Skip to main content
sharethis

ในช่วงสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ธุรกิจจำนวนมากได้ระดมทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคสถานที่ของพวกเขา แต่พบพนักงานทำความสะอาดใน 'สหรัฐฯ-ออสเตรเลีย' เผชิญปัญหาเดียวกัน ไม่ได้รับเวลาทำงานเพียงพอ ไม่ได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้อง รวมทั้งนายจ้างไม่ได้จัดหาอุปกรณ์ในการทำงานให้


ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

ในช่วงสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ธุรกิจจำนวนมากได้ระดมทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคสถานที่ของพวกเขา เพื่อเรียกความมั่นใจแก่ลูกค้า นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่าอัตราการจ้างงานพนักงานทำความสะอาดนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในปี 2564 ขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีนในการรักษาจากไวรัสนี้

แต่กระนั้นพบว่าพนักงานทำความสะอาดในหลายอุตสาหกรรมกลับไม่ได้รับการฝึกอบรมและมีอุปกรณ์ป้องกันที่เพียงพอในการทำงานที่เสี่ยงที่สุดงานหนึ่งในช่วงนี้

จากรายงานของ Business Insider ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2563 ระบุว่าพนักงานทำความสะอาดในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับ 'ทรัพยากรในการทำงาน' ที่เพียงพอ แต่พวกเขากลับคาดหวังให้คนทำงาน "ทำความสะอาดได้อย่างอย่างลึกล้ำ" ในสถานที่ของพวกเขา 

"มีการเปิดดำเนินธุรกิจอีกครั้งทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานด้านความสะอาดมากนัก" แมรี่ เคย์ เฮนรี่ ประธานสหภาพพนักงานภาคบริการระหว่างประเทศ (SEIU) ที่มีสมาชิกที่ทำงานในภาคการทำความสะอาดมากกว่า 375,000 คน ทั่วสหรัฐฯ กล่าวกับ The New York Times

พนักงานทำความสะอาดในมหาวิทยาลัย สตูดิโอฮอลลีวูด จนไปถึงในคาสิโน มีข่าวป่วยจาก COVID-19 พนักงานทำความสะอาดสายการบิน ซูเปอร์มาร์เก็ต และอาคารสำนักงาน ระบุกับ The Times ว่าพวกเขาไม่ได้รับอุปกรณ์ที่เหมาะสม ไม่มีเวลาเพียงพอในการฝึกอบรมเพื่อให้แน่ใจว่าจะทำความสะอาดพื้นที่ได้อย่างสะอาดและปลอดภัย

พนักงานทำความสะอาดเครื่องบินระบุว่าพวกเขานำผ้าขี้ริ้วมาใช้ใหม่ ไม่ได้เช็ดโต๊ะ ถาด และห้องน้ำไม่ได้ทำความสะอาดระหว่างเที่ยวบิน

"สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำความสะอาดเครื่องบินหลังเที่ยวบินทุกครั้ง" ดร.ชิงยัง เฉิน ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยเพอร์ดู ซึ่งเป็นผู้วิจัยโรคติดเชื้อให้กับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) กล่าวกับ The Times

ในขณะที่ CNBC รายงานว่าก่อนหน้านี้รายงานว่าสายการบินรายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้พยายามปรับปรุงมาตรฐานการทำความสะอาดเพื่อป้องกัน COVID-19 มากขึ้น แต่ The Times รายงานว่าแม้กระทั่งก่อนที่ COVID-19 นั้น สายการบินก็จ้างงานพนักงานทำความสะอาด 'จ้างเหมาช่วง' มาจากบริษัทอื่น ๆ พนักงานบางคนบอกว่าแม้ภายในเครื่องบินดูเหมือนจะถูกสุขอนามัยมากขึ้น แต่คนทำงานยังบอกว่าพวกเขามีเวลาน้อยและไม่สามารถรับรองได้ว่าทุกโต๊ะทุกถาด หรือพื้นที่สัมผัสทั่วไปถูกฆ่าเชื้อจริง ๆ

นักบินคนหนึ่งเขียนในรายงานของสหภาพแรงงานเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 ว่า "มีการทำความสะอาดเพียงที่นั่งเท่านั้น ส่วนบริเวณที่ผู้โดยสารสัมผัสอย่างต่อเนื่อง เช่น เข็มขัดนิรภัย, ที่บังแดด, ที่วางแขน และอื่น ๆ กลับไม่ถูกทำความสะอาด นอกจากนี้การทำความสะอาดเครื่องบินทั้งหมดก็ใช้เวลาน้อยกว่า 10 นาที"

ส่วนพนักงานความสะอาดอาคารสำนักงานในไมอามี่ กล่าวว่าเธอต้องนำน้ำยาทำความสะอาดยี่ห้อที่เธอไว้ใจไปเอง เพราะเธอไม่ได้รับอุปกรณ์อะไรเลยจากผู้จ้างงาน

"ไม้กวาดของเราชำรุด เราถูพื้นด้วยน้ำ และไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรค" มาร์ธา โลเรนา คอร์เตซ เอสตราดา กล่าวกับ The Times

Fox13 สื่อท้องถิ่นในเมมฟิส รายงานว่าพนักงานดูแลมหาวิทยาลัยเมมฟิส กังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19 ในการทำงาน พวกเขาได้ยื่นคำร้องเพื่อขออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PEE) รวมทั้งเบี้ยเสี่ยงภัย 

"เราต้องซื้อมาสก์ของเราเอง นำชุดป้องกัน รองเท้า หรืออะไรแบบนั้นของเรามาเอง" เจนนิเฟอร์ อัลเลน พนักงานดูแลมหาวิทยาลัยเมมฟิสกล่าวกับ Fox13

พนักงานดูแลมหาวิทยาลัยเมมฟิสระบุกับทั้ง The Times และ Fox13 ว่าพวกเขาต้องการการแจ้งเตือนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อใครบางคนในสถานที่ทำงานถูกตรวจพบเชื้อ COVID-19

ช่วงกลางเดือน ก.ค. 2563 สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุดในโลก มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3.6 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 139,000 คน

"มันเป็นปัญหาด้านความปลอดภัย และเราต้องการให้ทุกคนเคารพในสิ่งนั้น เคารพกฎหมายและเคารพเราในฐานะมนุษย์" จาวาริส เบลคเคอรี พนักงานดูแลมหาวิทยาลัยเมมฟิสกล่าวกับ Fox13

ในออสเตรเลีย 'พนักงานทำความสะอาด' เผชิญแรงกดดันด้วยเช่นกัน

สื่อ SBS ของออสเตรเลีย รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2563 ว่ามีความกังวลว่า การทำความสะอาดสถานที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะ และสถานศึกษาในออสเตรเลียนั้นอาจไม่ได้มาตรฐาน หลังผลสำรวจในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่าพนักงานทำความสะอาด ไม่ได้รับเวลาทำงานที่เพียงพอ และไม่ได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้องในการใช้เครื่องมือปฏิบัติงาน

ซัดดัม ฮุสเซน นักศึกษาต่างชาติจากประเทศเนปาล ที่อาศัยอยุ่ในในนครเมลเบิร์น กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาบัญชี เขาทำงานพาร์ทไทม์เป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงเรียนแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี เล่าว่างานของเขามีความเสี่ยง

"พนักงานทำความสะอาดอย่างเรานั้นทำงานของเรา เราต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากว่าเดิม และทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในความเสี่ยงเพื่อทำความสะอาดทุกสิ่งทุกอย่าง" ฮุสเซนกล่าวกับ SBS

แต่หลังจากที่การเรียนการสอนเปลี่ยนจากที่สถานศึกษามาเป็นที่บ้าน ฮุสเซนถูกลดจำนวนกะเข้างาน นั่นทำให้ชีวิตของเขาลำบากขึ้น เนื่องจากเขาไม่สามารถเข้าถึงเงินสนับสนุนจากรัฐบาลได้

งานทำความสะอาดในออสเตรเลียส่วนใหญ่พึ่งพาแรงงานจากชุมชนผู้อพยพย้ายถิ่น ในช่วง COVID-19 หลายคนต้องตกงาน เนื่องจากนายจ้างขนาดใหญ่อย่างมหาวิทยาลัย และสำนักงานในย่านซีบีดีตามเมืองต่าง ๆ นั้น แทบจะไม่มีผู้คน 

คาร์ลา วิลเชียร์ แห่งสภาผู้อพยพย้ายถิ่นแห่งออสเตรเลีย (Migrant Council of Australia) กล่าวว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง 

"สำหรับผู้ถือวีซ่าทำงานชั่วคราว ที่ไม่มีคุณสมบัติในการรับเงินช่วยเหลือจากเซนเตอร์ลิงก์ (Centrelink) และไม่สามารถเข้าถึงโครงการเงินช่วยเหลือ JobKeeper และ JobKeeper การสูญเสียรายได้ของพวกเขาอาจส่งผลกระทบอย่างมาก ไม่เพียงแต่ส่งผลกับพวกเขาโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่อาจรวมถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย" วิลเชียร์ กล่าวกับ SBS

แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรม สิ่งนี้ส่งผลกระทบในหลายทาง คนทำงานจำนวนมากต้องยุ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ทำให้สถานที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะจำเป็นต้องมีการฆ่าเชื้อเพิ่มมากขึ้น  

สำหรับผู้ที่ยังคงมีงานทำ จอร์เจีย พอตเตอร์ บัตเลอร์ จากสหภาพสมาคมแรงงาน (United Workers Union) กล่าวว่ากำลังมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่างานของพวกเขาอาจไม่ใช่งานที่มีคุณภาพสูง

"สิ่งที่สำคัญต่อการกลับมาเปิดระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง นั่นคือเมื่อผู้คนรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ และผู้คนจะรู้สึกว่าปลอดภัย ถ้าพวกเขารู้ว่าสถานที่เหล่านั้นได้รับการทำความสะอาดอย่างทั่วถึง และในตอนนี้ผู้คนอาจไม่รู้สึกเช่นนั้น เนื่องจากมันมีช่องว่างระหว่างความคาดหวังจากสาธารณะ และสิ่งที่พนักงานทำควาสะอาดสามารถทำได้ เนื่องจากโครงสร้างในระบบสัญญาว่าจ้าง" บัตเลอร์ กล่าวกับ SBS

นอกจากนี้เนื่องจากบริการทำความสะอาด ได้รับการมองจากผู้คนส่วนมากว่าเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากความจำเป็น มากกว่าที่จะลงทุนในส่วนนี้

"พนักงานทำความสะอาดได้รับเสียงปรบมือชื่นชมเป็นจำนวนมาก มีการอภิปรายหลายครั้งถึงความสำคัญของงานทำความสะอาด แต่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยนั้น คือการปกป้องและดูแลพนักงานทำความสะอาด และเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถทำงานได้ตามที่เราต้องการให้พวกเขาทำ" 

การสำรวจระดับชาติจากพนักงานทำความสะอาดมากกว่า 500 คน ที่จัดทำสหภาพสมาคมแรงงาน (United Workers Union) พบว่า พนักงานทำความสะอาดร้อยละ 91 ปฏิบัติงานทำความสะอาดที่มีความสำคัญอย่างเร่งรีบ เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรเวลาทำงานอย่างเพียงพอ ขณะที่พนักงานทำความสะอาด 8 ใน 10 คน พบว่ามีเครื่องมือทำความสะอาดไม่เพียงพออย่างสม่ำเสมอ  

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 3 ใน 4 ระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PEE) ในการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย ขณะที่ร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ได้รับการฝึกงานแบบตัวต่อตัว นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 77 มีความกังวลว่าจะตกงาน ขณะที่ร้อยละ 86 รายงานว่า พวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ควรได้รับ -- ซึ่งสหภาพสมาคมแรงงานย้ำว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข

"สมการของคุณภาพงานทำความสะอาดนั้นเป็นเรื่องง่าย ฝึกฝนพนักงาน ให้เวลากับพวกเขาในการทำงาน จัดเตรียมเครื่องมือปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ และพวกเขาจะมอบงานที่มีคุณภาพให้คุณ แต่ผู้จัดหาพนักงานทำความสะอาดไม่ได้ออกแบบสัญญาว่าจ้างพนักงานให้เป็นเช่นนั้น" บัตเลอร์ กล่าวกับ SBS

นอกจากนี้ในรายงานการไต่สวนของวุฒิสภาออสเตรเลียเมื่อปี 2561 ระบุว่า "มีความน่ากังวลเป็นอย่างมากจากแนวโน้มในการทำสัญญาบริการทำความสะอาดผ่านทางซัพพลายเชนที่มีความซับซ้อน และหาความรับผิดชอบจากนายจ้างตัวจริงได้ยาก"

จากการไต่สวนของวุฒิสภาออสเตรเลียพบว่าปรากฎการณ์นี้อยู่ในทุกภาคส่วนรวมถึงการบริการสาธารณะ

ผู้ว่าจ้างพนักงานทำความสะอาดหลายคนไม่เคยเห็นพนักงานทำความสะอาดในที่ทำงานของพวกเขาเลย เพราะส่วนใหญ่พนักงานความสะอาดเป็นการจ้างเหมาช่วงมาอีกที และมักใช้เวลานอกเวลาทำการในการทำความสะอาด ทำให้เป็นการยากที่จะตรวจสอบว่าการทำความสะอาดนั้นทำถูกต้องตามแนวทางปฎิบัติหรือไม่

การจ้างเหมาช่วงผ่านตัวกลางหลายทอด ทำให้ผู้ว่าจ้างยากที่จะแน่ใจว่าพนักงานทำความสะอาดที่พวกเขาจ้างมานั้นได้รับเงินเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งได้รับอุปกรณ์ การฝึกอบรม และระยะเวลาในการทำงานเพียงพอหรือไม่


ที่มาเรียบเรียงจาก
Many businesses have touted enhanced cleaning and disinfection to win back customers during the pandemic, but cleaners in many industries say they don't have adequate training or supplies to disinfect properly (Sarah Al-Arshani, Business Insider, 18 July 2020)
ผลสำรวจชี้ 'คนทำงานคลีน' เผชิญแรงกดดันจากโควิด (SBS, 20 July 2020)
Workplace cleaners are on the frontline of the coronavirus pandemic. They need enough time to do their job (Shelley Marshall, ABC NEWS, 10 June 2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net