไหร่ เมื่อกลับประเทศแล้ว ยังสามารถเดินทางเข้าไต้หวันได้ตลอดเวลา จึงเชิญชวนแรงงานผิดกฎหมายหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่เลยกำหนดวีซ่า เข้ารายงานตัวก่อน 30 มิ.ย. 2563 

ที่มาข้อมูล
Over 80,000 migrant workers apply to keep working in Taiwan (Focus Taiwan, 13 July 2020)
ขุนพลแรงงานไทย วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2563 (Radio Taiwan International, 1 May 2020)
ไขปัญหาแรงงาน วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2563 (Radio Taiwan International, 6 May 2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net