ทางเลือก ทางออก เมื่อศาลแพ่ง-ผู้ตรวจการแผ่นดินโอเคกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 

เมื่อคำวินิจฉัยองค์กรอิสระและศาลยังให้น้ำหนักกับการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เครือข่ายยื่นขอยกเลิกการต่ออายุระบุ ยังใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญต่อได้ แต่อยากให้เพิกถอนเพราะประชาชนเดือดร้อน กฎหมายอื่นใช้แทนได้ ผู้จัดการไอลอว์ชี้ สะท้อนปัญหากลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล ถ้าต่ออายุ ต้องปรับเนื้อหา-แนวปฏิบัติให้ใช้คุมโรคอย่างแท้จริง

เป็นเวลา 4 เดือนแล้วที่รัฐบาลไทยประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยอ้างว่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 

เมื่อเวลาผ่านไป เหตุแห่งความจำเป็นเช่นว่ามีมลทินและคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ จากการลดทอนอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการตรากฎหมาย ตัดอำนาจข้าราชการการเมืองมาอยู่ในมือนายกฯ และปลัดกระทรวง ไปจนถึงการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ออกมาทำการชุมนุม

ในทางกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล ความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถูกทดสอบแล้ว 2 ครั้ง จากศาลแพ่งและองค์กรอิสระอย่างผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 7 ก.ค. และ 16 ก.ค. ตามลำดับ เบื้องต้นคำวินิจฉัยล้วนเป็นคุณต่อการมีอยู่ของสถานการณ์ฉุกเฉิน 

การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรี เป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม และอยู่ภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ มิได้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้ง ยังปรากฎข้อเท็จจริงว่า ขณะออกประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย จึงยังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชนซึ่งประกาศและมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามความจำเป็น และมีระยะเวลาชั่วคราว ประกอบกับมีการผ่อนคลายมาตรการบางประการแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติข้อร้องเรียนในประเด็นนี้

(คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินต่อเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคที่ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสนอต่อนายกฯ และคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกและไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่)

ศาลให้เหตุผลที่ยกคำร้องไว้ว่า แม้การขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 12 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตถึง 540,000 คน บางประเทศมีผู้ติดเชื้อวันละ 50,000 คน และขณะนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การระบาดของโรคจึงถือเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน และการชุมนุมนี้ก็ไม่ได้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเลยในคดีลงนามเสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติต่อรัฐสภาหรือไม่

ศาลจึงเห็นว่าการชุมนุมนี้มีความจำเป็นน้อยกว่าการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่จะกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน จึงไม่มีเหตุฉุกเฉินเพียงพอที่จะคุ้มครองระหว่างพิจารณา ให้ยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินและคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวย่อมตกไปด้วย

(ศาลแพ่งยกคำร้องของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการที่ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวต่อการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลที่จัดในวันที่ 13 ก.ค. 63)

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคกล่าวว่าการวินิจฉัยของศาลแพ่งนั้นเป็นการวินิจฉัยจากคำขอให้คุ้มครองการชุมนุมชั่วคราว และในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินตอนนี้อาศัยข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ยังไม่มีการไต่สวนหรือให้ผู้ร้องให้การเพิ่มเติม อนึ่ง การวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการตรวจสอบหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยก็ยังสามารถไปใช้สิทธิทางศาลต่อได้ 

เธอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์การมีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศมาพำนักในไทยที่ จ.ระยองและคณะทูตจากประเทศซูดานอาจเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการขยายไป เพราะถึงที่สุดก็จะเป็นปัญหากับประชาชนทั่วไปมากกว่าเพราะคนแสดงออกไม่ได้

“ยังยืนยันว่าตัว พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโควิด-19 อีกต่อไปแล้ว มันสามารถใช้กฎหมายอื่นที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 ได้ ดูจากสถานการณ์อย่างเรื่องที่ลูกของท่านทูตซูดานกับกรณีทหารอียิปต์ ก็ไม่สามารถไปใช้กรณีแบบนั้นได้สำหรับตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เอามาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐควรจะต้องใช้กฎหมายให้ถูกทาง” 

“แต่กลายเป็นว่าพอถึงที่สุด ตัว พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเสียงไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนในเรื่องผลกระทบที่ได้รับจากรัฐเองต่างๆ ให้รัฐบาลมาดำเนินการหรือแสดงออก ก็จะถูกอ้างว่าเป็นการกระทำผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ว่าด้วยการชุมนุมที่ถูกห้ามไม่ให้ทำ” ส. กล่าว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลแพ่งและผู้ตรวจการแผ่นดินสะท้อนความไม่ปกติของกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสองประการ หนึ่ง อำนาจของศาลภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ สอง มรดกอิทธิพลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ยังคงอยู่ในองค์กรอิสระ

“คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นอีกหนึ่งครั้งที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรอิสระที่มีอยู่ในระบบปัจจุบันซึ่งมีที่มาจากระบอบ คสช. ไม่ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลนี้ ในทางตรงกันข้าม ยังคงยืนยันช่วยรัฐบาลอีกว่าการกระทำของรัฐบาลไม่ได้ละเมิดสิทธิของประชาชน

“เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินสั่งเช่นนี้แล้ว จริงๆ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง แต่ขณะเดียวกันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็คัดเลือกมาในระบบของ คสช. อีกเช่นเดียวกัน จึงยังเป็นเรื่องที่มีความหวังมากนักว่าถ้าหากยื่นเรื่องตามระบบต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะได้ผลอย่างไร องค์กรนี้จะกล้าตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลหรือไม่”

ในส่วนกระบวนการของศาลแพ่ง ยิ่งชีพมองว่าเหมือนศาลจะมองเห็นว่ามีปัญหาอะไรอยู่บ้าง แต่ก็ไม่กล้าออกคำสั่งสวนทางดุลพินิจเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นธรรมชาติของศาลแพ่งที่ปกติจะตัดสินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและข้อพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชนซึ่งต้องตัดสินแบบประนีประนอม แสดงให้เห็นข้ออ่อนของการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ไม่ให้ดำเนินคดีในศาลปกครองซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยตรง จะมีวัฒนธรรมกับความกล้าหาญมากกว่าที่ตัดสินว่า เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดในการละเมิดสิทธิของประชาชนมากเกินไป

ถ้ารัฐบาลจริงใจจะใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อคุมโรคอย่างเดียว ก็ต้องไม่ใช้ข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมแสดงออกของประชาชน และยกเว้นไม่ใช้มาตรา 16 17 ที่จะทำให้ศาลปกครองกลับมามีอำนาจพิจารณาคดีได้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลแสดงความถึงความจริงใจได้ แต่ในทางกฎหมายไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบไหน แต่รัฐบาลควรจะลองเลือกดู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท