Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเผยแพร่รายงาน ระบุกองทัพพม่าใช้วิธีการโจมตีทางการอากาศแบบไม่เลือกเป้าหมายจนทำให้พลเรือนเสียชีวิตรวมถึงเด็ก อีกทั้งยังทำให้ความขัดแย้งกับกลุ่มติดอาวุธในรัฐยะไข่และรัฐชินเลวร้ายลง การตัดอินเทอร์เน็ตยังทำให้ชุมชนหลายแห่งก็ทำให้พวกเขาไม่ได้รับข่าวสารเรื่อง COVID-19 และถึงแม้รัฐบาลจะประกาศให้ประชาชนอยู่บ้านแต่ก็ใช้ปฏิบัติการทำลายบ้านเรือนประชาชนในแบบที่เป็นอาชญากรรมสงคราม

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาได้รวบรวมหลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพพม่าก่อเหตุโจมตีทางอากาศแบบไม่เลือกเป้าหมาย จนเป็นเหตุให้พลเรือนรวมถึงเด็กถูกสังหาร นอกจากนี้ยังมีการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ในเมืองที่ถูกตัดอินเทอร์เน็ตมาเป็นเวลานานมากกว่า 1 ปีแล้วทำให้พวกเขาไม่รับรู้เรื่องปัญหา COVID-19 เช่นในรัฐยะไข่ที่ถึงแม้ว่าจะรอดพ้นจาก COVID-19 มาได้โดยส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เริ่มมีกรณีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

นิโคลา เบเคลิน ผู้อำนวยการภูมิกาคเอเชียแปซิฟิกขององค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ในขณะที่รัฐบาลพม่าขอให้ประชาชนอยู่แต่กับบ้านเพื่อยับยั้งการระบาดของ COVID-19 แต่ในรัฐยะไข่และรัฐชินกองทัพพม่าก็ใช้ปฏิบัติการทำลายบ้านเรือนและสังหารผู้คนอย่างไม่เจาะจงเป้าหมายในแบบที่เป็นอาชญากรรมสงคราม กระนั้นถึงแม้จะมีแรงกดดันจากนานาชาติให้ยับยั้งปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่เหล่านี้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่ากองทัพพม่าเป็นพวกที่ยังลอยนวลไม่ต้องรับผิดอยู่

หลักฐานจากภาพถ่ายดาวเทียม หมู่บ้านถูกเผาราบ

ภาพดาวเทียมวันที่ 11 พ.ค. 63 แสดงให้เห็นภาพหมู่บ้าน Sein Nyin Wa อำเภอ Paletwa รัฐชิน ถูกเผาทำลาย (ที่มา: Amnesty International/Maxar Tech)

ภาพดาวเทียมวันที่ 30 พ.ค. 63 แสดงให้เห็นภาพหมู่บ้าน Mee Let Wa ในรัฐชิน ถูกเผาทำลาย (ที่มา: Amnesty International/Maxar Tech)

แอมเนสตี้ทำการเก็บข้อมูลเรื่องนี้ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาโดยการสัมภาษณ์ประชาชนในรัฐยะไข่และรัฐชินหลายสิบคนที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการทิ้งระเบิดทั้งจากทางอากาศและอาวุธยิงระยะไกล รวมถึงข้อมูลภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่แสดงให้เห็นถึงหมู่บ้านที่ถูกเผาราบ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเป็นวิดีโอที่แสดงให้เห็นกองทัพพม่าก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับกองทัพพม่าทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์กองทัพอาระกัน (AA) ทำการโจมตีป้อมตำรวจหลายแห่งในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ในช่วงต้นปี 2562 ทำให้รัฐบาลประกาศโต้ตอบหลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความรุนแรงยกระดับขึ้น การสู้รบเหล่านี้ทำให้ผู้คนต้องหนีตายจากบ้านตัวเองเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ราย จากตัวเลขการประเมินของสหประชาชาติ

จุดที่น่าจะเป็นการยกระดับอีกจุดหนึ่งคือเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 รัฐบาลพม่าประกาศอย่างเป็นทางการว่าอาระกันอาร์มีเป็นกลุ่มผิดกฎหมายและมีการสู้รบกันในช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. 2563 ในขณะเดียวกับที่มีกรณีการระบาดของ COVID-19 ในตอนนั้นมีประชาชนมากกว่า 30 คนเสียชีวิตจากตัวเลขการประเมินของยูเอ็น คนที่เป็นเหยื่อส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและมีบางส่วนที่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์จากในรัฐยะไข่และชีน แต่สื่อก็ได้บันทึกเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาด้วย

จากปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ในรัฐชีน พวกเขาเล่าว่ามีเหตุการณ์ใช้เครื่องบินโจมตีในวันที่ 14-15 มี.ค. 2563 ชาวบ้านรายหนึ่งบอกว่า "ทั้งหมู่บ้านเห็นเครื่องบินกันหมด ... เสียงมันดังมาก" เขาบอกอีกว่าการโจมตีเกิดขึ้นในเวลาราว 11 โมงช่วงกลางวัน เขาได้ยินเสียงระเบิดแล้วก็วิ่งไปที่บ้านของพ่อ ที่นั่นเขาพบน้องชายของเขามีแผลหน้าท้องที่ถึงแก่ชีวิตและพบร่างของเพื่อนน้องชายอายุ 16 ปีที่ตอนนั้นอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ลุงของเขาที่อยู่ในบ้านอีกหลังหนึ่งก็ถูกสังหารจากการทิ้งระเบิดชุดเดียวกัน

ชาวบ้านคนอื่นจากหมู่บ้านเดียวกันเล่าว่าปฏิบัติการทางอากาศทำให้มีคนเสียชีวิต 9 คนในนั้นมีเด็กอายุ 7 ขวบอยู่ด้วย พ่อของเด็กคนนี้กล่าวว่า "ครอบครัวของเขาถูกทำลาย" ชาวบ้านอีกรายหนึ่งที่เป็นเกษตรกรจากหมู่บ้านเลห์ฮลา รัฐชิน กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 เม.ย. ว่ามีการสู้รบเกิดขึ้นจนกระทั่งมีเครื่องบินโจมตีทำให้มีคนเสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 8 ราย หลังจากที่เขาช่วยลำเลียงคนเจ็บและร่างผู้เสียชีวิตแล้วก็มีเครื่องบินก่อเหตุโจมตีอีกหนึ่งรอบใกบ้กับหมู่บ้าน เข้าเห็นกลุ่มควันลอยขึ้นจากบ้านเรือนที่ลุกไหม้ พอเขาหนีเข้าไปในเขตเมืองปาเลตวา แต่ก็มีการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นที่นั่นอีก

 

กวาดต้อนจับกุมพลเรือนในรัฐยะไข่

นอกจากเรื่องการโจมตีทางอากาศแล้ว ผู้เห็นเหตุการณ์ยังเล่าว่าทหารพม่ากวาดต้อนจับกุมพลเรือนในรัฐยะไข่ที่พวกเขามองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาระกันอาร์มีและใช้วิธีการทารุณกรรมและการละเมิดสิทธิอื่นๆ ต่อผู้ถูกจับกุม มีชาวบ้านรายหนึ่งที่เป็นภรรยาของผู้ถูกจับกุมเล่าว่าตอนที่เขาไปเยี่ยมสามีที่เรือนจำ สามีเธอบอกว่าถูกจับมักและทุบตีเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน ผลจากการถูกทุบตีทำให้ตอนนี้เขามีปัญหาระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้สามีของเธอยังมีร่างกายซูบผอมเพราะไม่ได้รับน้ำและอาหาร

ผู้ถูกจับกุมรายนี้ถูกทุบด้วยด้ามปืนไรเฟิลและถูกเตะที่หน้าอก นอกจากนี้ทหารยังเอามีดมาจ่อที่คอของเขาบังคับให้เขา "สารภาพ" ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพอาระกัน (AA) จากนั้นเขาก็ถูกตั้งข้อหาจากกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย โดยที่กฎหมายตัวนี้รัฐบาลพม่านำมาอ้างใช้กับนักข่าวและกลุ่มคนที่ถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพอาระกันมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาที่เกิดความขัดแย้ง

ทั้งนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายังมีวิดีโอที่เผยให้เห็นกองทัพพม่าใช้กำลังต่อยและเตะผู้ต้องขังที่ถูกปิดตา และกองทัพก็ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง ทำให้แอมเนสตี้ระบุว่ามีการใช้กำลังทุบตีทำร้ายผู้ต้องขังเกิดขึ้นไปทั่ว รวมถึงการจับกุมโดยพลการในหลายเมืองของรัฐที่มีความขัดแย้งด้วย มีบางรายที่ถูกจับกุมและถูกทุบตีทำร้ายและหลังจากนั้นญาติพี่น้องของพวกเขาก็ไม่ได้ข่าวคราวจากพวกเขาอีก

ความโหดร้ายของกองทัพพม่ายังขยายมาถึงการยึดและทำลายข้าวของของพลเรือนโดยพลการ รวมถึงยึดพื้นที่วัดเป็นฐานที่มั่นชั่วคราว กองทัพพม่าทั้งฉกชิงข้าวสาร ไม้ฟืน ผ้าห่ม เสื้อผ้า แม้กระทั่งเครื่องประดับอย่างสร้อยคอ มีการยึดโทรศัพท์มือถือและเอกสารส่วนตัวของชาวบ้านมาเป็นของตัวเอง พวกเขาใช้วิธีการเคาะประตู พังกระจก ทำลายหิ้งพระของชาวบ้าน

มีภาพถ่ายผ่านดาวเทียมจากแอมเนสตีที่แสดงให้เห็นว่ามีพื้นที่บ้านเรือนผู้คนที่ถูกเผาหลายแห่ง มีบางที่พบเห็นร่องรอยถูกทำลายเป็นวงกว้าง รวมถึงมีโรงเรียนที่ถูกทำลายจากปฏิบัติการทางอากาศด้วย

แอมเนสตีระบุว่าฝ่ายกองทัพอาระกัน (AA) ก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้านด้วยเช่นกัน จากที่ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้เคยบันทึกไว้ว่าพวกเขากระทำการโดยทำให้พลเรือนมีความเสี่ยงต่อชีวิตในช่วงที่มีปฏิบัติการโจมตี มีการข่มขู่คุกคามชุมชนในท้องถิ่น และลิดรอนเสรีภาพของผู้คน

อีกเรื่องหนึ่งคือการตัดอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ขัดแย้งที่ส่งผลถึง COVID-19 ด้วย ในหลายเมืองที่อยู่ภายใต้การสู้รบถูกตัดอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่กลางปี 2562 มีบางเมืองที่กลับมาต่ออินเทอร์เน็ตได้ในเดือน ส.ค. 2562 แต่ต่อมาในเดือน ก.พ. 2563 ก็มีการตัดอินเทอร์เน็ตอีกครั้งในเดือน ก.พ. 2563 โดยที่รัฐบาลอ้างว่าพวกเขาจำเป็นต้องตัดอินเทอร์เน็ตเพราะกองทัพอาระกัน (AA) ใช้อินเทอร์เน็ตในการประสานงานโจมตีเจ้าหน้าที่แและยุยงปลุกปั่นให้เกลียดชังรัฐบาล

แต่การตัดอินเทอร์เน็ตก็ทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องการระบาดของ COVID-19 ได้ คนทำงานบรรเทาทุกข์ในพื้นที่บอกว่ามีประชาชนรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก

สิ่งเหล่านี้ทำให้แอมเนสตี้ลงความเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงจากกองทัพพม่า และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องนี้ยื่นต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC)

เรียบเรียงจาก

Myanmar: Indiscriminate airstrikes kill civilians as Rakhine conflict worsens, Amnesty International, 08-07-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net